Conscious : บ้านใหม่ของสตูดิโอออกแบบที่ใช้กราฟิกสร้างสรรค์พื้นที่อย่างน่าสนุก

ไม่ใช่แค่บ้านที่เราอยากสร้างสรรค์ให้น่าอยู่และบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง
แต่ยังรวมถึงที่ทำงาน พื้นที่ที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับมัน
เมื่อสตูดิโอกราฟิกขนาดย่อมฝีมือเก๋า Conscious ได้ฤกษ์ย้ายไปที่อยู่ใหม่ย่านปุณณวิถีซึ่งกว้างขวางขึ้น
เจ้าของอย่าง วีร์ วีรพร
จึงใช้โอกาสนี้สร้างพื้นที่ทำงานโฉมใหม่ที่อยู่สบาย สวยงาม และสื่อสารตัวตนของ Conscious ได้มากกว่าเดิม

ในฐานะที่เป็นสตูดิโอออกแบบกราฟิกเพื่อใช้ในพื้นที่ต่างๆ มาตลอด
(ตั้งแต่ในนิทรรศการ
สวนสาธารณะ ไปจนถึงที่อยู่อาศัย)
ไอเดียหลักในการออกแบบที่ทำงานแห่งใหม่คือการใส่กราฟิกลงไปในพื้นที่ของตัวเอง กำหนดให้มีมู้ดแอนด์โทนสดใสสมกับเป็นที่ทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
และยังคงกลิ่นอายที่เชื่อมโยงกับออฟฟิศเก่าไว้อีกด้วย

ผู้มาเยี่ยมเยือนทุกคนจะต้องสะดุดตากับกระจกใสบานใหญ่หน้าออฟฟิศ วีร์ใช้เป็นพื้นที่นี้สำหรับแปะโพสต์อิตเป็นรูปภาพกราฟิกสื่อสารกับคนภายนอก นอกจากโลโก้บริษัท ลวดลายที่ทำก็จะเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์สำคัญและโอกาสต่างๆ
เช่น การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร การเสียชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ การประกาศรับสมัครคน การช่วยกันแปะกราฟิกเป็นกิจกรรมกระชับสัมพันธ์ทีมงานที่ทำมาตั้งแต่อยู่ออฟฟิศเก่า โดยวีร์ชอบทำข้อความภาษาไทยเป็นพิเศษและถือเป็นแบบฝึกหัดเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำตัวอักษรแบบ pixel ช่วงที่เราไปเยี่ยมเยือนนั้น โพสท์อิทเรียงตัวเป็นคำว่า ‘อดทนเวลาที่ฝนพรำ’ ตามฤดูกาล
ซึ่งก่อนจะลงมือแปะกันก็ต้องมีการพล็อตลายลงตารางก่อนทุกครั้ง

เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะเห็นสติกเกอร์กราฟิกคำว่า
‘สวัสดี’ อยู่ข้างประตู
ห้องที่อยู่หน้าสุดคือห้องประชุมเพดานสูงซึ่งเกิดจากการกั้นห้องด้วยกระจกใสถึงชั้นสองซึ่งเป็นชั้นลอย ทำให้รู้สึกโปร่งโล่งแม้จะเป็นห้องขนาดเล็ก มีความเป็นสัดเป็นส่วน ผนังกระจกด้านในติดสติกเกอร์กราฟิกคำว่า
‘ห้องประชุม’
ทำหน้าที่บ่งชี้การใช้งานพื้นที่โดยไม่ต้องพึ่งป้าย
สร้างความเป็นส่วนตัวและใช้ตกแต่งในเวลาเดียวกัน ฟอนต์ที่ใช้เป็นฟอนต์ที่วีร์และทีมงานออกแบบเอง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากงานของดีไซเนอร์รุ่นเก่าที่ชื่นชอบอย่าง Wim Crouwel ลักษณะตัวอักษรทึบสูงช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวได้ดี

ผนังสีขาวสูงในห้องประชุมตกแต่งด้วยโปสเตอร์และงานออกแบบซึ่งมีคุณค่าทางใจต่อเจ้าของ
หรือไม่ก็มีอิทธิพลต่อความคิดและการทำงาน ตัวอย่างเช่นโปสเตอร์โลโก้แบทแมนของ ทิม
เบอร์ตัน ยุคปี 1989, โปสเตอร์ iMac เครื่องแรก, โปสเตอร์คอนเสิร์ตของ
เดวิด โบวี่ บางชิ้นก็เป็นงานของอาจารย์ที่เคารพรวมถึงอดีตทีมงานบริษัท
นอกจากจะช่วยเรื่องความสวยงาม โปสเตอร์สีสันสดใสเหล่านี้ยังช่วยให้ห้องประชุมมีบรรยากาศผ่อนคลาย
เป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาได้
ส่วนพื้นห้องประชุมก็ปูด้วยหญ้าเทียมสีเขียวสดซึ่งเคยใช้ที่ออฟฟิศเก่า

พื้นที่อีกส่วนของชั้น
1
คือห้องนั่งเล่นซึ่งออกแบบให้มีกล่องสีแดงสีเหลืองเป็นพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ
วีร์เลือกใช้บีนแบ็กแทนเก้าอี้เพราะอยากให้การอ่านหนังสือเป็นไปแบบสบายๆ
จะปรับพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมก็ทำได้ง่าย
หนังสือในห้องนี้มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบและอ่านเอาเพลิน พระเอกของห้องนั่งเล่นคือเก้าอี้รูปช้างสีฟ้า
งานออกแบบของดีไซเนอร์คนสำคัญของโลกอย่าง Charles and Ray Eames วีร์เล่าเรื่องชวนขำว่าบางคนที่ไม่รู้จักงานชิ้นนี้อย่างแม่บ้านก็จะคอยนำไปเก็บเข้ามุมตลอด สำหรับเขา แม้เก้าอี้ตัวนี้จะดูคล้ายของเล่นเด็ก แต่ก็เป็นงานที่ผลักดันเทคโนโลยีการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ในขณะเดียวกันก็มีความน่ารักซึ่งอยู่เหนือกาลเวลา ถือเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นตัวแทนแรงบันดาลใจและการแสดงความคารวะต่อนักออกแบบระดับปรมาจารย์

ขึ้นไปที่ชั้นสองจะเป็นห้องกินข้าว
ตกแต่งด้วยสีแดงสดใส
ผนังกระจกมีสติกเกอร์วงกลมที่มีคำของเสียงที่เกิดจากการกินอาหารเป็นลูกเล่น เช่น
งั่ม ติ๋งติ๋ง กร้วม ฯลฯ ผลงานการออกแบบของอดีตนักศึกษาฝึกงานของบริษัท
ถ้ามองจากที่ไกลจะเห็นเป็นแค่จุดกลมๆ แต่ถ้ามองใกล้ๆ แล้วเห็นรูปแบบคำหลากหลายก็จะรู้สึกสนุก

สุดท้ายคือห้องทำงานที่ชั้นสามซึ่งมีสติกเกอร์กราฟิกคำว่า ‘ห้องปฏิบัติการ’ ติดอยู่หน้าห้อง
วีร์และทีมงานออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากงานของ Jonathan Barnbrook ดีไซเนอร์รุ่นเก๋าอีกคน
วีร์เล่าว่างานของโจนาธานจะมีความหนักแน่นและก้าวร้าวผสมอยู่
(งานที่โดดเด่นคืองานที่ผสมผสานระหว่างรูปแบบตัวอักษรหนาๆ
ในคัมภีร์กับเรขาคณิตสมัยใหม่) เขาจึงหยิบมาเป็นแบบทำฟอนต์ภาษาไทยเพราะอยากให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมก่อนเริ่มงาน

ผนังด้านหนึ่งในห้องทำงานแปะโปสเตอร์ขนาดใหญ่ที่ออกแบบขึ้นเองให้ใช้เป็นไกด์เวลาทำงาน
โปสเตอร์ด้านซ้ายคือโปสเตอร์โชว์ระดับขนาดตัวอักษรไทยและอังกฤษและช่วงระยะที่อ่านได้
ส่วนทางขวาเป็นโปสเตอร์โชว์ไซส์กระดาษจริงตั้งแต่ A0 ไปจนถึงไซส์นามบัตร
เป็นตัวช่วยเวลาคิดงานและสื่อสารกัน
ที่ขอบของเคาน์เตอร์สำหรับตัดกระดาษยังติดสเกลไม้บรรทัดไว้ทาบเพื่อกะขนาดได้เลย

รายละเอียดยังไม่หมดเท่านี้
ในจุดต่างๆ ของออฟฟิศยังมีรูปกราฟิกกระจุกกระจิกที่นำเข้ามาใช้อีก เช่น
ขอบประตูห้องทำงานด้านหนึ่ง มีรูปกราฟิกบอกระยะความสูงของสายตาคนในกิริยาต่างๆ
เมื่อนั่งทำงาน เมื่อยืน เมื่อเอื้อมมือหยิบของ ตามแต่ละชั้นและหน้าห้องน้ำก็จะมีรูปกราฟิกบอกการใช้งานพื้นที่
ออฟฟิศออกแบบขนาดย่อมแห่งนี้เต็มไปด้วยกราฟิกที่ออกแบบเองเพื่อสื่อสารความเป็นตัวตน
ยิ่งทำออกมาดูน่ารักเป็นมิตร คนได้มาเห็นก็รู้สึกสนใจ

“ถ้าเป็นออฟฟิศของบริษัทตกแต่งภายในหรือสถาปนิก
เขาชอบทำออฟฟิศให้เป็น statement การทำงานของเขา
เราซึ่งเป็นคนออกแบบกราฟิกในสเปซก็อยากทำให้คนที่เข้ามาได้เห็นเหมือนกัน
อย่างตัวหนังสือภาษาไทยใหญ่ๆ ที่กระจกก็เป็นอะไรที่อยากทำมานานแล้วแต่ไม่เจอโจทย์ลูกค้าแบบนี้สักที
เวลาออกแบบในพื้นที่ไหนเขาก็ชอบใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักทั้งที่คนอยู่ก็เป็นคนไทย เราอยากเล่นกับภาษาไทยและเชื่อว่ามันทำให้ดูเท่ได้
เราเชื่อว่าดีไซเนอร์ควรทำอะไรของตัวเองเพื่อพิสูจน์หลักการที่ตัวเองเชื่อ
เราก็เลยปล่อยของในพื้นที่ของเราเองเลย
คนอื่นดูรูปก็จะได้รู้ด้วยว่ามันเกิดขึ้นจริงแล้วนะ” วีร์เล่าเจตนารมณ์ที่ซ่อนไว้

“โดยภาพรวมเราอยากให้ออฟฟิศดูสดใส
มีความเป็นกันเอง เราไม่ใช่ออฟฟิศที่ต้องหล่อเนี้ยบ ใส่สูทผูกไทด์มาทำงาน
อยากให้มีอารมณ์กึ่งเล่นกึ่งพักผ่อน คนมาถึงก็รู้สึกว่าเราอารมณ์ดี
ถึงบางครั้งจะทำงานแล้วเครียดง่าย
แต่เราเชื่อว่าถ้าเราทำสิ่งแวดล้อมให้มีมุมพักผ่อน มีการใช้งานที่แยกจากกันชัดเจน
มันก็น่าจะทำให้ระเบียบชีวิตดีขึ้น
ตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรามีพื้นที่หายใจมากขึ้น ได้เห็นกิจกรรมหลายอย่างเดินหน้าไปพร้อมกันได้ก็รู้สึกดีใจ”

พอได้มาออฟฟิศที่ตกแต่งอย่างช่างคิดแบบนี้แล้วอยากกลับไปทำให้ห้องทำงานน่าอยู่แบบนี้เหมือนกันนะ ว่าไหมล่ะ

ตกแต่งภายใน ธฤศวรรณ ผ่องลำเจียก

ภาพ ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน
จาก SPACESHIFT และ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR