ชมรมปีนผาจังหวัดขอนแก่น ชมรมที่พลิกขอนแก่นด้วยความขี้เกียจ

ขอนแก่นกำลังจะเปลี่ยนจากเมืองที่ไม่มีอะไรน่าเที่ยวเป็นเป้าหมายใหม่ของนักปีนผาจากทั่วโลก

หวาน-ปณิธาน จูฑาพร แห่งชมรมปีนผาจังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้สร้างคำตอบด้วยการพาเราไปสัมผัสเสน่ห์ของธรรมชาติอันแปลกตา แหล่งโขดหินทรายขนาดใหญ่ (Boulder) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น พวกมันถูกออกแบบด้วยวันเวลา ลมฝน อุณหภูมิ จนกลายมาเป็นโขดหินทรายรูปทรงน่าอัศจรรย์ เป็นด่านสุดแสนอลังการให้เราได้ปีนป่าย

แหล่งโขดหินทรายที่พบที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ขอนแก่นกลายเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ของการปีนผาโขดหินของโลก แต่วิธีการปีนผาแบบนี้คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยนัก หวานแนะนำว่า “ถ้าคุณรักการใช้ชีวิตนอกห้องแอร์ ชอบการผจญภัย ชอบตั้งแคมป์ ชอบออกกำลังกาย ชอบลองอะไรแปลกใหม่ และพร้อมที่จะมือด้าน เราอยากชวนคุณมาลุยกับเรา” การปีนผามีหลากหลายรูปแบบ อย่างที่หลายคนคุ้นตาคือแบบ sport climbing เป็นการปีนหน้าผาสูง สถานที่ปีนดังๆ ก็จะเป็นที่อ่าวไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ส่วนแบบ Boulder เป็นการปีนโขดหินหรือก้อนหินขนาดใหญ่โดยไม่มีเชือก ไม่มีอุปกรณ์ช่วยปีนใดๆ มีแค่อุปกรณ์ป้องกันการตกเท่านั้น

“การปีน Boulder มันเหมือนเรามาออกกำลังกายมากกว่า มันไม่ใช่การพิชิตยอด” โอปอล หนึ่งในแก๊งนักปีนเหมือนจะบอกเราเป็นนัยว่าการปีนป่ายก้อนหินเหล่านี้ก็ใช้หลักการเดียวกันกับโควตยอดฮิตอย่าง ‘ระหว่างทางสำคัญกว่าจุดหมายปลายทาง’

“การปีนแบบ Boulder ต้องใช้ความสามารถของตัวเองล้วนๆ” หวานเริ่มต้นขู่ “การปีนแบบนี้คนปีนจะต้องคิดหาเส้นทางไปเองและจะต้องคิดให้เร็ว เนื่องจากยิ่งเกาะนานเท่าไหร่แรงก็จะหมดลงไปเท่านั้น การปีนจะต้องใช้กำลังจากทั้งข้อนิ้ว ข้อแขน ซึ่งมือของนักปีน Boulder ก็จะด้านนิดๆ” โดยการปีนแบบนี้จะไม่ปีนหินที่มีความสูงเกินกว่า 5 เมตร “หากลงผิดท่าขาแพลงเป็นเรื่องปกติ แต่ตก 5 เมตรไม่ตายหรอก” นี่คือคำปลอบใจจากหวาน

ชมรมปีนผาขอนแก่นได้จัดตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่รักและคลั่งไคล้การปีนผาที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เมื่อต้องมาใช้ชีวิตที่ขอนแก่นก็อยากหาสถานที่ที่พวกเขาจะได้ออกไปปล่อยตัวปล่อยใจห้อยโหนไปบนหินผาสูงเสียดฟ้า แต่ไปๆ มาๆ ชมรมกลับได้พบโขดหินทรายแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเปิดมิติใหม่ในการปีนผาให้กับประเทศไทยแทน กว่าที่ก้อนหินแต่ละก้อนจะพร้อมให้ปีนได้ ทางชมรมจะสำรวจว่าก้อนหินแต่ละก้อนมีลักษณะเป็นอย่างไร มีที่จับมากพอหรือไม่ ความสูงพอดีหรือเปล่า ก้อนหินบางก้อนก็เกลี้ยงเกลาเกินกว่าจะปีนได้เลย เมื่อเลือกก้อนหินเสร็จแล้ว ชมรมจะช่วยกันทำความสะอาดก้อนหิน ปัดฝุ่น กำจัดต้นไม้ที่ขึ้นตามหินเล็กน้อยให้พอปีนได้ และถางหญ้าทำทางไปสู่หิน แต่ก่อนที่จะปีนทุกครั้งก็จะต้องทำความสะอาดใหม่ทุกครั้งเสมอ

ไม่ใช่แค่มีพื้นที่แล้วจะจบ ชมรมยังได้ช่วยกันลงมือโปรโมตแหล่งปีนผาผ่านเว็บไซต์ mountainproject.com ที่นักปีนผาทั่วโลกใช้เป็นฐานในการหาข้อมูลอย่างเต็มที่ จัดทำข้อมูลสถานที่สำหรับปีน แผนที่การเดินทาง ฯลฯ อัพโหลดเข้าสู่ระบบแล้วทั้งหมดเพื่อให้นักปีนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลของขอนแก่นได้โดยง่ายและครบถ้วน“ที่ทำไปเพราะความขี้เกียจของเราเองที่ไม่อยากมานั่งตอบคำถามเดิมซ้ำๆ”

แม้หวานจะออกตัวว่าทั้งหมดที่เธอทำมานั้นเป็นเพราะความขี้เกียจ แต่ความขี้เกียจนี่แหละที่มีส่วนสำคัญในการโปรโมตการท่องเที่ยวสายผจญภัยแบบใหม่นี้ให้ขอนแก่นได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แถมยังอุทิศเวลาตั้ง 3 เดือนไปกับการสร้าง topography แผนที่บอกโซนต่าง ๆ อย่างละเอียดที่บอกว่าแต่ละโซนมีหินกี่ก้อน แต่ละก้อนมีวิธีการปีนอย่างไร มีระดับความยากกำกับไว้ทั้งหมด ทำให้นักปีนผาหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพียงเลือกโซนหินแล้วเดินไปปีนตามคำแนะนำได้เลย โดยอ่านรายละเอียดตามเอกสารที่ชมรมจัดทำไว้ให้

เท่านั้นยังไม่พอ ความขี้เกียจนั้นยังทำให้มีการปั้นนักปีนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อสอนคนอื่นต่ออีก ชมรมปีนผาขอนแก่นมีความตั้งใจที่จะสร้างนักปีนใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยจัดกิจกรรมจิตอาสาทำเส้นทางเดินใน Zoolander ของสวนสัตว์ขอนแก่นแลกกับการสอนปีนและให้คนที่สนใจได้ยืมอุปกรณ์ฟรี

“เราอยากปั้นเด็กที่นี่ให้มาสานต่อ ฝรั่งเขามาแล้วก็ไป บางรายอยู่ยาวถึงสามเดือนแต่สุดท้ายเขาก็ต้องกลับบ้าน เราจึงอยากสอนนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ของขอนแก่นที่ไม่เคยปีนมาก่อนให้ได้ลองสัมผัส ให้เขารู้สึกรักพื้นที่” หวานอธิบายความในใจ ก่อนจะชวนให้ทุกคนที่สนใจ มาทดลองเรียนรู้การปีนผากันได้ โดยทางชมรมจะจัดกิจกรรมการสอนมือใหม่เดือนละครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นเพราะความขี้เกียจหรือความรักและหลงใหลในสิ่งที่ทำก็ตาม พวกเขาก็ได้ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้รู้จักจังหวัดขอนแก่นในฐานะแหล่งปีนผาแบบ Boulder แห่งใหม่ล่าสุด และการที่คนเดินทางมาปีนผาจะต้องใช้เวลาอยู่ในที่นั้นๆ นานราวหนึ่งสัปดาห์เป็นอย่างน้อยไล่ไปจนถึงอยู่ยาวนับเดือนโดยที่ไม่เคยมีการท่องเที่ยวชนิดใดในขอนแก่นเคยทำได้มาก่อน

ความขี้เกียจมีพลัง จงพลิกความขี้เกียจเป็นแรงในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและทำให้ชีวิตของใครอีกหลายคนดีขึ้นด้วยก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่

อุปกรณ์ปีนป่าย

-รองเท้าปีนผา

พื้นรองเท้าปีนผาจะเป็นยางสังเคราะห์ ช่วยให้สามารถยึดเกาะหน้าผาได้ดี มีความกระชับแน่น เมื่อสวมใส่เท้าจะโค้งงอ ปลายเท้างุ้มและชิดกับขอบรองเท้า และการปีนแต่ละรูปแบบก็จะมีรองเท้าเฉพาะตัว

-ชอล์ก

ผงชอล์กเป็นผงแมกนีเซียมคาร์บอเนตสีขาว มีคุณสมบัติในการดูดความชื้น ช่วยซับเหงื่อจากมือผู้ปีน ทำให้มือแห้งและช่วยกันลื่น ผงชอล์กเหล่านี้อาจจะทิ้งรอยขาวๆ ไว้บนหินหรือบนหน้าผาบาง เมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งจะจางหายไปเองด้วยลมหรือฝนที่ตกมาชำระล้าง ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ

-เบาะกันตก

เบาะกันตกออกแบบมาสำหรับการปีน Bouldering โดยเฉพาะ ทำจากโฟม EVA จึงช่วยซับแรงกระแทกขณะตกลงมาได้ดี ช่วยลดการบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูง น้ำหนักเบา สามารถพับเก็บและขนย้ายได้ด้วยตัวคนเดียว

-spotter

เวลาที่เราปีนหน้าผาแบบ Boulder เราจะต้องมีคนที่เป็น spotter ที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลือเราหากทำท่าว่ากำลังจะตกจากโขดหิน โดยจะคอยรับหรือผลักผู้ปีนให้ตกลงไปยังเบาะรองตก

สถานที่ปีน

จังหวัดขอนแก่นมีสถานที่ปีนผาอยู่ 2 ที่ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมสำหรับการปีนและรองรับนักท่องเที่ยวได้ ส่วนอีกที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

-อุทยานแห่งชาติน้ำพอง

ภายในอุทยานแห่งชาติมีจุดชมวิวหินช้างสี เป็นแหล่งโขดหินทรายที่มีรูปร่างแปลกตาและมีหินกว่า 400 ก้อนที่เหมาะสมกับการปีนแบบ Boulder “ชมรมได้ร่วมมือกับอุทยานและสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 ในการกำหนดขอบเขต กำหนดโขดหินเพื่อดำเนินการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่” เป็นจุดสุดพีคที่นักปีนยังคงต้องรอการพิจารณาอนุญาตจากภาครัฐก่อนที่จะเข้าไปได้

-Zoolander

พื้นที่ภายในสวนสัตว์ขอนแก่นเป็นแหล่งโขดหินทรายขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ทางชมรมได้รับความร่วมมือจากท่านผู้อำนวยการให้เข้าใช้พื้นที่ได้ โดยพื้นดังกล่าวถูกขนานนามว่า ‘Zoolander’ ภายในนั้นมีก้อนหินที่สามารถปีนได้ราว 800 ก้อน และทางชมรมได้ถางหญ้า ทำเส้นทางเดินไปสู่ก้อนทั้งหมดแล้ว ทำให้ Zoolander เป็นสถานที่ที่มีความพร้อมในการปีนที่สุดอีกแห่งหนึ่ง

-บ้านดงลาน

บ้านดงลานเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ที่มีหน้าผาหินปูน ทางชมรมได้เข้าไปขออนุญาตกับสำนักงานป่าไม้เพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่สร้างอาคารถาวรภายในป่า ทางชมรมได้เข้าไปเจาะหน้าผาเพื่อทำเส้นทางการปีนแบบ sport climbing การพัฒนาพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านดงลานได้พัฒนาคุณภาพชีวิต ได้เปิดโฮมสเตย์ เปิดร้านอาหาร จนมีรายได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ไม่ต้องออกไปทำงานในเมือง

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปีนผา

  • หน้าหนาว เป็นช่วงเวลาในการปีนที่เหมาะสมที่สุด ทั้งอากาศที่ไม่ร้อนจนเกินไป สามารถปีนได้ทั้งวัน
  • หน้าร้อน อากาศร้อนเกินกว่าจะปีนไหว และอาจจะทำให้ปีนลำบากเนื่องจากหากเหงื่อออกที่มือจะทำให้ลื่น ไม่สามารถปีนหินได้
  • หน้าฝน ไม่สามารถปีนได้เลย

Facebook : Khon Kaen Climbing Club

ติดตามเรื่องราวในจังหวัดขอนแก่นเพิ่มเติมได้ใน a day 211 ฉบับขอนแก่น วางแผงแล้วตามร้านหนังสือทั่วไป หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://godaypoets.com/aday211

AUTHOR