Post rape; The power of the muted voice นิทรรศการแห่งเสียงเงียบหลังการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

Highlights

  • เดมี่ จิราพร มอร์ ต่อยอดนิทรรศการนี้จากทีสิสจบการศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นประเด็นภาวะหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากการบังเอิญพบ 'คนที่พยายามล่วงละเมิดทางเพศเธอตอนเด็ก' อีกครั้ง
  • เธอเริ่มต้นทำโปรเจกต์นี้เพื่อเยียวยาตัวเองเป็นหลัก ก่อนขยายไปถึงคนอื่นด้วยการใช้ method book เพื่อสัมภาษณ์เก็บเส้นเสียง ขอให้เขียนและวาดภาพภาวะหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงขอ material ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผ้า เสื้อ ผ้าปูที่นอน
  • จากวัตถุดิบที่ได้ เธอทำงานออกมาจนเป็นชิ้นงานผ้าสีแดงผืนใหญ่ที่ประกอบรวมจากความเจ็บปวดและรอยแผลในใจ ซึ่งสามารถถักทอต่อไปได้ไม่สิ้นสุด

ตัวอักษรลายมือภาษาอังกฤษที่ปรากฏบนประตูกระจกบานใหญ่ของ Kinjai Contemporary บอกเล่าคอนเซปต์ของ ‘Post rape; The power of the muted voice’ นิทรรศการข้างในได้อย่างชัดเจน

นิยามของคำว่า rape และประสบการณ์เผชิญเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศทั้ง 2 ครั้งของศิลปินเจ้าของงานตรึงติดคนอ่านอย่างฉันให้ค่อยๆ ไล่สายตาอ่านอย่างสนใจและสลดใจ

‘สนใจ’ ที่ศิลปินนำปัญหาสังคมมาทำเป็นชิ้นงานและเล่าผ่านนิทรรศการศิลปะ

‘สลดใจ’ ที่ต่อให้มีการเรียกร้องรณรงค์กันขนาดไหน แนวโน้มของมันก็ไม่มีท่าทีลดลง

ในฐานะผู้หญิง แม้ไม่เคยประสบเหตุการณ์เลวร้ายทำนองนี้ แต่การได้ทราบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากเจอเรื่องราวแบบนี้ และดูท่าทีว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานทั่วโลกก็อดรู้สึกหดหู่ใจไม่ได้

ทุกคนล้วนรู้ซึ้งถึงความเลวร้ายของการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะทางวาจา การสัมผัส ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางกาย แต่สิ่งที่เลวร้ายพอๆ กันซึ่งมักไม่ถูกพูดถึงคือ ภาวะหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ บางคนอาจเจ็บปวดจนเป็นแผลฉกรรจ์ในใจ บางคนต้องพบแพทย์กินยารักษาตัวเองเป็นปีๆ และบางคนดูเหมือนใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ แต่ไม่หรอก เหตุการณ์แบบนั้นย่อมทิ้งอะไรไว้กับผู้ประสบเสมอ

เดมี่ จิราพร มอร์ หญิงสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษวัย 20 ต้นๆ เป็นหนึ่งในนั้น

มองเผินๆ เธอเหมือนนักศึกษาจบใหม่ผู้เริ่มต้นวัยทำงานอย่างสดใส ทว่าลึกลงไปเธอเลือกกดทับความทรงจำนั้น แล้วแบกรับอาการแพนิก กลัวคนเยอะ และไม่ชอบให้คนแปลกหน้าสัมผัสตัวไว้ โดยไม่เคยคิดหาที่มาที่ไปว่าเป็นเพราะอะไร กระทั่งได้พบกับ ‘คนที่พยายามล่วงละเมิดทางเพศเธอตอนเด็ก’ อีกครั้ง

บาดแผลที่ซ่อนไว้ถูกเปิดออก หลากความรู้สึกโถมทับกลับเข้ามา แต่เดมี่ไม่อยากใช้วิธีหนีหรือการไม่พูดถึงมันเช่นเคย หญิงสาวตัดสินใจเลือกประเด็นนี้มาทำทีสิสจบการศึกษาและต่อยอดมาเป็นนิทรรศการที่ฉันกำลังชมอยู่

เพราะอยากเยียวยาจึงกล้าเผชิญ

“ตอนเลือกหัวข้อทีสิส เรารู้ว่าต้องทำงานนี้ปีครึ่ง เลยอยากได้หัวข้อที่อยู่กับมันได้นานขนาดนั้น ช่วงนั้นก็คิดๆ แต่ไม่ได้ข้อสรุปสักที จนเราบังเอิญไปเจอคนที่เขาพยายามกระทำเราตอนเด็ก แต่ตอนนั้นไม่ได้โดนอะไร เหมือนเราหนีทัน เราไปบังเอิญเจอเขาอีกครั้งที่เชียงใหม่ เป็นตอนที่เราไปแฮงเอาต์กับเพื่อน เขาเดินมาหาเรา พูดว่าตอนนั้นขอโทษนะ เราก็ตกใจมาก ช็อก เพราะเราเป็นแพนิก พอเจอรอบนั้นแล้วหนัก เลยคิดว่าเอาเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อทีสิสดีกว่า เพราะผ่านเหตุการณ์นั้นมาประมาณ 7-8 ปีแล้วแต่ไม่เคยพูดถึงมัน เวลามีคนพูดถึงเราจะปฏิเสธ ไม่ชอบพูดถึง อย่างแม่เราก็ชอบพูดถึง เวลาบังเอิญไปเจอเขา แม่เราจะโมโห เราไม่อยากฟัง ก็เลยกลายเป็นครั้งแรกที่พูดถึงเรื่องนี้”

ศิลปินเจ้าของงานเล่าด้วยท่าทางสงบนิ่ง ซึ่งหลังจากทำเรื่องนี้แล้วเธอได้พูดคุยทบทวนกับตัวเองจนรู้ว่า พฤติกรรมแพนิกและกลัวคนนั้นมีสาเหตุมาจากการที่เธอเกือบถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก

เดมี่เริ่มต้นทำโปรเจกต์นี้ด้วยความอยากรู้และอยากเยียวยาตัวเอง โดยหยิบเอาทฤษฎีหนึ่งของคาร์ล มากซ์ ที่บอกว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งถ้าถูกผลิตซ้ำ คุณค่าของมันจะลดลง’ มาใช้ในความเจ็บปวด เพื่อที่เวลาเธอผลิตซ้ำความเจ็บปวดนี้จะได้ไม่รู้สึกกับมันมากเท่าเดิม

“ช่วงแรกที่เราทำทุลักทุเลมาก ร้องไห้ตลอดเวลา เพราะไม่เคยพูดถึงมันและไม่เคยเล่าเลย พอเป็นงาน เราต้องเล่ามันซ้ำๆ เหนื่อยมาก เหมือนเล่าแล้วก็ร้องไห้ๆ แต่พอเล่าเป็นรอบที่ 50-60 ก็ง่ายขึ้นมากๆ เล่าโดยไม่เอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง” รอยยิ้มบนใบหน้าเธอผุดขึ้นราวกับเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้แล้ว

หลังจากทำความเข้าใจช่วง post ของตัวเองสำเร็จ เธอเริ่มสงสัยว่าผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นๆ รับมือกับภาวะนี้อย่างไร จึงขยายขอบเขตงานไปสู่ภายนอก

“เราออกแบบ method book เป็นหนังสือบางๆ เพื่อให้การสัมภาษณ์ทุกครั้งครอบคลุม หน้าแรกมีแอ็บสแตรกท์ว่าเราทำอะไรอยู่ ผ่านอะไรมาบ้าง และมีหน้าให้เขาเขียนความรู้สึกภายหลังจากการโดนล่วงละเมิดทางเพศ จากนั้นก็มีหน้าให้เขาวาดรูป ขอสัมภาษณ์เสียง และขอ material จากเขา เช่น ผ้า เสื้อ ผ้าปูที่นอน เราสัมภาษณ์คนไปเยอะ แต่เราบอกทุกคนว่าสิ่งที่ขอไป 4 อย่างมันค่อนข้างเยอะในกรณีแบบนี้ ใครพอใจให้แค่ไหนเราเอาแค่นั้นแล้วกัน บางคนพอใจให้สัมภาษณ์อย่างเดียว อยู่ไกลไม่ส่งผ้ามา เราก็เอาแต่เส้นเสียง บางคนมีให้ครบ เราก็ทำงานจากสิ่งที่เราได้มา”

ส่วนประกอบของความเจ็บปวด

ตอนที่ฉันผลักประตูแกลเลอรีเข้าไปพบผ้าผืนสีแดงห้อยระโยงอยู่บนผนังด้านหนึ่ง แวบแรกรู้สึกตกใจกับความใหญ่โตและสีแดงสดคล้ายเลือด ในหัวเชื่อมโยงนิทรรศการกับเรื่องต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อถึงประจำเดือนหรือเยื่อพรหมจรรย์ของผู้หญิง

ผลงานชิ้นนี้เป็นงานหลักที่เดมี่ทำมาตั้งแต่แรก แม้ดูเป็นไฟน์อาร์ตมากแต่กระบวนการทำงานค่อนข้างเป็นดิจิทัล ตรงกับคณะวิจิตรศิลป์ที่เธอเรียนจบมา

“ตอนแรกเป็นพาร์ตเส้นเสียง ด้วยความที่เราจบแล็บซาวนด์มา เลยเริ่มจากอัดเสียงเขา แล้วนำคลิปที่อัดเสียงมาเข้าโปรแกรมสังเคราะห์ เราพบสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เวลาเขาเริ่มเล่าเรื่องจะเหมือนคนปกติเวลาเล่าเรื่อง เล่าด้วยความฉะฉาน มั่นใจ เสียงมั่นคง สม่ำเสมอ แต่พอกำลังเข้าสู่เหตุการณ์ที่เขาจะเล่าให้ฟัง เป็น trauma ที่กระทบจิตใจ เขาจะเล่าเบาลง ความสม่ำเสมอหายไป ส่วนนั้นแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาพูด รู้สึกไม่มั่นคงต่อบทสนทนานี้แล้ว เลยคิดว่าเสียงเขาตอนเล่ามันอธิบายความรู้สึกเขาได้เหมือนกัน”

นอกจากเส้นเสียงแล้ว ยังมี material อย่างผ้าและภาพวาดจากผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นๆ เดมี่จึงเลือกการถักเพื่อร้อยเรียงสิ่งที่มีทั้งหมด ทั้งยังเชื่อมโยงกับทฤษฎีของคาร์ล มากซ์ ที่นำมาอ้างอิง

“พอเราใช้การถักมันไม่มีทางสิ้นสุดได้เลย ต่อให้เราแสดงงานตอนนี้และในอนาคตเราสัมภาษณ์คนเพิ่ม เราก็ยังถักทอต่อได้เรื่อยๆ พอเราเอาไหมพรมมาถักกับเสื้อผ้าที่ได้มา หลังจากนั้นก็เลยคิดว่าส่วนที่เป็นไหมพรมมันไม่เกี่ยวข้องกับงานเรา เหมือนเป็นตัวเชื่อมเฉยๆ เลยมาคิดว่าต้องทำยังไงถึงจะไปด้วยกัน เราเลยเอารูปวาดที่เขาวาดมาทำ cyanotype (พิมพ์สีด้วยแสง) ลงบนผ้า และคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาว่าพอเอาภาพที่เขาวาดมาใช้ มันทำให้งานเราดูเป็นปัจจุบันจังเลย มันไม่เป็น post แบบที่เราสนใจ เลยเอาผ้าที่ทำ cyanotype มาซักด้วยยา antidepressant (ยาแก้โรคซึมเศร้า) ให้อารมณ์แบบคนที่ผ่านเหตุการณ์มาแล้วเข้าสู่ช่วงที่เป็น trauma บางคนต้องพบจิตแพทย์ บางคนต้องบำบัด กินยา พอซักเสร็จ cyanotype ก็หลุดออกหมดเลย แต่เราไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหา เพราะมันซึมเป็นส่วนหนึ่งในไหมพรมแล้ว ทุกอย่างก็ไปในทิศทางเดียวกัน แล้วเราก็เอาเส้นเสียงมาปัก มาถัก ลงบนผ้าอีกรอบเป็นเลเยอร์”

พอได้รับฟังเรื่องราว ฉันก็มองผ้าสีแดงผืนนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นความเศร้าใจที่เห็นความเจ็บปวดเป็นรูปธรรมชัดเจน

เสียงของความเงียบ

ระหว่างเดินขึ้นบันได ฉันเห็นแสงไฟนีออนสีแดงสาดทั่วชั้นลอย ราวกับกำลังพาฉันเข้าสู่ใจกลางหัวจิตหัวใจของหญิงสาวผู้เป็นเหยื่อ ฟากหนึ่งของชั้น 2 เป็นวิดีโอแสดงกระบวนการทำงานของผ้าผืนข้างล่าง บนผนังที่ฉันยืนดูอยู่มีข้อความแสดงความรู้สึกทางลบอยู่เต็มไปหมด ส่วนบนหน้ากระดาษนั่นเป็นบันทึกความรู้สึกที่เดมี่ได้จากผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นๆ

ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี ไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่
ฉันรู้สึกสกปรกทุกครั้งที่นึกถึง โสมมเหมือน “กองขยะ”

ลายมือที่แตกต่าง ความรู้สึกที่หลากหลาย บ่งบอกถึงความในใจของผู้เขียน ฉันค่อยๆ เปิดกระดาษอ่านทุกใบ รู้สึกปวดหนึบในใจอย่างบอกไม่ถูก ขนาดแค่อ่านข้อความเพื่อรับรู้เศษเสี้ยวความเจ็บปวดของพวกเธอ ฉันยังใจสลายขนาดนี้ แล้วบุคคลที่ประสบเหตุการณ์นี้โดยตรงจะรู้สึกย่ำแย่ขนาดไหน

แล้วการทำงานเหล่านี้มันเยียวยาตัวเองได้จริงไหม ฉันถามเดมี่ด้วยความไม่มั่นใจ

“ช่วยมากๆ เลยนะ จากที่เราไม่พูดถึงมันเลย ตอนนี้ก็พูดถึงมันง่ายมาก ถามว่ามันเยียวยาขนาดไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกเลยไหม ก็คงไม่ ความเจ็บปวดมันยังอยู่ แต่เราแค่เรียนรู้วิธีการอยู่กับมันได้แบบที่สบายใจขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราว่าความเจ็บปวดของเราทำหน้าที่เป็นแค่ความเจ็บปวด คือรู้สึกเจ็บ ไม่ชอบ เสียใจอย่างเดียว พอตอนนี้มันมาเป็นงานที่เราทำ รู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่สวยงาม ดีใจที่เป็นแบบนี้”

และแม้ว่าเธอเริ่มต้นทำงานเพื่อตัวเองเป็นหลัก แต่การได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ที่ประสบเหตุการณ์เดียวกันก็ถือเป็นผลพลอยได้ที่น่าดีใจ

“รู้สึกดีใจที่เขายินดีคุยกับเรา ดีใจที่มันทำงานในฐานะสิ่งที่กำลังพูดอะไรบางอย่าง ความจริงมันมีเรื่องแบบนี้ในสังคมอยู่เยอะ อยากให้คนรู้ว่ามันมีภาวะนี้อยู่ มีชื่ออาการที่เรียกว่า rape trauma syndrome เราอยากให้สนใจพาร์ต post ด้วย เพราะคนเราไม่ได้ผ่านเหตุการณ์หนึ่งแล้วต้องตายตอนนั้น มันต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อ ซึ่งชีวิตที่อยู่ต่อหลังจากนั้นมันยากกว่ามากๆ เพราะไม่รู้ว่าเขาจะดีขึ้นไหม หรืออาจไม่ดีขึ้นเลย”


นิทรรศการ Post rape; The power of the muted voice จัดแสดงถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2562 ที่ Kinjai Contemporary ตั้งแต่เวลา 10:30-19:00 น.

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน