‘1-100’ โปรเจกต์ภาพนู้ดที่ถ่ายทอดความหมายชีวิตของผู้คนนับร้อยตั้งแต่เด็กจนชรา เพื่อปลดเปลื้อง ‘ความอนาจาร’ ออกจากงานศิลปะ

‘1-100’ โปรเจกต์ภาพนู้ดที่ถ่ายทอดความหมายชีวิตของผู้คนนับร้อยตั้งแต่เด็กจนชรา เพื่อปลดเปลื้อง ‘ความอนาจาร’ ออกจากงานศิลปะ

พอร์ตโฟลิโอของ ‘ปณิธาน คำภูธร’
ชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชื่อผลงาน ‘1 – 100’

ศิลปะเป็นอะไรก็ได้…

ไม่บ่อยนักที่เราจะพบเห็นผลงานภาพนู้ดจากฝีมือนักศึกษาไทย เนื่องด้วยอิทธิพลทางสังคม ค่านิยมทางศีลธรรม และภาพจำจากสื่อลามก ส่งผลให้ศิลปะแขนงนี้ยังผูกโยงกับ ‘ความอนาจาร’ หรือ ‘เพศสัมพันธ์’ ในสายตาของใครหลายคน กลายเป็นกำแพงที่ปิดกั้นอิสระทางศิลปะ รวมไปถึงโอกาสทางการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงาน และเรียนรู้ความผิดพลาด เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นศิลปินที่มีจรรยาบรรณ

‘1 – 100’ โปรเจกต์ภาพนู้ดที่มุ่งเปิดเผยอิสระทางร่างกายและความคิด ผ่านการพูดคุยกับผู้คนตั้งแต่ช่วงอายุ 1 – 100 ปี เพื่อจินตนาการและรังสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคสีน้ำแบบตัดทอน เพราะทุกคนล้วนเกิดมาและเติบโตในเส้นทางที่แตกต่าง โดยในแต่ละช่วงวัยมักนิยามความหมายของชีวิตไว้ไม่เหมือนกัน ความหลากหลายจึงช่วยเติมเต็มโลกใบนี้ให้สวยงาม

แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยจะไม่สนับสนุน แต่ ป่าน-ปณิธาน คำภูธร ยังคงไม่ยอมแพ้ และกล้าเดินหน้าทำโปรเจกต์นี้ต่อไปจนสำเร็จ เพราะหวังให้คนไทยเปิดใจกับศิลปะภาพนู้ดมากขึ้น เพราะยังมีศิลปินอีกมากมายที่ตั้งใจสื่อสารเรื่องราวอันทรงคุณค่า สอดแทรกประเด็นทางสังคม และส่งต่อพลังบวก ผ่านผลงานภาพนู้ดของพวกเขา

‘ภาพนู้ด’ คืองานศิลปะ

โปรเจกต์ ‘1 – 100’ เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?

คณะศึกษาศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดสอนวิชา ‘Supervised Art Study and Exhibition Management การศึกษาศิลปะภายใต้การนิเทศและการจัดนิทรรศการ’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจกระบวนการทำงาน และจัดนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า ‘ศิลป์เสมอ’ ร่วมกัน ซึ่งไม่จำกัดหัวข้อหรือประเภทงานศิลปะ นักศึกษาทุกคนจึงมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน

ป่านเล่าว่าเธอชื่นชอบการวาดภาพสีน้ำมาตั้งแต่เด็ก และเนื่องด้วยอิทธิพลจากผลงานของศิลปินท่านอื่นๆ ทำให้เธอมองเห็นความสวยงามของภาพนู้ด จึงอยากถ่ายทอดภาพเกี่ยวกับสรีระร่างกายของมนุษย์ โดยกำหนดขอบเขตช่วงอายุตั้งแต่ 1 – 100 ปี เพราะสามารถถ่ายทอดความหลากหลายได้เกือบครบทุกเรื่องราวของชั่วอายุคน ซึ่งนิตยสาร aday เล่ม 135 ที่พูดถึงชีวิตของคน 100 คน ถือเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการทำโปรเจกต์นี้

“เราเรียนสาขาศิลปศึกษา แต่กลับไม่รู้สึกถึงอิสระทางศิลปะ จึงอยากสื่อสารว่า ศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำแบบไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวิจิตรงดงาม หรือนำเสนอประเด็นที่ยิ่งใหญ่

ในสังคมไทย ภาพจำของ ‘งานนู้ด’ ยังคงมีเส้นแบ่งระหว่าง ‘ศิลปะ’ กับ ‘ความอนาจาร’ ยิ่งไปกว่านั้น คณะศึกษาศาสตร์ยังสอนเกี่ยวกับการเป็นครูอาจารย์ นักศึกษาในคณะไม่นิยมสร้างงานภาพนู้ด เมื่อป่านนำเสนอโปรเจกต์นี้ต่ออาจารย์ผู้สอน เธอกลับได้รับคำขู่ว่า ผลงานนี้อาจได้เกรด F แต่เธอยังยืนกรานที่จะทำต่อ เพราะความเชื่อที่ว่า ‘นักศึกษาสามารถสร้างงานศิลปะภาพนู้ดได้ และไม่ควรถูกปิดกั้นโอกาสทางการศึกษา’ ซึ่งสุดท้ายโปรเจกต์นี้ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ และไม่ติด F อย่างที่อาจารย์ขู่ไว้ตอนต้น

ภาพนู้ดจากเรื่องราว ไม่ใช่เรือนร่างของคน

“เล่าเรื่องในชีวิต 1 เรื่อง”

“อยากขอบคุณส่วนไหนในร่างกาย”

“จุดที่เกลียดบนร่างกายคืออะไร”

ข้อความข้างต้นเป็นคำถามหลักที่ป่านสอบถามผู้คนจำนวน 100 ชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย เช่น มือของเด็กอายุ 1 ขวบ กับผู้สูงวัย 100 ปี ที่แตกต่างกัน และเรื่องราวน่าสนใจผ่านมุมมองความคิดที่เติบโตขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต โดย ‘Nude’ ที่หมายถึงการเปลือยเปล่า กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความอิสระทางร่างกายและความคิดในโปรเจกต์นี้

เธอมิได้วาดภาพนู้ดจากการเปลือยเสื้อผ้าของนางแบบหรือนายแบบ แต่ค้นหาผู้คนตั้งแต่ช่วงอายุ 1 – 100 ปี เพื่อพูดคุยเรื่องราวและประสบการณ์ในชีวิตของพวกเขา จากนั้นจึงจินตนาการและประมวลผลออกมาเป็นภาพนู้ด ในทางกลับกัน สำหรับช่วงวัยที่ไม่อาจสื่อสารได้ เช่น เด็กหรือผู้สูงอายุ เธอจะสื่อสารผ่านพ่อแม่ หรือลูกหลาน พร้อมทั้งนั่งพินิจอิริยาบถท่าทางต่างๆ ของเขา

“หากเรื่องราวเป็นเช่นนี้ สรีระร่างกายจะเป็นส่วนไหนและแบบใด เช่น อีกฝ่ายเล่าถึงการรอคอย เราจินตนาการออกมาเป็นท่านั่งรอ หรือเน้นช่วงขาเป็นสำคัญ”

การค้นหาและเก็บข้อมูลจากผู้คนจำนวน 100 คน จึงถือเป็นความท้าทายของงานนี้ เพราะคนแต่ละช่วงอายุมีวิธีการพูด หรือการแสดงออกแตกต่างกัน ทำให้ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเจอคนแบบไหน หรือเรื่องราวอย่างไร ส่งผลให้เธอได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วย

เธอเริ่มต้นค้นหาจากกลุ่มคนรู้จัก และสังคมรอบข้างของพวกเขา รวมถึงได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัว โดยพ่อแม่ช่วยลงพื้นที่ในหมู่บ้านต่างๆ ของจังหวัดเลย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาโปรเจกต์อย่าง ตะวัน วัตุยา ศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจํา ปี 2566 ซึ่งผลิตผลงานสีน้ำสะท้อนสังคม

“การพูดคุยคือส่วนสำคัญที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้สำเร็จ เราไม่อยากสร้างงานศิลปะจากความคิดของเราเพียงคนเดียว แต่อยากให้งานศิลปะเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ของผู้คน

บทเรียนจากการพูดคุย

มนุษย์เติบโตมาจากเรื่องราว แต่สังคมในทุกวันนี้ขาดผู้ฟัง

การสนทนานับครั้งไม่ถ้วน ทำให้เธอได้เรียนรู้แนวคิดจากคน 2 รุ่น นั่นคือ ‘วัยรุ่น’ อายุราว 15 – 17 ปี ซึ่งพูดถึงแนวคิดการใช้ชีวิตว่า “ทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราจึงต้องออกแบบชีวิตจากความคิดของตัวเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเพื่อนหรือคนรอบข้าง” ในขณะที่ผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยที่ผ่านโลกมามากแล้ว กลับมองว่า “ชีวิตไม่มีอะไรเลย ขอแค่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว”

“ความหมายในการใช้ชีวิตของป่านคือ การใช้ชีวิตต่อไปเรื่อยๆ ในแบบที่ตัวเองเลือก เราบอกไม่ได้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านการรับฟังและพูดคุยกัน ช่วยสร้างความหมายของชีวิตให้แก่เราและคนอื่น”

งานศิลปะผ่านมิติทางศาสนา 

หนึ่งในคนที่เธอร่วมพูดคุยด้วยคือ พระวัย 28 ปี ในหมู่บ้านจังหวัดเลย แม้ภาพจำของ ‘งานนู้ด’ ในสังคมไทยยังผูกโยงกับความอนาจาร แต่ท่านกลับให้การสนับสนุน และอนุญาตให้สัมภาษณ์ 

“การเป็นพระที่ร่วมพัฒนาชุมชน ทำให้เข้าใจว่า ศิลปะมีส่วนช่วยเยียวยาและปลอบประโลมจิตใจของมนุษย์ ซึ่ง ‘ปาก’ คือส่วนในร่างกายที่อาตมารู้สึกขอบคุณที่สุด เพราะคำพูดทุกอย่างที่ออกมาจากปากล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต”

ทำไม Nude ต้องอนาจาร?

  “ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับท่าทีของคน ทั้งศิลปิน ผู้เสพงาน และคนรอบข้าง เช่น หากโดนแซวขณะเดินชมงานนิทรรศการภาพนู้ด อาจทำให้ผู้เสพงานไม่กล้าหยุดดูภาพนู้ดแล้ว เพราะไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดหรือเปล่า”

ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพนู้ดจากตัวแบบ หรือจินตนาการของศิลปิน สิ่งสำคัญคือเจตนาและท่าทีของผู้สร้างงานศิลปะ ศิลปินต้องศึกษาวิธีการทํางานหรือความหมายของศิลปะนู้ดให้ชัดเจนก่อนสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงต้องนิยามความหมายของผลงานตนเองว่า ต้องการสื่อสารเรื่องอะไรต่อสังคม หรือวาดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด หากศิลปินแสดงเจตนาที่ดี โดยไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องอนาจาร หรือละลาบละล้วงคนอื่น จะส่งเสริมให้ผู้คนเปิดใจยอมรับศิลปะนู้ดมากขึ้น

“คณะและมหาลัยที่กำลังเรียนอยู่ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเรา”

ป่านมองว่า ภาพนู้ดคืองานศิลปะแขนงหนึ่งที่มองผ่านความงามของร่างกาย โดยมิได้นำเสนอเรื่องเพศ 18+ เพียงด้านเดียว แต่ยังมีภาพนู้ดสไตล์อื่นที่สอดแทรกประเด็นต่างๆ อีกมากมาย เธอจึงอยากให้การสร้างผลงานศิลปะประเภทนู้ดกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผู้คนในสังคมสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ยิ่งไปกว่านั้น คณะหรือมหาวิทยาลัยควรเปิดกว้างเรื่องการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อให้นักศึกษามีพื้นที่ปลอดภัยในการลองผิดลองถูก พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากอาจารย์

การทำงานร่วมกับ ‘เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ’ ในโปรเจกต์นี้ไม่ผิดจรรยาบรรณอย่างไร?

“อันดับแรก เราต้องขอความยินยอมจากเด็กและผู้ปกครอง อีกทั้ง ผลงาน ‘1 – 100’ ยังไม่ได้สื่อถึงเรื่องเพศ 18+ และใช้เทคนิคการวาดสีน้ำแบบตัดทอน จึงไม่อาจระบุตัวตนได้ว่า ต้นแบบในภาพคือใคร”

เทคนิคสีน้ำแบบตัดทอน

ป่านอธิบายว่า การวาดภาพสีน้ํานั้นโดดเด่นเรื่อง ความงามความวิจิตร แต่เป็นเทคนิคที่ควบคุมยาก เพราะน้ำอาจจะเคลื่อนที่หรือซึมลงกระดาษบ้าง นอกจากนี้ เทคนิคสีน้ำแบบตัดทอน จะไม่ให้ความสำคัญเรื่อง ‘ความสมจริง’ เมื่อสีน้ำเคลื่อนที่ไปในทิศทางอื่น ซึ่งเหนือการควบคุมของศิลปิน ก่อให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ เช่น นิ้วใหญ่ หรือตาเล็กกว่าปกติ 

ความแตกต่างแต่งเติมโลกนี้ให้สวยงาม

“โปรเจกต์นี้อยากสื่อสารว่า ความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลาย”

ในโลกอันกว้างใหญ่นี้ ผู้คนแตกต่างกันทั้งด้านรูปร่าง หน้าตา และประสบการณ์ที่พบเจอ แต่มาตรฐานของสังคม (Beauty Standard) กดทับความมั่นใจของผู้หญิง ส่งผลให้หลายคนเกลียดหรือไม่ชอบสรีระร่างกายของตนเอง เช่น พุงย้อย ต้นขาใหญ่ ขนาดหน้าอก ความเหี่ยวย่นของผิวพรรณ

ปัจจุบัน ผู้คนหันมาทำหัตถการเพื่อวิ่งตาม Beauty Standard คิดอย่างไรกับประเด็นนี้?

“ถ้าผู้คนจะไม่ชอบร่างกายของตัวเอง หรือยอมรับจุดที่แตกต่างจาก Beauty Standard ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องถามตัวเองว่า อยากทำหัตถการหรือศัลยกรรมเพื่อตัวเองจริงๆ หรือทำเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานสังคม”

สามารถติดตามโปรเจกต์ ‘1 – 100’ และผลงานอื่นๆ ในนิทรรศการศิลปะของนักศึกษาสาขาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทางเพจ FB: ศิลป์เสมอ Art Exhibition by Art-Ed KKU.