VOA SPACE : ฮับสร้างสรรค์แห่งใหม่ของขอนแก่นที่ทุกการออกแบบเติมแรงบันดาลใจได้ทั้งหมด

สำนวนไทย ‘ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน’ ที่เราคุ้นหูกันแต่เด็กและหลายคนน่าจะเข้าใจความหมายดี แต่เชื่อว่าน้อยคนจะได้ใช้ในชีวิตของตัวเอง ทว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดสำนวนดังกล่าว คล้ายเป็นคติพจน์ในวิชาชีพของตัวเอง

พวกเขาคือ ‘นักสร้างบ้าน’ อย่างสถาปนิก มัณฑนากร และวิศวกร

โครงการก่อสร้างตึกสูงเสียดฟ้า ออกแบบบ้านสองชั้นริมแม่น้ำ หรือตกแต่งห้องสี่เหลี่ยมขนาด 24 ตารางเมตร ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ กระบวนการในช่วงเริ่มต้นที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน คือการรับฟังความต้องการของเจ้าของโครงการ เพื่อ ‘นักสร้าง’ จะได้ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสร้างสรรค์ เนรมิตวิมานในจินตนาการ ‘ผู้อยู่-ผู้นอน’ ให้กลายเป็นความจริงมากที่สุด

จะดีแค่ไหน หากสถานที่พบกันของทั้งฝ่ายเป็นมากกว่าโต๊ะรับแขกในออฟฟิศ ร้านกาแฟ หรือโคเวิร์กกิงสเปซธรรมดา แต่เป็น ‘ที่ชอบ’ ที่สานต่อจินตนาการ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หรือกระทั่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านของคุณ

ถนนมะลิวัลย์เป็นถนนสายสำคัญเส้นหนึ่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ตลอดสองข้างทางแวดล้อมไปด้วยย่านพาณิชยกรรมและย่านที่อยู่อาศัย ในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรยังเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพอย่างยากปฏิเสธ

และเร็วๆ นี้ ถนนมะลิวัลย์ยังเป็นที่ตั้งของ Co-Creator Hub แห่งใหม่ใจกลางเมืองขอนแก่นในนาม VOA SPACE

พื้นที่ของ ‘creators’

ยอมรับว่าทันทีที่เราได้รับโจทย์ให้บอกเล่าเรื่องราวของ VOA SPACE เราตีความอย่างรวดเร็วชนิดไม่น่าให้อภัยว่า ที่นี่คือ co-working space และ community space แห่งใหม่ใจกลางเมืองขอนแก่น

ซึ่งเราคิดผิด

ทีม VOA SPACE และทีมสถาปนิกและนักออกแบบ Creative and Design Office – SCG ได้ไขความกระจ่างว่า พวกเขาตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้เป็น Co-Creator Hub หรือแหล่งรวมตัวของเหล่านักสร้างที่จะมาสร้างสรรค์แรงบันดาลใจเพื่อความเป็นอยู่ สร้างการเชื่อมโยงจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาเชื่อว่าการเชื่อมโยงเหล่านั้นทำให้มนุษย์พัฒนาเชิงสร้างสรรค์ไปได้อีกไกล

“เราเชื่อว่าทุกคนคือ creators ในแบบของตัวเองนะ ถ้าแปลตรงๆ คำนี้หมายถึงกลุ่มนักสร้าง นักคิด ที่เขาจะสร้างสุนทรียภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในทุกๆ วัน จะเป็นสถาปนิก หรือมัณฑนากรหรือไม่ เราไม่เกี่ยง คุณเป็นเจ้าของบ้าน คุณก็ต้องการสร้างพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัยให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีอย่างที่คุณต้องการ”

“เราหวังว่าที่นี่จะเป็นจุดเชื่อมโยงของกลุ่มคนเพื่อให้งานไปได้ใหญ่และไกลกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกกับมัณฑนากร สถาปนิกกับเจ้าของบ้าน วิศวกรกับสถาปนิก หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน”

“ที่นี่ตอบโจทย์การทำงาน มีหลายมุมมากๆ ที่เราจะเลือกนั่งทำงาน บางทีไปที่เดิมๆ มันก็เบื่อ แต่ที่นี่สเปซน่าใช้งาน มีห้องประชุมให้ลูกค้ามาคุย ห้องอเนกประสงค์สำหรับนั่งเล่น ทั้งการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบก็ทำให้เกิดภาวะน่านั่งทำงาน” ธนะวัฒน์ จอมไธสง สถาปนิกฟรีแลนซ์ชาวขอนแก่นบอกเรา

ธนะวัฒน์บอกเราว่าเขาไม่มีออฟฟิศเป็นของตัวเอง สถานที่นั่งออกแบบงานและพูดคุยกับลูกค้ามักจบลงที่ร้านกาแฟ ต่อมาเมื่อ VOA SPACE เปิดให้ใช้บริการ เขาเลือกจะมาที่นี่มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะชื่นชอบการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย และมองเห็นแรงบันดาลใจในการออกแบบได้จากพื้นที่รอบตัวของเขา

ไม่ต่างกับ อธิปไตย จุฬศักดิ์สกุล ที่แม้จะเป็นสถาปนิกที่มีสำนักงานเป็นของตัวเอง แต่สุดท้ายเขาพบว่าการเปลี่ยนสถานที่ทำงานมีผลต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ อธิปไตยชื่นชอบการออกแบบ VOA SPACE ด้วยสถาปัตยกรรมทันสมัย โดดเด่นจากอาคารในย่านใจกลางเมืองขอนแก่น เขามองว่านี่เป็นข้อดีที่ทำให้ภูมิทัศน์ทางสถาปัตยกรรมของนักสร้างบ้านและเจ้าของบ้านกว้างขว้างขึ้น

สถาปนิกหนุ่มทั้งสองคนยังเห็นตรงกันว่า จุดแข็งที่ทำให้ VOA SPACE แตกต่างคือการให้รายละเอียดของวัสดุที่รายล้อมพวกเขาขณะใช้งานพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องตลอดจนสุขภัณฑ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้งานสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อศึกษารายละเอียด หรือสอบถามเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ มีประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้ออกแบบและเจ้าของโครงการ

มีแรงบันดาลใจซ่อนอยู่ในสิ่งปลูกสร้าง

VOA SPACE ถูกดัดแปลงมาจากโครงสร้างเดิมของศูนย์รถจักรยานยนต์เก่า ภายหลังการสำรวจพื้นที่ ทีมออกแบบพบว่าโครงสร้างที่หลงเหลืออย่างตัวอาคาร กระทั่งเสาและคาน ล้วนเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์ หากสามารถผสานผสานโครงสร้างเก่ากับการออกแบบสมัยใหม่ จะเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และยังลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมาก

“เราไม่ได้ตั้งใจจะเลือกใช้โครงสร้างเก่าตั้งแต่แรก หลังจากทีมวิศวกรได้สำรวจประเมินอาคารแล้ว เราเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ร่วมกันว่า เรามีอะไรอยู่บ้าง และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน บางครั้งสิ่งที่เหมือนไม่มีค่าก็มีประโยชน์ได้ อยู่ที่ว่าจะเลือกอะไร เท่าไหร่ อย่างไร ให้เหมาะสม”

พื้นผิวภายนอกอาคารถือเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นของ VOA SPACE มองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นอาคารสไตล์ลอฟต์พื้นผิวเป็นซีเมนต์ แต่ความจริงแล้วเป็นพื้นผิวกระเบื้องนำเข้าจากอิตาลี สีขาวอมเทา มองสบายตา ตามแรงบันดาลใจจากภูเขา ที่สำคัญคือใช้วัสดุทดแทนวัสดุธรรมชาติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ โดยไม่ต้องเคลือบผิวหรือบำรุงรักษาเพิ่มเติม ไม่สึกกร่อนเป็นเวลายาวนาน

“ภูเขาสื่อถึงการรวมตัวกันที่หลากหลายขององค์ประกอบทางธรรมชาติต่างๆ เปรียบสถานที่นี้ต้องการเป็นที่รวมองค์ประกอบต่างๆ ทางสถาปัตยกรรมไว้เพื่อให้นักออกแบบสร้างผลงานที่มีคุณค่าและยิ่งใหญ่เช่นกัน ในเชิงจิตวิทยา การนำเส้นสายและความลาดชันของภูเขามาเชื่อมต่อพื้นที่ในส่วนต่างๆ ทำให้เกิดความรู้สึกต่อเนื่องกันของพื้นที่ใช้สอย เกิดความคิดสร้างสรรค์ และยังสร้างแรงบันดาลใจที่จะให้นักออกแบบทุกคนไปยังเป้าหมายสูงสุดของแต่ละคนอีกด้วย”

ที่ชาร์จพลังงานแห่งความสร้างสรรค์ของคนกับเมือง

องค์ประกอบของ VOA SPACE ล้วนได้รับการออกแบบให้สอดรับกับกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ทั้งสิ้น เช่น ทางเดินเชื่อมต่อความคิดและจินตนาการ ที่เรียกว่า VOA Path ทีมออกแบบตั้งใจให้ผู้ใช้งานปลดปล่อยสมองให้เป็นอิสระ เดินอย่างไร้จุดหมาย และเมื่อไม่เดินเป็นเส้นตรง ก็ลองเดินวนที่ Spiral Stair ก็ได้

การออกแบบด้วยแนวคิดความต่อเนื่องยังทำให้เกิดการใช้สอยพื้นที่อย่างสนุกสนาน สังเกตได้จากมุม Vive Atrium โถงขนาดใหญ่ใจกลางอาคารที่ออกแบบให้มีการเล่นระดับเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย

Velcome Hall พื้นที่นอกอาคาร เป็นตัวเชื่อมระหว่างอาคาร เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้น จุดรวม และจุดนับพบ ของเหล่า creators จากบริเวณนี้มองเห็นโครงสร้างอาคารเดิมอย่างเสาและคาน ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแนวคิดใหม่ สามารถเป็นแรงบันดาลให้เหล่านักสร้างสรรค์คิดนอกกรอบได้อย่างดีเยี่ยม

VOA SPACE ไม่เพียงเป็นสถานที่พบปะระหว่างนักคิดนักสร้างเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็น LIVE Showroom และ Material Library เช่น มุมจัดแสดงประติกรรม UNVEIL โดยนักออกแบบชื่อดังระดับโลกชาวญี่ปุ่น สร้างจากนวัตกรรมที่เรียกว่า หินไพโรลิธิค ที่มีเอกลักษณ์คล้ายหินอ่อนแต่มีความโดดเด่นมากกว่า

ที่ VOA SPACE ยังมีคาเฟ่ชื่อดังในนาม CLASS CAFÉ ซึ่งเป็นที่สุดของร้านกาแฟในภูมิภาค นำเมล็ดกาแฟเกรดพรีเมียมจากทั่วทุกมุมโลก เช่น เคนยา ปานามา กัวเตมาลา และบราซิล มาเบลนด์เป็นรสชาติเฉพาะของร้านเท่านั้น

เห็นชัดเจนว่ารายละเอียดเล็กน้อยที่แฝงในสถาปัตยกรรมของ VOA SPACE ล้วนผ่านกระบวนการออกแบบมาอย่างละเอียดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทีมออกแบบเปิดเผยว่าได้ศึกษาข้อมูลวิจัยทางจิตวิทยาเรื่องการอยู่ในธรรมชาติและความคิดสร้างสรรค์

“การได้อยู่กับธรรมชาติซึ่งมีลักษณะอ่อนโยน ไม่ดึงความสนใจจากสมองคนเราไปจนหมด ทำให้ยังคงเหลือทรัพยากรในการคิดเพื่อโฟกัสต่อประเด็นปัญหาที่คนเราต้องการการขบคิดได้ดีขึ้น ดังนั้นธรรมชาติจึงสามารถเติมเต็มอาการสมองล้าได้ ทำให้คนเราใช้ความคิดได้ดีขึ้น”

การเกิดขึ้นของ Co-Creator Space เกิดขึ้นในหัวเมืองภาคอีสานที่กำลังได้รับความสนใจเรื่องการพัฒนา และกลายเป็นโมเดลการพัฒนาเมืองของหลายท้องถิ่น คำถามที่เราไม่ถามไม่ได้คือ พวกเขามองเห็นศักยภาพอะไรของขอนแก่นที่จะทำให้ ‘ที่ชอบ’ แห่งนี้บรรลุเป้าหมาย

“พลังเหลือล้น เราไม่ได้มองภาพแค่ขอนแก่น เรามองในระดับภูมิภาค ความเป็นภาคอีสาน มีทั้งอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นของตัวเองเฉพาะ พร้อมทุกอย่าง ผลิตทั้งคน พัฒนาทั้งเมือง”

facebook | VOA Space

ภาพ วริยา กระแจ่ม

AUTHOR