ลองจินตนาการว่าเพื่อนของคุณเพิ่งคลอดลูกสาว เป็นไปได้ว่าจิตใต้สำนึกของคุณอาจออกตัวเร็วกว่าสมองและบอกคุณว่าถ้าต้องรับขวัญหลานคนใหม่ ของติดไม้ติดมือคงเป็นอะไรสักอย่างสีชมพู พ่อแม่หลายคนเองก็อยากรู้เพศของลูกก่อนเพื่อเตรียมสิ่งของให้ถูกสี
“ผู้หญิงสีชมพู ผู้ชายสีฟ้า” คำกล่าวนี้กลายเป็นสิ่งที่สังคมยึดถือตั้งแต่เมื่อไหร่?
น่าสนใจว่าสีชมพูนั้นมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับความโรแมนติก ความอ่อนโยน อ่อนหวาน มันเป็นสีของความอ่อนไหว และในวัฒนธรรมร่วมสมัย สีชมพูมักถูกตีความให้หมายถึงสิ่งใดๆ ที่ไม่จริงจัง
ตัวละครที่มาพร้อมประโยคเด็ด “เราจะไปช้อปปิ้งกัน” อย่างเรจินา จอร์จ จากหนังวัยรุ่นคลาสสิก Mean Girls ที่มักปรากฏตัวในชุดสีชมพู, แอลล์ วูดส์ นางเอกผมบลอนด์จากเรื่อง Legally Blonde สวมเครื่องแต่งกายสีชมพูตั้งแต่หัวจรดเท้า เมื่อเธอบอกว่าจะสอบเข้าเรียนกฎหมายที่ฮาร์วาร์ด หลายคนมองภาพลักษณ์ของเธอแล้วส่ายหน้า สำหรับตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง ชุดสีชมพูของแอลล์ วูดส์ ไม่เพียงดูน่าขำแต่มันยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของคนโง่
สีชมพูกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงได้ยังไง? อะไรทำให้สีชมพูเต็มไปด้วยอคติร้ายๆ? คุณอาจแปลกใจถ้าได้รู้ว่าในประวัติศาสตร์ สีชมพูเคยปราศจากความหมายเรื่องเพศ มันเคยเป็นสีของความร่ำรวย ความมีระดับ และที่สำคัญ สีชมพูเคยเป็นสียอดนิยมสำหรับเด็กผู้ชาย และภาพลักษณ์ของสีชมพูเพิ่งถูกเปลี่ยนให้เข้ากับเพศหญิงในเวลาไม่ถึงร้อยปีด้วยเหตุผลสำคัญทางการตลาด
แวร์ซายประกาศกร้าว “สีชมพูเป็นของหรูสำหรับทุกเพศทุกวัย”
ปัจจุบันสีชมพูไม่ใช่สีโปรดของคนยุโรป อันที่จริงผลสำรวจความคิดเห็นกล่าวว่าคนยุโรปเกลียดสีชมพูมากที่สุดเป็นอันดับสอง แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 สีชมพูเคยเป็นสีโปรดของราชสำนักที่โด่งดังด้านแฟชั่นมากที่สุดอย่างแวร์ซาย ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สีชมพูถึงขั้นเป็นเครื่องหมายแสดงสถานะทางสังคมและความร่ำรวยด้วยซ้ำ
ก่อนศตวรรษที่ 17 สีชมพูไม่เคยมีความสำคัญทางสังคม มันถูกมองเป็นเพียงสีที่อ่อนกว่าของสีแดง สีชมพูจึงไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ จริงอยู่ที่คำว่า pink ปรากฏในภาษาอังกฤษมานาน แต่ความหมายของมันถูกใช้เพื่อเปรียบเปรยสิ่งต่างๆ ว่ามีลักษณะคล้ายดอกไม้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่นบทกวีของวิลเลียม เชกสเปียร์ ที่มีการใช้คำว่า pink เพื่อเปรียบเปรยว่าบุคคลผู้นี้มีสุขภาพดี (เช่น I am in a pink of health แปลว่า I am in a flower of health หรือสุขภาพดี เปล่งปลั่งดั่งดอกไม้)
pink เพิ่งมีนิยามที่หมายถึงสีเมื่อมีการค้นพบเทคนิคการย้อมผ้าแบบใหม่ด้วยการใช้สีย้อมจากบราซิล ทำให้สีชมพูดูชัดขึ้น สว่างขึ้น ติดทนนานขึ้น และมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากสีแดงอย่างชัดเจน แน่นอนว่าอะไรที่มาใหม่ต้องถูกใจราชสำนักแห่งแฟชั่นอย่างแวร์ซาย ราชสำนักฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 เลยชื่นชอบสีชมพูกันใหญ่ และยกให้มันเป็นสีที่สวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย อย่างที่ Valerie Steele ด็อกเตอร์ด้านประวัติศาสตร์แฟชั่นและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Fashion Institute of Technology (FIT) ในนิวยอร์กกล่าวว่า “ศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ชายสามารถส่วมเสื้อผ้าสีชมพูประดับลายดอกไม้ได้โดยไม่เคอะเขิน”
น่าสนใจว่าตุ๊กตาในยุคนั้นมักสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีชมพูด้วยเช่นกัน นั่นเป็นเพราะตุ๊กตาในศตวรรษที่ 18 ทำหน้าที่คล้ายนิตยสารแฟชั่น สังคมชั้นสูงจะส่งข่าวกันว่าชุดแบบไหนเป็นที่นิยมด้วยการตัดชุดให้ตุ๊กตาสวมใส่แล้วส่งวนๆ กันไปเพื่อใช้เป็นแบบเสื้อผ้า
Madame de Pompadour : เรจินา จอร์จ แห่งแวร์ซาย
หากจะหาใครที่เป็นไอดอลด้านสีชมพูในแวร์ซาย คนนั้นคงต้องเป็นมาดาม เดอ ปงปาดูร์ สนมเอกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้ได้ชื่อว่ารักเครื่องแต่งกายสีชมพูสุดหัวใจไม่แพ้เรจินาใน Mean Girls หรือแอลล์ วูดส์ใน Legally Blonde
ถามว่ามาดาม เดอ ปงปาดูร์ ชอบสีชมพูมากแค่ไหน? ก็ขนาดที่ให้มีการออกแบบชุดถ้วยชามกระเบื้องสีชมพูเข้าชุดเพื่อใช้เป็นของส่วนตัว งานชุดนี้ออกแบบโดยโรงงานหรูชื่อ Sèvres ที่คิดค้นสีชมพูแบบใหม่เพื่อสร้างความประทับใจให้ชู้รักอันดับหนึ่งของพระราชา และตั้งชื่อเป็นพิเศษเพื่อเป็นเกียรติให้พระนางว่า Rose Pompadour
มาดาม เดอ ปงปาดูร์ ยังเป็นผู้นิยมแฟชั่นการแต่งหน้าแบบปัดแก้มสีชมพูจัด ในยุคนั้นหญิงสาวผู้มีแก้มสีชมพูหมายความว่าเธอเป็นคนบอบบางน่าทะนุถนอม มันแปลว่าเธอรู้สึกเหนียมอายกับเรื่องทางเพศหรือสถานการณ์ตรงหน้าเพราะเป็นสาวน้อยแสนบริสุทธิ์ ขาดประสบการณ์ทางโลก ส่วนหญิงสาวที่ไม่มีแก้มสีชมพูแปลว่าพวกเธอมีนิสัยแข็งกระด้าง ไร้ศีลธรรม และกร้านโลกจนไม่ว่าจะเจอกับเรื่องอะไรแก้มก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสีชมพูได้
แฟชั่นปัดแก้มแรกเริ่มเดิมทีเป็นของสตรีในวัง แต่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางเพศและหมายถึงหญิงในวงการค้ากามด้วยเช่นกันเมื่อบรรดาโสเภณีนำแนวคิดนี้มาใช้เพื่อเรียกราคา
สีชมพู ดอกไม้ รสหวาน และหญิงสาว
คำตอบนี้ง่ายมาก คือเมื่อผู้ชายเลิกแต่งกายด้วยสีสันและหันมาสวมเสื้อผ้าสีขาว-ดำเพราะเป็นสีที่แสดงความจริงจังและดูเป็นผู้นำมากกว่า เทรนด์การแต่งตัวที่ว่าเริ่มปรากฏในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อสีสันสดใสไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง สีฟ้า สีเขียว เช่นเดียวกับสีชมพูถูกยกให้เป็นเครื่องแต่งกายของหญิงสาว
อันที่จริงสีชมพูถูกยกให้เป็นสีของผู้หญิงเพราะเรื่องทางกายภาพอยู่บ้าง สาวผิวขาวมีบางส่วนของร่างกายที่เป็นสีชมพู เช่น ริมฝีปากและหัวนม สีชมพูจึงเป็นสีที่ผู้ชายนึกถึงเมื่อกล่าวถึงเพศหญิง นอกจากนี้ผู้หญิงยังถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนดอกไม้ซึ่งเป็นทั้งเรื่องดีและร้าย ในมุมหนึ่งดอกไม้เป็นสิ่งสวยงามดึงดูดสายตา แต่ดอกไม้ก็เป็นสัญลักษณ์ของความไม่ยั่งยืน เปรียบเสมือนความสวยของผู้หญิงที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ยังไม่นับว่าจริงๆ แล้วดอกไม้เป็นส่วนสืบพันธุ์ของต้นไม้มันจึงมีความหมายทางเพศทั้งการเจริญงอกงาม การผลิตทายาท และการให้กำเนิดลูก
สีชมพูยังถูกผูกโยงเข้ากับรสหวานด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้หรือขนม ภาพลักษณ์สีชมพูมักถูกนึกไปก่อนว่าต้องมีรสหวาน มีคำอธิบายเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างรสหวานกับสีชมพูว่าเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง ที่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ผู้ชายต้องออกล่าสัตว์ในขณะที่ผู้หญิงอยู่กับการเพาะปลูก เก็บผลไม้ ทำให้ผู้หญิงเห็นเฉดสีที่แตกต่างของสีแดงและสีชมพูได้ดีกว่า นำไปสู่ความรู้สึกชอบหรือดึงดูดต่อสีชมพู (มากกว่าผู้ชาย)
สีฟ้าของผู้ชาย สีชมพูของผู้หญิง
ถ้าจะพูดถึงการแบ่งเพศโดยใช้สี เรื่องนี้ออกจะสับสนอยู่สักหน่อย
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกในยุคกลาง มีความเชื่อว่าเพศหญิงเกี่ยวข้องกับธาตุเย็นในขณะที่เพศชายเกี่ยวข้องกับธาตุร้อน ทารกเกิดมาเป็นเพศหญิงเพราะแม่ไม่ได้ดูแลครรภ์ให้ดีทำให้เด็กอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นและเปียกชื้น ในขณะที่ทารกเพศชายเกิดมาในสภาพสมบูรณ์กว่าเพราะแม่ดูแลครรภ์ให้อบอุ่นและแห้งสบาย ดังนั้นตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคเรอเนซองซ์จึงนิยมกำหนดให้สีที่หมายถึงธาตุร้อนอย่างสีแดงและสีชมพูเป็นสีของเด็กชาย ส่วนสีที่หมายถึงธาตุเย็นอย่างสีน้ำเงินหรือสีฟ้าเป็นสีของเด็กหญิง
ยังไงก็ดี ความเชื่อนี้เสื่อมความนิยมไปในยุโรปเมื่อเด็กๆ ในยุคต่อมามักใส่สีเดียวกันคือสีขาวด้วยเหตุผลเรื่องการรักษาความสะอาด สีขาวเห็นสิ่งสกปรกได้ง่ายจึงทำให้พ่อแม่ระวังได้มากขึ้น
ในสหรัฐอเมริกา การผูกโยงสีชมพูและสีฟ้าเข้ากับทารกชาย-หญิงปรากฏเป็นครั้งแรกผ่านบทประพันธ์เรื่อง Little Women ของ Louisa May Alcott ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1868-1869 ในหนังสือกล่าวถึงตัวละครชื่อเอมี่ที่ตัดสินใจแยกความแตกต่างระหว่างลูกแฝดหญิง-ชายด้วยการผูกโบว์สีฟ้าให้ลูกชายและผูกโบว์สีชมพูให้ลูกสาว
แนวคิดเรื่องสีถูกพัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาด เมื่อนักธุรกิจชาวอเมริกันไปเห็นหนังสือแฟชั่นของฝรั่งเศสที่แนะนำสีสันเครื่องแต่งกายของทารกในวันพิเศษอย่างพิธีรับศีลจุ่ม ชาวอเมริกันหัวใสคิดว่าเรื่องนี้น่าจะทำกำไรได้มากกว่าแค่พิธีทางศาสนา จึงออกแคมเปญโฆษณาสินค้าสำหรับเด็กที่มีการผูกโยงเรื่องเพศเข้ากับสี
น่าสนใจว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แคมเปญนี้ยังไม่มีหลักการที่ลงตัวว่าสีชมพูหรือสีฟ้าควรถูกจัดให้ทารกเพศไหน นิตยสาร Philadelphia ลงบทความแนะนำเสื้อผ้าเด็กเกิดใหม่โดยให้คำจำกัดความว่าสีชมพูเป็นสีที่เข้มแข็งกว่าจึงควรเป็นสีเสื้อผ้าสำหรับเด็กชาย ในขณะที่สีฟ้าเป็นสีที่อ่อนโยนเหมาะสำหรับเด็กหญิง ต่อมานิตยสาร Time ตีพิมพ์บทความคล้ายกัน โดยอ้างอิงกรณีของเจ้าชายเบลเยียมพระองค์น้อยที่เพิ่งประสูติได้ไม่นาน เพราะในพิธีรับศีลจุ่มเจ้าชายพระองค์นั้นทรงสวมชุดสีชมพู นิตยสาร Time จึงกล่าวว่าสีชมพูควรเป็นสีของเด็กชาย
ในยุคนั้น สื่อหลายสำนักพากันเสนอความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องสี ในที่สุดนิตยสาร Time ก็ตัดสินใจทำวิจัยชิ้นดังในปี 1927 เพื่อเก็บข้อมูลว่าในบรรดาสินค้าสำหรับเด็กอ่อนที่วางขายในห้างทั่วสหรัฐอเมริกา สินค้าสีไหนถูกโฆษณาว่าเป็นของเด็กหญิงและเด็กชายมากกว่ากัน ผลสำรวจออกมาน่าสนใจ เพราะทั้งสีฟ้าและสีชมพูถูกใช้ในสินค้าสำหรับเด็กทั้งสองเพศแทบจะเท่าๆ กัน
สำหรับเคสนี้ นักประวัติศาสตร์อย่างด็อกเตอร์วาเลอรี สตีล เห็นว่าคนอเมริกันน่าจะสรุปความสับสนและตกลงร่วมกันว่าสีฟ้าควรเป็นของเด็กชายและสีชมพูควรเป็นของเด็กหญิง หลังมหาเศรษฐีท่านหนึ่งซื้องานศิลปะสองภาพชื่อ Blue Boy และ Pinkie ก่อนนำภาพไปจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะ
Blue Boy เป็นภาพวาดของเด็กชายในชุดสีฟ้า วาดโดย Thomas Gainsborough ส่วน Pinkie เป็นภาพวาดสาวน้อยในชุดสีขาวประดับริบบิ้นสีชมพู วาดโดย Thomas Lawrence ทั้งสองเป็นจิตรกรเอกชาวอังกฤษที่โด่งดังในศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดกระแสตีความว่าสีชมพูและฟ้าเป็นสีที่เคยใช้แบ่งเด็กทั้งสองเพศมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18
Banish the black, burn the blue, bury the beige. Think Pink! เมื่อของสีชมพูทำกำไรได้มากกว่า
ประเด็นเรื่องสีและเพศเริ่มชัดเจนขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกามีแนวคิดแบ่งหน้าที่ชาย-หญิงอย่างชัดเจน ผู้ชายออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงทำหน้าที่แม่ที่ดี ภรรยาที่น่ารัก คอยอบพายรอรับสามีอยู่ที่ห้องครัว
ของเล่นเด็กในยุค 50s เป็นต้นมาก็มีแนวคิดแบ่งแยกบทบาททางเพศอย่างชัดเจน เด็กชายเล่นของเล่นที่แสดงถึงความเข้มแข็ง เช่น ของเล่นเกี่ยวกับอวกาศ โมเดลรถ หรือโมเดลทหาร ส่วนเด็กหญิงสวมบทบาทเป็นแม่ศรีเรือน เล่นชุดเครื่องครัว แต่งตัวตุ๊กตา แน่นอนว่าสิ่งของเหล่านี้ล้วนมีสีชมพู จนมีคำว่า pink tax เกิดขึ้นเพื่อล้อเลียนว่าสินค้าที่เป็นสีชมพูจะมีราคาสูงเป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งของที่ผู้ปกครองนิยมซื้อให้ลูกสาว
ยุค 50s คือช่วงเวลาที่สีชมพูได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับเพศหญิง ภาพยนต์เรื่อง Funny Face นำเสนอฉากที่ Maggie Prescott บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นกล่าวกับสาวๆ ในกองว่า ต่อจากนี้ไปสีชมพูจะเป็นสีเดียวที่ผู้หญิงต้องการ แถมเพลง Think Pink! ซึ่งเป็นเพลงประกอบฉากสำคัญในเรื่องก็มีเนื้อหากล่าวถึงยุคสมัยที่สินค้าของคุณผู้หญิงล้วนมีสีชมพูไปเสียทุกอย่าง
“สีแดงตายแล้ว สีน้ำเงินก็เอาต์ สีเขียวมันน่าอาย สีน้ำตาลเหรอ? ห้ามเด็ดขาด…ฉันไม่ได้บอกว่าผู้หญิงทุกคนต้องคิด แต่ถ้าเธออยากคิด จงคิดถึงสีชมพู!”
ยังไงก็ตาม เมื่อสาวๆ ถามคุณบรรณาธิการกลับว่า “อ้าว คุณเพรสคอตต์ แต่คุณไม่เห็นใส่สีชมพูเลยนี่คะ?” เพรสคอตต์กลับกล่าวขำๆ “อย่าแม้แต่จะฝัน” บรรณาธิการสุดเฟียร์สผู้อยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพด้านแฟชั่นยืนยันจะใส่สีดำต่อไป ในขณะที่สาวๆ รอบตัวเปลี่ยนไปใส่สีชมพู น่าสนใจว่าสีชมพูถูกใช้เพื่อการตลาดแต่มันยังจำกัดอยู่กับผู้หญิงที่สวมบทบาทสวยหวาน เชื่อฟัง มากกว่าจะเข้ากับผู้หญิงที่ทำงานจริงจังแบบคุณเพรสคอตต์ เพลง Think Pink! จึงเป็นเหมือนตลกร้ายที่สอดแทรกความรู้สึกที่มีต่อหญิงสาวซึ่งอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าในสังคม
ค่านิยมที่ผูกโยงผู้หญิงเข้ากับสีชมพูและฐานะความเป็นภรรยาเริ่มเบาบางลงหลังยุค 70s เมื่อประเด็นเรื่องสิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคม สีชมพูได้รับการตีความใหม่ มันถูกใช้เพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ+ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพูบนชุดนักโทษของนาซีที่แสดงให้เห็นว่านักโทษคนนี้ถูกจับด้วยคดีรักร่วมเพศ (ตามการเรียกในยุคนั้น) หรือคดีทางเพศอื่นๆ เพราะการรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมายในนาซีเยอรมัน
Pink Sari Revolution กลุ่มสิทธิสตรีในอินเดียใช้สีชมพูเป็นสีประจำกลุม พวกเขาเดินขบวนในชุดส่าหรีสีชมพูเพื่อต่อต้านการใช้กำลังกับเพศหญิง ในขณะที่ CODEPINK กลุ่มพลังหญิงเพื่อสันติภาพก็ใช้สีชมพูที่เคยถูกมองว่าเป็นสีแห่งความอ่อนแอในการผลักดันเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ทุกวันนี้คุณค่าและความหมายของสีชมพูเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เป็นไปได้หรือไม่ที่สีชมพูจะสามารถข้ามผ่านกำแพงแห่งอคติและกลายเป็นสีที่สามารถสร้างพลังผ่านความหมายใหม่
เรื่องนี้คงต้องติดตามกันอีกยาว เพราะถึงที่สุดแล้วสีชมพูก็เป็นแค่เฉดสี แต่สังคมนี้ต่างหากที่เป็นผู้ตีค่าและมอบความหมายให้สีสัน