ศิลปะการกลืนกินตัวอักษรก่อนถ่ายทอดสู่ภาพประกอบของ ยอดฉัตร บุพศิริ

ปลาย-ยอดฉัตร บุพศิริ ศิลปินสาวผลงานเด่นที่จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ รั้วศิลปากร หลายคนนิยามสไตล์การทำงานของเธอจากเส้นสายเล็กละเอียดที่ซ่อนอยู่ในงานว่า tiny line แต่เธอบอกเราว่านั่นเป็นเพียงวิธีการแสดงออกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น และเส้นเหล่านั้นมักปรากฏขึ้นในงานอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ถึงจะแจ้งเกิดจากงานภาพประกอบหนังสือเด็ก และเคยเข้าโครงการศิลปินพำนักที่ญี่ปุ่น Sandwich Studio ของ Kohei Nawa ศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังระดับโลก มีผลงานจัดแสดงศิลปะเกี่ยวกับเด็กทั้งในและต่างประเทศมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น The Colours of the Sacred ที่เมือง Padua ประเทศอิตาลีเมื่อปีก่อน และ Sharjah Children Book’s Illustration Exhibition เมือง Sharjah ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีนี้ แต่หนังสือเด็กกลับเปิดมุมมองและพาปลายออกไปเต้นรำในแวดวงวรรณกรรมผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น รักเมื่อคราวห่าลง (Love in the Time of Cholera) ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, รวมเรื่องคัดสรรจาก ข้อเขียนหลังมรณกรรมของนักประพันธ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ (Posthumous Papers of a Living Author) ของ โรแบร์ท มูซิล และล่าสุดกับ ทำลาย, เธอกล่าว เรื่องสั้นชุดหนึ่งที่เขียนโดยนักเขียนหญิงรุ่นใหม่น่าจับตา ผลงานจัดจ้านที่พลุ่งพล่านไปด้วยความร้อนแรงและการปลดปล่อย

สำหรับเรา ปลายคือศิลปินหญิง นักออกแบบภาพประกอบปกที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งอ่อนหวานบริสุทธิ์ ไปจนถึงอารมณ์หม่นหมอง ผ่านการเลือกใช้สี เส้นสายเล็กๆ และเทคนิคการทำงานที่แตกต่าง ผสมผสานกันไปตามความเหมาะสมของเรื่องที่อยากจะสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการทำโมโนปรินต์ คอลลาจ ปัก หรือว่าการขูดขีดให้เกิดร่องรอย

“เราค้นพบวิธีการแสดงออกแบบนี้ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้วล่ะ เราชอบเส้นเล็กๆ ที่ซ้ำ ความละเอียดอ่อน การแตกแขนงไม่รู้จบ เส้นด้ายที่ใช้มันก็จะซ้ำไปมาต่อเนื่อง เราชอบความรู้สึกที่ได้จับ ชอบเทกซ์เจอร์ เวลาทำงานเทคนิคทุกอย่างที่เลือกมาใช้มันมีเทกซ์เจอร์หมด มีระยะ มีมิติทุกอย่าง ถ้าดูในคอมพิวเตอร์มันแบนสำหรับเรา แต่ก็ดีตรงที่สามารถจัดการพื้นที่ได้สบายมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บงานหรือปลวกกิน ก็แลกกันนะแล้วแต่คนชอบ”

ที่น่าสนใจมากกว่าผลงานที่มีสไตล์เฉพาะตัว เราหลงรักวิธีการทำงานออกแบบปกที่ละเอียดอ่อน การดื่มกินตัวหนังสือในเล่มจนอิ่ม และถ่ายทอดออกมาอย่างจริงใจ “การบรีฟทั้งหมดสำหรับเรามันคือการบิลด์ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในหัวเราให้มีขึ้นมาให้ได้ ดังนั้นเวลาออกแบบปก เราพยายามจะไม่รับบรีฟจากบรรณาธิการ เวลาทำงานสามารถบรีฟคร่าวๆ ได้เลยนะ แต่หัวใจสำคัญที่สุด คือเราต้องอ่านงานดูก่อนสองสามรอบ อ่านจนรู้สึกว่านี่คือเรื่องเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แล้วค่อยตอบกลับไปอีกว่าภาพในหัวเป็นประมาณไหน เราไม่อยากแกล้งวาด แต่เราอยากวาด และถ้าภาพนั้นไปรบกวนจิตใจบางคน จะชอบหรือไม่ชอบ เราดีใจนะ อย่างน้อยงานที่ทำก็ได้สร้างปฏิกิริยากับผู้คน”

เพราะปกหนังสือเป็นมากกว่าแผ่นกระดาษดีไซน์สวยเตะตาชวนหยุดให้หยิบจับ แต่นั่นคือคำนำที่ถูกถ่ายทอดในรูปแบบของงานศิลปะ แทนตัวอักษรและช่องไฟ หลายครั้งเรื่องราวบนปกจึงถูกสร้างขึ้นจากความคิดที่เธอมีต่อตัวละครในเล่ม เช่น ทำลาย,เธอกล่าว เธอพบว่าหญิงสาวในเรื่องเต็มไปด้วยความอึดอัด เธอจึงดีไซน์หน้าปกให้หญิงสาวเหล่านั้นได้เฉลิมฉลองไปกับอิสระ และปลดล็อกความคับข้องใจทั้งหมดออกมา นั่นก็คือ การไว้ขนยาวสลวยจากจุดซ่อนเร้น และมือก้ามปูที่สามารถจะตัดขนตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจต้องการ

“หน้าปกก็เหมือนอินโทร มันเป็นการแง้มม่านดูว่าข้างในมีอะไร แต่หน้าม่านก็อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่คนอื่นจินตนาการไว้ซะทีเดียว แต่แน่นอนว่าข้างในมันมีอะไรน่าสนใจให้คุณแง้มดูต่อไปแน่ๆ” ปลายบอกเราอย่างนั้น

ภาพ กฤต วิเศษเขตการณ์ และ ยอดฉัตร บุพศิริ

AUTHOR