‘เพราะเป็นมนุษย์ จึงไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง’ ความเหงาในฐานะสภาวะชั่วคราวของชีวิต

คำว่า ‘วาก’ ที่แปลว่า ว่างเปล่า, หาย หรือ ว้าเหว่ เช่น ‘ใจวาก’ เป็นคำที่ในปัจจุบันเราแทบจะไม่ใช้กันแล้ว หรือถ้าใช้ก็คงไม่อาจสื่อความได้มากเท่ากับคำว่า ‘หว่อง’ หรือ ‘กระทำความหว่อง’ ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกสังคมเครือข่ายช่วงระยะเวลาหลายปีมานี้

คำว่าหว่องมีที่มาจากชื่อของผู้กำกับฮ่องกง ‘หว่อง การ์-ไว’ (Wong Kar-wai) ที่ภาพยนตร์เกือบทั้งหมดเป็นภาพแทนของความเปลี่ยวดายอ้างว้างของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของเขาในช่วงก่อนที่เกาะฮ่องกงจะกลับคืนสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแทนที่จะเป็นเหมือนการกลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัว แต่กลับกลายเป็นความเคว้งคว้างเหมือนเรือลำน้อยท่ามกลางพายุ ซึ่งหลายครั้งก็สะท้อนอยู่ในภาพบรรยากาศและความนึกคิดของตัวละคร จนเป็นเหตุให้ชื่อสกุลหว่องกลายเป็นทั้งคำคุณศัพท์ และกิริยายอดนิยม โดยที่ผู้กำกับชื่อคล้ายกันอย่างหว่อง กา-ไฟ (Wong Ka-fai) ไม่ได้มีเอี่ยวแต่อย่างใด

ถ้า หว่อง การ์-ไวได้ทราบความจริงในเรื่องนี้ เขาก็คงจะแปลกใจน่าดู ว่าประเทศเผด็จการเล็กๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชีวิตผู้คนเหมือนจะล่องลอยเคว้งคว้างประมาณเดียวกับฝุ่นระดับอนุภาค ซึ่งเคยเป็นโลเคชั่นให้ภาพยนตร์ของเขาจะใช้ชื่อสกุลของเขาแทนความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ที่ ณ ปัจจุบันได้กลายเป็นสภาวการณ์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว ที่เราจะกล่าวถึงต่อไป

ขณะที่อีกทาง ปรากฏการณ์ในประเทศห้ามพัฒนาอาจทำให้ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ต้องน้อยใจ เพราะชื่อ ‘มู’ ของเขาไม่ได้ถูกนำมาใช้แทนสภาวะจิตที่ว่านี้ แม้ว่ามูราคามิจะเป็นนักเขียนที่ถูกอ่านและอ้างอิงถึงความคิดเรื่องความเหงาอย่างแพร่หลายไม่น้อยกว่าหว่อง การ์-ไว อย่างถ้อยคำจากนวนิยายเรื่อง Sputnik Sweetheart (1999) ที่ว่า “ทำไมคนเราถึงเหงาได้ขนาดนี้ คำอธิบายที่แท้จริงซ่อนอยู่ที่ไหน คนบนโลกนับล้านคน ทุกผู้ทุกคนโหยหาใครสักคน เป็นไปได้หรือไม่ว่า โลกถูกส่งให้มาลอยกลางอวกาศเวิ้งว้าง เพียงเพื่อให้เป็นที่พำนักของคนเหงา” ก็ต้องนับว่าเป็นประโยคคลาสสิกที่ใช้บรรยายความรู้สึกของผู้คนมากมายในโลกปัจจุบันที่มองความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเป็นเสมือนโรคระบาด 

อย่างไรก็ตามบทความต่อไปนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการเขียนถึงการมีอิทธิพลในวัฒนธรรมมหาชนของมหาบุคคลทั้งสอง หากเป็นเพียงความพยายามที่จะนำพาเราย้อนกลับไปยังที่มาและความหมายของ ‘ความเหงา’ หรือ ‘ความโดดเดี่ยว’ ที่เป็นปรากฏการณ์สากล รวมถึงในประเด็นคำถามต่างๆ ที่อาจอยู่ในใจใครหลายคน

ความเหงา

ความเหงาในฐานะโรคระบาด

ก่อนหน้าการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 สื่อสารมวลชนได้พยายามนำเสนอภาพของโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะการระบาดของ ‘ความเหงา’ หรือ ‘ความโดดเดี่ยว’ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา แบบสำรวจค่าความเหงาของ UCLA (UCLA Loneliness Scale) ได้ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1978

ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังเช่นสหรัฐอเมริกากล่าวกันว่า 1 ใน 3 ของประชากรที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปรู้สึกเหงา หรือผลสำรวจที่จัดทำโดย Commonwealth Fund ในปี 2017 บ่งชี้ว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ผู้สูงอายุรู้สึกโดดเดี่ยวมากที่สุด

ในงานวิจัย Social Relationships and Mortality Risk: A Meta-analytic Review ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2010 ระบุชัดถึงอันตรายและปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการอยู่เพียงลำพัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ รายงานฉบับนี้ได้นำไปสู่คำกล่าวโด่งดังที่เผยแพร่ผ่านบทความ Work and the Loneliness Epidemic (2017) ใน Harvard Business Review ที่ว่า “ความเหงาทำให้เราอายุสั้นลงเทียบเท่าได้กับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน”

สหราชอาณาจักรคือหนึ่งในประเทศรายได้สูงที่เล็งเห็นว่า ความเหงานั้นได้กลายเป็นปัญหาทางสังคม กระทั่งรัฐบาลภายใต้การนำของ Theresa May ได้ริเริ่มจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า กระทรวงแห่งความเหงา (Ministry of Loneliness) ขึ้นมาในปี 2018 เพราะเชื่อว่า ความเหงาที่แม้จะเป็นความรู้สึกในเชิงอัตวิสัยที่เกิดกับปัจเจกแต่ละคน แต่ก็สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะโดยรวมของประชาชน ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพการทำงาน สุขภาพจิต ไปจนถึงภาวะตึงเครียด

ความเหงาในมุมมองของรัฐจึงเรียกได้ว่าไม่ต่างจากการระบาดของโรคร้าย ที่แต่ละรัฐบาลจำเป็นต้องเฝ้าระวังและควบคุมเรื่อยมา จนเมื่อปี 2020 ที่ทั่วโลกเริ่มประสบปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 (ที่เปลี่ยนจากการเป็น Epidemic ไปสู่ Pandemic) หลายประเทศจึงเริ่มใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไปจนถึงการล็อคดาวน์ (Lockdown) ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องหลีกเลี่ยงการจับสัมผัสตัวกัน ลดกิจกรรมสังสรรค์จนถึงการต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่พักอาศัยเพียงลำพังเกือบตลอดเวลา โดยสหราชอาณาจักรก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านั้น 

What Works Centre for Wellbeing หน่วยงานของสหราชอาณาจักรที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จึงได้ทำการสำรวจต่อไปว่า ประชากรที่ประสบกับความเหงาก่อนหน้านั้นได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างในภาวะการณ์นี้ ซึ่งก็พบว่าจำนวนประชากรเหงามีอัตราสูงขึ้น แม้แต่ในกลุ่มประชากรที่มีความเหงาน้อยที่สุด โดยอ้างอิงตัวเลขจากหน่วยงาน USoc (Understanding Society) ที่รายงานว่า ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ‘ประชากรที่รู้สึกว่าตนเองเหงาอยู่บ่อยครั้ง’ มีปริมาณ 8.5% และภายหลังการระบาดของโควิด-19 ได้มีการสำรวจระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 10 พฤษภาคม 2020 จึงพบว่า ‘ประชากรที่รู้สึกว่าตนเองเหงาอยู่บ่อยครั้ง’ มีเพิ่มมากขึ้นถึง 18.5% จนเมื่อมีการคลายมาตรการ ‘ประชากรที่รู้สึกว่าตัวเองเหงาอยู่บ่อยครั้ง’ จึงค่อยๆ ลดลงเล็กน้อย แม้จะไม่กลับไปเท่าเดิม

ความเหงาที่กล่าวมาดูราวกับจะเป็นสิ่งที่เราสามารถตรวจวัดค่าได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องมือที่เราใช้รวมถึงคำอธิบายเกี่ยวกับความเหงานี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน ด้วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันมีความเป็นอัตวิสัย และเป็นความรู้สึกเชิงสัมพัทธ์ เพราะแม้แต่ในรายงานของ What Works Centre for Wellbeing ยังได้นิยามความเหงาเอาไว้ว่า 

“ความเหงาคือความรู้สึกทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ดีในแบบที่เราคาดหวังไว้ ความเหงามีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากความรู้สึกถูกแบ่งแยกหรือโดดเดี่ยว ซึ่งสามารถวัดค่าในเชิงภววิสัย เป็นจำนวนเวลาที่เราใช้กับจำนวนคนที่ใช้เวลาร่วมกัน หรือเวลาอยู่เพียงลำพัง ที่ส่งผลกระทบ และเพิ่มพูนสุขภาวะได้

“ความเหงาเป็นประเด็นทางสังคมได้ เมื่อเรารู้สึกขาดการเชื่อมโยงทางสังคม ทางอารมณ์ เป็นจุดที่เรารู้สึกว่าไร้ซึ่งความสัมพันธ์ที่มีความหมายลึกซึ้งไปจนถึงรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง และ/หรือมีตัวตนดำรงอยู่ เป็นสภาวะที่เราอาจจะรู้สึกราวถูกจับแยกออกมาจากคนอื่นๆ โดยสมบูรณ์”

ความเหงาภายใต้บทนิยามนี้บ่งชี้ให้เห็นแล้วว่ามีทั้งที่เป็นความรู้สึกเชิงคุณภาพ ปริมาณ และที่สำคัญผูกพันกับภาวะการดำรงอยู่ของเราแต่ละคน ซึ่งถึงที่สุดแล้วอาจไม่ใช่เรื่องที่ตรวจวัดค่าใดๆ ได้ นั่นส่งผลให้นักวิชาการอีกหลายคนมองว่า โครงการศึกษาความเหงาที่เกิดขึ้นอาจยังไม่ตอบโจทย์ หรือสร้างคำอธิบายที่หนักแน่นเพียงพอต่อปรากฏการณ์นี้ได้ อย่างน้อย Sarvada Chandra Tiwari เจ้าของงานวิจัย Loneliness: A disease? ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่พยายามเน้นย้ำถึงความหลากหลายในความเหงา หรือความจำเป็นที่เราต้องจำแนก loneliness และ solitude ออกจากกัน ด้วยเธอเห็นว่า solitude เป็นภาวะจำเป็นในยามที่มนุษย์เราใช้สร้างสรรค์ รวมถึงการทำความเข้าใจตนเองเมื่อต้องอยู่เพียงลำพังหรือปลีกตัวเองออกมาจากคนอื่นๆ

ความแตกต่างระหว่าง loneliness และ solitude เป็นสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นในโลกของปรัชญาและโดยเฉพาะโลกของแองโกล-อเมริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาที่ได้เน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างสองคำนี้ 

Paul Tillich นักปรัชญาชาวเยอรมัน-อเมริกันเป็นอีกคนที่อธิบายเช่นนี้ ในงาน The Eternal Now (1963) เขาได้กล่าวไว้ว่า “ภาษาของเราได้กำหนดความหมายสองด้านของการอยู่เพียงลำพังได้อย่างลึกซึ้ง โดยการสร้างคำว่า โดดเดี่ยว (loneliness) เพื่อแสดงความเจ็บปวดของการอยู่ลำพัง และคำว่า ‘สันโดษ’ (solitude) ขึ้นมาเพื่อแสดงชัยชนะให้กับการอยู่ลำพัง”

กรอบอธิบายของทิลลิชในเรื่องของ solitude นั้นเรียกได้ว่าสอดคล้องกับกรอบอธิบายใน The Origins of Totalitarianism ของ Hannah Arendt นักทฤษฎีการเมืองที่อพยพไปอเมริกาที่จำแนกความแตกต่างของทั้งสองคำไว้อย่างชัดเจนว่า “ความเหงา (loneliness) ไม่ใช่ความสันโดษ (solitude) เพราะความสันโดษนั้นต้องการอยู่เพียงลำพัง ในขณะที่ความเหงานั้นจะปรากฏชัดเจนที่สุดในเวลาที่เราอยู่ท่ามกลางคนอื่นๆ”

อาเรนดต์ได้สืบย้อนกลับไปรากฐานความคิดแบบกรีกโบราณที่เธอเห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดดังกล่าว และเธอได้สรุปเอาไว้ว่า “ในความสันโดษ ที่สามารถกล่าวอีกทางได้ก็คือ ฉัน ‘คือตัวฉัน’ ที่อยู่กับตัวเอง ซึ่งก็คือการเป็นสองในหนึ่งเดียว ในขณะที่ในความเหงา ฉันเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่คนทั้งหลายทอดทิ้ง” กรอบอธิบายของอาเรนดต์ จึงเรียกได้ว่าสอดคล้องกับกระแสปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) หรือชวนให้เรานึกไปถึงคำกล่าวอันโด่งดังจากบทละคร Huis Clos ของ Jean-Paul Sartre ที่ว่า “นรกคือผู้อื่น”

อย่างไรก็ตามคำว่า solitude ก็ไม่ได้มีความหมายแต่เชิงบวกเพียงอย่างเดียว เพราะในยุโรป หรือในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียนแล้ว คำนี้ถูกใช้ในความหมายที่ไม่ต่างจาก loneliness เท่าใดนัก 

ถ้าเราย้อนกลับไปอ่านผลงาน L’Espace littéraire (1955) หรือ The Space of Literature ของ Maurice Blanchot ก็จะพบว่าเขาพยายามอธิบายถึง solitude ในแบบที่แตกต่างจากที่คนทั่วไปเข้าใจ คือการตกอยู่ในความรู้สึกเศร้า หรือการจมอยู่กับความครุ่นคิดในแบบนักปรัชญาและแม้แต่ศิลปิน โดย ‘The Essential Solitude’ ที่เขาเสนอนั้นถือเป็นมุมมองแปลกล้ำ ที่พยายามปลดแอกสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ออกจากตัวศิลปินหรือนักเขียน solitude ในแง่ดังกล่าวจึงหมายความถึงการแยกตัวเองออกมาจากชิ้นงาน ซึ่งบล็องโชต์เห็นว่าเป็นภาระอันจำเป็นของผู้สร้างสรรค์ทั้งหลาย ข้อเสนอนี้ดูจะส่งอิทธิพลต่อแนวคิดเรื่อง ‘มรณกรรมของประพันธกร’ ของ Roland Barthes ไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับงาน The Labyrinth of Solitude (1961) ของ Octavio Paz ที่ได้นำเสนอ solitude ในฐานะรากฐานหนึ่งในชีวิต เป็นสภาวะที่เราตัดขาดออกมาจากคนอื่นๆ เป็นความขาด (lack) ที่มีอยู่ในตัวเรานับจากถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ซึ่งก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพที่สอดคล้องกับ loneliness มากกว่าจะเป็นชัยชนะแห่งการดำรงอยู่ หรือภาวะสมบูรณ์ในตัวเองเช่นที่ทิลลิชหรืออาเรนดต์อธิบายไว้

‘โดดเดี่ยว’ หรือ ‘สันโดษ’

solitude ถูกพบว่ามีการใช้กันเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 14 มาจากคำฝรั่งเศสเก่าที่สืบรากมาจากคำละติน solitudinem ที่แปลความได้ทั้ง ‘ความโดดเดี่ยว การอยู่คนเดียว สถานที่เปลี่ยว ที่ถูกทิ้งร้าง และในป่าเขาอันห่างไกลความเจริญ’ ซึ่งมาจากคำละติน solus ที่หมายถึง ‘ลำพัง’ หรือ alone

ในแง่ของเวลา ต้องกล่าวว่า solitude ถูกใช้อย่างแพร่หลายมาก่อน loneliness ซึ่งเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 16 ซึ่ง ณ เวลานั้นหมายความถึงการปลีกวิเวกหรือการออกมาอยู่เพียงลำพัง โดยก่อนหน้าที่สองคำนี้จะแพร่หลาย คำว่า oneness ถือเป็นหนึ่งคำที่ใช้แทนภาวะของการอยู่คนเดียว

ส่วนคำว่า lonely ปรากฏขึ้นครั้งแรกๆ ในบทละคร Coriolanus ของเชคสเปียร์ มักถูกอ่านและตีความว่าเป็นการใช้ในความหมายที่ผิดธรรมดาเพื่อสื่อความรู้สึกอันยากจะอธิบายได้ของการอยู่เพียงลำพัง (alone) เป็นขั้นกว่าที่ทำให้ตัวละครต้องเอื้อนเอ่ยคำนี้ออกมา

อย่างไรก็ตาม เส้นแบ่งระหว่าง loneliness และ solitude ก่อนปลายศตวรรษที่ 20 ก็ยังคลุมเครือและพร่าเลือน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคำไวพจน์ (synonym) ของกันและกัน เพราะเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 หรือก่อนหน้าการปฏิวัติฝรั่งเศสเพียงไม่นาน นายแพทย์ชาวสวิสผู้มีนามว่า Johann Georg Ritter von Zimmermann ได้ตีพิมพ์ผลงานที่มีชื่อว่า Über die Einsamkeit (1784-85) หรือ Of Solitude ออกมาเพื่ออธิบายถึงอันตรายหรือโทษของการอยู่เพียงลำพัง ผลงานชิ้นนี้เป็นที่สนใจของนักอ่านทั่วทั้งยุโรป จนกระทั่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า Of Solitude ภายในไม่กี่ปีต่อมา หากเป็นที่น่าเสียดายว่า ฉบับแปลภาษาอังกฤษนั้นได้ตัดตอนหรือลดทอนเนื้อหาที่เป็นข้อวิจารณ์เรื่องการใช้ชีวิตแบบสันโดษออกไปพอสมควร

Zimmermann ได้หยิบยกเอาวรรณกรรมและชีวประวัติของบุคคลสำคัญรวมถึงนักคิดร่วมสมัยเดียวกันกับเขาเช่น Jean-Jacques Rousseau มาทำการวิเคราะห์ ซึ่งซิมเมอร์มันน์ฟันธงลงไปเลยว่า ข้อเขียนในช่วงบั้นปลายของรุสโซ โดยเฉพาะงาน Les rêveries du Promeneur Solitaire (1782) หรือ Reveries of the Solitary Walker ที่รุสโซเสียชีวิตไปก่อนจะประพันธ์เสร็จสมบูรณ์นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมลงทางความนึกคิด ซึ่งเป็นผลจากการที่เขาอยู่เพียงลำพัง หรือถูกทอดทิ้งไว้คนเดียวนานเกินไป

น่าสนใจตรงที่บทวิเคราะห์ของซิมเมอร์มันน์ในเรื่อง solitude นั้นเรียกได้ว่าใกล้เคียงและสอดคล้องกับนักวิชาการในปัจจุบันในยามที่กล่าวถึง loneliness หรือ ความเหงา/ความโดดเดี่ยว

David Vincent ผู้เขียน A History of Solitude (2020) เป็นบุคคลหนึ่งที่พยายามสืบค้นลงไปถึงประวัติศาสตร์ที่มาของ solitude ซึ่งเขาได้ค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อเขียนของซิมเมอร์มันน์ในเรื่อง solitude ที่ว่าซิมเมอร์มันน์ได้ประพันธ์ขึ้นมาในช่วงเวลาที่เขากำลังจมอยู่ในภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียภรรยาที่เขารักไป ผลงานของเขาที่แม้เกิดขึ้นจากการอ่านตัวบททางวรรณกรรมจำนวนมากได้บ่งชี้ว่า การใช้ชีวิตอย่างสันโดษนั้นเป็นการฝืนธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และถึงที่สุดแล้วทำให้จิตใจและความคิดเสื่อมถอยลง 

A History of Solitude

ความยอกย้อนของการอยู่เพียงลำพัง

เป็นความจริงที่ว่านักคิดและนักปรัชญาทั้งหลายนับจากกรีกโบราณเป็นต้นมาต่างโปรโมตคุณค่าของการอยู่เพียงลำพัง 

Aristotle เป็นหนึ่งคนที่มองการถือสันโดษเป็นเรื่องจำเป็น เขาเชื่อว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ผ่านการขบคิด และชีวิตที่จะผ่านการขบคิดได้ก็ต้องอยู่ในภาวะที่สันโดษ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดของคนในสังคม ผู้นำทางทหาร หรือบรรดาผู้มีอำนาจต่างๆ 

ในยุคกลาง (Middle Ages) การปลีกวิเวกถือว่าเป็นหนึ่งในหนทางเข้าใกล้พระเจ้า กระทั่งในยุคเรอเนซองซ์ Petrarch กวีและนักเขียนชาวอิตาลีก็ยังได้เขียนหนังสือเรื่อง De vita solitaia ออกมาเพื่อสรรเสริญยกย่องความสันโดษ ความคิดของเขาคล้ายคลึงกับความเชื่อของเราหลายคนในปัจจุบัน การออกจากเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบทจะทำให้เราค้นพบตัวเราเอง และเป็นอิสระจากการครอบงำของคนอื่นๆ 

จนเมื่อก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ นักปรัชญาคนสำคัญอย่าง René Descartes ถึงกับประกาศว่า เราจะสามารถเข้าใกล้สัจธรรมได้มากอย่างที่สุดในภาวะที่เราอยู่เพียงลำพังจริงๆ 

แต่คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เราจะสามารถอยู่เพียงลำพังได้แบบไหน หรือเราจะถือสันโดษยังไงจึงจะเรียกว่าเป็นชีวิตที่สันโดษ? ดังที่เราทราบว่า Henry David Thoreau นักปรัชญาชาวอเมริกัน ผู้ใช้ชีวิตอย่างสันโดษที่บึงวอลเดนเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 2 วัน จนกลายมาเป็นต้นตอบ่อเกิดของผลงานชิ้นสำคัญที่ชื่อ Walden นั้นก็ไม่ได้ตัดขาดจากมิตรสหายและครอบครัวแต่อย่างใด เขายังคงวางเก้าอี้ 3 ตัวเพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน หรือบ่อยครั้งที่เดินเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อพูดคุยทักทายชาวบ้าน และนำเรื่องราวต่างๆ ที่เขาได้ยินมามาเขียนหนังสือ เช่นเดียวกับ Ralph Waldo Emerson นักปรัชญาชาวอเมริกันที่เสนอความคิดว่า เราไม่เพียงแต่ต้องโดดเดี่ยวตัวเองออกมาจากสังคมคนรู้จัก แต่เรายังจำเป็นต้องหยุดอ่านเขียนหนังสือ เพื่อใช้ชีวิตใต้แสงเดือนแสงดาว แน่นอนว่าไม่เพียงแต่ทอโรเพื่อนของเขาที่ทำไม่ได้ แต่เอเมอร์สันเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอย่างน้อยเอเมอร์สันก็ยังเขียนหนังสือไปจนกระทั่งโรคความจำเสื่อมมาพรากความสามารถไปในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งเอเมอร์สันได้เลิกพบปะผู้คนจริงๆ ก็ภายหลังจากรู้สึกอับอายจากโรคความจำเสื่อมที่ทำให้เขาทำอะไรน่าขัน ถ้าจะนับว่ามีใครที่สามารถถือสันโดษได้อย่างแท้จริงก็คงจะมีเพียง Anthony the Great นักบวชคนแรกในตำนานความเชื่อของชาวคริสต์ที่จาริกไปในทะเลทรายฟากฝั่งตะวันออกของประเทศอียิปต์เพียงลำพังเป็นเวลานานนับสิบๆ ปี โดยมีเพียงฝูงสุกรเท่านั้นที่ติดตามเขาไป

Ralph Waldo Emerson

กลับมายังโลกร่วมสมัยที่เราอยู่ โลกที่มนุษย์ต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะการเป็นคนอื่นมีคนเป็นไปหมดแล้วนั้น อาจทำให้เราหลงลืมว่าในตัวเราเองนั้นแท้จริงยังมีคนอื่นๆ อยู่ในรหัสพันธุกรรม ภาษาที่เราใช้ กระทั่งความนึกคิด และแม้แต่พฤติกรรมพื้นฐานที่ติดตัวเรามา  

ดังนั้น ยามที่เราต้องอยู่กับตัวเราเองนานๆ ไม่ว่าจากภาวะการณ์ของโรคระบาด การเดินทาง กักตัว หรือเหตุผลต่างๆ เราก็ไม่ควรลืมว่า โดยพื้นฐานแล้วเราไม่สามารถอยู่เพียงคนเดียวได้ เราต้องการมนุษย์คนอื่นไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม การทำความเข้าใจความโดดเดี่ยว ความสันโดษจึงหมายถึงสภาวะชั่วคราวของความเป็นมนุษย์ ในฐานะหนึ่งในเครือข่ายแห่งชีวิต ซึ่งไม่เคยตัดขาดจากกันอย่างแท้จริง

อ้างอิง

  • David Vincent, A History of Solitude, (London: Polity Press, 2020).
  • Lars Svendsen, A Philosophy of Loneliness, (London: Reaktion Books, 2018).
  • Octavio Paz, Labyrinth of Solitude, (New York: Grove Press, 1985)
  • Sarvada Chandra Tiwari,  “Loneliness: A disease?.” Indian journal of psychiatry vol. 55,4 (2013): 320-2. doi:10.4103/0019-5545.120536

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Nichanan Pen

นักออกแบบกราฟิกที่ชอบดู F.R.I.E.N.D.S. ซ้ำ ๆ แอบร้องเพลงฝรั่งเศสเวลาอยู่คนเดียว และรักตุ๊กตาหมาอิเกียมาก