Exploring SCB Park Plaza : เราเป็นสิ่งไหนได้ เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการอะไรมากกว่าออฟฟิศ

‘งานที่ดีย่อมเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ดี’

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่หลายบริษัทหันมาลงทุนกับการปรับบรรยากาศออฟฟิศให้เอื้อกับคนทำงานมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมุมพักผ่อนหย่อนใจ หรือการตกแต่งภายในที่เน้นความสวยงามและใช้งานได้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่
เพราะพวกเขาไม่ได้มองงานเป็นแค่งาน แต่งานคือส่วนเติมเต็มความคิด ความฝัน
และตัวตนบางประการ ดังนั้นบรรยากาศในสถานที่ทำงาน (ที่เราใช้เวลามากกว่า 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่นี่)
จึงสำคัญมาก

ประโยคดังกล่าวจริงแท้แค่ไหน?
แล้วออฟฟิศควรเป็นอะไรมากกว่านี้หรือ?

นี่คือสิ่งที่ SCB เปิดบ้าน
และแชร์สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ให้เราฟัง

เป็นคาเฟ่ของคนทำงาน

อันที่จริงเทรนด์การตกแต่งออฟฟิศให้มีกลิ่นอายของ
co-working space ไม่ใช่สิ่งใหม่เท่าไรนัก แต่เรามักพบบรรยากาศแบบนี้ใน
‘องค์กรสายศิลป์’ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเสียมากกว่า
ดังนั้นเมื่อแรกเห็นออฟฟิศโซนใหม่ของ ‘องค์กรสายวิทย์’ อย่าง SCB ที่ SCB Park
Plaza สำนักงานใหญ่ เราจึงอดไม่ได้ที่จะประหลาดใจ

เพราะบรรยากาศไม่เหมือนกับธนาคารในภาพจำของเราเลยสักนิด

ทันทีที่ย่างเข้ามาในแผนก Digital
Banking
สิ่งแรกที่สะดุดตาคือห้องกินข้าวขนาดกลางที่ทำหน้าที่เชื่อมออฟฟิศปีกซ้ายขวาเข้าไว้ด้วยกัน
ตรงกลางเป็นบาร์ไม้ และเก้าอี้เหล็กตัวสูง พร้อมด้วยโคมไฟดวงโตที่ห้อยลงมาจากเพดาน
การตกแต่งทำให้เรานึกถึงคาเฟ่สักแห่งย่านเอกมัยที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและดูโมเดิร์นในขณะเดียวกัน โอปอล เลิศอุทัย ผู้อำนวยการ Product
Strategy สาย Digital Banking Transformation Function เล่าให้เราฟังว่า
ตั้งใจทำให้พื้นที่นี้เป็นจุดที่คนจากแผนกต่างๆ ได้มาเจอกัน กินข้าวด้วยกัน
และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันนั่นเอง

นอกจากนี้ ส่วนของออฟฟิศก็ออกแบบใหม่
เน้นการเปิดโล่ง เพื่อให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เราชอบคือห้องประชุมเล็กที่ตั้งเรียงกันอยู่ แม้จะขึ้นชื่อว่าห้องประชุม
แต่รูปแบบที่นั่งซึ่งเป็นโซฟาตัวยาวก็ให้บรรยากาศที่ผ่อนคลายอยู่ไม่น้อย
หลายห้องมีโพสต์อิตสีต่างๆ แปะอยู่เต็มกระจก จนดูเผินๆ
เหมือนนิสิตนักศึกษากำลังติวข้อสอบกันเสียมากกว่า
ถัดไปคือห้องประชุมใหญ่ที่มีลักษณะภายในเหมือนห้องประชุมทั่วๆ ไป แต่ด้านนอกกลับ
wrap ด้วยสติกเกอร์ตัวการ์ตูนและเกม 8 Bit ชื่อดัง
โอปอลบอกว่าคอนเซปต์คือจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต
อยากให้คนในทีมระลึกว่าอดีตของเราเริ่มต้นจากตรงไหน และแอพพลิเคชั่น SCB Easy
จะไปต่อในอนาคตอย่างไรได้บ้าง

เป็นอีกหนึ่งกิมมิกเล็กๆ
ที่เรามองว่าแสนน่ารัก

เป็นตู้หนังสือของพนักงาน

SCB เพิ่งปรับปรุงห้องสมุดในบริษัทให้กลายเป็น
SCB Academic
โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นห้องเรียนเวลาเชิญวิทยากรมาอบรมหลักสูตรต่างๆ
ให้เพิ่มเติม นอกจากนี้ห้องสมุด 4.0
แห่งนี้ยังจัดสรรพื้นที่ชั้นสองให้เป็นห้องประชุมที่บรรยากาศคล้ายกับการนั่งอยู่สนามกีฬา
พื้นที่ด้านนอกยังมีโต๊ะและเก้าอี้ พร้อมด้วยไวท์บอร์ดคอยให้บริการ
แผนกไหนอยากประชุมหรือคิดงานนอกสถานที่ก็เปลี่ยนบรรยากาศมานั่งที่นี่ได้
แถมยังมีเครื่องดื่มฟรีไว้คอยบริการอีกแน่ะ

เป็นสนามเด็กเล่นของทุกคน

SCB มีกิจกรรมคลาสสิกคู่โรงเรียนมัธยมที่เรียกว่า
‘ชมรม’ ซึ่งมีตั้งแต่ชมรมแมสๆ อย่างดนตรีสากล ปั่นจักรยาน เทนนิส
ไปจนถึงชมรมยูนีกอย่าง คนรักเครื่องเขียน และชมรมคนรักของกิน!
ข้อดีของความเป็นองค์กรใหญ่และมีพนักงานมากกว่าสองหมื่นห้าพันคน คือคุณสามารถตามหาคนที่มีความชอบเหมือนกับตัวเองได้ง่ายขึ้น แถมสมาชิกแต่ละชมรมก็จริงจังมาก
จนอาจเรียกได้ว่า Work Hard, Play Harder

ใครๆ ก็มีงานอดิเรก
แต่จะดีกว่าไหมถ้าได้ทำงานอดิเรกพร้อมกับคนที่มีความชอบเหมือนกัน?

เป็นสวรรค์ของปากท้อง

หากถามว่าอิจฉาอะไรพนักงาน SCB
มากที่สุด เราไม่ลังเลเลยที่จะตอบว่าของกิน

ไม่เพียงร้านอาหารมากมายที่กระจายตัวอยู่ใต้ตึกทุกตึกเท่านั้น
ทว่าที่นี่ยังมีฟู้ดคอร์ตแห่งใหม่ที่ดีกรีความอร่อยไม่แพ้ฟู้ดคอร์ตในตำนานของห้างย่านอโศกเลยสักนิด
เพราะโดยปกติแล้วการคัดเลือกร้านอาหารเข้ามาขายมักจะขึ้นอยู่กับการประมูลพื้นที่
แต่ร้านอาหารที่นี่ผ่านการคัดเลือกมาเพราะรสชาติล้วนๆ จากฝีมือเหล่าพ่อครัวแม่ครัวร้อยกว่าราย
คัดจนเหลือเพียงร้านที่ชิมแล้วว่าเด็ดดวง ทำให้สุ่มกินร้านไหนก็อร่อยไปหมด
ที่สำคัญคือราคาไม่แพง และเปิดให้คนนอกเข้ามาใช้บริการได้

ใครที่ผ่านไปย่านรัชโยธินสามารถไปพิสูจน์รสชาติด้วยตนเอง

เป็นพื้นที่รองรับความหลากหลายของคน

เพราะธนาคารก็ไม่ต่างอะไรจากบริษัททั่วไปที่มีแผนกต่างๆ
มากมาย ใช่จะมีแค่นายธนาคาร
ทำให้คนที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับธนาคารไม่จำเป็นต้องจบในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเงินไปเสียหมด
เพราะอย่างโอปอลเองก็จบจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คนอื่นๆ ในบริษัทก็มีทั้งเด็กจากอักษรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นิเทศศิลป์ และเศรษฐศาสตร์
ขึ้นอยู่กับว่าตำแหน่งและหน้าที่ในบริษัทคืออะไร

ความหลากหลายทั้งหมดนี้ส่งผลต่อคาแรกเตอร์ของแต่ละแผนกอย่างเห็นได้ชัด
เรายังได้เห็นพนักงานธนาคารในรูปแบบที่คุ้นตาอยู่
ในขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้นควบคู่กันไป
อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงใน SCB
แต่ในสังคมภาพรวมก็กำลังเป็นไปในทิศทางนี้เช่นกัน

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกราก
คนที่ปรับตัวได้ก่อนย่อมเป็นผู้รอดเสมอ

เป็นพี่เลี้ยงของเด็กจบใหม่

ทำไมใครๆ ก็บอกว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยอดทน โอปอลให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“ปัญหาของเฟิร์สจ๊อบเบอร์คือ
เขายังไม่ให้โอกาสตัวเองทำความเข้าใจขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ
เพราะว่าตัวเองอาจจะมีจินตนาการมาก่อนแล้วว่า ฉันเก่งมานะ
พอมาถึงที่นี่แล้วก็บอกว่าถ้าไม่ใช่เวย์ฉัน ฉันก็จะไปหาเวย์ของฉันที่อื่น
ซึ่งพอเขาไปที่อื่นก็จะไม่ใช่เวย์ของเขาอีก ฉะนั้น เฟิร์สจ๊อบเบอร์ของเด็กสมัยนี้จะไม่อดทน ถามว่าช่วยเขาได้ไหม เราช่วยเขาได้ โดย mentoring
ต้องเข้าใจที่เขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ คุยกับเขาให้เยอะ โค้ชเขาให้เยอะ
เราพยายามเอาตัวเราเล่าให้เขาฟังว่า
กว่าที่เราจะมายืนอยู่ตรงนี้เราก็เป็นเหมือนเธอนั่นแหละ เรารู้เลยว่าเธอคิดยังไง”

โอปอลหัวเราะนิดๆ
ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยประโยคที่เชื่อว่าพนักงานเจนเนอเรชั่นไหนๆ ก็ล้วนอยากได้ยิน

“คนรุ่นใหม่ที่เข้ามานั้นมี 2 แบบ คือ
เขามาเพื่อให้ กับเขามาเพื่อรับ เราไม่ได้บอกเขาว่าเราให้อะไรเขาได้
แต่เราบอกเขาว่า เรารับได้ถ้าเขาจะเป็นตัวเอง

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR