School of Changemakers : โรงเรียนที่สร้างนักบ่มเพาะการเปลี่ยนแปลงผู้ขาดหายไปในเมืองไทย

ปัจจุบันสังคมของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพกายและใจ การศึกษา และด้านอื่นๆ ผลสำรวจของ School of Changemakers พบว่าคนรุ่นใหม่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แต่คนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ยังไม่เคยเริ่มต้นทำเพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง

ทีมงาน School of Changemakers: พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์, วิชยพัฐ
เสนาปัก, รุ่งนภา
นาคดี, กอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ, วรกมล
ด่านประดิษฐ์, ธุวรักษ์ ปัญญางาม

School of Changemakers เป็นสถาบันที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนที่อยากแก้ปัญหาสังคมมาเป็นเวลากว่า 5 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็นโครงการในมูลนิธิอโชก้าและแยกตัวออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว

อธิบายอย่างกระชับ การสนับสนุนนักเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1) ทรัพยากรหรือทุน 2) เครื่องมือความรู้ 3) ที่ปรึกษา และ 4) ชุมชนเครือข่ายนักเปลี่ยนแปลง โดย School of Changemakers จะสำรวจตลาดอยู่เสมอว่าส่วนสนับสนุนด้านไหนที่ขาดหายไป และปรับเปลี่ยนตัวเอง สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยลดช่องว่างที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

พื้นที่เสริมสร้างนักบ่มเพาะ

ในช่วงนี้ School of Changemakers เองก็พบช่องว่างขนาดใหญ่ที่ต้องรับมือ

“แต่ก่อนเรามีให้หมดเลย ให้ทุน สำรวจปัญหาให้สำหรับคนที่ไม่รู้จะแก้ปัญหาอะไร ทำ toolkit เป็นขั้นตอนให้ด้วย มีโค้ชให้ แล้วก็จัดงานให้คนที่กำลังทำอะไรดีๆ ได้มาเจอกัน แต่ว่าช่วงนี้มีเงินเต็มตลาด คอมมูนิตี้ เครื่องมือความรู้ก็หาง่ายขึ้นมาก แต่สิ่งที่จำเป็นมากดันหายไป คือเรื่องที่ปรึกษา” นุ้ย-พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers อธิบายให้เราฟังว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนจากคนธรรมดาไปเป็นนักเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการศึกษา ทำความเข้าใจปัญหา หาไอเดียทางแก้ไขที่ตอบรับ สร้างโปรโตไทป์หรือต้นแบบ ปรับแก้ไขให้ดี ก่อนจะสเกลขึ้นไปให้ตอบรับกับตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยคนที่มาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปยังการสร้างโปรโตไทป์ เรียกว่า Incubator หรือนักบ่มเพาะ

“ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยคือเด็กที่สนใจแก้ปัญหา เสนอโปรเจกต์ตามเวทีประกวด หรือสมัครเข้าโครงการต่างๆ จะได้เงิน 10,000 – 200,000 บาทมาง่ายมาก แต่พอได้มาแล้วไม่มีใครทำหน้าที่บ่มเพาะให้โครงการรอด เพราะมีแค่เงินมันไปไม่ได้ ประเทศไทยไม่ค่อยมีคนที่มีประสบการณ์และมีความรู้เรื่องการบ่มเพาะ เราเลยเห็นความจำเป็นในการสนับสนุนด้านนี้ และทำของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างความรู้ด้วยแล้วแบ่งกันเพื่อให้เงินที่ลงทุนไปถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ เราเลยร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐฯ หรือภาคธุรกิจด้วย ให้แต่ละองค์กรมีคนทำหน้าที่บ่มเพาะเป็น”

พื้นที่สนับสนุนนักเปลี่ยนแปลง

ในช่วงแรกเริ่ม School of Changemakers เปิดรับทุกคนที่สนใจสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อจำนวนผู้สนใจมากขึ้น จึงปรับมาเป็นการเปิด Helpdesk Office Hours ให้เข้ามาพูดคุยกับทีมงานในวันเวลาที่กำหนดแทน โดยจัดขึ้น 2 – 3 ครั้งต่อเดือน และสำหรับกิจกรรมบ่มเพาะอย่างเข้มข้นชื่อ Penguin Incubation ที่กินเวลาถึง 8 เดือน มีโค้ชคอยให้คำแนะนำทุกขั้นตอน และยังใช้ทุนขององค์กรเพื่อสนับสนุน ก็จำเป็นต้องคัดคนที่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเพียง 10 ทีมเท่านั้น

“ส่วนใหญ่เราจะนัด Helpdesk Office Hours มาคุยประมาณ 2 – 3 ทีมพร้อมกัน มานั่งคุยกันว่าอยากทำอะไร ช่วยเขาหาจุดตั้งต้น อธิบายว่ามีขั้นตอนอะไร มีเวลาทำมั้ย อธิบายให้เขาฟังว่า ทุกคนที่เดินเข้ามาคิดว่าสถานการณ์คือปัญหา เช่น เด็กไทยคิดไม่เป็น คะแนนโอเน็ตต่ำ การศึกษามีปัญหา แต่นั่นคือปัญหาที่แท้จริงหรือเปล่า มันเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาที่แท้จริงคือสิ่งที่อยู่ข้างใต้ เราสนใจจะศึกษามั้ย ถ้าถามแล้วน้องรู้สึกตื่นเต้น น้องพร้อมจะทำธุรกิจเพื่อสังคม เพราะเป้าแรกมันคือการแก้ปัญหา แต่ต้องมีโมเดลรายได้หรือโมเดลธุรกิจด้วยเท่านั้นเอง มาคุยกัน 2 – 3 ชั่วโมง ถ้าสนใจก็จะมีกระบวนการให้ว่าไปยังไงต่อ แต่ถ้าเขาไม่ทำการบ้านกลับมา เราก็จะขออนุญาตไม่ให้บริการคุยต่อ ปล่อยให้เขาไปตามทางที่ชอบ” พรจรรย์อธิบาย

แต่หากเป็นผู้สนใจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สะดวกเข้าโครงการ หรืออยากเรียนรู้ขั้นตอนการเป็นนักเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ที่นี่ก็ทำ Changemaker Toolkits ที่ช่วยไกด์วิธีคิดให้จากต้นจนจบอย่างเป็นขั้นตอน สามารถไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์กันได้ฟรีๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ส่วนการสนับสนุนด้านความรู้ ก็มีโครงการ Insight Tanks ที่เป็นคอร์สลงลึก ทำความเข้าใจปัญหาสังคมกันเป็นเวลา 3 เดือน และมีการสร้างชุมชนนักเปลี่ยนแปลงผ่านกิจกรรม Afterschool

ช่วยสนับสนุนกันขนาดนี้ แถมไม่เก็บเงินผู้สนใจ เราจึงเกิดความสงสัยว่าแล้ว School of Changemakers มีรายได้มาจากไหน คำตอบคือมีการสนับสนุนจาก สสส. และภาคเอกชนที่ต้องการผลักดันธุรกิจเพื่อสังคมที่ให้เงินทุนสนับสนุนอยู่จำนวนมาก และแม้พวกเขาจะไม่เก็บเงินจากคนที่สนใจสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่หากมีบริษัทใหญ่เข้ามาขอคำปรึกษา ก็จะขออนุญาตคิดกำไรเพื่อนำมาสนับสนุนคนตัวเล็ก

“เราไม่ใช่องค์กรที่ต้องใช้เงินมาก องค์กรจะมีคนไม่เกิน 6 – 7 คนเพราะเราอยากรักษาทีมให้ปรับได้ตลอดเวลา คอยมองหาช่องว่าง ทำเรื่องใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเงินหาไม่ยากหรอก แต่คนทำงานด้านนี้ต่างหากที่หายาก เพราะคนมองภาพว่าวงการนี้ต้องกัดก้อนเกลือกินหรือที่บ้านมีสตางค์ เขาไม่รู้ว่ามันสนุก ท้าทาย และจ่ายไม่ต่างจากภาคธุรกิจเท่าไหร่”

พื้นที่ผลักดันความสำเร็จ

เมื่อถามถึงความสำเร็จของธุรกิจหรือกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในบ้านเรา พรจรรย์บอกว่าในทุกๆ 1,000 คนที่เคยได้คุยกัน มีเพียง 1 คนที่เท่านั้นที่สามารถพัฒนาไอเดียจนไปถึงขั้นเปิดตัวโปรโตไทป์สินค้าหรือบริการได้สำเร็จ และหลังจากนั้นมีคนแค่ประมาณครึ่งหนึ่งที่ไปสู่ขั้นขยับสเกลขึ้นไปได้ หนึ่งในนั้นคือ The guidelight ของจูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ นวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เด็กตาบอดสามารถเรียนจบชั้นมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เวลาถึง 7 เดือนในการศึกษาให้ถึงรากของปัญหา ก่อนจะหาไอเดียแก้ปัญหาที่เหมาะสม ลองใช้จริงกับเด็กๆ ตาบอดในมหาวิทยาลัยจนได้รับการสนับสนุนทั้งจากมหาวิทยาลัยเองและ สสส. เพื่อขยับไปปรับใช้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อไป

แม้ตัวเลขของธุรกิจเพื่อสังคมในไทยจะยังน้อย แต่ก็กำลังค่อยๆ เติบโต และ School of Changemakers ก็มุ่งหน้าที่จะสร้างระบบสนับสนุนให้กับนักเปลี่ยนแปลงต่อไป

“อยากให้ประเทศไทยมีนักบ่มเพาะมากขึ้น เพราะเรามีคนไอเดียดี มีความตั้งใจที่จะมาลงมือทำงานแก้ปัญหาเยอะ ทรัพยากรในบ้านเราก็เยอะ แต่ขาดความรู้กับคนที่คอยบอกว่าที่คิดออกมามันไม่ได้บ้าหรือเพ้อเจ้อนะ แต่มันต้องใช้เวลา”

Facebook | School of Changemakers
website l www.schoolofchangemakers.com

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ และ School of Changemakers

AUTHOR