คุยกับ ป๊อด โมเดิร์นด็อก และ ณพน เจนธรรมนุกูล ศิลปินและนักพัฒนาอสังหาที่ร่วมกันสร้างผลงาน ด้วยความเชื่อว่าศิลปะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต

คุยกับ ป๊อด โมเดิร์นด็อก และ ณพน เจนธรรมนุกูล ศิลปินและนักพัฒนาอสังหาที่ร่วมกันสร้างผลงาน ด้วยความเชื่อว่าศิลปะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต

เราอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘จงใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ’ กันบ่อยๆ แต่ใครจะนิยามหรือออกแบบการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะยังไง ก็แล้วแต่เงื่อนไขชีวิตและความพึงพอใจที่แตกต่างกัน

บ้างอาจจะมองว่าแค่มีโซฟาได้เอนกายในวันหนักหน่วงเพื่อดีต่อใจก็ถือว่าใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ หรือบางคนอาจจะอยากมีพื้นที่ให้ได้ทำกิจกรรมหลากหลายไม่น่าเบื่อก็ได้

ป๊อด–ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์นด็อก เป็นอีกคนที่บอกกับเราว่าเขาพยายามใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะด้วยการบาลานซ์ชีวิต ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตให้ตอบโจทย์ต่อสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งการทำงานศิลปะทำให้เขาได้เข้าใจตัวเองและสร้างความสุขให้คนอื่น

ไม่ว่าจะเป็นดนตรีที่เขากับเพื่อนๆ ทำให้โมเดิร์นด็อกครองใจคนมากว่า 2 ทศวรรษจนเรียกได้ว่าเป็น ‘มืออาชีพ’ ระดับตำนานของวงการ และงานศิลปะแนวแอ๊บสแตร็ค ที่ป๊อดหลงใหลสนุกกับการปล่อยให้ร่างกายและจิตใจละเลงความรู้สึกลงผืนผ้าใบ ในช่วง 2-3 ปีเขาจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองไปหลายครั้ง และเปิดคลาสสอนศิลปะแบบก้าวข้ามการตัดสินถูกผิด ให้กับเด็กๆ เเละผู้ใหญ่ไม่จำกัดวัยในสตูดิโอของเขา

ล่าสุด ป๊อดกำลังจะได้ทำงานศิลปะที่เกิดจากการนั่งคุย แลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่น แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นงานแอ๊บแสตร็คเพื่อให้คนที่เขาคุยด้วยได้นำไปตกแต่งบ้านตัวเองในโครงการ PROVIDENCE LANE Ekkamai-Ramintra (โพรวิเดนซ์ เลน เอกมัย-รามอินทรา)

โปรเจกต์นี้เกิดจากบริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) เริ่มจัดทำโครงการบ้านที่ผสมผสานความเป็นอยู่ของคนเข้ากับศิลปะ ซึ่ง ณพน เจนธรรมนุกูล กรรมการผู้จัดการ มองเห็นว่าในยุคที่ลักษณะครอบครัวคนไทยเปลี่ยนไป การทำบ้านให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อย่างมีศิลปะเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์และต้องการแสดงความเป็นตัวเองผ่านที่อยู่อาศัย

การใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะของทั้งสองคนคืออะไร ทำไมถึงมาบรรจบกันจนเกิดเป็นโครงการบ้านในสไตล์เรียบง่ายแต่แสดงออกถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีศิลปะ ตามไปฟังเรื่องราวทั้งหมดได้ในบทสนทนานี้

โครงการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ณพน: เราจัดทำโครงการบ้านมา 50 ปี เห็นถึงปัญหาต่างๆ ในการอยู่อาศัยของลูกค้า ซึ่งเราก็เอามาปรับใช้กับแบบบ้านของเราเรื่อยๆ เพราะแต่ละยุค ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ต่างกัน เราก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า

รวมถึงเรามีความคิดที่อยากจะทำบ้าน luxury ขึ้นมาเพื่อที่จะได้ออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ ซึ่งเราวางกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็น early successors มีความมั่นใจในตัวเองสูงอยากที่จะสะท้อนความเป็นตัวตนออกมา เพราะเดี๋ยวนี้จะมีคนรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็ว อยากจะมีบ้าน ก็ออกมาอยู่คนเดียวแล้ว

ทราบมาว่าทีมงานทำการบ้านกันหนักกว่าจะได้คอนเซ็ปต์ของโครงการ เราคิดเรื่องอะไรกันบ้าง

ณพน: ก่อนจะเป็นคอนเซปต์และการออกแบบ เราได้ไปคุยกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อสำรวจความต้องการกันก่อน  เช่น อยู่บ้านเขาใช้ฟังก์ชั่นอะไรบ้าง อยากให้มีห้องสำหรับกิจกรรมอะไรบ้าง บ้านที่เขาอยู่มีกี่คน มีรถกี่คัน และออกแบบบ้านเพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยจริงๆ ซึ่งทำให้เราสรุปออกมาได้ออกเป็นคอนเซปต์ที่ชื่อว่า Defining Me  สื่อถึงคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จเร็ว มีความมั่นใจในตัวเองสูง เลือกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างการเดินทางเพื่อก้าวไปข้างหน้า ต้องได้ใช้ชีวิตเป็นตัวตนที่แท้จริงไม่ตามใคร ใช้เวลาซึบซับในสิ่งที่หลงใหลอย่างเต็มที่ อยากให้พื้นที่บ้านเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกภายนอกและโลกส่วนตัว และอยากสะท้อนความเป็นตัวตนออกมาผ่านบ้านที่อยู่อาศัย

ทีมของเราจะใช้ design thinking มาเป็นแนวคิดในการออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์ ซึ่งคอนเซปต์เราจะเป็นบ้านโมเดิร์นที่พยายามไม่ตีกรอบการสร้างพื้นที่ให้คนอยู่อาศัยเกินไป แต่สร้างฟังก์ชั่นที่เอื้อให้เจ้าของบ้านเข้ามาปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย โดยเชื่อมโยงกับพื้นที่ตั้งในย่านเอกมัย-รามอินทราซึ่งมีสถานที่ให้คนได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้สะดวก ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้า คาเฟ่ ร้านอาหาร หรือบาร์

นอกจากนี้ ทีมดีไซน์ของเรายังคิดด้วยว่า จะออกแบบบ้านโมเดิร์นยังไงให้สวยแม้จะผ่านไป 10 ปีแล้วก็ตาม เลยเป็นที่มาของคอนเซปต์ที่ใช้ศิลปะเข้ามาออกแบบบ้าน ซึ่งเราเลือกแนว Bauhaus 

ทำไมถึงต้องเป็นศิลปะแนว Bauhaus

ณพน: ก่อนดีไซน์ เรากลับไปดูสถาปัตยกรรมกึ่งโมเดิร์นแล้วยังรู้สึกว่าสวยงามอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวเรียบๆ สวยด้วยวัสดุธรรมชาติ แล้ว Bauhaus เป็นการออกแบบที่เรียบง่าย คงไว้ซึ่งธรรมชาติของวัสดุ เช่น หิน โดยมีฟังก์ชั่นใช้งานที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการของสังคม แม้ว่าจะเกิดขึ้นมาแล้วนับร้อยปี แต่ปรัชญาของ Bauhaus ก็ยังคงมีอิทธิพลในงานออกแบบจนถึงปัจจุบัน เราเลยเลือกแนวทางนี้ 

อีกอย่างคือ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของเรามีความเป็นตัวเอง แล้วเราไม่อยากให้สถาปัตยกรรมไปบดบังสิ่งที่เขาเป็น แต่ต้องการให้เป็นเหมือนผืนผ้าใบที่สามารถใส่สิ่งต่างๆ ที่ตัวเขาเป็นลงไปได้ เราจึงใช้แนวทาง Bauhaus ในการออกแบบบ้านให้มีลักษณะแนวเรียบๆ คงไว้ซึ่งวัสดุธรรมชาติ อย่างตัวบ้านเราก็เลือกโชว์หิน พยายามเอารูปทรงเรขาคณิตที่ดูเรียบง่ายมาใช้เพื่อให้คนที่อยู่อาศัยสามารถเติมความเป็นตัวเองลงไปได้ทุกเมื่อ             

เช่น เราสร้างบ้านเต็มพื้นที่ โดยให้มี courtyard อยู่ตรงกลางบ้าน แต่ก่อนเราจะล็อกไว้ว่าห้องนอนมาสเตอร์ต้องอยู่ชั้นสามนะ แต่ตอนนี้เราดีไซน์ให้คนเลือกได้เลยว่าจะให้ห้องนอนอยู่ชั้นไหน เพราะเรามีห้องขนาดมาสเตอร์อยู่ทั้งสองชั้น หรือถ้าไม่อยากให้เป็นห้องนอน จะเปลี่ยนเป็นห้องทำกิจกรรม​ หรืออยากให้ส่วนไหนของบ้านเป็นสถานที่สำหรับฮ็อบบี้ก็ได้ อันนี้คือดีไซน์ที่เราเตรียมไว้ให้ 

ทำไมคุณณพนถึงคิดว่าการนำศิลปะมาใช้ในการออกแบบบ้านถึงเป็นเรื่องสำคัญ

ณพน: ผมเห็นว่าการอยู่อาศัยมันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง การอยู่บ้าน ออกแบบบ้าน การตกแต่งบ้านมันเป็นศิลปะ ดังนั้น การดึงผลงานศิลปะออกมามันเหมือนเป็นการสะท้อนความเป็นอยู่ แสดงถึงความเป็นตัวเอง แสดงถึงความชอบ แสดงถึงบุคลิกตัวเองจากความชอบ จากผลงานศิลปะของคนนั้นที่สะสมหรือที่มีอยู่ที่บ้าน 

ซึ่งพอออกแบบบ้านด้วยแนวคิดนี้ เรานึกถึงพี่ป๊อด ซึ่งเป็นคนมีบุคลิกส่วนตัวชัดเจนแสดงออกมาผ่านผลงานเพลงและภาพวาด ผ่านวิธีการใช้ชีวิตของพี่ป๊อดที่เรียบง่ายแล้วก็มีความมั่นใจในความเป็นตัวเองมากๆ เรียกว่าพี่ป๊อดก็เท่แบบ timeless ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย

บ้านหลังนี้เราต้องการความสวย ความเท่แบบ timeless แบบที่พี่ป๊อดเป็นเลย แล้วด้วยความโชคดีอย่างหนึ่งคือพี่ป๊อดทำงานศิลปะอยู่แล้ว เป็นงานแอ๊บสแตร็คซึ่งสะท้อนอารมณ์ สะท้อนความเป็นตัวเองออกมา เราเลยคิดว่าอยากให้พี่ป๊อดวาดรูปสะท้อนความเป็นโครงการนี้ออกมา พร้อมทั้งวาดภาพสะท้อนตัวตนคนที่มาซื้อบ้านที่นี่ด้วย

ในมุมของคุณป๊อด ช่วงหลังมานี้คุณป๊อดเริ่มทำงานศิลปะอย่างจริงจังมากขึ้น พื้นที่บ้านสำคัญกับการทำงานศิลปะของคุณป๊อดไหม

ป๊อด:   สำคัญมาก ไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่มีผลตั้งแต่ตอนทำเพลงแล้ว ทุกสิ่งรอบตัวที่อยู่ในบ้านควรจะเป็นสิ่งที่เราเลือกสรรมาเอง เราชอบแบบนี้ มันให้บรรยากาศที่ตรงกับใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานต้องตอบโจทย์ความเป็นตัวเราที่สุดเพื่อให้กลั่นกรองชิ้นงานที่สะท้อนตัวเราได้จริงๆ

ผมคิดว่าบ้านมันสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัยเหมือนงานศิลปะนะ คนเลือกบ้านแบบไหนมันก็จะสะท้อนบุคลิกลักษณะแบบนั้น อย่างเช่นรูปแบบการใช้ชีวิตของผม ผมมองเป็นแนวแบบ Defining Me แบบในโครงการนี้ คือ บ้านผมต้องแสดงตัวตนที่แท้จริงของเรา ไม่ได้ตามใคร บ้านต้องเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้ใช้เวลาซึมซับกับสิ่งที่ชอบ และเป็นจุดเชื่อมต่อโลกส่วนตัวของเรา 

เล่าได้ไหมว่าคุณป๊อดจัดบ้านแบบไหนให้ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิต

ป๊อด:   ผมชอบความเรียบง่าย เน้นการใช้งาน ฟังก์ชั่นหลักๆ ที่มีจริงๆ ในชีวิตเรา ผมเป็นคนไม่เน้นของเยอะ แต่จะเลือกชิ้นที่ใช่จริงๆ ในทุกรายละเอียด พวกตู้ โต๊ะ หรือเก้าอี้

ผมมีพื้นที่ในบ้านสำหรับทำเพลงและทำงานศิลปะแยกกัน ช่วงโควิด-19 ไปทำงานที่สตูดิโอไม่ได้ ผมก็ต้องจัดพื้นที่ที่ตั้งลำโพงเอาไว้เพื่อให้มิกซ์เพลงผ่านซูมได้ เป็นครั้งแรกเลยนะที่มิกซ์เพลงกันข้ามจังหวัด แล้วมันต้องใช้ลำโพงที่เหมือนกับห้องอัดเพื่อให้ได้คุณภาพเสียง ส่วนพื้นที่ศิลปะก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งที่มีอุปกรณ์ทำงานครบ

การจัดบ้านแบบนี้ตอบโจทย์กับจริตผมที่เป็นคนขี้เบื่อด้วยเลยต้องมีสองส่วนไว้เพื่อให้บาลานซ์กับสิ่งที่ทำ เพราะช่วงหนึ่งที่ไปเล่นคอนเสิร์ตทุกวัน ชีวิตผมบาลานซ์พัง บางครั้งอยากจะนอนแช่อยู่เฉยๆ เวลาเกิดความรู้สึกนี้ผมต้องการพื้นที่ที่รองรับเราได้ซึ่งบ้านเป็นหัวใจเลย มันเป็นเหมือนรังที่ไม่ว่าทุกครั้งเราจะเหนื่อยแค่ไหน หรืออ่อนล้ายังไง ขอให้บ้านเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกอบอุ่นและสบายใจที่สุด คือพอไปคอนเสิร์ตเราก็สร้างสภาพแวดล้อมให้คนอื่นได้มีความสุขแล้ว กลับมาบ้านก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์กับเรานั่นแหละ

พูดได้ไหมว่าการที่คุณป๊อดพยายามบาลานซ์ชีวิตคือการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ

ป๊อด:   ถูกต้อง (ตอบทันที) ใช่เลย การใช้ชีวิตของเราเหมือนการสร้างงานศิลปะ เหมือนเราเป็นประติมากร เรากำลังสร้างรูปร่างให้ตัวเราเองเป็นยังไงก็ย้อนกลับไปดูว่าเรากินยังไง เรานอนยังไง เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน มันเป็นเหมือนผลงานชิ้นหนึ่งเหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้วทุกคนคือศิลปิน 

และในฐานะศิลปินที่ทำงานศิลปะแนวแอ๊บแสตร็ค นอกจากการทำงานศิลปะของตัวเองทุกวันแล้ว คุณป๊อดมีโปรเจกต์อะไรอีกไหม

ป๊อด:   ตอนนี้ผมกำลังร่วมโปรเจกต์กับหมู่บ้านโครงการ Providence Lane ทำงานทั้งหมด 5 ชิ้น 3 ชิ้นแรกเป็นงานที่จะตกแต่งอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ผมจะดูสถานที่แล้วก็สร้างงานให้ตอบโจทย์ดีไซน์ของพื้นที่นั้น 

Mood and tone ของโครงการจะมีความมินิมอล นิ่ง เหมือนแคนวาสที่สามารถเติมชีวิตจิตวิญญาณเข้าไปได้ ผมเลยอยากใส่เรื่องอารมณ์ความรู้สึก จะเห็นว่าในภาพจะมีฝีแปรงชัด มีการขูด ขีด สาดสี ผมอยากเติมอารมณ์เข้าไปในพื้นที่ที่มีความนิ่ง สร้างชีวิตชีวาและความตื่นตัว ความกระฉับกระเฉง ความเคลื่อนไหวให้กับสถานที่ เพราะผมรู้สึกว่าที่นี่มีความทันสมัย ความเป็นคนรุ่นใหม่อยู่ด้วย เลยอยากให้งานสะท้อนความตื่นตัวและความหวัง

งานอีก 2 ชิ้นจะวาดให้เจ้าของบ้านที่เข้ามาซื้อบ้าน 2 หลังแรก เป็นครั้งแรกที่ผมจะทำงานร่วมกับคนที่จะมาเป็นเจ้าของภาพ เพราะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผมจะทำงานที่เป็นตัวเอง คุยกับความรู้สึกตัวเอง แต่อันนี้เป็นงานทำให้คนอื่น เราจะใช้เวลาคุยกับเจ้าของภาพเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดความชอบของเราแล้วเอาศิลปะแนวแอ๊บสแตร็คมาปลดปล่อย สร้างผลงานเพื่อประดับไว้ที่บ้านของเขา

คุณป๊อดเคยให้สัมภาษณ์ว่าการทำงานศิลปะช่วยตอบความรู้สึกของตัวเองมาโดยตลอด พอต้องมาทำงานร่วมกับคนอื่น คุณบาลานซ์ระหว่างตัวเองและตัวตนของเจ้าของบ้านยังไง

ผสมผสานอย่างพอดี เราหาจุดร่วม อย่างที่บอก ผมเป็นคนปรับตัวได้จะให้วาดภาพในที่แคบหรือที่กว้าง หรือจะให้วาดแบบไหนก็ได้ เราสามารถลงไปเล่นกับคนอื่นได้ด้วย 

ส่วนตัวผมรู้สึกสนุกนะ ไม่ได้รู้สึกว่าสูญเสียตัวเอง รู้สึกว่ามันเป็นอีกด้านหนึ่งที่น่าสนุกดี ได้ลองแลกเปลี่ยนหรือลองเดาใจคนอื่นดู มันเหมือนแต่งเพลงตัวเองแล้วรอลุ้นว่าคนจะชอบไหม

https://www.facebook.com/watch/?v=423368705893850

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย