Flower in hand by P. ร้านดอกไม้ที่ตั้งใจสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านดอกไม้ช่อเล็กๆ

Flower in hand by P. คือร้านดอกไม้เล็กๆ  ซ่อนตัวอยู่ด้านในโครงการ 33 space ซอยประดิพัทธ์ 17 ย่านสะพานควาย ความน่าสนใจของร้านไม่ใช่ดอกไม้สีสดใส ร้านนี้ตกแต่งด้วยดอกไม้แห้งและสินค้า Upcycling หลากชนิดจากเศษดอกไม้ 

เจ้าของร้านเริ่มต้นจากความหลงใหลในดอกไม้ ก่อนเริ่มหันมาใส่ใจกระบวนการผลิตของตัวเอง โดยมีความหวังว่าธุรกิจนี้สามารถอยู่ร่วมกับคนและโลกไปพร้อมกันผ่านดอกไม้ช่อเล็กๆ

เมื่อก่อน หลายคนอาจมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนตัวเล็กๆ เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป วันนี้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคเชื่อแล้วว่าสามารถมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมได้ เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจร้านดอกไม้เล็กๆ ที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก

เริ่มต้นจากความชอบโดยไม่รู้ตัว

แพร-แพร พานิชกุล เจ้าของร้านดอกไม้ Flower in hand by P. มีพื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ที่ย้ายเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสนใจดอกไม้ว่าถูกซึมซับมาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว จากการช่วยแม่นำดอกไม้ใส่แจกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และเติบโตขึ้นโดยมีของใช้ลวดลายดอกไม้รอบตัวอยู่เสมอ

แต่ด้วยการเรียนสายวิทย์จึงทำให้ปฏิเสธตัวเองและเก็บไว้เป็นเพียงความชอบส่วนตัวมาตลอด จนถึงปริญญาโทภาควิชา Human Anatomy คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในบรรยากาศการเรียนที่เคร่งเครียด ทำให้มีโอกาสได้ไปเดินผ่อนคลายที่ปากคลองตลาดและได้เจอกับดอกไม้หลากหลายชนิด ซึ่งจุดประกายให้เธอเริ่มหันมามองความชอบของตัวเองอย่างจริงจัง

แพรเล่าว่า “ตอนนั้นเลือกทำร้านดอกไม้เพราะที่เรียน ป.โท จบไปต้องไปเป็นอาจารย์เท่านั้น บวกกับตอนเรียนเเล้วค่อนข้างเครียด รู้สึกไม่เหมาะกับตัวเองด้วย เลยคิดว่าเปลี่ยนมาลองทำร้านดอกไม้ดีไหม ตอนนั้นเราเลยมุ่งมาทางนี้ พอเปิดแล้วเราก็ลุยเลย ตั้งใจทำมาตลอด”

แม้ไม่มีความรู้ด้านการจัดดอกไม้มาก่อน แต่หลังจากเรียนจบแพรจึงเริ่มคุยกับที่บ้านว่าอยากลองเปิดร้านดอกไม้ และเริ่มขายดอกไม้ผ่าน Instagram ไปจนถึงขายตามงานเทศกาล เช่น รับปริญญาหรือวันวาเลนไทน์ โดยการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต

“เริ่มแรกเปิดใน IG ตอนนั้นเริ่มไปขายตามงานรับปริญญาที่เชียงใหม่ แล้วกลับมาทำที่กรุงเทพฯ วันวาเลนไทน์ แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ จนมาเปิดหน้าร้านที่อารีย์ ซอย 1 พื้นที่ร้านเล็กมาก ขนาด 2×2 ตู้แช่ก็ยังไม่มี เป็นแค่เป็นตู้ไวน์เล็ก ๆ ไว้แช่ดอกไม้ที่แบบต้องแช่ก่อน เน้นขายดอกไม้แห้งไป” แพรเล่า

       หลังจากนั้นจึงได้เรียนการจัดดอกไม้ที่จริงจังขึ้นจากคอร์สเรียนที่ประเทศเกาหลี 1 วัน 2 รอบ จนเป็นแรงบันดาลใจให้กลับมาเปิดร้านคาเฟ่ข้างๆ ร้านดอกไม้โดยมี นิว-กิตติคุณ ชัยวัฒนธรรม หุ้นส่วนของร้านเข้ามาช่วยด้วย ในร้านที่ขยายให้กว้างขึ้นที่อารีย์ ซอย 2

“ช่วงนั้นเริ่มอยากจะขยายร้าน เพราะที่แรกเล็กมาก แพรก็ชวนให้ลาออกจากบริษัทมาช่วยกัน ช่วงนั้นเราก็ได้ไปที่ญี่ปุ่น เกาหลี เรารู้สึกได้แรงบันดาลใจมาว่าถ้าเป็นร้านดอกไม้ที่มีคาเฟ่อยู่ด้วยกันมันน่าจะดี เลยคิดคอนเซปต์ร้านให้ลูกค้าสามารถนั่งพักผ่อนไปด้วยดูเราจัดดอกไม้ไปด้วย สำหรับคนที่ไม่ได้สั่งดอกไม้ก็มาเที่ยวได้ แต่ทำคาเฟ่มาได้ 2 ปีกว่าๆ ก็เจอโควิดจนปิดตัวไป” นิวกล่าวเสริม

 ‘ฉันซื้อดอกไม้ให้ตัวเอง’ กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า

ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา แม้จะมีช่วงที่ร้านดอกไม้ซบเซาลง ซึ่งแพรยอมรับว่าดอกไม้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แต่สำหรับด้านจิตใจแล้ว ดอกไม้กลับช่วยชีวิตใครหลายคนได้เหมือนกัน

“ที่ร้านแพรขายปลีกด้วย เรามองว่าการซื้อดอกไม้แม้จะแค่ก้านเดียว ก็อาจทำให้เขารู้สึกเติมเต็มไปทั้งอาทิตย์แล้ว ถึงจะเป็นของฟุ่มเฟือยแต่ถ้าขาดไปคงรู้สึกเฉาเหมือนกัน ตามคอนเซปต์ร้าน ‘flower for a better life’ เราอยากให้ผู้คนและสังคมดีขึ้นด้วยดอกไม้ เราคิดว่าการอยู่ใกล้ธรรมชาติและมีดอกไม้ด้วย มันทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งรู้สึกดีขึ้นได้

เราไม่ได้อยากเป็นร้านที่ลูกค้าเข้ามาตามโอกาสเท่านั้น แต่อยากให้ลูกค้าเข้าซื้อให้ตัวเองแม้ไม่มีโอกาสพิเศษ หรือเอาไปตกแต่งบ้านก็ได้ เราอยากให้เป็นสังคมที่มอบดอกไม้ให้กันในวันปกติ แพรมองว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่น่ารัก เพราะลูกค้าคนแรกของเราก็ซื้อดอกไม้เอาไปประดับบ้านจึงเกิดเป็นไอเดียนี้ขึ้นมา” แพรอธิบาย

การเปลี่ยนแปลงของร้านจัดดอกไม้เพื่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยผลกระทบด้านเศรษฐกิจทำให้ Flower in hand by P. ส่วนคาเฟ่ที่เปิดมาได้กว่า 2 ปีไปไม่ไหว จึงตัดสินใจปิดตัวลง เหมือนกับร้านค้าอีกหลายร้านที่ต้องหายไปช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 และเพื่อให้ร้านอยู่รอด ส่วนร้านดอกไม้จึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นแจกันเล็กๆ สำหรับใส่ดอกไม้เพื่อเยียวยาจิตใจคนขณะที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดีจนไม่ทันสังเกตว่าขยะในร้านเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

นิวเล่าย้อนถึงจุดเปลี่ยนของร้านว่า “ช่วงนั้นเราเห็นขยะในร้านเยอะมาก ทั้งขยะจากดอกไม้ กระดาษ และพลาสติกที่มาจากตลาด รวมถึงพลาสติกที่เราห่อให้ลูกค้า ตรงนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และมายเซ็ตของร้านใหม่ โดยหันมาใส่ใจเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

“ความตั้งใจเปิดร้านแรกสุดคือมันตอบโจทย์เราแหละ เราชอบเลยอยากอยู่กับมันทุกวัน แต่ตอนนี้เมื่อร้านสามารถสร้างรายได้มาส่วนหนึ่ง เรารู้สึกมันไม่ได้ตอบโจทย์เราอย่างเดียวแล้ว แต่การได้ทำเพื่อคนอื่นและสังคมมันตอบโจทย์ด้านจิตใจมากกว่าเลยปรับให้เป็นร้านมีกระบวนการที่ยั่งยืนมากขึ้น” แพรเพิ่มเติม

3 จุดอ่อนด้านความยั่งยืนของธุรกิจดอกไม้

จากการทำธุรกิจร้านดอกไม้กว่า 6 ปี จึงทำให้ทั้งแพรและนิว เห็น Pain Point ที่สำคัญ 3 เรื่อง และต้องการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงปัญหาเหล่านี้

“Pain Point ที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ ขยะเหลือทิ้งต่อวันค่อนข้างเยอะ ทั้งจากบรรจุภัณฑ์และดอกไม้ โดยพลาสติกเหล่านี้ก็เป็นขยะใช้แล้วทิ้ง รวมถึงเราเคยเห็นตลาดดอกไม้ที่ยุโรป เขาคัดดอกไม้ตกเกรด เป็นตันเลย เราเห็นแล้วก็รู้สึกว่าธุรกิจนี้ขยะมันเยอะจริงๆ ที่เราเห็นมันแค่ส่วนเล็กนิดเดียว ต้นทางมันก็เยอะกว่านั้นอีก

สองคือการนำเข้า ปัจจุบันร้านเราใช้ดอกไม้ที่นำเข้าถึง 80% ซึ่งการนำเข้าแต่ละครั้งนอกจากเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์แล้วยังเป็นการเสียดุลการค้า เพราะเกษตรกรเราก็มีศักยภาพปลูกดอกไม้ได้นะ แต่ยังเป็นการปลูกแบบเชิงเดี่ยวเน้นปริมาณมากกว่าเน้นความหลากหลาย

และสุดท้ายคือ สารเคมี เท่าที่ได้รีเสิร์ชกันเองจะพบว่าการปลูกดอกไม้จะปลูกยากขึ้นถ้าไม่ใช้สารเคมี เราไม่รู้จริงๆ ว่าต้นทางเขาปลูกอย่างไร แต่ก็คิดว่าน่าจะปลูกสารเคมีเยอะ อันนี้เป็น Pain Point สามอย่างที่เราอยากจะแก้ไข”

ไอเดียสินค้าดอกไม้จากทุกส่วนของกระบวนการ

เพื่อลดขยะที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการจัดดอกไม้ให้มากที่สุด พวกเขาจึงหาทางใช้ทุกส่วนของดอกไม้อย่างคุ้มค่า รวมถึงนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สำหรับตกแต่งบ้านหรือมอบเป็นของขวัญแก่คนพิเศษ เช่น ผ้าย้อม กระดาษสา การ์ด ดอกไม้แห้ง กรอบรูป ฯลฯ นอกเหนือจากการจัดดอกไม้สดเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ลูกค้าสามารถเก็บดอกไม้ได้นานขึ้นกว่าเดิม

แพรเล่าถึงวิธีการเก็บส่วนต่างๆ ของดอกไม้ไป upcycling ว่า “ส่วนใหญ่เวลาเราจัดดอกไม้จะลิดส่วนใบออกค่อนข้างเยอะ โดยใบเหล่านี้เราสามารถเก็บไว้สำหรับย้อมสีผ้าได้สีเหลืองกับเขียว ส่วนกลีบดอกไม้ที่โรยแล้ว เช่น กลีบกุหลาบ กลีบไลเซนทัส หรือกลีบทานตะวัน รวมถึงก้าน สามารถนำไปทำสีย้อมผ้าและปั่นทำกระดาษสา เพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการจัดดอกไม้อีกครั้ง

“เราจะมี stage เพื่อคัดเลือกการนำกลับมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า ถ้าดอกไม้ที่กลีบมีตำหนิใช้ไม่ได้แล้วจะนำไปเก็บสำหรับทำสีย้อมผ้า แต่ถ้ายังสมบูรณ์อยู่จะเอาไปตากและจัดช่อเป็นดอกไม้แห้งต่อได้ แต่ถ้าดอกไม้ที่ก้านหัก เราจะตัดตัวดอกเก็บแห้งใส่กรอบ ปัจจุบันเราสามารถนำกลับมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และลดขยะได้ถึง 50-70%”

นอกจากกระบวนการจัดการดอกไม้ภายในร้านแล้ว ร้านยังตั้งใจออกผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการลดขยะมากที่สุด เช่นเมื่อวาเลนไทน์ที่ผ่านมาร้านออกแพ็กเกจผลิตภัณฑ์ ‘ชุดดอกไม้ในถุงผ้า’ ซึ่งเปิดรับจำนวน 10 ออร์เดอร์ โดยลูกค้าจะได้รับดอกไม้สดพร้อมถุงผ้า หลังจาก 2 วัน ร้านจะรับดอกไม้เหล่านั้นกลับมาเพื่อทำดอกไม้แห้งสำหรับใส่กรอบคืนให้แก่ลูกค้าอีกครั้ง นอกจากนี้ยังรับประกันให้ลูกค้าครึ่งปี หากสินค้าเสียหายเช่น ดอกไม้สีซีดลงหรือกลีบโรย สามารถนำมาเปลี่ยนได้ สำหรับแพ็กเกจนี้จะทำให้ลูกค้าได้เห็นทั้งความสดชื่นของดอกไม้สด ทั้งยังเก็บเป็นความทรงจำในรูปแบบดอกไม้แห้งได้ด้วย

 เป้าหมายสู่ฟาร์มดอกไม้ออร์แกนิ

จาก Pain Point ในธุรกิจดอกไม้รวมถึงมุมมองที่มีต่อสังคมเปลี่ยนมาสู่การสร้างธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับ ‘Sustainable Development Goals’ (SDGs) กระบวนการลดขยะภายในร้านเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้ก่อตั้งร้านทั้งคู่เห็นตรงกันว่าหากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงจนจบกระบวนการควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นคือการทำฟาร์มดอกไม้ออร์แกนิก

นิวเล่าถึงเป้าหมายของฟาร์มที่อยากไปให้ถึงว่า “ตอนนี้เราเป็นร้านดอกไม้ที่อยู่กลางน้ำ มีดอกไม้จากต่างประเทศมาส่งร้านเรา แต่ในอนาคตเราตั้งใจจะทำตั้งแต่ต้นน้ำ หรือการทำฟาร์มดอกไม้ที่เชียงใหม่ เพื่อลดการนำเข้าดอกไม้ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น นอกจากนี้เรายังตรวจสอบได้ว่าดอกไม้ที่ปลูกเองจะมีสารเคมีน้อยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มลูกค้าในโรงพยาบาล หรือสำหรับผู้ป่วยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสารเคมีด้วย”

“การทำฟาร์มของเราตั้งใจอยากให้ไปถึงศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ มาสัมผัสดอกไม้ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวเรื่องสารตกค้าง อันนี้เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของเรา เพราะจริงๆ เราเองก็มีลูก และคิดว่าการได้อยู่กับธรรมชาติจะทำให้เขาเติบโตมาแข็งแรงมากที่สุด” แพรเสริม

“สุดท้ายปลายทางถ้ามันไปได้ดีก็อยากสร้างเครือข่ายให้เกษตรกรด้วย เหมือนเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนที่ปลูกดอกไม้อยู่แล้วหรือคนที่สนใจ เรามองว่าการทำฟาร์มจะทำให้เรามีพื้นที่ในการ upcycling มากขึ้น เช่น การเชื่อมกับเครือข่ายที่ทำกระดาษสา โดยเอาขยะจากดอกไม้ เศษใบไม้ ส่งไปให้เขาทำกระดาษเยื่อขึ้นมา เราพยายามเอางานคราฟต์มารวมกัน มันก็จะไม่ได้แค่ดอกไม้อย่างเดียว หรืออย่างน้อยคงเอามาทำปุ๋ยอินทรีย์เป็นวงจรไป แทนที่จะทิ้ง ไม่เกิดประโยชน์อะไร” นิวกล่าวทิ้งท้าย

แม้ฟาร์มดอกไม้ออร์แกนิกจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็ทำให้เห็นว่าภายในอุตสาหกรรมดอกไม้ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกคน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนความรู้หรือเทคนิคการปลูกดอกไม้โดยใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด การหันมาให้ความสำคัญกับดอกไม้ท้องถิ่นเพื่อลดการนำเข้า รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติกในการห่อดอกไม้ หรืออย่างน้อยคือการเห็นความสวยงามในตัวเองของดอกไม้ทุกดอก เพื่อลดการทิ้งดอกไม้โดยไม่จำเป็น เพราะดอกไม้เล็กๆ เหล่านี้ก็กำลังช่วยให้โลกกลับสดชื่นอีกครั้งเช่นกัน

Location: โครงการ 33 Space ห้อง A38-39

https://goo.gl/maps/RXHov8uxGQfBEib7A

Line : @flowerinhandbyp

IG: flower_inhand

Tel : 062-758-2233

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย