ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกมีนโยบายลดใช้ถุงพลาสติกอย่างไร

ลองนึกภาพดูเล่นๆ ว่าตลอดชีวิตของการจับจ่ายซื้อของต่างๆ ทั้งของกิน ของใช้ ในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก ล้วนแล้วแต่ใส่สินค้านั้นลงในถุงพลาสติกเนื้อบางที่มาพร้อมหูหิ้วถือสะดวก จนเราทุกคนคุ้นชินและเข้าใจโดยอัตโนมัติว่าเจ้าถุงนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการช้อปปิ้ง

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ร้านค้ามาบอกกับเราว่าวันนี้ฉันไม่แจกถุงพลาสติกนะ แน่นอนว่าเราจะรู้สึกว่ามีบางสิ่งขาดหาย เราไม่สะดวกสบาย เราไม่คุ้นเคย รู้สึกลำบากที่จะต้องเตรียมถุงจากที่บ้านมาเอง ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้พนักงานขายคนหนึ่งที่ประจำร้านซูเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ทส์ (Woolworths) ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียถูกลูกค้าล็อกคอ เพราะหงุดหงิดหนักที่ร้านยกเลิกการให้ถุงพลาสติกหิ้วของกลับบ้าน โดยหันมาขายถุงช้อปปิ้งที่สามารถนำกลับมาใช้ได้แทน

ถึงแม้ว่าการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกทั่วโลกจะเริ่มต้นและตื่นตัวกันมาราว 10 ปีแล้ว และการลดถุงพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตจะเริ่มต้นอย่างจริงจังไปเมื่อต้นปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจจะเป็นสัญญาณว่าร้านค้าทั่วโลกคงต้องให้เวลากับวิธีการนี้ให้นานขึ้นเพื่อให้คนที่มาซื้อของปรับความเคยชินใหม่ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจในการใช้ถุงใช้ซ้ำ การใช้ถุงกระดาษ หรือแม้แต่การนำถุงพลาสติกที่เคยใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้กลายเป็นเรื่องปกติ

วันนี้เราลองมาดูกันว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตประเทศต่างๆ ทั่วโลกเขามีความเคลื่อนไหวในเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจากประเทศออสเตรเลีย ที่มาของลูกค้าหัวร้อน 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ Coles และ Woolworths ที่เคยใช้ถุงพลาสติก ไปกว่า 2.3 พันล้านถุงต่อปี ได้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม โดยจำหน่ายถุงใช้ซ้ำเป็นทางเลือกให้ลูกค้าแทน หากซูเปอร์มาร์เกตวูลเวิร์ทส์ยังยอมให้ถุงใช้แล้วทิ้งแก่ลูกค้าก็อาจเสี่ยงต่อค่าปรับสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และแม้ว่าทางร้านจะต้องรับมือกับความไม่พอใจของลูกค้ากว่า 43% ในช่วงสัปดาห์แรกที่เริ่มต้นโครงการ แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สมาคมผู้ค้าปลีกของออสเตรเลียก็เปิดเผยข้อมูลว่าสามารถลดถุงพลาสติกไปได้แล้วกว่า 1,500 ล้านถุงเลยทีเดียว

ทางฝั่งของเนเธอร์แลนด์ที่เป็นหัวหอกของการขับเคลื่อนการลดใช้ถุงพลาสติก เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดตัว ‘Ekoplaza’ ซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดพลาสติกแห่งแรกของโลกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม โดยได้รับการผลักดันจากกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ ชื่อ ‘A Plastic Planet’ ภายในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ปราศจากพลาสติกราว 680 ชนิด โดยใช้วัสดุชีวภาพเชิงนวัตกรรมที่สลายตัวได้เป็นบรรจุภัณฑ์แทนพลาสติก

ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ‘Thornton Budgens’ ในอังกฤษเองก็เคลื่อนไหว โดยปรับเปลี่ยนสินค้ากว่า 1,700 รายการ คลอบคลุมอาหารที่หลากหลาย ตั้งแต่พืชผัก ชีส ไปจนถึงเนื้อสัตว์ ให้กลายเป็นสินค้าปลอดบรรจุภัณฑ์พลาสติกในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และมีแผนที่จะทำให้ทั้งร้านปลอดพลาสติกทั้งหมดภายใน 3 ปีนี้ โดยมีชาวบ้านในชุมชนและดาราที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ช่วยกำจัดบรรจุภัณฑ์พลาสติกออกจากพื้นที่ของร้าน

ในฝั่งของเอเชีย ประเทศไต้หวันเองก็เตรียมพร้อมแผนการห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 โดยในขณะนี้ทางรัฐได้เริ่มใช้มาตรการงดแจกถุงพลาสติกฟรีในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านขนมปัง และร้านเครื่องดื่มแล้ว โดยวางแผนไว้ว่าในปี 2025 หากลูกค้าต้องการหลอด ถุง ถ้วย หรืออื่นๆ ที่ทำจากพลาสติกจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม และดำเนินการห้ามใช้วัสดุพลาสติกใช้ครั้งเดียวตามโรดแมปในปี 2030

ส่วนในบ้านเราเอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เราคงได้เห็นห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ทั่วไทยเข้าร่วมแคมเปญลดการใช้ถุงพลาสติก หนึ่งในนั้นก็คือ เทสโก้ โลตัส ที่ร่วมการรณรงค์นี้มาตั้งแต่ปี 2553 และยังเป็นร้านค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบให้แต้มเมื่อลูกค้าไม่รับถุงพลาสติก ซึ่งจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้สามารถช่วยลดถุงพลาสติกได้ถึง 160 ล้านใบเลยทีเดียว

นอกจากใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกทุกสาขาในวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ภายในปีนี้ เทสโก้ โลตัส ได้เลือกใช้วิธีการใหม่ที่ชื่อว่า ‘Rebate’ หรือการคืนเงินให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก เนื่องจากมีผลการวิจัยที่พบว่า 1 ใน 3 ของลูกค้าโลตัสเต็มใจที่จะไม่รับถุงพลาสติก แต่ปัญหาของพวกเขาก็คือมักจะลืมติดกระเป๋ามาด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของ ‘ถุงผ้าบาร์โค้ด’ ตามแบบฉบับของโลตัส ที่เมื่อลูกค้านำถุงผ้านี้มาซื้อของนอกจากจะได้แต้มกรีนพอยท์ 100 แต้ม เมื่อแคชเชียร์สแกนบาร์โค้ดที่อยู่บนกระเป๋าแล้วยังได้ส่วนลดในการซื้อของ 1 บาท ต่อ 1 ใบเสร็จอีกด้วย นับเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ทางเทสโก้ โลตัสเชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าพกกระเป๋านี้ติดตัวมาด้วยทุกการจับจ่าย

นอกจากเทสโก้ โลตัสจะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของลูกค้าแล้ว ยังมอบความสวยงามผ่านถุงผ้าบาร์โค้ดที่มีให้เลือก 4 ลาย โดยมีคอลเลกชั่นพิเศษลายเต่าโพไซดอน ที่ออกแบบโดย ยุรี เกนสาคู ศิลปินร่วมสมัย ที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ใครที่รักโลก รักศิลปะ รักเงินในกระเป๋า พลาดไม่ได้

 

 

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที