เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พี่ที่เป็นนักอ่านสายวรรณกรรมแนะนำนักเขียนหน้าใหม่พร้อมกับหนังสือเล่มแรกของเขาให้ฉันได้ทำความรู้จัก
ชื่อของเขาคือ พิชญ สุดบรรทัด เจ้าของผลงานหนังสือ Bangkok Wakes to Rain รวมเรื่องสั้นที่มีตัวเอกเป็นกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต ความพิเศษของงานเขียนเล่มนี้คือการที่เขาสร้างสรรค์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดตั้งแต่ต้น ทั้งยังจัดพิมพ์กับสำนักพิมพ์ทั้งฝั่งอเมริกาและอังกฤษ นับว่าเป็นนักเขียนไทยไม่กี่คนที่ทำแบบนี้ได้
แม้ชื่อเสียงเรียงนามและสายเลือดของเขาจะมีความเป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งยังแวะเวียนกลับมาที่ประเทศบ้านเกิดอย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยความที่พิชญใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่อเมริกา พูดและใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทั้งยังเสพสื่อที่หลากหลายทั้งฟากตะวันตกและตะวันออก จึงทำให้เขาอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นคนนอกคนในทั้งสองประเทศ
ครั้งนี้เขากลับมาเมืองไทยเพื่อมาเยี่ยมครอบครัว และเป็นหนึ่งในผู้ที่มาร่วมเสวนาในงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันได้พูดคุยกับเขาแบบตัวต่อตัว ไม่เหมือนกับนักเขียนคนอื่นๆ ที่ต้องพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์
อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปในการเขียนหนังสือ
ปกติเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมากตั้งแต่เด็กแล้ว เริ่มจากการอ่านการ์ตูนก่อน พอย้ายจากเมืองไทย คุณแม่ก็ใช้หนังสือการ์ตูนภาษาไทยอย่างโดราเอมอน โคทาโร่ อาราเล่ เพื่อให้เราเรียนรู้ภาษาไทยตอนไปอยู่ต่างประเทศ ถ้าเราอยากอ่านคุณแม่จะไม่ยอมแปลให้ เลยต้องฝึกอ่านภาษาไทยเอง ทำให้อ่านหนังสือภาษาไทยได้ค่อนข้างคล่องแคล่ว พออ่านหนังสือเยอะก็ทำให้เกิดความอยากเขียนขึ้นมา แต่กว่าจะเป็นนักเขียนได้ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราจะได้เป็นนักเขียนจริงๆ ไหม ตอนนั้นก็คิดว่าอยากทำงานด้านจิตรกรรม หนัง หรืออะไรอย่างอื่น เพราะตัวเองมีความสนใจด้านศิลปะและด้าน storytelling อยู่แล้ว แต่พอไปอยู่นิวยอร์กก็รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุดคือการเขียน เลยโฟกัสด้านนี้ จากเขียนแย่ กว่าจะเขียนได้โอเคและดีขึ้นก็ใช้เวลาเป็นปี
ทำไมถึงเลือกเขียนถึงประเทศไทย
ตอนแรกไม่อยากเขียนถึงเมืองไทยเท่าไหร่ แต่การที่เรามีความสงสัยกับเมืองที่ให้กำเนิดโดยที่เราอยู่ต่างประเทศ รวมถึงได้ยินเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องที่ญาติพี่น้องเล่าถึง ทั้งเรื่องที่อ่านในหนังสือประวัติศาสตร์ ก็ทำให้เกิดการฝังและปลูกไปในตัวจนกระทั่งพยายามเริ่มเขียนก็รู้สึกว่าตัวเองเขียนเรื่องเกี่ยวกับกรุงเทพฯ กับเมืองไทยเสมอ หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่เซตติ้งอยู่ต่างประเทศแต่จะมีจุดเชื่อมถึงเมืองไทยสักอย่างหนึ่ง พอเขียนไปเขียนมาเรื่องก็ดึงเข้าหากัน จนกลายเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม
ตอนนั้นรู้ได้ยังไงว่าการเขียนหนังสือคือทางของเรา
ที่จริงก็ไม่รู้ เพราะการเขียนหนังสือมันค่อนข้างโดดเดี่ยว เราเหมือนเขียนในความมืดมาตลอดจนกระทั่งนำสิ่งที่เขียนมาสู่ความสว่างให้คนอื่นได้อ่านนั่นแหละ ซึ่งเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนจะชอบหรือไม่ชอบ แต่เราต้องเขียนเพื่อตัวเองก่อน เขียนด้วยความเอนเตอร์เทนตัวเองเสียเป็นส่วนมาก
ก่อนหน้านั้นอ่านหนังสืออะไรบ้าง
ความจริงก็อ่านมาหลายอย่าง ตอนเมืองไทยก็อ่าน ต่วยตูน อ่านวรรณกรรมของไทยบ้าง แต่พออยู่ที่อเมริกาก็อ่านวรรณกรรมทั้งของอเมริกาและยุโรป พอได้ออกไปข้างนอกหน่อยก็อ่านวรรณกรรมของโลก ซึ่งนอกจากพวกวรรณกรรมตะวันตก ก็มีพวกวรรณกรรมจากญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะวรรณกรรมเหล่านี้มี visibility มากกว่าของไทย เราก็สามารถอ่านเพื่อเป็นการเรียนรู้ได้
ใช้เวลาเขียน Bangkok Wakes to Rain นานแค่ไหน
เล่มนี้ถ้าลองประมาณการดูก็ประมาณ 5 ปี แต่ก็มีเวลามากกว่านั้นที่ต้องรีเสิร์ชเพิ่ม ทั้งต้องอีดิตอะไรต่อมิอะไร กว่าจะเป็นแค่ดราฟต์แรกก็ใช้เวลานานพอสมควร
ด้วยความที่เป็นคนไทยที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยแต่เขียนในอีกภาษา คุณมีมุมมองตอนเขียนยังไงบ้าง
ตั้งแต่เติบโตมาเราใช้เวลาทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ รู้สึกว่าตัวเองก็เหมือนนักเขียนหลายคนที่อยู่ในภาวะ in-between แน่นอนว่าเวลาเขียน เราคิดถึงแต่ตัวเองเสียส่วนมาก แต่หากถามว่าเราเขียนให้ใครอ่านก็ไม่ได้มีการเฉพาะเจาะจง เพราะเวลากลับมาเมืองไทยก็กลับมาในแง่เข้าไปอยู่ในชีวิตของครอบครัวญาติพี่น้อง รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นความคุ้นเคย เราก็จอยกับความเป็นไทย แต่ก็พอจะมองเห็นที่นี่ในมุมมองที่เป็นระยะห่างออกมาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งพอไปอยู่ต่างประเทศก็จะมองเมืองไทยด้วยความรู้สึกใกล้ชิดและมีระยะห่าง มีความอยู่กึ่งกลางๆ นั่นเป็นมุมมองที่เราใช้เวลาเขียนถึงเมืองไทย
แล้วการเป็น in-between มันมีข้อดีข้อเสียแบบไหนในสายตาคุณ
มันเป็นมุมมองที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้น เราต้องหา comfort กับมัน แต่หากพูดถึงแง่ที่มันส่งผล เราคิดว่านักเขียนโดยมากก็จะมีความรู้สึกแปลกแยกอยู่แล้วไม่น้อยก็มาก ซึ่งนั่นทำให้เกิดการสงสัย การคิดต่อ เราเองพออยู่ในที่ที่เป็น in-between เราก็ชอบที่มีความรู้สึกใกล้ชิดและความมีระยะห่าง คิดว่ามันค่อนข้างที่จะช่วยทำให้มุมมองเราไม่เหมือนใคร บางทีคนที่อยู่ในสถานการณ์จะไม่รู้มุมมองของคนข้างนอก ส่วนคนอยู่ข้างนอกก็จะมองเข้ามาแบบผิวเผิน เห็นกรุงเทพฯ แบบโบรชัวร์การท่องเที่ยวที่ทำเป็น land of smile หรือ land of street food ฉะนั้นเราที่อยู่ในความกึ่งๆ มันเป็น insightful perspective เหมือนกัน
ในแง่คนเขียนหนังสือ คุณมองเมืองไทยในแง่วัตถุดิบการเขียนยังไงบ้าง
เมืองไทยเป็นโลกเล็กๆ โลกหนึ่งที่มีความตรงข้ามกันค่อนข้างสูง ทั้งความมั่งมีและความไม่มี ความสงบและความพลุกพล่าน ทั้งสิ่งที่เก่าและสิ่งที่ใหม่ เมืองไทยกำลังมุ่งไปในอนาคตโดยที่มีสัมภาระของอดีตของความเชื่อหลายอย่าง แทนที่จะกลายเป็นอีกอย่าง ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำจากหลายอย่างขึ้นมาแทน เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย ทำให้เซตติ้งนี้น่าสนใจสำหรับการสร้างเรื่องราว และการมีหลายอย่างผสมๆ กันมันทำให้เกิดความตึงเครียด ความขัดแย้ง ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ก็ถือกำเนิดจากปมประเด็นเหล่านี้
ผลตอบรับจากนักอ่านต่างประเทศดีไหม
ตอนแรกไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่พอมีรีวิวออกมาก็เห็นว่ามีความชอบและสนับสนุน รู้สึกว่าโอเค กับนักอ่านต่างประเทศเราไม่ค่อยห่วง ที่ห่วงที่สุดคือคนไทยจะคิดยังไง ซึ่งพอมีคนไทยอ่านก็บอกว่านี่คือเมืองไทยที่เขา recognize เพราะปกติเมืองไทยที่เขียนหรืออยู่ในวรรณกรรมของต่างชาติจะไม่เป็นที่ recognize บางทีก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโสเภณีหรือเรื่องอื่นๆ ที่พอเราไปอ่านแล้วมันไม่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกจดจำเมืองไทยได้ เลยดีใจที่เวลาเห็นคนไทยอ่านงานเราแล้วบอกว่านี่คือเมืองไทยที่เขา recognize แม้คนต่างชาติอ่านจะไม่เข้าใจก็ตาม แต่คนไทยจริงๆ จะรู้
กระบวนการทำงานกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศเป็นยังไง พอจะเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
publishing ของทุกประเทศแตกต่างกัน วัฒนธรรมที่อเมริกาจะมีคนเขียน มีเอเจนซีที่คอยส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิมพ์ แล้วแต่ว่าจะมีใครซื้อหรือไม่ซื้อ ถ้ามีคนซื้อก็จะมีการอีดิตอีกหลายกระบวนการกว่าจะออกมาเป็นหนังสือ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร เวลาไปงานหนังสือที่เมืองไทยจะเห็นทั้งหนังสือแปลต่างประเทศและหนังสือในประเทศในสัดส่วนที่เยอะทั้งคู่ มีสำนักพิมพ์อิสระมากพอสมควร นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะทั้งที่อเมริกาและที่นี่ก็มีทั้งเจ้าใหญ่และเจ้าเล็กเหมือนกัน หวังว่าจะมีความแตกต่างในวัฒนธรรม การคิด และเรื่องราว เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญที่เสียงทุกเสียงน่าจะมีโอกาสได้แสดงออกมา
คิดว่าพื้นที่วรรณกรรมไทยในพื้นที่วรรณกรรมโลกจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นไหม
ถ้ามีการส่งเสริมก็เป็นไปได้ เราอยู่ที่อเมริกาจะเห็นว่ามีการแปลงานญี่ปุ่น เกาหลี จีน ค่อนข้างเยอะ เพราะเขามีการส่งเสริม มีทุนพิเศษ เพื่อให้มีการแปลเกิดขึ้น มีการสร้างโอกาสให้วรรณกรรมได้แบ่งปันพื้นที่กัน และหวังว่าสิ่งแบบนั้นจะเกิดขึ้นในไทย
คำแนะนำสำหรับนักอยากเขียน
อยากให้อ่านเยอะๆ อ่านทุกอย่าง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนั่งลงแล้วเขียน เขียนเพื่อตัวเอง ไม่ต้องไปเทียบกับคนอื่น ไม่ต้องไปห่วงอะไร เขียนให้ตัวเองแล้วงานจะไปของมันเอง ไม่ว่าจะไปไหนก็ไม่รู้ แต่แค่ขอให้มีความพึงพอใจในการเขียนเพื่อตัวเองก็พอ
ดูรายละเอียดงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ เพิ่มเติมได้ที่ web.neilsonhayslibrary.com
และเฟซบุ๊กเพจ Neilson Hays Library