นิทรรศการภาพถ่ายสตรีทของ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ที่ชวนให้คนเดินเข้าไปในภาพถ่ายของเขา

a day school วันนี้ เราออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนกันบ้าง

ห้องเรียนที่ว่าคือห้องประชุมบนชั้น 5 ที่เหล่า a team junior 14 อาศัยเป็นที่รวมตัวกันตลอดระยะเวลาฝึกงาน คลาสเรียนที่ผ่านมาเราได้พบกับวิทยากรมากหน้าหลายตาที่พี่ๆ a team ชวนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจริงเพื่ออัพสกิลให้พวกเรานำไปใช้ในวันข้างหน้า

วันนี้เรามากันที่ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.) สถานที่จัดนิทรรศการ GOOD DAY BAD DAY BUT EVERYDAY นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ที่คัดเอารูปถ่ายมาสเตอร์พีซตลอด 1,600 กว่าวันมาเรียงร้อยต่อกันให้เป็นนิทรรศการที่ทุกคนสามารถเข้ามาอยู่ในโมเมนต์เดียวกับภาพได้

ทวีพงษ์เป็นหนึ่งในสองคนที่ร่วมกิจกรรมถ่ายรูป 365 วันของกรุ๊ป Street Photo Thailand ในปี 2014 ได้จนจบ “รูปถ่ายสตรีทก็คือรูปที่ถ่ายในที่สาธารณะโดยไม่จัดฉาก มีการจัดองค์ประกอบภาพอย่างสร้างสรรค์ มีความตั้งใจในการวางเฟรม” ชายหนุ่มตรงหน้าบอกกับเราตอนที่เห็นหน้าตาสงสัยใคร่รู้ของเหล่านักเรียนตัวโต เขายังบอกต่ออีกว่าการถ่ายรูปทุกวันครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต เพราะนอกจากจะได้รูปจำนวนมากติดมือกลับมาแล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการได้เรียนรู้ทุกอย่างในปีนั้นอีกด้วย

“นี่อาจจะเป็นเลกเชอร์ที่ไร้สาระที่สุดที่น้องเจอมาก็ได้ครับ” ทวีพงษ์บอกเราอย่างอารมณ์ดีก่อนจะเดินนำไปยังทางเข้าชมนิทรรศการ ในจังหวะหนึ่ง เราอดสงสัยไม่ได้ว่าจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโมเมนต์เดียวกับภาพได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้เป็นช่างภาพหรือคนที่อยู่ในภาพเสียหน่อย แต่เพียงก้าวเดียวที่เดินเข้ามาในนิทรรศการก็ทำให้รู้ว่าช่างภาพหนุ่มตรงหน้าทำได้อย่างที่คิดไว้จริงๆ

การทำนิทรรศการภาพถ่ายให้เหมือนกับผู้ชมเข้าไปอยู่ในภาพนั้นด้วยเป็นยังไง ตามทวีพงษ์และเราเดินเข้าไปพร้อมกัน

ก้าบ ก้าบ ก้าบ เป็ดอาบน้ำในคลอง

“รูปแรกที่ผมอยากให้คนเดินเข้ามาเห็นในนิทรรศการคือรูปเป็ดกลับหัว รูปนี้ถ่ายที่สวนอาหารแถวบ้าน ซึ่งวิธีถ่ายภาพสตรีทง่ายๆ คือหาอะไรมาเปรียบเทียบกัน พอรู้ว่าที่นี่มีเป็ด อย่างแรกที่ทำก็คือเดินหาเป็ด ก็ได้ช็อตเป็ดปลอมกับเป็ดจริงตอนเขากำลังไซ้ขนพอดี รูปนี้เป็นรูปที่ลูกสาวชอบที่สุด ผมก็เลยเลือกมาเป็นรูปแรก

“พอมีไอเดียว่าจะเอารูปนี้เป็นรูปแรก ก็คิดต่อว่าจะทำยังไงให้เป็นเหมือนกับทางเข้าดินแดนมหัศจรรย์ เพราะรูปของเราส่วนมากจะเป็นภาพเซอร์เรียล แปลกๆ หน่อย พอเป็นภาพกลับหัว เราก็เลยทำทางเข้าให้เหมือนเป็ดค่อยๆ เดินไต่กำแพงจนมันกลับหัว ตอนแรกอยากจะได้เป็นเป็ดสตัฟเลยนะ แต่จะดูน่ากลัวไปหน่อย ก็เลยไปหาน้องที่ทำหุ่นโฟมช่วยทำให้ ที่เป็นโฟมเพราะว่าไม่หนักเกินไป จะได้ห้อยหัวลงมาได้”

ตั้งนะโม 3 จบ

ถัดจากรูปภาพเป็ด กำแพงด้านขวามือของผู้ชมติดภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับวัดวาอาราม พระสงฆ์ พร้อมกับมีเสื่อปูตลอดความยาวของกำแพง

“กำแพงด้านนี้เกี่ยวกับพระหมดเลย รูปแรกที่เห็น ผมอยากให้เหมือนเสื่อทะลุออกมา อยากให้เป็นจุดที่คนชอบแล้วก็มานั่งพักผ่อนได้ ไอเดียแรก อยากจะให้มีบทสวดมนต์ข้ามปีมาวางไว้ด้วย เพราะว่ารูปนี้เราถ่ายตอนที่เขากำลังจัดงานสวดมนต์ข้ามปีกัน ตรงนี้เป็นจุดที่ลงทุนน้อยที่สุดของงาน แต่ได้ผลเยอะสุด ลงทุนน้อยเพราะขับรถไปยืมเสื่อจากที่วัดมา ญาติโยมไม่มีใช้กันแล้วนะ (หัวเราะ) แต่เราก็ซื้อเพิ่มมา แล้วก็เอาพวกเศษกระดาษตอนเราไปโรงพิมพ์มากองไว้ใต้กองเสื่อ”

หัวหาย หายหัว

“จังหวะที่ได้รูปหมาหัวขาด ถามว่าตอนนั้นรู้ไหมว่าจะได้รูปนี้ ก็ไม่รู้หรอก หมาตัวนี้มันเป็นหมาจ๋องๆ ตัวหนึ่งที่อยู่บนถนน ผมแค่อยากถ่ายหมากับกราฟิกด้านหลัง เพราะแค่รู้สึกว่าเส้นบนถนนมันคลีนมาก ถ่ายไปถ่ายมา หมาหันหัวไปอีกทาง รูปนี้เลยได้รางวัลเลย

“ความตั้งใจแรกที่จะทำนิทรรศการนี้คือ เราอยากจะดึงโมเมนต์ตอนกำลังถ่ายภาพออกมา ทีแรกอยากจะทำหมาหัวขาดสัก 7-8 ตัว สมมติเดินเข้ามาเจอหมานอนแต่ไม่มีหัว หรือเข้าห้องน้ำเจอหมายืนจ้องอยู่แต่ไม่มีหัว พอทีมที่รับทำหุ่นส่งใบทำราคามา งั้นเอาตัวเดียวก็พอแล้วครับ (หัวเราะ)”

ชายผู้ต้านทานแรงโน้มถ่วงโลก

“ตอนแรกที่ผมถ่ายไม่ได้เกี่ยวกับผู้ชายคนนี้เลย เราเดินถ่ายรูปไปเรื่อยๆ จากเอกมัยไปจนถึงสยาม พอมาถึงตรงนี้แล้วเหมือนลุงเขามองเข้ามาในเฟรม เราก็เลยถอยออกมาหน่อยแล้วเขาก็ทำท่านี้ ซึ่งมันก็แปลกมากแล้วนะ แต่ถ้าเราเจอคนแปลกๆ แบบนี้ต้องอยู่ต่ออีกสักหน่อย (หัวเราะ) สักพักลุงเขาก็ไปยืนตรงมุมถนนแล้วก็ทำท่านี้อีก ตอนที่เขาทำครั้งแรกก็คิดว่า เขาแค่อยากจะโชว์ว่าเต้นท่า Michael Jackson ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มารู้ทีหลังว่าที่เขาทำเพราะอยากได้ทิปจากชาวต่างชาติที่มาลงรถตรงนี้

“นอกจากภาพถ่าย นิทรรศการนี้เราอยากให้มีงานศิลปะอื่นๆ ด้วย ผมก็เลยอยากให้มีหุ่นปั้นลุง หาคนที่จะทำสิ่งนี้อยู่นานมากเพราะราคาค่อนข้างแพง จนวันหนึ่งไปเห็นโพสต์บนเฟซบุ๊กที่มีคนทำตุ๊กตาร่างทรง 4.0 ข่าวเพิ่งออกไม่นานแต่เขาทำเสร็จแล้ว เราเลยหลังไมค์ไป ตอนแรกเขาไม่รับทำ แต่คุยไปคุยมาเขาคงรู้สึกว่า แปลกดีว่ะ ชอบ อยากทำ ก็เลยเริ่มต้นทำกันซึ่งไม่กี่วันก็เสร็จ หุ่นคุณลุงคนนี้เราเพิ่มฟังก์ชั่นที่คั่นหนังสือเข้าไป เวลาวางหนังสือภาพของเราก็จะเหมือนหัวลุงเอียงตัวดันหนังสือไว้”

ร้อยเรียงรูปภาพอย่างมีศิลปะ

“บางทีการร้อยเรียงรูปภาพในนิทรรศการก็เกิดจากการมโนของเราเอง อาจไม่มีใครเข้าใจด้วยซ้ำ ซึ่งในหนังสือภาพก็เรียงแบบนี้ เรารู้สึกว่าการเรียงรูปต้องมีเหตุผล ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมถึงเรียงแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเอารูปสวยๆ มาเรียงต่อกันอย่างเดียว มันต้องมีความเชื่อมโยงของแต่ละรูปแล้วเกิดเรื่องราวได้ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจแต่แรกด้วยนะ เพราะรูปแต่ละรูปถ่ายคนละปี วิธีการคือพรินต์รูปทั้งหมดที่เราชอบเอามาวางบนโต๊ะแล้วเรียง พยายามหาความเชื่อมโยงของแต่ละใบให้ได้ รูปทุกรูปสามารถเอามาต่อกันได้หมด อยู่ที่เราจะมองมุมไหนและคิดว่ามันเชื่อมโยงกันได้ยังไง ไม่ใช่แค่รูปถ่ายสตรีทนะ รูปวิวรูปอะไรก็สามารถเอามาเรียงร้อยได้ คุมโทนสี แสง เล่นกับเนื้อหาของภาพนั้นๆ” ทวีพงษ์ปิดท้ายคลาสเรียนนอกสถานที่วันนี้ที่ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเล่าเรื่องได้อีกหลายรูปแบบ

นิทรรศการ GOOD DAY BAD DAY BUT EVERYDAY จัดแสดงถึงวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2561 ที่ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.)

ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล, พชรธร อุบลจิตต์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด

พชรธร อุบลจิตต์

เป็นช่างภาพที่เรียนการเมืองแต่ชอบเดินทางเป็นอาชีพแถมยังชอบทำขนมเป็นงานอดิเรก กำลังเก็บเงินไปเอเวอเรสต์และซื้อตู้เย็น