“เราอยากเล่าประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองใหม่ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น”
เวลาใครนึกถึงหนังสือเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่อาจจะส่ายหน้าหนี ด้วยภาพจำเนื้อหาวิชาการสุดจริงจัง จึงพาลให้คนไม่ชอบและปิดประตูในการทำความรู้จักเรื่องราวสมัยก่อนไปโดยปริยาย นั่นจึงจุดประกายให้ ‘พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน’ หรือ ‘Pat Kulkan’ ที่ชื่นชอบเรื่องประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมสมัยก่อนเป็นทุนเดิม อยากทำให้เรื่องดังกล่าวน่าสนใจและเข้าถึงคนง่ายมากยิ่งขึ้น ผ่านการทำภาพกราฟิกสถาปัตยกรรมในรูปแบบ 3 มิติและภาพกราฟิกน่ารักๆ ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์อย่างแนบเนียน
ผลงานของเขา ไม่เพียงต้องการให้คนซึมซับเรื่องประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่อยากนำเสนอมุมมองใหม่ๆ กระตุ้นให้คนอยากรู้อยากเห็นเรื่องอดีตมากกว่าเคย ไม่ว่าจะเป็น เบื้องหลังภายในอาคารสำคัญต่างๆ ที่เล่าเรื่องพื้นที่ใช้สอยหรือวิถีชีวิตของคนใช้งาน รวมถึงตัวการ์ตูนต่างๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสมัยอยุธยา สะท้อนความเชื่อและวัฒนธรรมในสมัยนั้น
วันนี้เราจะพาทุกคนไปท่องโลกประวัติศาสตร์ผ่านภาพกราฟิกของ Pat Kulkan ทั้งเบื้องหลังแนวคิด ขั้นตอนการทำงาน และผลงานของเขา ที่ไม่เพียงได้เพลิดเพลินกับรูปภาพที่สวยงาม แต่ยังได้อ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยประวัติศาสตร์ไทยสนุกๆ ไปพร้อมกันด้วย
จุดเริ่มต้นภาพสถาปัตย์ 3 มิติ
ส่วนตัวผมชอบเข้าวัดตั้งแต่เด็ก อาจจะไม่ใช่สายธรรมะธัมโม แต่ผมชอบงานศิลปะในวัด มันเกิดจากประสบการณ์ในระหว่างการเรียนสถาปัตย์ ที่ได้รู้จักเพื่อนทั้งคณะโบราณคดีและสถาปัตย์ไทย พวกเราไปเที่ยวด้วยกัน ก็แลกเปลี่ยนความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปในตัวด้วย
ระหว่างการเดินทาง ดูเมืองเก่า ดูวัด นอกจากตัวเองเป็นคนชอบเรื่องอาคารเก่าและศิลปกรรมแล้ว ผมยังชอบซากปรักหักพัง ที่บางครั้งชวนให้จินตนาการต่อถึงเมื่อครั้งที่ยังสมบูรณ์ มันกลายเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตงานเชิงประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตามมา
มากไปกว่านั้นยังชอบผลงานของนักวาดภาพประกอบอย่าง ‘สตีเฟน บีสตี’ (Stephen Biesty) ที่ภาพวาดของเขาจะชอบผ่าอาคารหรือสิ่งต่างๆ ให้เห็นโครงสร้างและรายละเอียดการใช้สอยภายในมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วงที่ผมเรียนปริญญาโททำให้เราเปิดมุมมองเรื่องประวัติศาสตร์ และอยากท้าทายความรู้เดิมเพื่อผลิตสิ่งใหม่ๆ
ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นข้อจำกัดของงานวิชาการในการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน แต่ผมคิดว่ามันน่าจะสามารถแปรเป็นกราฟิกให้เข้าใจง่ายขึ้นได้ไหม หรือนำเสนอมุมมองอาคารที่คนไม่คุ้นเคย รวมถึงนำเอาศิลปวัฒนธรรมมาเล่าใหม่และเปิดจินตนาการทั้งตัวเราและผู้ชมด้วย
เบื้องหลังการผ่ารูปอาคาร
ช่วงแรกผมเริ่มต้นทำกราฟิกในเพจ ‘คิดอย่าง’ ที่เป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลความรู้ผ่านหลายๆ เทคนิคโดยมีจุดร่วมกันว่า เราต้องการให้ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายมากที่สุด
ในการทำผลงาน ผมให้น้ำหนักไปทางรีเสิร์ช ซึ่งมีทีมงานช่วยกันศึกษาเอกสารโบราณ รูปภาพ หรือวิจัยต่างๆ ซึ่งเราอยากนำเสนอตึกที่ไม่ค่อยถูกเล่า ก็หาข้อมูลจากภาพถ่าย ลองวางแปลน และขึ้นเป็นสามมิติ แต่ที่ยากคือการขึ้นโมเดล ว่าเราจะนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจ ถ้าอาคารนี้คนเล่าเยอะเเล้ว เราก็ต้องบิดวิธีการเล่าและเลือกผ่าอะไรบ้าง ซึ่งการทำภาพแบบไอโซเมตริก (Isometric) หรือการเขียนภาพ 3 มิติ มันทำให้เห็นความสัมพันธ์ของรูปร่างอาคารกับภาพถ่ายอาคารด้านในเกี่ยวข้องอย่างไรได้บ้าง
เพราะแต่ก่อนภาพประกอบในหนังสือจะเป็นแบบ 2 มิติ เช่น เป็นรูปภาพด้านหน้าวัดแล้วมีลูกศรชี้ๆ ส่วนประกอบต่างๆ ว่าอันนี้ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์นะ ผมรู้สึกว่ามันน่าเบื่อและเห็นในตำราเยอะแล้ว ถ้าเราสามารถขึ้นอาคาร 3 มิติแล้วผ่าให้เห็นมุมมองได้มากขึ้น ก็อาจจะทำให้คนอยากรู้มากยิ่งขึ้นในมุมที่ต่างออกไป
พระที่นั่งจักรีฯ ในมุมคนทำงาน
ถ้าให้ยกตัวอย่างรูปสามมิติที่น่าสนใจ คือ ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ หลายคนพอรู้จักแหละ ส่วนใหญ่คนเห็นด้านหน้า แต่ไม่เคยเห็นด้านหลัง เพราะมันถูกรื้อไปหมดแล้ว เราก็ต้องใช้แปลนและภาพถ่ายจำนวนมากในการขึ้นอาคารนี้
สังเกตภายในอาคารว่าจะมีหลายห้องมากๆ เป็นเขาวงกต แต่มันเชื่อมต่อกัน เพราะมันถูกต่อเติมไปเรื่อยๆ
และประกอบขึ้นจากห้องที่มีการใช้สอยหลากหลาย เช่น พื้นที่เลี้ยงรับรอง ห้องสมุด ไปจนถึงออฟฟิศหลวง ต่างจากสมัยก่อนที่พระที่นั่งจะเป็นที่รโหฐานยากจะเข้าถึง แต่ด้วยอิทธิพลตะวันตก ด้วยระบบราชการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างโทรเลข ข้าราชการและคนทำงานก็ใช้พระที่นั่งเป็นที่ทำงานราชการได้
จริงๆ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสถาปัตย์เล่าให้ฟัง อาคารของตะวันตก ส่วนที่สูงที่สุดจะเป็นที่ๆ ให้คนใช้อยู่ใต้หลังคา ส่วนที่ต่ำๆ เขาจะให้เจ้าของอาคารอยู่ เพราะมันเข้าถึงง่าย แต่พอเป็นไทยมันมีไอเดียเรื่องลำดับสูงต่ำของไทยที่มีความเชื่อว่า อะไรที่อยู่สูงที่สุดมักจะเป็นของสำคัญ อย่างยอดอาคารก็จะเป็นที่เก็บอัฐิของกษัตริย์ในอดีตไว้ชั้นบนสุด หรือเป็นที่เก็บของศักดิ์สิทธิ์
การ์ตูนยุคอยุธยา
ด้วยความชอบเรื่องประวัติศาสตร์ ผมมีงานการ์ตูนใช้นามปากกาว่า ‘แมวเซา’ เน้นงานที่ไม่ได้อิงความเป็นวิชาการมากนัก ส่วนมากจะชอบวาดเป็นภาพสัตว์กับบรรยากาศเมืองเก่าในจินตนาการ ที่เกิดจากการผสมสิ่งที่เราได้จากการเดินเมืองเก่าหรืองานรีเสิร์ชเวลาทำงาน
ส่วนมากผมจะเน้นหยิบเซนส์ของอยุธยามาใส่ในการ์ตูนเยอะเป็นพิเศษ อย่างงานประเพณีไทยที่เราเห็นผ่านภาพจิตรกรรม แล้วนำมาแปลงใหม่ ยกตัวอย่างงานหนังสือที่ผมทำงานกับอะตอม จากเพจ Atom’s cabinet ชื่อ ‘เมื่อเจ้าแกะอยากเป็นสุนัขจิ้งจอก’
มันเล่าเรื่องหัวหน้าฝูงแกะที่อยากจะเป็นสุนัขจิ้งจอก ซึ่งต้องย้อนไอเดียคนเล่าประวัติศาสตร์นี้คือ ช่วงรัชกาลที่ 5 สยามเป็นลูกแกะ และมีหมาป่ากับสุนัขจิ้งจอกที่เป็นอังกฤษกับฝรั่งเศสเข้ามาคุกคามลูกแกะ โดยแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ ‘Siam Mapped’ ของธงชัย วินิจจะกูล แกอธิบายว่า
จริงๆ สยามไม่ใช่ลูกแกะ แต่เป็นจิ้งจอกตัวเล็กมากกว่า เพราะเราก็ไปล่าอาณานิคมกับเมืองอื่นเหมือนกัน แต่จริงๆ ทุกคนในเรื่องนี้ไม่มีใครเป็นลูกแกะหรอก ทุกคนต่างเป็นสุนัขจิ้งจอกที่ตัวใหญ่หรือตัวเล็กมากกว่า
อยุธยาในปัจจุบัน
เดิมทีผมชอบแมวอยู่แล้ว รูปนี้มาจากตอนแรกผมเห็นกิจกรรมในอยุธยาเยอะดี ส่วนใหญ่เขาชอบเล่าผ่านจิตรกรรม 2 มิติ เป็นภาพคนเดินกันขบวนยาวๆ เช่น ‘ขบวนกฐินพระราชทาน’ เพื่อเอาไปถวายวัดต่างๆ
จากข้อสังเกตงานประเพณีสมัยอยุธยา เขามีคาแรกเตอร์เด่นๆ อย่างหนึ่งคือ ชอบวาดคนเดินขบวนเยอะๆ ซึ่งการเดินขบวนคือตัวอย่างการแสดงแสนยานุภาพว่า อาณาจักรนี้มีสังกัดทหาร กรม กอง เจ้าขุนมูลนาย แสดงถึงความยิ่งใหญ่
เนื่องจากผมชอบแมว ก็เลยเอามาแปลงเป็นภาพแมว และทำเป็นหนังสือการ์ตูนให้เข้าใจง่าย น่ารักๆ ดูซอฟต์ๆ อีกอย่างหนึ่งคนสมัยก่อนจะแต่งตัวไม่กี่สี เช่น สีแดง ขาว และน้ำตาล เราก็อยากเพิ่มสีสันในแบบของเราบ้าง ไม่อยากตรงตามความจริงเป๊ะๆ ให้เห็นความหลากลายและสนุกๆ บ้าง
ฟื้นชีพตึก ร.5 ผ่านภาพกราฟิก
ผลงานนี้เป็นอีกผลงานที่ทำร่วมกับเพจ Atom’s cabinet ตึกเก่าที่คนให้ความสนใจในรัชกาลที่ 5 เราคัดมา 4 หลัง มีร้านขายชา ร้านส่งโทรเลข ร้านขายยา และร้านหนังสือ
อย่างร้านขายยามาจากตะวันตก ที่เริ่มได้รับความนิยมจากการที่การแพทย์แผนใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังอย่างการแก้โรคระบาดต่างๆ เพื่อให้เมืองเติบโตและแก้เรื่องแออัดได้ ต่อมาคือร้านขายน้ำชา ทุกวันนี้คนอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่ตอนนั้นสำคัญมากเลย เพราะมันเป็นธุรกิจที่อู้ฟู่มาก ทุกชนชั้นกินชาหมดเลย คนจนก็มีชาเกรดหนึ่ง คนรวยก็กินชาไว้เจรจาหรือนัดการค้ากันอีกเกรดหนึ่ง คล้ายๆ ร้านคาเฟ่ในบ้านเรา
หรือพวกโทรเลข คือการสื่อสารระหว่างคนต่างจังหวัดที่ทำงานในเมือง เขาก็มีช่องทางติดต่ออย่างเดียวคือโทรเลข สมัยก่อนกว่าจะติดต่อกันได้ก็เป็นเดือนแล้ว พอมีโทรเลขก็เร็วขึ้นแป๊บเดียว ทั้งหมดนี้ผมอยากเล่า เอาอดีตเก่ามาเล่าในมุมมองสถาปัตย์ใหม่
ติดตามผลงานของ Pat Kulkan ที่ Maewsow