หากเสียงของประชาชนคือเสียงของพระเป็นเจ้า เหตุใดเหล่าชนชั้นปกครองจึงหวั่นกลัว

Highlights

  • คนไทยใช้คำว่า ‘ราษฎร’ มาตั้งแต่ก่อนปี 2475 โดยหมายถึงคนธรรมดาสามัญ ถึงอย่างนั้นหนังสือพิมพ์ในช่วงก่อนอภิวัฒน์สยามก็มักจะใช้คำว่า 'ราษฎร' ในข่าวข้อพิพาทระหว่างสามัญชนกับชนชั้นเจ้านาย จนคำนี้คลุ้งไปด้วยกลิ่นของความขัดแย้งระหว่างชนชั้น
  • ในสังคมโรมันยุคโบราณมองว่าประชาชนคือบรรดาชนชั้นต่ำหรือคนต่างด้าวไร้หัวนอนปลายเท้าที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ของชาวโรมัน ความอยุติธรรมและการกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้ประชาชนรวมตัวกันต่อต้านผู้ปกครอง และได้กลายเป็นที่มาที่ไปของสิทธิของความเป็นพลเมือง
  • จนล่วงเลยเข้าสู่ยุคกลาง ประชาชนจึงได้เริ่มมีบทบาทในฐานะของกลุ่มคนที่สามารถคานอำนาจระหว่างผู้ปกครอง แต่สิ่งที่เรียกว่า 'เสรีภาพ' ก็ยังเป็นสิ่งที่จำกัดไว้ในหมู่ชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น

‘ราษฎร’ และ ‘ประชาชน’ เป็นสองคำที่เราพบเห็นหรือใช้กันบ่อยในห้วงเวลานี้

ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2555 บัญญัติไว้ ‘ราษฎร’ นั้นมีความหมายว่า ‘พลเมืองของประเทศ’ แต่มีนักประวัติศาสตร์ความคิดบางคนเสนอว่าคำนี้มีความหมายมากกว่านั้น เพราะในห้วงเวลาหนึ่ง คำว่าราษฎรได้สื่อถึงความเป็นการเมืองหรือสภาวะตรงกันข้ามกับ ‘เจ้าผู้ปกครอง’ หรือ ‘บรรดาชนชั้นเจ้านาย’ ด้วยเหตุที่คำว่าราษฎรนั้นไม่ได้นับรวมบุคคลชนชั้นปกครองเข้าไปด้วย รวมไปถึงข้าราชการและคนในบริวารทั้งหลายด้วยซ้ำ

‘ราษฎร’ เป็นคำที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยมีนัยถึง ‘คนสามัญ’ และเคยเป็นชื่อของหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกมาในช่วงปี 2471-2472 สื่อสิ่งพิมพ์ในเวลาดังกล่าวมักเลือกใช้คำนี้ในข่าวที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทระหว่างคนสามัญกับชนชั้นเจ้านาย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดที่ ‘คณะราษฎร’ ผู้นำพาประเทศสยามไปสู่การอภิวัฒน์จะเลือกใช้คำนี้เป็นชื่อกลุ่มของตน ว่ากันว่าในช่วงที่คำว่า ‘ราษฎร’ ปรากฏให้เห็นเกลื่อนกลาด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแสลงใจจนถึงขั้นต้องลบล้างแก้ไขเอาคำว่า ‘ราษฎร’ และ ‘ประชาชน’ ออกจากพระนิพนธ์ของท่านเลยทีเดียว

‘ราษฎร’ เป็นคำที่มีรากมาจากคำสันสกฤต राष्ट्र ซึ่งมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ความเป็นรัฐ ชาติ ราชอาณาจักร ราชวงศ์ ไพร่ฟ้า และประชาชน ถึงอย่างนั้นตลอดระยะเวลาที่คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นมาความหมายเหล่านี้กลับไม่เคยปรากฏในพจนานุกรมไทยเล่มใด เหมือนดังเช่นที่ธเนศ วงศ์ยานนาวา ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ ว่าด้วยประชาชน ว่า “ในโลกภาษาไทยนั้น ผลงานที่บรรยายและช่วยทำความเข้าใจว่า ‘ประชาชน’ คืออะไรนั้น เป็นสิ่งที่ขาดแคลนมากๆ”

บทความชิ้นนี้จึงขอเป็นอีกหนึ่งตัวบทที่นำพาทุกคนย้อนกลับไปตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบอันอยู่รอบๆ ราวๆ คำว่า ‘ประชาชน’ แบบพอสังเขป

 

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัชกาลที่ 5 เรายังไม่มีคำว่า ‘ประชาชน’ คำที่ใช้เรียกคนโดยทั่วไปมีเพียงแค่ ‘สัปเยก’ (subject) หรือ ‘คนในบังคับ’ เท่านั้น ความเป็นคนสยาม ณ เวลานั้นจึงเป็นเพียงแค่สัปเยกสยามหรือคนภายใต้การปกครองของสยามซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อแบ่งแยกชาวสยามจากคนชาติอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เป็นต้น การมีอยู่ของสัปเยกจึงเป็นเรื่องข้อกฎหมายหรือความสัมพันธ์อันซับซ้อนยุ่งเหยิงในโลกของสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (สิทธิพิเศษทางกฎหมาย) ที่คนในบังคับของชาติอื่นๆ ต่างก็ต้องการใช้กฎหมายของตัวเอง

อย่างไรก็ตามเมื่อคำว่า ‘ประชาชน’ ถือกำเนิดขึ้น สิทธิและเสรีภาพต่างๆ ก็ไม่ได้มาพร้อมกับคำเรียกโดยอัตโนมัติ ภายใต้คำคำนี้เรายังคงอยู่ใต้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทบไม่ต่างจากระบอบมูลนายเดิม และต้องรอจนถึงกระทั่งก่อนการอภิวัฒน์ 2475 เพียงไม่นานที่ ‘ประชาชน’ หรือ ‘ราษฎร’ จึงได้เริ่มชิมลางความหมายของประชาชนในโลกสมัยใหม่ที่เชื่อกันว่า “เสียงของมหาชนคือเสียงของพระเป็นเจ้า” (หรือที่ในภาษาละตินกล่าวว่า Vox Populi, Vox Dei)

คำว่า ‘ประชาชน’ เกิดขึ้นจากการผนวกรวมของคำว่า ‘ประชา’ และ ‘ชน’ คำแรกมาจากคำสันสกฤต  प्रजा (prajā) ที่หมายความถึงคน มวลมนุษย์ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ คำหลังมาจาก  जन (jana) ที่มีความหมายตั้งแต่สิ่งมีชีวิตทั่วไป ไปจนถึงมนุษย์ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ต่างๆ จะเห็นว่าทั้งสองคำต่างก็มีนัยความหมายเหลื่อมซ้อนกันอยู่ การผนวกรวมกันจึงควรเป็นการขยายกำลังหรืออำนาจอธิบาย แต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น นักภาษาศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าคำที่เหมือนจะมีความหมายเชิงอุดมคติกว้างไกลนี้สามารถแสดงถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเองได้ด้วยคำว่า ‘ชน’ ในภาษาไทยซึ่งมีนัยว่าเป็นการปะทะ ทำให้สามารถแปลได้ว่าเป็นการต่อสู้กันเองของ ‘ประชา’ ทั้งหลายหรือการที่ ‘ประชา’ ไปปะทะกับอะไรบางอย่าง

ในโลกของภาษาอังกฤษ คำว่า people หรือ peple ถูกใช้ครั้งแรกในศตวรรษที่ 13 โดยมีรากศัพท์มาจากคำฝรั่งเศสเก่าคือ pople หรือ peupel ซึ่งมาจากคำว่า populus ในภาษาละตินอีกที คำนี้หมายความถึงผู้คนและมวลชนทั้งหลาย และสามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงสังคมโรมันยุคโบราณที่ในสายตาของผู้ปกครอง ประชาชนไม่ได้เป็นเสียงสวรรค์แต่อย่างใด นักทฤษฎีการเมืองชาวโรมันโบราณอย่าง Cicero มองว่าพวก populus คือบรรดาชนชั้นต่ำไร้หัวนอนปลายเท้าที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ของชาวโรมัน เป็นคนต่างด้าวประเภทที่ไม่อาจจะนำมาฝึกฝนเป็นกำลังในกองทัพโรมันอันเกรียงไกรได้ 

ในขณะที่มหากวี Virgil กลับเห็นว่า populus แท้จริงก็คือชาวนาและมีหน้าที่ภาระไม่แตกต่างจากทหารโรมัน หากพวกเขาไม่ได้รบกับมนุษย์แต่ทำการรบกับธรรมชาติ แม้คำว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” จะเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย แต่สำหรับชาวโรมันนั้นงานหนักทำให้ชาวนาจำนวนไม่น้อยตัดสินใจฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายรวมไปถึงคำตัดสินต่างๆ ของผู้ปกครองที่ขาดความชอบธรรมนำไปสู่การลุกฮือเพื่อเรียกร้องคำอุทธรณ์ที่เรียกว่า provocatio มวลชนต่างรวมตัวกันต่อต้านไม่ว่าจะเป็นตามลานประหาร หรือสถานที่ที่ใช้ตัดสินพิจารณาคดีต่างๆ 

ปริมาณคนที่มากจนทำให้กองกำลังติดอาวุธโรมันหวาดหวั่นว่าอาจจะตายได้จากการโดนรุมประชาทัณฑ์กลายเป็นที่มาของสิทธิในการคัดค้านของประชาชน ซึ่งถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสิทธิความเป็นพลเมืองในเวลาต่อมา ถึงอย่างนั้น ในสายตาของชนชั้นปกครอง ประชาชนก็เป็นเพียงมวลชนที่อาจประทุษร้ายตัวพวกเขาได้ และเมื่อใดที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายก็อาจนำมาสู่การถอดถอนสิทธิดังกล่าว เปลี่ยนให้ผู้ปกครองกลายเป็นเผด็จการ (dictator)

 

จนล่วงเลยเข้าสู่ยุคกลาง ประชาชนจึงได้เริ่มมีบทบาทในฐานะกลุ่มคนที่จะช่วยทัดทานหรือคานอำนาจระหว่างผู้ปกครองที่อ้างเทวาสิทธิ์ (แนวคิดที่เชื่อกันว่าผู้ปกครองสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้า) กับผู้ปกครองในปริมณฑลทางศาสนา ทำให้กลุ่มชนต่างๆ มีส่วนร่วมในการเลือกผู้ปกครอง แต่เสรีภาพก็ยังเป็นสิ่งที่จำกัดไว้ในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น ดังความหมายดั้งเดิมของคำว่า liberal ที่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 แปลว่ามีสายเลือดขัตติยา อันหมายความถึงชนชั้นที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจตนเอง การเป็นเสรีชนในความหมายนี้จึงมาควบคู่กับอำนาจซึ่ง ณ เวลานั้นไม่ได้เป็นของประชาชนแต่อย่างใด หรือหากจะมีได้ก็มาจากการรวมตัวกันเป็นกลุ่มชนเพื่อเรียกร้องเท่านั้น

สำหรับนักปกครองแล้ว มวลชนหรือประชาชนเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้และคงยังไม่มีความคิดว่ากลุ่มคนที่มากมายหลากหลายนี้จะสามารถเลือกผู้ปกครองได้ หรือหากทำได้ คนเหล่านี้ก็ไม่ควรมีสิทธิหรือเสียงที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นการที่ประชาชนถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ยากจะควบคุมจึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หรือหากจะควบคุมได้ก็ต้องดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ

บุคคลแรกๆ ที่เสนอให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการปกครองก็คือ Thomas Hobbes นักปรัชญาชาวอังกฤษจากศตวรรษที่ 17 ซึ่งเสนอว่าการรวมกันของมวลชนจะก่อประโยชน์โพดผลหรือทำให้มวลชนอยู่รอดปลอดภัยจากภัยร้าย แต่ทั้งหมดจะเป็นไปได้ก็เมื่อมวลชนเข้าร่วมกันเป็นประชาสังคมและยินยอมมอบสิทธิในการปกครองโดยตัวแทน หรือบุคคลสมมติ

ข้อเสนอของฮอบส์สร้างจุดตัดหรือการแบ่งแยกระหว่างความเป็น ‘ประชาชน’ กับ ‘กลุ่มชน’ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแนวคิดแบบสัญญาประชาคม (social contract) ที่จะถูกส่งทอดและพัฒนาต่อในศตวรรษต่อมา ทั้งในการอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา และการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ที่ทำให้ความเป็นประชาชนนั้นเชื่อมต่อกับแนวคิดเรื่องความเสมอภาค

ดังที่ Pierre Rosanvallon ได้เสนอไว้ในหนังสือ The Society of Equals ว่าการปฏิวัติของชาวอเมริกันและฝรั่งเศสนั้นไม่ได้แบ่งแยกระหว่างประชาธิปไตยที่เป็นระบอบแห่งปวงชนและประชาธิปไตยในฐานะของสังคมแห่งความเท่าเทียม โดยโรซ็องวายงได้ยกเอาถ้อยคำของ Pierre-Louis Rœderer หนึ่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสที่กล่าวกันว่าเป็น ‘สายกลาง’ ที่สุดแล้วซึ่งให้ความรู้สึกได้ว่า ความรู้สึกที่มีอยู่โดยทั่วไปของประชาชนในเวลานั้นก็คือ ‘ความรักในความเสมอภาค’ เช่นเดียวกับที่อเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม การปฏิวัติทั้งสองจึงเปรียบได้กับพี่น้องร่วมอุทร

นับจากยุคโบราณมาสู่โลกสมัยใหม่ ความหมายที่ยึดโยงกับ ‘ประชาชน’ หรือ ‘ราษฎร’ ยังคงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และยังคงเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองยังคงหวาดกลัว ไม่เว้นแม้กระทั่งเผด็จการ

เราทิ้งท้ายด้วยบทกวีชิ้นหนึ่งของนักเขียนบทละครชาวเยอรมัน Bertolt Brecht ที่มีชื่อว่า ‘คำถามจากกรรมกรผู้อ่านหนังสือ’ ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ความหมายของคำว่า ‘ประชาชน’ กระจ่างชัดในใจเรา

 

ใครเล่าคือผู้สร้างประตูแห่งธีบส์ทั้งเจ็ด

เธอจะพบก็แต่เพียงนามกษัตริย์บนหน้าหนังสือ

เจ้าเหล่านั้นลากหินผาขึ้นมาเองหรือ 

ยังมีนครบาบิโลนอีกเล่า ที่ถูกทำลายลงหลายครา 

ใครกันสร้างขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า มีบ้านหลังไหน 

ในนครลิม่าที่ส่องแสงสีทองพร่างพราวซึ่งเหล่าผู้สร้างได้เคยพำนัก 

เมื่อเสร็จจากการสร้างกำแพงเมืองจีนยามเย็นย่ำ 

ช่างก่อสร้างพักพิง ณ ที่ใด อาณาจักรแห่งโรมอันยิ่งใหญ่ 

รุ่มรวยด้วยซุ้มโค้งประตูชัย ใครกันเล่าสร้างมันขึ้นมา 

ซีซาร์กำราบผู้ใด แล้วไบแซนทิอุมที่รุ่มด้วยเพลงสดุดี 

จะมีปราสาทสำหรับชาวเมืองบ้างไหม

แม้แต่นครแอตแลนติสในตำนาน 

ในค่ำคืนที่มหาสมุทรกวาดกลืน 

คนที่กำลังจมลงไปยังคงตวาดใส่ข้าทาสไม่ขาดเสียง 

 

ยุวจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์พิชิตอินเดีย

แต่ด้วยตัวพระองค์เพียงลำพังหรือ 

ซีซาร์กำชัยเหนือชาวโกลส์ 

โดยไม่ได้พาแม้แต่พ่อครัวไปด้วยใช่หรือไม่ 

พระเจ้าฟิลลิปแห่งสเปนร่ำไห้ยามเรืออาร์มาดา 

อับปาง มีเพียงพระองค์ผู้เดียวหรือที่เสียน้ำตา 

เฟรเดอริกที่สองพิชิตสงครามเจ็ดปี ยังมีใคร

อื่นไหมในชัยชนะนั้น 

ทุกหน้าแห่งการประกาศชัย 

ยังมีใครบ้างคอยปรุงอาหารในงานฉลองชัยแด่ผู้ชนะ 

ในทุกทศวรรษที่ก่อเกิดมหาบุรุษ 

ใครเล่าคือผู้รับผิดชอบอยู่เบื้องหลัง 

 

เต็มไปด้วยเสียงร่ำลือ

เต็มไปด้วยคำถาม

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ธนินท์รัฐ พิริยเตชะนนท์

ปกติใช้ชื่อ gotp เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ตั้งใจจะไปโซลตั้งแต่ปี 2018 ตอนนี้ปี 2020 คาดว่าปี 2021 จะได้ไป