1
เราเริ่มใช้คำว่า memory แทนการระลึก การจดจำสิ่งต่างๆ ได้เป็นครั้งแรกๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 memory เป็นคำที่สืบรากมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่า memoire ที่ใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ซึ่งหมายความถึงความทรงจำ การระลึกถึง และความคิดคำนึง ซึ่งกลายรูปมาจากคำละติน memoria ที่นอกจากจะหมายถึงการจดจำได้แล้ว คำนี้ยังหมายความถึง ‘ที่ตั้ง’ ของ ‘ความทรงจำ’
คำอุปสรรคว่า mer- ในภาษาโปรโต-อินโด-ยูโรเปียน (PIE) มีความหมายได้ทั้ง ‘ความทรงจำ’ และการ ‘มีบางสิ่งร่วมกัน’ คำว่า merimna ในภาษากรีกโบราณแปลได้ว่า ความคิดถึง และความเป็นห่วงเป็นใย ในขณะที่ตำนานเก่าแก่ของชาวยุโรปเหนือ มีเมอร์ (Mimir) เป็นชื่อของยักษ์ตนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนองครักษ์พิทักษ์กำแพงแห่งปัญญา (Wall of Wisdom)
ขณะที่คำกิริยาว่า remember เริ่มใช้กันเป็นครั้งแรกในช่วงกลางของศตวรรษที่ 14 ในความหมายของการระลึกย้อนกลับไปถึงสิ่งต่างๆ ได้อีกครั้ง หรือเก็บสิ่งเหล่านั้นไว้ในความทรงจำ ส่วนคำนาม remembrance นั้นถูกใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มาจากคำฝรั่งเศสเก่า remembrance ที่ใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11
ในปกรณัมกรีก นีโมซีน (Mnemosyne) คือเทพีแห่งความทรงจำ และเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดเทพีศิลปศาสตร์ (Muse) ทั้ง 9 ที่ประกอบด้วย คาลลีโลพี (Calliope) เทพีแห่งมหากาพย์, คลีโอ (Clio) เทพีแห่งประวัติศาสตร์, ยูเทอร์พี (Euterpe) เทพีแห่งดนตรี, อีราโต (Erato) เทพีแห่งคำร้องกวีนิพนธ์, เมลโพเมนี (Melpomene) เทพีแห่งละครโศกนาฏกรรม, โพลีฮีมเนีย (Polyhymnia) เทพีแห่งเพลงสวดสรรเสริญ, เทิร์พซิคอเร (Terpsichore) เทพีแห่งการเต้นรำ, ทาเรีย (Taria) เทพีแห่งหัสนาฏกรรม และยูเรเนีย (Eurania) เทพีแห่งดาราศาสตร์
2
ความทรงจำจึงเป็น ‘ที่ตั้ง’ ของ ‘ความรู้’ ในสังคมยุคก่อนที่การคัดลอกหรือการพิมพ์จะแพร่หลาย การจดจำสิ่งต่างๆ ได้จำต้องอาศัยการปฏิบัติซ้ำๆ หรือกระทั่ง ‘ศาสตร์แห่งความทรงจำ’ หรือ ars memoriae ที่ทำให้เราสามารถใช้ความทรงจำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบุคคลแรกที่ได้รับการจารึกไว้ว่าเป็นผู้พยายามสร้างและวางระบบในเรื่องนี้ก็คือ ซีโมนิดีสแห่งซีออส (Simonides of Ceos) กวี-นักปราชญ์ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล
ตำนานเล่าว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นระหว่างงานเลี้ยงรับประทานอาหาร โครงสร้างอาคารถล่มลงมา แขกเกือบทั้งหมดร่างแหลกเหลวไม่สามารถระบุตัวตนได้ ซีโมนิดีสเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจึงถูกเรียกตัวไปสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเขาไม่เพียงสามารถระบุตัวตนของแขกที่นั่งอยู่บนโต๊ะรับประทานอาหารได้ทั้งหมด หากยังสามารถลำดับเหตุการณ์ และบรรยายรายละเอียดยิบย่อยได้ราวกับบันทึกไว้ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์
‘ศาสตร์แห่งความทรงจำ’ ของซีโมนิดีสได้ถูกพัฒนาขึ้นภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เขาได้พยายามคิดค้นเครื่องมือที่เรียกว่า โรงละครความทรงจำ (memory theatre) หรือปราสาทความทรงจำ (palace memory) ซึ่งเปรียบได้กับ ‘อุปกรณ์ช่วยจำ’ ที่ทำให้ระบบความทรงจำของเราสามารถแสดงศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
องค์ความรู้ของซีโมนิดีสได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อโดยปราชญ์ชาวโรมัน ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาวาทศิลป์ (rhetoric) ที่ ณ เวลานั้นเป็นทักษะอันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักปกครองที่ต้องใช้เพื่อการโต้แย้งและโน้มน้าวใจคน
จนล่วงเลยมาสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) นักปรัชญาชาวอิตาเลียน กุยลิโอ คามิลโล (Giulio Camillo) ผู้เขียนตำราที่ชื่อว่า L’Idea del Theatro (1550) จึงได้ปรับเปลี่ยน ‘ศาสตร์แห่งความทรงจำ’ ของซีโมนิดีสให้กลายเป็น ‘ศาสตร์แห่งความคิด’ ที่คามิลโลเชื่อว่ามันจะทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้อันเป็นรากฐานของทุกสรรพสิ่ง
คามิลโลทุ่มเทพยายามทดลองและพัฒนา ‘โรงละครแห่งความคิด’ ขึ้นมาในช่วงปี 1530 โดยเขาได้รับเงินอุปถัมภ์จากพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสนานถึง 7 ปี ด้วยความเชื่อแบบปราชญ์ในยุคโบราณไม่ว่าจะเป็นโสเครติส (Socrates) หรือเพลโต (Plato) ที่ต่างก็แลเห็นว่า “ความรู้คือการระลึกได้” หรือ “การรู้คือการจดจำสิ่งที่เราเคยลืมได้อีกครั้ง”
คามิลโลจึงสร้าง ‘โรงละครความคิด’ ขึ้นมาด้วยความหวังว่าจะทำให้มนุษย์สามารถรื้อฟื้นความรู้ หรือกระทั่งเข้าถึงปัญญาของพระผู้เป็นเจ้า เช่นที่พิโค เดลลา พิรันโดลา (Pico Della Pirandola) ปราชญ์คนสำคัญแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่ศึกษาและพยายามเชื่อมโยงองค์ความรู้ของศาสนาต่างๆ ไว้ด้วยกันได้เคยเสนอไว้
‘โรงละครความคิด’ ของคามิลโลมีรูปร่างลักษณะคล้ายอัฒจันทร์ที่มีเสาเจ็ดต้นตั้งอยู่ตรงลานด้านสุด แต่ละขั้นหรือแต่ละแถวตอนของบริเวณที่นั่งมีตัวหนังสือและชื่อดวงดาวต่างๆ จารึกเอาไว้ อุปกรณ์นี้จะทำให้ผู้ที่ยืนอยู่ตรงกลางลานและมองย้อนกลับขึ้นไปเห็นตัวอักษรต่างๆ บนอัฒจันทร์จะสามารถเชื่อมโยงและมองเห็นความรู้อันเป็นรากฐานของจักรวาลได้!
เมื่อมองด้วยสายตาของคนในปัจจุบัน ‘โรงละครความคิด’ ของคามิลโลนั้นก็คงจะไม่ต่างไปจากแท่นบูชา หรือปรัมพิธีไสยศาสตร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างความพิศวงสงสัยให้กับคนทั้งหลายเรื่อยมาจนทุกวันนี้
3
ล่วงเลยมาสู่ช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) จึงได้ค้นพบว่า ‘ความทรงจำ’ ที่เราเรียกรวมกันในรูปของเอกพจน์เรื่อยมานั้นแท้จริงแล้วอาจสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกันคือ หนึ่ง–ความทรงจำจากความเคยชิน และสอง–ความทรงจำที่เกิดจากการระลึกย้อน
ความทรงจำแบบแรกนั้นเกิดขึ้นจากการทำซ้ำหรือฝึกฝน ซึ่งอยู่กับกลไกต่างๆ ในร่างกาย เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ที่เราสามารถจดจำได้ผ่านความเคยชิน
ความทรงจำแบบถัดมา ถูกเก็บกักไว้ในรูปของภาพ ซึ่งแบร์กซงเรียกว่า ความทรงจำบริสุทธิ์ (pure memory) ซึ่งความทรงจำเหล่านี้เกิดจากการคัดเลือกภาพ การรับรู้ต่างๆ ไว้ในแต่ละช่วงเวลา เพราะเราไม่สามารถเก็บความทรงจำตลอดทั้งชีวิตได้ทั้งหมด หากเราทำได้เพียงเก็บไว้เพียงส่วนหนึ่ง และเราจะสามารถจดจำหรือระลึกย้อนได้ ความทรงจำเหล่านี้ก็จำเป็นต้องถูกผลิตซ้ำ หรือถูกกระตุ้นย้ำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทำให้เราสามารถพูดได้ด้วยเช่นกันว่าความทรงจำที่เราคิดว่าจดจำได้นั้นแท้จริงเป็นสำเนาของความทรงจำแรก
4
โมริซ อาล์บวัคช์ (Maurice Halbwachs) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ในงานเขียนชิ้นสำคัญของเขา La mémoire collective (1950) ว่า
“เรารักษาความทรงจำของแต่ละช่วงเวลาของชีวิตเอาไว้ และทั้งหมดนั้นถูกสร้างใหม่อย่างต่อเนื่องผ่านสิ่งต่างๆ เป็นดั่งความสัมพันธ์ที่คงอยู่ การสัมผัสได้ถึงอัตลักษณ์ที่ดำเนินสืบไป หากจะกล่าวให้ชัดเจนลงไปก็คือ ความทรงจำเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำเพราะการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านระบบการรับรู้ที่หลากหลายในแต่ละห้วงเวลาของชีวิตที่แตกต่างไปหรือเรื่อยๆ ไป ความทรงจำของเราจึงสูญเสียรูปแบบและลักษณาการที่มี มันไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบเดียวกับซากฟอสซิลของสัตว์ที่เราสามารถนำกลับมาประกอบสร้างเป็นตัวเป็นตนขึ้นใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง”
คำอธิบายนี้สอดคล้องกับสิ่งที่แบร์กซงได้เสนอไว้ก่อนหน้า แต่เพราะความที่อาล์บวัคช์เป็นนักสังคมวิทยาที่สนใจทั้งวิชาสถิติและประวัติศาสตร์ เขาจึงต้องการศึกษาความทรงจำในกรอบที่กว้างกว่า และนั่นเองที่ทำให้เขาได้ค้นพบว่า นอกจากความทรงจำ 2 ชนิดที่เราแต่ละคนมีแตกต่างกันไปแล้วนั้นก็ยังมีความทรงจำร่วม (collective memory) ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางสังคม เช่น ความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นชาติ ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราว หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย
ที่มองอย่างผิวเผินแล้วแทบไม่ต่างจากความทรงจำของเราเอง แต่ทว่าแท้จริงแล้วล้วนเป็นความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านกลุ่ม หรือหน่วยทางสังคมที่เราสังกัดอยู่ และไม่แปลกแต่อย่างใดที่คนในแต่ละสังคมจะมีความทรงจำร่วมต่อเหตุการณ์ต่างๆ แตกต่างกันออกไป ดังนั้นความฝันอันสูงสุดของรัฐเผด็จการ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทรราชย์ทั้งหลายก็คือทำให้ประชาชนทั้งหมดมีความทรงจำร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน
แต่อาล์บวัคช์ก็ได้ชี้เตือนเราว่า แม้ความทรงจำร่วมในสังคมจะมีพลังอำนาจในการน้อมนำให้เราเชื่อมากเพียงใด หากสุดท้ายผู้ที่แบกรับความทรงจำนั้นก็คือ ‘ปัจเจกแต่ละคน’ เราคือผู้ที่จดจำได้ และเราคือผู้สร้าง ‘อดีต’ และให้ความหมายกับ ‘อดีต’ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งบางครั้ง ‘อดีต’ ที่ว่าอาจเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ หรือเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเท่านั้น