วิธีคิดหนังโฆษณาให้วัยรุ่นกดเลิฟของ มอร์ วสุพล นักร้องนำวง Ten To Twelve

หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตาหนุ่มผมยาวในลุคเซอร์ๆ
ของ มอร์-วสุพล เกรียงประภากิจ เป็นอย่างดี เพราะเขาปรากฏตัวในสื่ออยู่ไม่ขาดและมีผลงานหลายบทบาทให้เราได้ติดตามอยู่เสมอ
ทั้งงานเบื้องหน้าในฐานะนักร้องนำวง Ten To
Twelve งานเบื้องหลังในฐานะผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ
ผู้กำกับโฆษณา และผลงานล่าสุดบนจอเงินในบทบาทนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Motel Mist ที่เขียนบทและกำกับโดย ปราบดา หยุ่น แม้ว่าจะไม่ใช่คนหนุ่มที่ผลงานโดดเด่นจนเส้นกราฟชีวิตพุ่งจนถึงขีดสุด
แต่ผลงานที่กลั่นออกมาจากพลังความสร้างสรรค์ของเขา
ทำให้เราสนใจและอยากจับตามองเป็นพิเศษ

มอร์ไม่ใช่แค่คนหนุ่มที่ทำงานเก่ง
แต่เขายังบ้าพลังทำงานจนเราทึ่งในความขยัน ปีที่ผ่านมามอร์มีผลงานกำกับโฆษณาไปกว่า
20 ชิ้น
และยังคงผลิตผลงานเพลงในฐานะนักร้องและนักแต่งเพลงของวง Ten To Twelve อย่างต่อเนื่อง
เมื่อสะสางการงานที่คั่งค้างกันจนหมดปี
เราจึงมีโอกาสได้ชวนเขามาพูดคุยกันถึงเส้นทางการทำงานของตัวเอง

หลายคนอาจคุ้นกับภาพคุณเป็นนักร้อง
เล่าหน่อยว่าเส้นทางสายผู้กำกับของคุณเริ่มต้นตอนไหน
เราได้เป็นผู้กำกับแบบงงๆ ตอนเรียนจบ เรามาทำงานประจำเป็นผู้ช่วยผู้กำกับสองปีครึ่ง แล้วลาออกไปออกเทป (หัวเราะ) พอทำอัลบั้มเสร็จ งบเอ็มวีมันเหลือไม่เยอะแล้วไงเพราะเราเคยปล่อยเอ็มวีไปหลายตัวแล้ว ก็เลยคิดว่าถ้างบเท่านี้ทำเองแล้วกัน เราจะได้เอางบทั้งหมดไปทุ่มกับเอ็มวีเลย
เราก็เลยเริ่มกำกับเอ็มวีวงตัวเอง แล้วที่ค่ายดันชอบ ก็เลยได้กำกับเอ็มวี Dancing ของ Musketeers จนลามปามไปกำกับเอ็มวีให้ค่ายอื่น จนเริ่มได้ทำโฆษณาและกำกับเรื่อยมา เห็นไหมครับ ได้เป็นผู้กำกับแบบงงๆ ซึ่งตอนแรกๆ นั้นจนมาก เข้าเนื้อเกือบทุกตัว
เป็นช่วงทำงานสนุกและหิวข้าวมากไปพร้อมกัน

ช่วงที่ทำงานฟรีทุกข์ใจบ้างมั้ย
ทุกข์สิ
แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก
แค่อยากทำงานให้มันดีที่สุดเท่าที่ความสามารถเราจะมีในทุกงาน เราเชื่อว่างานที่ตั้งใจทำถึงแม้จะขาดทุน
มันจะพาเราไปสู่งานต่อๆ ไปที่ดีกว่าเดิม และงบเยอะกว่าเดิมด้วยล่ะมั้ง

วิธีสร้างสรรค์งานในแบบของมอร์เป็นยังไง
เราได้วิธีคิดมาจากตอนที่เราเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้พี่ต่อ
ธนญชัย นะ

เราจะแบ่งเป็น 2 โหมด
โหมดแรกเรียกว่าช่วง ‘กวี’ คือฟุ้งเลย หาความเป็นไปได้ว่า ไอเดียนี้เป็นอะไรได้บ้าง คิดอะไรออก มีอะไรสาดมาเลย เวลาคิดงานกับผู้ช่วยเรา ก็จะพยายามไม่ขัดกัน
โหมดที่ 2 เรียกว่าช่วง ‘ผู้พิพากษา’ คือมาดูว่าอันไหนเหมาะกับหนัง อันไหนนอกประเด็น
อันไหนรับใช้ไอเดียสุด เพราะความสนุกที่สุดบางครั้งก็ไม่รับใช้ไอเดีย อันไหนควรผสมกันอันไหน
ตัดอันไหนเท่าไหร่แล้วงานน่าจะออกมากลมกล่อมมากสุดในทัศนคติและรสนิยมของเรา

พัฒนาไอเดียออกมาเป็นรูปธรรมได้ยังไง
เวลาทำงาน
เราไม่ได้คิดว่าตัวเองทำงานรับใช้ลูกค้านะ เราทำงานรับใช้ไอเดีย
คือในไอเดียนี้แบบไหนมันสนุกที่สุด แบบไหนที่คนดูน่าจะอินที่สุด และแบบไหนที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ
นอกจากนี้ในยุคนี้งานเราต้องเหมาะกับแพลตฟอร์มที่ไปออนแอร์ด้วย
เราจะพยายามพัฒนาโจทย์ให้เป็นแบบที่ตัวเองชอบและยังรับใช้ไอเดียด้วย
แต่ซึ่งบางครั้งลูกค้าบางคนก็ไม่ซื้อ ก็ไม่ได้ทำงานนั้น
แต่นั่นแหละ ดันเลือกทางไม่ง่ายแล้วก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ของมันด้วย

ได้คิดถึงเรื่องการพัฒนาตัวเองบ้างหรือเปล่า
ที่คิดอยู่เสมอคือ
ทำยังไงให้งานกูดีกว่านี้วะ ทำยังไงให้งานกูดีกว่านี้วะ

เวลาดูงานคนอื่นแล้วคิดยังไง
เวลาเจองานที่เจ๋งๆไม่ว่าจะงานเมืองนอก
หรืองานพี่ๆ เพื่อนๆ เราจะขี้อิจฉามาก ไม่ใช่พวกอิจฉาเงียบๆ ด้วย เราอิจฉาดังๆ เลย
โดยเฉพาะกับเพื่อนตัวเองที่แม่งเก่งอย่าง พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี, ไก่-ณฐพล บุญประกอบ, เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย หรือ Eyedropper Fill ทำไมมึงเก่งจังวะ แต่เราไม่ริษยาที่หมายถึงกูจะทำให้มึงไม่ได้ดีเลยนะ ดีใจซะอีกที่มีพวกมันอยู่ใกล้ๆ ทำให้เราต้องพยายามทำให้ตัวเองเก่งขึ้นอีกจะได้ตามทัน เปลี่ยนความอิจฉาให้เป็นพลัง

เรียนรู้อะไรจากการดูงานของคนอื่น
เวลาดูงานชิ้นนึงเราจะชอบเอามาวิเคราะห์
แยกว่าอันไหนคือเนื้อหา อันไหนคือรูปแบบ เช่น เออ อันนี้วิธีพูด ไอเดียมันน่าสนใจ ส่วนอันนี้ช็อตนี้ดีจังกำกับยังไงเนี่ย อันไหนขโมยมาใช้ในงานเราได้ไหม แล้วนอกเหนือจากงานโฆษณาและหนัง ความสนใจเรายังลามปามไปแขนงอื่นด้วย เช่น เพลงที่ฟังกวาดเกือบทุกแนว
อีกทั้ง Typography, Graphic Design หรือ Contemporary Art สายป๊อบๆ คือเราอยากมีความรู้เรื่องอื่นด้วย
สิ่งที่คนเราเสพจะถูกคัดเลือกโดยรสนิยมของตัวเราแล้วหมักเก็บไว้
ซึ่งเราเชื่อว่าการศึกษาความรู้หลากหลายแขนงจะทำให้งานเรามีกลิ่นเฉพาะตัว
ดูเหม็นเนอะ

งานแบบไหนคืองานที่เราอยากทำ
แต่ยังไม่มีโอกาส
เราอยากทำหนังสั้นที่เล่าเรื่องซึ่งมาจากไอเดียของแบรนด์แต่ไม่ใช่ของสินค้า น่าจะสนุกและตื่นเต้นดี

คิดว่าโฆษณายุคนี้ยังสามารถหลอกให้ผู้บริโภคมาซื้อสินค้าได้จริงหรือเปล่า
เราว่าโฆษณากำลังเข้าสู่ยุคที่สินค้าต้องจริงใจกับผู้บริโภคมากๆ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ฉลาดไง
ถ้าทำโฆษณาที่ตั้งใจหลอกลวงผู้บริโภคแต่แรก ไม่นานสินค้าชนิดนั้นก็อาจเจ๊ง
เพราะเมื่อคนเกิดความสงสัยแล้ว อย่าลืมสิว่าเค้าเสิร์ชได้เลย

ในด้านคนทำงานโฆษณาทำงานยากขึ้นไหม
ยากแต่สนุกนะ
เราไม่เคยสนุกเท่านี้มาก่อนด้วยซ้ำ เราว่าการจริงใจต่อคนดูเป็นสิ่งที่ดีออก
เราจะได้ไม่รู้สึกผิดบาปที่ทำโฆษณาตัวนั้นออกไป

ผลงานชิ้นไหนที่ทำแล้วชอบมากที่สุด
ปีที่แล้วงานกำกับที่เราชอบมากที่สุดคือ
Tiger Beer นะ ถ้าดูเผินๆ โฆษณาชิ้นนี้เหมือนเราใช้อารมณ์ทำล้วนๆ แต่ในความเป็นจริงเราวางกระดูกสันหลังของมันโดยใช้เหตุผลมากๆ

Strategy ที่เอเจนซี่ให้มาคือ Risk today เพราะวันนี้มีครั้งเดียว ธีมของเขาคือ ‘Epic night’ ซึ่งเป็นค่ำคืนที่เราจะจดจำไปตลอดชีวิต
เพราะวันนี้มีแค่ครั้งเดียว งานนั้นเราตั้งโจทย์กับตัวเองว่า 1. จะทำยังไงให้คนดูรู้สึกร่วมมากที่สุด 2. อยากทำหนังวัยรุ่นที่ฝรั่งก็ทำแบบเราไม่ได้
เราเลยพยายามคิดส่วนผสมที่จะกลับไปตอบสองอย่างนี้ให้ได้ มันเลยออกมาเป็น ‘one night, one group’ เรื่องของเพื่อนสนิทกลุ่มหนึ่งที่เริ่มสนุกด้วยกันตั้งแต่เย็นจนมาจบตอนเช้าด้วยกันที่ทะเล
ผ่านค่ำคืนที่สุข เศร้า เหงา ซึ้ง จนทำให้มันเป็นคืนที่เราจะจดจำตลอดไป โดยมีความเวรี่ไทยรวมอยู่ด้วย คือรายละเอียดความเป็นกรุงเทพฯ แบบที่เราเติบโตขึ้นมาจริงๆ เราเดาว่าสาเหตุที่หนังโฆษณาเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากคนดูมากๆ
นอกจากธีมที่แข็งแรงแล้ว ส่วนหนึ่งมันน่าจะมาจากความไทยร่วมสมัยที่แทรกอยู่ในนั้น
เช่น ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าตัวละครเล่นโอฬารเรียกชื่อกันด้วยนะ หรือฉากจบที่ทะเลตอนเช้า
หลายคนน่าจะมีประสบการณ์ร่วม
เราพยายามคราฟต์ทุกรายละเอียดให้มันมีที่มาที่ไป เราเชื่อว่าถ้ารายละเอียดมันสมจริง
คนดูก็จะรู้สึกว่า โห โดนว่ะ มันโคตรเหมือนพวกเราเลย

ตัวตนของเราที่อยู่ในผลงานเป็นแบบไหน
เราว่ามันก็อยู่ในงานทั้งสองด้านของเราแหละ
เพลงและหนังสะท้อนความคิด ทัศนคติ ความรู้สึกในช่วงเวลานั้นๆ เพลงที่เราเขียนหลังๆ ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว โลกยังไม่แตก ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ตลกดีที่คนฟังกลับอินกับมันมากขึ้น
ส่วนหนังโฆษณาโดยมากเราจะทำหนังค่อนข้างวัยรุ่น เราทำอยู่ 2 แบบคือ
หนังวัยรุ่นซีเรียส กำลังครุ่นคิดอะไรสักอย่างกับชีวิต
หรืออีกแบบคือหนังวัยรุ่นพังๆ กวนตีน ตลกแห้งๆ เดดแอร์ ความพังก็เอาชีวิตจริงของเราและเพื่อนๆ น้องๆ มาล้อเล่นทั้งนั้นแหละ

วางแผนปีนี้ไว้ยังไง
ปีนี้อยากกล้ากว่าเดิมทั้งใน 2 อาชีพของตัวเอง
ด้านเพลงเราก็อยากจะทำอัลบั้มที่ 2 ให้เสร็จ จะขยันซ้อมร้องเพลงมากขึ้น
คิดโชว์ให้แปลกใหม่กว่าเดิม ทัวร์ให้เยอะขึ้น ส่วนทางกำกับ ปีนี้จะลองใช้เซนส์ในการทำงานเยอะๆ
กล้าขึ้น คลั่งขึ้น ขยันขึ้น น่าจะพางานเราไปในที่ที่ไม่เคยไป
ไม่รู้ว่ามันจะก้าวไปข้างหน้าหรือถอยหลังนะ แต่อย่างน้อยจะได้ไม่อยู่ที่เดิม
ตอบหล่อเชียว

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ขอบคุณสถานที่ ร้าน Hello strangers cafe


Facebook l
Morvasu

AUTHOR