NFT1 บริษัท NFT สัญชาติไทย ที่อยากผลักดันศิลปะและศิลปินไทยไปสู่สายตาคนทั่วโลก

“เราอยากให้คนได้เห็นศักยภาพของคนบ้านเราว่าทำอะไรได้ เราไม่ใช่ประเทศที่ธรรมดา ประเทศนี้มีคนที่มีสกิล คนที่เป็นซูเปอร์ฮีโร่อยู่เยอะมาก แต่เขากลับไม่ได้แสดงงานออกไปให้คนเห็นถึงความสามารถ ซึ่งมันน่าเสียดาย ผมเลยอยากหาวิธีทำให้วงการศิลปะบ้านเราเติบโตได้มากขึ้น” 

คือความตั้งใจของ นีโน่–เกริก ชาญกว้าง โปรดิวเซอร์เพลงมากความสามารถ พ่วงด้วยตำแหน่งผู้บริหารค่าย HYPE TRAIN ที่อยากผลักดันศิลปะในไทยให้ไปถึงสายตาคนทั่วโลก เขาจึงคิดพาศิลปินหลากวงการเข้าสู่การทำงานศิลปะในรูปแบบดิจิทัลหรือ NFT (Non-Fungible Token) ดูแล NFT1 ร่วมกันกับ Stéphane Panyasiri CEO บริษัทผู้มีประสบการณ์ในวงการเกมและคร่ำหวอดในวงการสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ให้ความคิดที่อยากจะปลดแอกศิลปะเกิดขึ้นจริง

เพราะมองว่า NFT หรือระบบเหรียญดิจิทัลที่มีความเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทำซ้ำ คัดลอก รวมทั้งทดแทนหรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นได้ อาจเป็นทางรอดสำหรับศิลปินในบ้านเมืองที่น้อยคนนักจะเห็นค่าของศิลปะ โดยกลไกสำคัญของ NFT คือการใช้เทคโนโลยี Blockchain หรือระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่มีตัวกลาง ทำให้ข้อมูลที่ถูกส่งเข้าระบบนี้ได้รับการปกป้อง และระบุให้รู้ชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลตัวจริง

ผู้คนส่วนมากจึงนิยมนำเทคโนโลยีที่ว่านี้มาใช้กับงานสร้างสรรค์อย่างภาพถ่าย เพลง วิดีโอ รูปวาด หรือกระทั่งโมเมนต์การชู้ตบาสของเหล่านักกีฬา NBA เพราะมูลค่าของ NFT แต่ละชิ้นจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ผลิตผลงานและผู้ซื้อ เหมือนเป็นการซื้อและสะสมงานศิลปะที่ผู้ซื้อมีสิทธิในการครอบครอง แต่หากอยากเก็บไว้หรืออยากขายต่อก็ประเมินได้ตามความพอใจ

NFT1 nanake

YOUNGOHM, MAMAFAKA, Art of Hongtae, น้าเน็ก, ชาติฉกาจ ไวกวี, แต้ว ณฐพร, Phannapast, และ 4EVE คือรายชื่อแรปเปอร์ ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ พิธีกร ช่างภาพ นักแสดง และกระทั่งนักร้องเกิร์ลกรุ๊ปที่ NFT1 ตั้งใจประกาศให้เห็นว่านี่คือศิลปะในแบบที่พวกเขาสนใจ และพร้อมจะปล่อยสู่สายตาคนทั่วโลกเป็นกลุ่มแรก

ต่อให้ไม่เคยศึกษาคริปโตฯ โทเคน หรือระบบบล็อกเชนมาก่อนก็ไม่เป็นไร เพราะต่อไปนี้คือบทสนทนาที่ว่าด้วยความเป็นไปได้ของวงการศิลปะไทยภายใต้แพลตฟอร์มใหม่ สกุลเงินใหม่เท่านั้นเอง

ตามไปฟังสเตฟานผู้เป็น CEO และนีโน่ในฐานะครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ NFT1 บอกเล่าถึงศักยภาพของคนไทยที่พวกเขามองเห็น ความเป็นไปได้ที่อาจพลิกวงการศิลปะไทย และอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังบริษัทนี้

NFT1 portrait

ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในบ้านเราดูจะยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง cryptocurrency หรือกระทั่ง NFT มากนัก อะไรจุดประกายให้คุณตั้ง NFT1 ขึ้นมา

นีโน่ : ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ทำให้อาชีพอย่างผมแทบจะไม่สามารถขยับตัวไปข้างนอก หรือลงมือทำอะไรได้เลย เราเลยต้องพยายามหาทางออกว่าจะสามารถนำการงานที่ทำอยู่มาทำอะไรได้บ้าง 

ผมเองเล่นคริปโตฯ มาอยู่แล้ว จนช่วงปลายปี 2019 ก็เริ่มเห็นว่ามีแรปเปอร์เริ่มรับรายได้เป็นบิตคอยน์ มันเริ่มมีการใช้ที่จริงจังมากขึ้น พอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็มารู้จักกับ NFT เราเห็นความเป็นไปได้ที่ NFT จะสามารถปลดแอกวงการศิลปะบ้านเรา เลยพยายามพลิกแพลง ใช้โอกาสนี้ทำให้คนรู้จัก NFT มากขึ้น พอเพื่อนแนะนำให้รู้จักสเตฟานที่มีประสบการณ์ มีความรู้ด้านนี้มาอยู่แล้วเลยลองมาคุยกันดู

NFT1 Gucci

ปลดแอกศิลปะที่ว่าหมายถึงอะไร 

นีโน่ : เรารู้กันดีว่าประเทศไทยให้มูลค่ากับศิลปะน้อยมาก ผมมองว่าคนบ้านเราเก่ง และยังมีคนเก่งอีกมากที่ยังไม่มีพื้นที่ให้ฉายแสงออกมา อย่างลิซ่า (ลลิษา มโนบาล สมาชิกวง BLACKPINK) เป็นคนไทยก็จริง แต่เขาก็ต้องไปเป็นศิลปินที่เกาหลี 

บางทีเวลาเห็นศิลปินเก่งๆ ในไทยก็ทำให้ผมอึดอัดใจนะ ว่าทำไมเขาถึงยังไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควร มันน่าเสียดาย ผมเลยอยากหาวิธีทำให้วงการศิลปะบ้านเราเติบโตได้มากขึ้น 

ซึ่งพอมี NFT ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะตลาดฝั่งเอเชียยังไม่มีผู้เล่นมากนัก และด้วยความเจ๋งของมันที่มีระบบกำกับดูแล บอกให้เห็นเลยว่าใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถปลอมแปลงหรือทำซ้ำได้ ดังนั้นเมื่อศิลปินขายงานใน NFT เขาก็จะได้ loyalty ที่ไม่มีที่สิ้นสุด สมมติในการขายครั้งแรกเขาทำรายได้ได้ 1 แสน แต่หลังจากนั้นเมื่อผลงานถูกขายต่อ ศิลปินก็จะได้เปอร์เซ็นต์ต่อไปด้วย

สเตฟาน : เราคิดตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรจะทำอะไรกับ NFT ได้แล้ว ตอนคุยกันว่าอยากจะทำบริษัทขึ้นมา เราแทบจะมีความคิดไปในทางเดียวกันหมดเลย นีโน่เก่งในด้านการโปรดิวซ์ เห็นได้จากผลงานเพลงทั้งหมดที่เขาทำมาอยู่แล้ว เขาช่วยเสริมในด้านครีเอทีฟ 

ในขณะเดียวกัน ผมที่อยู่ในวงการคริปโตฯ มานานกว่า มีพื้นฐานในวงการเกมมาก่อน ก็จะเข้ามาเสริมด้านธุรกิจ ดูแลในฝั่ง global พอเราทั้งคู่สนใจและอยู่ในวงการคริปโตฯ รวมถึงสนใจ NFT กันอยู่แล้ว เลยน่าจะยิ่งเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ในการส่งศิลปินไทยไปสู่ตลาดโลกจริงๆ

NFT1 working

อย่างที่คุณบอกว่าบ้านเราให้คุณค่าและมูลค่ากับศิลปะในระดับที่น้อยมาก ยิ่งกับ NFT ที่ทำออกมาในรูปแบบของงานศิลป์ที่จับต้องไม่ได้ด้วยซ้ำ ทำไมถึงคิดว่านี่เป็นโอกาสที่สามารถพาศิลปะและศิลปินบ้านเราไปได้ไกลขึ้น

นีโน่ : เพราะโลกของคริปโตฯ มันไร้พรมแดน ศิลปะเองก็มีหลากหลายแขนง ผมเลยมองว่ามันเป็นโอกาส NFT1 จึงไม่ได้มองแค่วงการเพลงอย่างเดียว สิ่งที่เราแพลนไว้ค่อนข้างยิ่งใหญ่และหลากหลายมาก ซึ่งมันน่าจะส่งผลต่ออนาคตของวงการศิลปะในทางที่ดีมากๆ ถ้าเราสามารถทำได้ต่อเนื่องในระยะยาวและเปิดตลาดเป็นของตัวเองได้ ซึ่งแปลว่ามันจะถูกส่งต่อไปให้กับคนรุ่นหลัง

​เคยได้ยินคำว่า ‘ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว’ ใช่ไหม สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นจริงก็ได้ ความปลอดภัยของบล็อกเชนมันอยู่ในระดับที่ว่าวันหนึ่งถ้าผมตายไปแล้วแต่ผลงานใน NFT ก็จะยังคงอยู่

สเตฟาน : ตอนนี้เราเป็นพาร์ตเนอร์กับ Rarible ซึ่งเป็น 1 ใน 3 digital art marketplace ระดับโลก และเขาก็ซัพพอร์ตพวกเราดีมากๆ ทั้งให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการซื้อ-ขาย หรือกระทั่งข้อมูลเกี่ยวกับ NFT สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ แต่มากไปกว่านั้นคือเขาพยายามให้เราได้เรียนรู้เองว่าตลาดของเราเป็นยังไง เพราะแน่นอนว่าธรรมชาติของผู้บริโภคในแต่ละประเทศก็ต่างกันไป 

ในมุมมองของผมตอนนี้คือ มันมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นโรลโมเดลให้กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์หรือเวียดนาม ถ้าเราได้รับโอกาสและสามารถกรุยทางให้กับศิลปินจากประเทศอื่นๆ ในอนาคต

นิยามของ NFT1 ที่พวกคุณตั้งใจอยากให้เป็นคือแบบไหน

สเตฟาน : เราพยายามจะเป็นตรงกลางระหว่างศิลปินและคนซื้อ พยายามใช้ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกันกับศิลปินเพื่อสร้างตลาดศิลปะในบ้านเราให้แข็งแรง 

แม้งานชิ้นแรกที่ปล่อยออกมาจะเป็นเพลงของ YOUNGOHM ก็จริง แต่เราไม่ได้คิดจะจำกัด NFT1 ให้อยู่แค่ในวงการเพลง และในความเป็นจริงแค่เพลงอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับตลาด NFT เราจึงมีทั้ง MAMAFAKA ที่เป็นศิลปิน มีน้าเน็กที่เป็นพิธีกร มีชาติฉกาจ ไวกวี ที่เป็นช่างภาพ ไปจนถึงแต้ว ณัฐพร ที่เป็นดารานักแสดง และ 4EVE เกิร์ลกรุ๊ปของไทย 

ผลงานของ YOUNGOHM ที่ปล่อยมาก็มีการผสมผสานกันทั้งภาพและเสียง ทำเป็นภาพแอนิเมชั่นความยาว 16 วินาที ซึ่งวาดขึ้นโดยจินต์ จิรากูลสวัสดิ์ มีเสียงแท็กไลน์เอกลักษณ์ของ YOUNGOHM ที่ร้องว่า “YOUNGOHM MOTHERF**KER” ในเพลง มาเฟียสเปน เพลงที่เป็นไวรัลของเขา ซึ่งเรารู้กันว่าเขาจะอัดเสียงนี้แยกเฉพาะไปในแต่ละเพลงของเขาเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดึงดูดสายตาให้คนสนใจ หรือเป็นอะไรที่ถ้าได้ครอบครองแล้วจะอยากโชว์ อยากอวดว่าเราได้เป็นเจ้าของ

NFT1 youngohm

แน่นอนว่าหากศิลปินสนใจอยากทำ NFT เขาก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่เราตั้งใจทำให้เห็นว่าเรามีองค์ความรู้ในการทำ NFT พร้อมเสนอให้ และอยากชวนเขามาร่วมกันทำให้งานศิลปะของเขาแตกต่างและเป็นที่ยอมรับในตลาด

โจทย์สำคัญของเราคือการสร้างความเข้าใจให้เขาเห็นว่า NFT ทำอะไรได้บ้าง และสิ่งนั้นให้ผลตอบแทนกลับมายังไง ซึ่งเราไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นศิลปินในประเทศไทยเท่านั้น เราอยากทำให้ศิลปะในบ้านเราไปได้ในระดับอินเตอร์ ขณะเดียวกันเราก็ร่วมงานกับศิลปินต่างประเทศด้วย

ลองคิดภาพว่า YOUNGOHM ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมากในบ้านเราได้ร่วมสร้างงานกับศิลปินประเทศอื่น แค่นี้มันก็เพิ่มโอกาสให้กลุ่มแฟนคลับหรือกลุ่มผู้ซื้อได้เข้ามารู้จักศิลปินฝั่งเรามากขึ้นแล้ว 

นีโน่ : เมืองนอกเขามี marketplace แล้ว ซึ่งมันเห็นได้ชัดมากว่าตลาดเขาเป็นยังไง เราเลยพยายามจะนำเสนออีกรสชาติหนึ่งให้เขา เทียบกันก็เหมือนวัฒนธรรมการกินแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นอาหารต่างชาติ แต่มันก็ขยายมาสู่ประเทศเรา ผมอยากให้ NFT1 ทำหน้าที่แบบนั้น คือเราอยากสร้าง marketplace ที่เป็นสไตล์ของฝั่งเรา ถ้าเทียบเป็นภาพว่าเราจะไปบุกน่านน้ำฝั่งเขา แทนที่เราจะเข้าไปเป็นปลาตัวหนึ่ง ผมว่าเรารวมพลังเพื่อทำให้เขาเห็นว่าตลาดนี้มันเกิดขึ้นได้ในฝั่งเรา และเรามีสไตล์เป็นของตัวเองน่าจะดีกว่า 

NFT1 portrait

คิดว่าอะไรคืออุปสรรคที่ไม่เอื้อให้ศิลปินบ้านเราสามารถเติบโตไปในระดับอินเตอร์ได้

นีโน่ : จริงๆ มันก็ทำได้ ยิ่งกับตอนนี้ที่ไม่มีคำว่าพรมแดนหรือสัญชาติอะไรแล้ว อย่างเกาหลีเขาก็ทำได้มาหลายปีมากแล้ว เพราะบ้านเขามีคนช่วยผลักดันกันจริงๆ 

กับบ้านเราที่มีการสนับสนุนไม่เท่า ระบบต่างๆ ก็แย่มากจนคนในวงการดนตรีอย่างเราจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศของเราขึ้นมาเอง อย่างแวดวงฮิปฮอปไทยหรือเพลงลูกทุ่งไทยเราดูแลกันเองทั้งหมด มันจึงยากกว่าและต้องใช้เวลามากกว่าในการที่เราจะพาตัวเองเข้าไปสู่เวทีระดับโลก

ในประเทศไทยยังมีคนเก่งอีกมากที่ยังไม่ถูกค้นพบ เราจึงต้องการที่จะค้นหาเพชรในตม เพื่อผลักดันให้เขาได้ออกไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งผมเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีเราอาจจะได้เห็นผลงานของไทยในระดับสากลมากขึ้น 

มีเกณฑ์ในการหาเพชรในตมมาทำงานกับ NFT1 ยังไง

นีโน่ : ค่อนข้างแรนดอมมาก มันคล้ายๆ กับการมองหาศิลปินมาทำงานเพลงนั่นแหละ เหมือนผมกำลังเป็นโปรดิวเซอร์ที่ผลิตงานในรูปแบบ NFT แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือขอบเขตของ NFT มันหลากหลายมาก แม้แต่นักพูดก็สามารถผลิตงาน NFT ได้ อย่างต่างประเทศก็มีการขายโมเมนต์ของนักกีฬาบาสเก็ตบอล NBA Top Shot ด้วยซ้ำ 

ผมว่าค่าของคนในวงการนี้อยู่ที่ผลงาน งานของเขาคือคำตอบ 

อุปสรรคสำคัญของ NFT1 ณ ปัจจุบันคืออะไร

สเตฟาน : มันยัง niche ตลาดของเราตอนนี้ยังแคบมาก นอกจากจะมองหาศิลปินสำหรับ NFT1 แล้วเราจึงจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้คนเข้ามาซื้อ-ขายงานกันมากขึ้นด้วย 

ด้วยภาพจำของ NFT คนส่วนใหญ่มักคิดว่างานเหล่านี้ไม่เหมาะกับตัวเอง ไม่ได้ทำมาเพื่อพวกเขา ทั้งๆ ที่จริงคุณเองก็สามารถซื้อได้ ขายได้ เราพยายามจะขยายตลาดออกไปให้ถึงกลุ่มคนหลากหลายระดับ มีตั้งแต่งานราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักล้าน โดยที่ไม่ว่าจะราคาไหนเราก็มองที่คุณภาพเป็นสำคัญ ดังนั้นคุณมั่นใจได้เลยว่าเราตั้งใจทำให้คนที่ซื้อไปภูมิใจกับงานศิลปะเหล่านั้น

นีโน่ : ตอนนี้เราต้องการคนที่อยากไปกับเรา ทั้งศิลปินและผู้ซื้อ เราต้องการ Avengers ที่จะมาพิสูจน์ว่า เฮ้ย! มันทำได้! เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ 

อย่างเรื่องตลาดผันผวนที่หลายคนกังวล มันเป็นข้อเสียที่พึงระวังและไม่สามารถควบคุมได้ก็จริง แต่ผมมองว่ายังไงตัวศิลปินก็มีคุณค่าในตัวของเขาอยู่แล้ว ตราบใดที่มีคนที่พร้อมจะซัพพอร์ต ไม่ว่าตลาดจะผันผวนหรือไม่ ยังไงเขาก็จะขายผลงานได้ 

สเตฟาน : สาเหตุที่คนกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของตลาดเป็นเพราะเขายังคิดว่างานใน NFT คือเรื่องไร้สาระ บางคนถ่ายรูปหมาของตัวเองมาลงขายและหวังว่าจะมีคนซื้อไป แน่นอนว่ามันอาจจะเป็นไปได้แต่ก็นับว่าเป็นส่วนน้อยมากๆ 

จริงๆ แล้วสิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญในการทำงานศิลปะเพื่อ NFT คือคุณภาพกับความต้องการของตลาด มองให้ขาดว่าคนชอบเสพงานแบบไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเราในฐานะ NFT1 ก็ได้ศึกษาและช่วยคัดเลือกมาแล้ว คนที่ซื้อ-ขายกับเราจึงมั่นใจได้ว่างานที่เขาได้ไปคือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หากวันหนึ่งคุณอยากปล่อยต่อ คนก็จะต้องการมัน

จริงอยู่ที่ตลาดมีความผันผวน มีขึ้น-ลง แต่คุณก็พิจารณาได้ว่าจะเก็บหรือจะปล่อย แต่ในมุมมองของผม ผมว่าวันหนึ่งตลาดนี้มันจะเติบโต

เป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนนี้เป็นยังไง

สเตฟาน : ตอนนี้มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง ทั้งกับวงการ NFT และกับบริษัทเรา เพราะเราไม่ได้อยากเป็นแค่บริษัทที่ผลิต NFT แต่เราอยากเป็นบริษัทที่ทำงานสร้างสรรค์แล้วใช้ประโยชน์จาก NFT ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด การร่วมงานกับแบรนด์หรือศิลปิน

เราอยากผลิตงานที่มีคุณภาพออกมา โดยที่งานนั้นสามารถตอบโจทย์กับสิ่งที่เราคิดเอาไว้ได้ว่าจะสามารถสร้างคุณค่า สร้างเงิน และทำให้คนเชื่อมั่นใน NFT

สำหรับพวกเรา ความสำเร็จของบริษัทคือการที่เราสามารถทำให้คนเข้าใจและเข้าถึง NFT ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

ช่างภาพสาวร่างเล็ก อดีต a team junior 11 ผู้หลงใหลความทรงจำในภาพถ่ายและสนุกกับการแต่งตัวเป็นที่สุด เจ้าของ instagram @mochafe