ความฝันของตูน

คำศัพท์ภาษาอังกฤษคำหนึ่งที่เราชอบคือ ‘Respect’

มันคือการเคารพคนคนหนึ่ง นับถือในสิ่งที่ทำ แม้ความเห็นจะไม่ตรงกัน แต่เราก็ยินดี

นี่คือคำจำกัดความที่สั้นที่สุดของ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย และโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ ของเขา

การวิ่งเพื่อเชิญชวนบริจาคให้แก่ 11 โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศของศิลปินหนุ่ม มาไกลกว่าการบริจาคเงิน แต่โครงการนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ในหลายด้าน ทั้งในแง่การวิ่ง ตูนแสดงให้เห็นว่าการข้ามกำแพงขีดจำกัดที่สูงลิ่วอย่างการวิ่งจากใต้สุดสู่เหนือสุดของประเทศไทย ภายในเวลา 55 วัน (พร้อมเซลฟี่กับผู้คนตลอดสองข้างทาง) นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ความพร้อมของร่างกาย จิตใจที่มุ่งมั่น และการคิดถึงความฝันที่ยิ่งใหญ่บนจุดหมายปลายทาง คือพลังที่ขับเคลื่อนตูนมาไกลจนถึงวันนี้

ในแง่สังคม ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนไทยพร้อมใจกันพูดถึงปัญหาสาธารณสุขมากเท่านี้ ก้าวคนละก้าวทำให้เรื่องนี้ป๊อปขึ้นในสังคม ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาลได้รับความสนใจ สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา

3 ธันวาคม ตูนและชาวก้าวคนละก้าววิ่งมาถึงกรุงเทพฯ มีคนออกมาต้อนรับแน่นขนัด นอกจากจะมีนักวิ่งสมัครเล่น และศิลปินดาราในวงการบันเทิงออกมาร่วมวิ่ง ยังมีทีมงาน NRC BKK ของ Nike Thailand มาร่วมสนับสนุนการวิ่ง จัดขบวนป้องกันตูนและคณะตลอดระยะทางวิ่งในเซ็ตท้ายๆ ราว 8 กิโลเมตร (ทีม a day บางคนไปร่วมวิ่งในขบวนนี้ด้วย)

ทีมงานพักที่กรุงเทพฯ 2 วัน ระหว่างนั้นเรามีโอกาสได้คุยกับตูน ที่โรงแรม Pullman ซอยรางน้ำ แม้จะเป็นเพียงการพูดคุยสั้นๆ แต่ก็เป็นช่วงเวลาการสัมภาษณ์ที่น่าประทับใจ

ตูนเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการพูดถึงพลังที่ขับเคลื่อนตัวเขาจนวิ่งผ่านมาได้กว่าหนึ่งพันกิโลเมตร สิ่งที่เขาคิดเสมอไม่ว่าจะเจออุปสรรคในรูปแบบไหน คือการคิดถึงเป้าหมายปลายทางว่าทำโครงการนี้ไปทำไม ตูนทำเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล ชวนให้สังคมสนใจการขาดแคลนปัญหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ และกระตุ้นให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ถ้าคนสุขภาพดี ก็จะแบ่งเบาภาระหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล ได้มากขึ้น

เรื่องที่น่าสนใจคือ ตูนไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังวิ่ง แต่กำลัง ‘สื่อสาร’ เป้าหมายของโครงการ เขาเล่าว่าในการวิ่งบางเซ็ต ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ถ้าวิ่งด้วยความเร็วแบบจ๊อกกิ้ง อาจจะใช้เวลาชั่วโมงเศษๆ แต่วันนั้นเขาใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง ไปกับการเซลฟี่และพูดคุยกับคนที่ออกมายืนต้อนรับ และรับเงินบริจาคแบบถึงมือ

การหยุดทุกครั้งของตูนก็คือการสื่อสาร แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการคุยกันนาน แต่ในภาพรวม ประเด็นที่ตูนต้องการสื่อได้ถูกกระตุ้นในทุกพื้นที่ที่ขบวนก้าวคนละก้าวผ่าน เขาจึงยินดีพบปะผู้คนระหว่างทาง แม้ว่าจะแลกกับการใช้เวลามากขึ้น รวมถึงอาการบาดเจ็บที่มากขึ้นด้วย

ก่อนสัมภาษณ์ตูน เราได้คุยกับทีมงานก้าวคนละก้าวบางส่วน และเพิ่งรู้ว่าอาการบาดเจ็บของตูนและคณะนักวิ่ง ส่วนมากเกิดจากการถูกเหยียบโดยไม่ตั้งใจ บางวันทีมแพทย์กายภาพฯ ต้องดูแลนิ้วเท้ามากกว่ากล้ามเนื้อขา

บางวัน เราเห็นตูนล้ม จากคลื่นมหาชนที่เข้ามาหาโดยไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง ตูนและคณะนักวิ่งต้องพักบ่อยขึ้นกว่าที่ตั้งใจไว้ เมื่อพักบ่อยเข้า ในโซเชียลมีเดียจึงเริ่มพูดถึงการวิ่งของตูนว่าอาจจะไม่จบอย่างที่เขาตั้งใจ

เราถามคำถามนี้ ตูนตอบว่า การวิ่งให้จบเป็นความสำเร็จส่วนตัว แต่การช่วยเหลือโรงพยาบาลคือความสำเร็จที่เขาให้ความสำคัญมากกว่า

“ผมคิดอยู่เสมอว่ามีโอกาสที่จะบาดเจ็บ จนเราไม่สามารถไปต่อให้จบระยะที่ตั้งใจ คิดอยู่เสมอว่าเราไม่ใช่นักกีฬาอาชีพที่ฝึกซ้อมมาอย่างเพียงพอและถูกต้อง การวิ่งครั้งนี้ในมุมหนึ่งก็เป็นเหมือนความมุ่งมั่นส่วนตัวที่จะทำให้ได้ อยากเป็นคนไทยคนแรกที่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการว่าวิ่งจากใต้สุดไปเหนือสุดได้สำเร็จ เป็นมุมที่เราสนุกกับมัน ท้าทายตัวเอง อยากจะพิชิต”

“แต่ในอีกเหตุและผลหนึ่งที่เราออกวิ่ง และเป็นเหตุผลหลัก คือเราอยากเล่าเรื่องและนำความช่วยเหลือไปให้โรงพยาบาล ซึ่งไม่ว่าจะวิ่งจบหรือไม่ อย่างน้อยมีคนรู้ มีคนออกมาช่วยกันบ้างแล้ว อย่างตอนนี้เรามีเงิน 500 กว่าล้านบาท ที่จะแบ่งให้กับ 11 โรงพยาบาล ใช้สานต่องานที่เราทำ การจะวิ่งจบหรือไม่ เป็นสาระสำคัญของผม ถ้าทำไม่ได้อาจจะรู้สึกเสียใจ เพราะมันเป็นโอกาสเดียวที่จะทำได้ ผมคงไม่ทำมันอีก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วคือ เรื่องโรงพยาบาลได้ถูกบอกต่อ มีคนรู้สึก ช่วยกัน แล้วมีชีวิตที่กำลังถูกช่วยจริงๆ ผมถือว่า ไม่ว่าผมจะวิ่งจบหรือไม่จบ ความสำเร็จมันได้เกิดขึ้นแล้ว ความสำเร็จส่วนตัวของผมก็ยังรักษามันไว้อยู่ มันเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมออกมาทำกิจกรรมนี้ด้วยวิธีนี้”

การวิ่งจากใต้สุดสู่เหนือสุดของตูนมีข้อจำกัดมากมาย ข้อหนึ่งคือเขาไม่สามารถวิ่งผ่านทุกจังหวัดได้ สิ่งที่เขาเองก็คาดไม่ถึงคือ มีคนออกมาวิ่งเพื่อรับเงินบริจาค สมทบส่งต่อให้โครงการนี้อีกที บนเส้นทางที่เขาไม่ได้ผ่าน บางคนเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น เชษฐ์-วรเชษฐ เอมเปีย อดีตมือกลองวง Smile Buffalo บางคนเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ข้าราชการ พนักงานบริษัท พลังเหล่านี้คือหนึ่งในความสำเร็จที่น่าชื่นชม

“ไม่ใช่เฉพาะพี่พิเชษฐ สไมล์บัฟฟาโล มีน้องๆ จากโรงเรียนในจังหวัดที่เราไม่ได้ผ่านหลายคนใส่หน้ากากพี่ตูนไปวิ่งในอำเภอ ก็ได้รับเงินบริจาคหลายหมื่นบาท ผมมองว่าตรงนี้เป็นหนึ่งในวิธีการที่หลายคนจะร่วมด้วยกับโครงการนี้ เห็นด้วยกับโครงการนี้ หลายคนวิ่งไม่ได้ บางคนขายของ ขายก๋วยเตี๋ยว ขายขนม 2 -3 วันที่แล้วผมเคยได้รับเงินจำนวนหนึ่ง เขาบอกว่าส่งเงินมาช่วยเหลือ เป็นกำไรจากการขายของเมื่อวาน เอามาให้หมดเลย แต่ละคนมีวิธีการของตัวเอง ไม่ได้ใช้การวิ่งอย่างเดียว”

ตูนยังยกตัวอย่างเด็กที่เอาเงินในกระปุกมาให้ แม้น้องๆ จะไม่มีเงินเก็บ เผลอๆ จะเป็นเงินทั้งหมดที่เขามี การให้ของน้อง เราไม่ได้แค่เงิน แต่ยังเป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธ์ุแห่งการให้กับเยาวชน เรื่องนี้ยิ่งใหญ่กว่าจำนวนเงิน เพราะมันคือการสร้างอนาคต ทำให้ประเทศมีความหวังยิ่งขึ้น

โครงการก้าวคนละก้าวมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ก็เป็นธรรมดาที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นหลักๆ คือการวิ่งของตูนน่าชื่นชมก็จริง แต่มันทำให้เราไม่ได้มองเห็นปัญหาที่แท้จริงว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อุปกรณ์ในโรงพยาบาลขาดแคลน ทำไมนโยบายสาธารณสุขของประเทศจึงไม่สำเร็จ ทำไมความเหลื่อมล้ำถึงยังเกิดขึ้นอยู่ ปัญหานี้ได้รับการพูดถึงน้อยเกินไป เพราะคนมัวแต่สนใจการวิ่งจนไม่ได้มองเห็นปัญหาที่แท้จริง

ตูนยอมรับว่า เขาเองไม่ได้มีความรู้ด้านสาธารณสุขมาก การออกมาวิ่งก็เพราะคิดว่า เขาอยากใช้ต้นทุนที่ตัวเองมีเพื่อช่วยเหลือสังคม ต้นทุนที่ว่าก็คือชื่อเสียงและร่างกาย ทำให้สื่อสารปัญหาในสังคมออกไปได้ไกลกว่าเดิม

“ผมไม่ค่อยได้ดูโซเชียลมีเดีย ไม่รู้หรอกว่าเขาพูดอะไร สื่อสารอะไร ผมเป็นคนที่คิดเยอะเหมือนกัน จิตตกง่าย มีอะไรมากระแทกใจนิดเดียวไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็มักจะเสียใจ” นักร้องหนุ่มเล่า

“ส่วนตัวแล้ว ผมเคารพทุกความเห็น ทุกคำวิจารณ์ ผมแค่อยากจะบอกว่า อยากใช้เสียงที่เรามีให้เป็นประโยชน์ หลายคนมีเงินเยอะ ก็มาบริจาคเยอะ แต่ผมไม่ได้มีเยอะ สิ่งที่ผมสามารถช่วยได้ ทำได้ดี น่าจะเป็นการที่เราสามารถสื่อสารกับผู้คนได้มาก คุยกับคนที่น่าจะได้ยินเสียงของเรา ขอใช้โอกาสที่มีออกมาเล่าเรื่องของโรงพยาบาลว่าสถานการณ์แต่ละแห่งเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือแบบใด ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นสิทธิของเขา”

“มันเป็นโครงการที่เราไม่มีสิทธิ์บังคับเขา คนเห็นด้วยก็จะช่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเต็มใจ ในขณะที่เรานั่งวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ว่าวิธีการไหนจะถูกต้อง เหมาะสม เราคุยกันบนโต๊ะ เถียงกันบนจอคอมพิวเตอร์ แต่ตอนที่เราเถียงกันอยู่ มีคนป่วยที่นอนรอความตายอยู่จริงๆ ต่อคิวรอเครื่องมือสักเครื่องในโรงพยาบาล ผมไม่รู้ว่าโครงการที่เราทำไป สุดท้ายจะไปช่วยใครมากน้อยแค่ไหนได้บ้าง ไม่รู้จริงๆ ไม่ได้บอกว่าวิธีการของผมจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่เรามาลองกันดูมั้ย ว่าเราทำอะไรได้บ้าง”

“ผมไม่ใช่คนมีความรู้สาธารณสุข ไม่มีเลย เป็นศูนย์ แต่สิ่งที่ผมมีคือความรู้สึกว่า น่าจะต้องขยับ น่าจะต้องลองทำอะไรบางอย่าง ไม่รู้หรอกว่าปลายทางสุดท้ายจะเป็นยังไง แต่เท่าที่มีตอนนี้ เท่าที่เห็นก็ขอบคุณมากที่หลายๆ คนออกมาร่วมกันในส่วนที่ตัวเองทำได้ บางคนมีร้อยก็ให้ร้อย มีล้านก็ให้ล้าน มันทำให้เห็นว่าคนไทยใจดีมีอยู่ทุกที่” ตูนเล่า

วันที่เราเผยแพร่บทความนี้ ตูนคงวิ่งเกินครึ่งทางแล้ว ในฐานะที่รู้จักกัน เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ ตั้งแต่โครงการก้าวครั้งแรกที่อำเภอบางสะพาน เราไม่มีคำถามเลยว่าเขาจะวิ่งจบหรือไม่

“วิ่งครั้งนี้ใช้เสียงมากกว่าตอนร้องเพลงอีก” ตูนเล่าติดตลก

เพราะเขาไม่ได้วิ่งอย่างเดียว แต่ตูนกำลังสื่อสารกับสังคมด้วยเสียงที่เขามี

และเราคิดว่านี่คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้วกับโครงการก้าวข้ามขีดจำกัดด้วยการวิ่งเพื่อคนอื่นครั้งนี้

.

ขอบคุณ Nike Thailand เอื้อเฟื้อข้อมูลประกอบการสัมภาษณ์

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR