วิ่งเพื่อลืมความผิดหวัง : ชีวิตนอกจอของ ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ผู้ชายที่ชวนทุกคนออกวิ่งสู่ชีวิตใหม่

ช่วงเวลาเช้ามืดที่เรานัดเจอ
นง-ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ นักแสดงและช่างภาพวัย 57 ปี ที่สวนลุมพินี

เช้าวันนั้นต้อนรับเราด้วยฝนตกหนัก ไม่ผิดจากพยากรณ์อากาศที่ดูล่วงหน้าเมื่อสองวันที่แล้ว

เรามาถึงจุดนัดพบไม่นาน ทนงศักดิ์ยังคงวิ่งท่ามกลางสายฝนผ่านหน้าเราไป เขาโบกมือทักรับรู้ว่าเรามาถึงที่แล้ว

คุณไม่ได้อ่านผิด ทนงศักดิ์กำลังวิ่งฝ่าฝนตั้งแต่เช้าจรดสายของวัน เขาบอกเราว่าแม้ฝนจะตกแต่ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ตัวเองหยุดวิ่ง

เรานั่งกางร่มรอเขาบริเวณที่นักวิ่งมักเรียกกันว่าโค้งตาหวาน เขาวิ่งผ่านไปรอบแล้วรอบเล่า ช่วงสาย ฝนใกล้หยุดตกแล้ว เราลุกขึ้นรอทนงศักดิ์ที่กำลังเดินดุ่มเข้ามาหา จากการสังเกต เขาดูอ่อนกว่าวัย 57 ถ้าบอกว่าเขาอายุ 40 ปี แน่นอนว่าเราจะเชื่อ

คนมักคุ้นกับทนงศักดิ์ในบทบาทนักแสดงที่เล่นละครมาแล้วกว่าร้อยเรื่อง และผลงานภาพถ่ายในฐานะช่างถ่ายภาพมืออาชีพแห่งนิตยสารพลอยแกมเพชร

เขาเป็นนักแสดงมาทั้งชีวิต ที่เพิ่มเติมมาในช่วงปีหลังๆ คือบทบาทนักวิ่งฝีเท้าอึด นักวิ่งที่วิ่งเพื่อตระหนักถึงการมีลมหายใจและการใช้ชีวิตอยู่ นอกจากการวิ่งเป็นประจำทุกวันจนเห็นผลที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ เขายังเป็นนักเชิญชวนให้คนรอบตัวออกวิ่ง วิ่งเพื่อลบเลือนความเศร้าหมอง วิ่งเพื่อลืมความเจ็บปวด และก้าวสู่ชีวิตใหม่ที่รออยู่ในทุกย่างก้าวถัดไป

ทนงศักดิ์เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ริเริ่มแคมเปญที่เป็นกระแสอย่าง ‘Bogie 99 running challenge’เพื่อชักชวนคนจำนวน 99 คนมาวิ่งต่อกันเป็นขบวนรถไฟแล้วท้าคนให้ทำต่อ ซึ่งถ้าไม่สำเร็จต้องบริจาคเงินจำนวน 1,000 บาทเพื่อนำไปช่วยองค์กรการกุศล และเป็นโต้โผจัด ‘วิ่งสู่ชีวิตใหม่’ กิจกรรมการวิ่งพ่วงท้ายด้วยการดูหนังเรื่อง
รัก 7 ปี ดี 7 หน อย่างต่อเนื่อง เมื่อปีที่แล้ว เขาและรุ่นน้องที่รู้จักชักชวนคนออกมาวิ่งซึ่งมีคนออกมาสมทบตั้งแต่ต้นทางที่สวนลุมพินีไปจนถึงปลายทางที่โรงพยาบาลศิริราชร่วม 700 คน

รวมๆ แล้ว เรียกง่ายๆ ว่าเขาเป็นหนึ่งในคนที่รณรงค์ให้ทุกคนรักษาสุขภาพกาย จิตใจ และสังคม ให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน

ทำไมผู้ชายคนนี้หลงรักการวิ่ง ทำไมเขาถึงสนับสนุนการวิ่ง ทำไมเขาถึงใช้การวิ่งเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือคนอื่น เรารอให้เขาหายเหนื่อยจากการวิ่งแล้วเริ่มบทสนทนาที่คำตอบเต็มไปด้วยเหตุผลที่มีคนอื่นเป็นส่วนสำคัญ

จุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้คุณเริ่มต้นออกวิ่งคืออะไร
ตอนนั้นผมอายุ 30 ปี เกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าแรงสูงดูด เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มองเห็นว่าสุขภาพสำคัญ มือเกือบโดนตัด หมอคนหนึ่งให้ตัดออก แต่หมออีกคนอยากให้เก็บไว้ รู้สึกหดหู่มาก

หลังจากผ่าตัด ผมอาบน้ำไม่ได้ ต้องเช็ดตัวตลอด วันหนึ่งเมื่อแผลดีขึ้น หมอบอกว่าคุณทนงศักดิ์วันนี้อาบน้ำได้แล้วนะ เราเข้าไปอาบน้ำ วินาทีที่น้ำจากฝักบัวสาดเข้ามาที่ร่างกาย เฮ้ย นี่คือความสุข มันไม่ได้อยู่ไกล นี่ไง ความสุขอยู่รอบตัวเรา ตอนมือปกติ เราไม่เคยรู้สึกถึงคุณค่า มองแต่เรื่องของนอกกาย แต่วันหนึ่งเมื่อมือใช้การไม่ได้ เราขอแค่ให้มันกลับมาใช้ได้เหอะ แค่นี้เพียงพอกับชีวิตที่เหลืออยู่ของเราแล้ว

ตอนอยู่ในโรงพยาบาลเราเห็นสุขภาพของคนไข้แต่ละคน ช่วงหนึ่งปีในโรงพยาบาล 6 เดือนแรกนอนรักษาตัว อีก 6 เดือนต่อมาทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นมือยังแทบจะใช้การไม่ได้ แต่เราสู้ อดทนทำกายภาพจนมือกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

เราได้รู้เลยว่าชีวิตนั้นไม่จีรัง เรารู้สึกว่าความตายน่าหวาดกลัว หลังผ่าตัดตื่นขึ้นมาเราลืมตา ทำไมมองไม่เห็น นึกว่าตัวเองตายไปแล้ว เรากลัวมาก คิดว่าหรือว่าเราตายไปแล้ว สักพักหนึ่งสายตากลับมาใช้ได้ หายใจเฮือกใหญ่ เฮ้ย เรายังไม่ตาย

เหตุการณ์เฉียดตายครั้งนั้นให้บทเรียนอะไรกับคุณบ้าง
เรารู้สึกเลยว่าความตายน่ากลัวมากเพราะเราไม่เคยเตรียมตัวเผชิญหน้ากับมัน กลัวเพราะความไม่รู้ เราเลยเริ่มเรียนรู้ว่าต้องพร้อมที่จะตาย ต้องทำความดีให้เพียงพอที่จะสบายใจว่าเราได้ฝากอะไรไว้บนโลกใบนี้ เราเรียนรู้ว่าจริงๆ ความตายไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นความสมบูรณ์แบบของการมีชีวิตอยู่ คนเรากำหนดไม่ได้หรอกว่าชีวิตจะจบลงวันไหน แต่ผมเตรียมพร้อมให้กับความตายทุกวัน เหมือนการเตรียมตัววิ่งเพื่อให้พร้อมลงสนามมาราธอนตลอดเวลา ถ้าวันนี้เขาเรียกให้เราไปวิ่งก็วิ่งได้เลย เพราะฉันสร้างความพร้อมให้กับตัวเองเสมอ

มีเหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังแล้วลุกขึ้นมาวิ่งอย่างจริงจัง
พอภรรยาป่วยเป็นมะเร็งนาน 3 ปี ผมเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยมากเพราะต้องพาเขาไปรักษา เราเห็นภรรยาอายุ 40 ปีป่วย เห็นคนแก่ แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ อายุ 3 ขวบยังเจ็บป่วยด้วยโรคหนักๆ เพราะฉะนั้นการเจ็บป่วยเป็นได้ทุกช่วงวัย การเกิดโรคภัยจากสาเหตุที่ระบุไม่ได้ผมยอมรับได้นะ แต่อะไรที่เราควบคุมได้ เช่น โรคอ้วนหรือความดันโลหิต ทำไมไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตตัวเองล่ะ

ตอนนั้นคิดโครงการ วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปดอยตุง ใช้เวลาออกวิ่งร่วม 1 เดือน มีคนถามว่าเราทำได้ยังไง บางคนคิดว่าบ้าหรือเปล่า มันยากหรือเปล่า ไม่ว่าคนจะมองยังไง ผมอยากบอกว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญและผมยินดีที่จะแบ่งปันเรื่องนี้ อย่ารอให้ถึงวันที่ทุกอย่างสายเกินแก้ไข

ช่วงท้ายก่อนภรรยาคนแรกจากไป ผมพาเขามารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตอนเช้าพอส่งลูกไปโรงเรียนเรียบร้อย ขณะที่ภรรยายังหลับอยู่ ผมจะออกมาวิ่งที่สวนลุมฯ ทุกวันที่เราออกไปวิ่ง ตอนตีสามผมจะเห็นสภาพคนป่วยมารอรับการตรวจ หลายคนบอกว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่พอคุณป่วย ทำไมถึงมีเวลามานั่งรอกันทั้งวันแบบนี้ล่ะ เพราะคุณยอมจำนนไง แต่ตอนไม่ป่วยทำไมไม่แบ่งเอาเวลาสักหนึ่งชั่วโมงของแต่ละวันมาออกกำลัง พอตอนนี้คิดได้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นผมขอบคุณความเจ็บปวดที่ผ่านมาทุกเรื่องเพราะมันทำให้ผมมีวันนี้

ชีวิตคนเราอยู่นิ่งเพื่อพักผ่อนก็ได้ แต่ทำไมคุณถึงออกวิ่งอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
เพราะชีวิตของผมถูกบ่มเพาะมาแบบนี้ ผมชอบวิ่งตั้งแต่เด็ก สวนลุมพินีเป็นที่ที่เรามาวิ่งตั้งแต่ประถมฯ วิ่งออกมาจากบ้านแถวบางรัก จนช่วงมัธยมฯ ผมเรียนลูกเสือ มีการเดินทางไกลแข่งกับหมู่อื่น เราอยากชนะเลยพาเพื่อนมาซ้อมวิ่งด้วยกัน จนกระทั่งสมัยทำงานมาวิ่งออกกำลังกาย สมัยก่อนวิ่งไปและกลับจากสามย่านถึงหัวลำโพงทุกวัน บางทีวิ่งแข่งกับรถเมล์ รู้สึกชอบเอาชนะรถพวกนี้ คิดว่าต้องวิ่งแซงให้ได้

จริงๆ ผมอยู่ตรงไหนก็จะวิ่งตรงนั้น เป็นคนที่วิ่งได้ทุกที่ แต่ถ้ามาสวนลุมฯ จะมีคนรู้จักมาวิ่งเยอะ เราจะวิ่งกับใครก็ได้ เราคุยกับสังคมคนวิ่งได้ทุกเรื่อง

ปกติวิ่งวันละกี่กิโลเมตร
อย่างน้อยสัก 10 กิโลเมตร อาจจะ 20 – 30 กิโลเมตรแล้วแต่วันและเวลา บางครั้งตั้งใจวิ่ง 15 กิโลเมตร แต่เมื่อเจอเพื่อนคุยกันเพลินยาวเป็น 25 กิโลฯ ตอนนี้ผมไม่ได้วิ่งเพื่อตัวเองอย่างเดียวแล้ว ผมวิ่งกับคนอื่นเพื่อคุยกับเขา เขาอยากคุยอะไรกับเรา เราอยากคุยอะไรกับเขา แล้วถ่ายทอดกำลังใจเมื่อวิ่งร่วมทางไปด้วยกัน

นอกจากจะวิ่งด้วยตัวเองแล้ว ได้ยินว่าคนในครอบครัวคุณออกมาวิ่งด้วยกันทุกคน
ที่บ้านผมวิ่งกันทุกคน ลูกสามคนและภรรยา ล่าสุดภรรยาเพิ่งจบมาราธอนที่เบอร์ลิน ลูกชายคนโตวิ่งมาราธอนหลายงานแล้ว ส่วนคนกลาง สัปดาห์นี้จะไปวิ่ง 50 กิโลเมตร เดือนหน้าเขามีวิ่ง 100 กิโลเมตร และคนเล็กก็ออกวิ่งอยู่เรื่อยๆ

เริ่มวิ่งกันทั้งบ้านตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่ช่วงการวิ่งบูม ผมวิ่งแล้วสอนคนในครอบครัว บอกลูกเสมอว่าการวิ่งเป็นพื้นฐานของกีฬาทุกประเภท เขาเห็นผมไปงานเลี้ยงรุ่น ได้เจอเพื่อนของผม แล้วตั้งคำถามว่าทำไมเพื่อนพ่อดูคนละรุ่นกันเลย แต่ละคนอ้วนและบางคนฟันหลอ เขาเปรียบกับร่างกายผมแล้วเห็นสังขารคนแก่ที่แท้จริงเลยอยากมาวิ่งบ้าง เขาเห็นเราวิ่งมาตั้งนานแล้ว ผมทั้งวิ่งและยังทำงานได้ เป็นการปลูกฝังโดยปฏิบัติให้เขาเห็นอยู่เสมอ

ลูกรู้สึกว่าถ้าเขามีเพื่อนที่อยากเริ่มวิ่ง เขาจะคิดถึงผม แล้วบอกเพื่อนว่าถ้าวิ่งต้องมาถามพ่อกูเว้ย เด็กๆ จะสมัครวิ่งแล้วนัดกันมาซ้อม ผมบอกลูกว่าเพื่อนกลุ่มไหนที่ผิดหวังเรื่องเรียน หน้าที่การงาน และความรัก ให้ชวนเขาออกมาวิ่งเลย

การวิ่งช่วยช่วยเยียวยาจิตใจคนเราได้ยังไง
การวิ่งทำให้หายจากโรคซึมเศร้าได้เพราะคุณได้เห็นสังคม ส่วนมากเวลาเราเจ็บปวดมักอยู่กับตัวเอง เรามองแต่เรื่องตัวเองจนเรามองไม่เห็นคนอื่น คุณว่าโลกนี้ช่างโหดร้าย แต่ลองออกมามองคนรอบๆ ตัวสิ ทุกคนเจ็บปวดกันทั้งนั้น อย่างน้อยการพูดคุยกันจะทำให้คุณลืมเรื่องตรงนั้นไปได้

สำหรับผมการวิ่งคือการขัดเกลาจิตใจ การวิ่งเป็นวินาทีที่คุณอยู่กับตัวเอง คุยกับตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่เราได้ชำระล้างจิตใจได้ดีที่สุด คนเราล้างมือบ่อย อาบน้ำบ่อย และแปรงฟันบ่อย แต่ไม่เคยล้างใจ ชอบหมักหมมเก็บทุกเรื่องไว้ เราจำเป็นต้องล้างเรื่องไม่ดีออกไปอยู่เสมอ เมื่อใจสะอาดเราจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ได้มากกว่าเดิม ผมอยากชวนคนออกมาวิ่งเพราะได้ส่งต่อความสุขจากการวิ่งให้ทุกคน คุณอาจพบว่าทั้งชีวิตไม่เก่งเรื่องอื่นเลย แต่เรื่องวิ่งอาจทำได้ดีก็ได้นะ

ทำไมถึงอยากแนะนำให้ทุกคนก้าวเท้าออกมาวิ่ง
บางคนไม่เคยวิ่ง ผมแนะนำให้เขาก้าวออกมาจากพื้นที่เดิมๆ ทำให้เขาได้มาสังสรรค์กัน เปลี่ยนรูปแบบการเจอกันระหว่างเพื่อนนักวิ่ง การเจอกันไม่ได้มีทางเลือกของการดื่มเหล้าเฮฮาอย่างเดียว แต่มาเจอกันตอนเช้าตีสี่ เพื่อมาซ้อมวิ่งกันแล้วแยกย้ายกลับไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก็ได้

บางคนออกมาวิ่งจนติดใจ ผมถามเพื่อนว่าไม่เคยคิดเลยใช่ไหมว่าพวกเราจะรักการวิ่งมากขนาดนี้

ถ้าเราไม่วิ่ง เราไม่มีวันเข้าใจมิติของคนวิ่งหรอกว่ารู้สึกยังไง คุณต้องลองออกมารับรู้ถึงคุณค่า ถ้าเราไม่ทำ เราก็พูดแบบเข้าใจได้ในระดับเดียวเท่านั้น

เสน่ห์ของการวิ่งคืออะไร
กีฬาวิ่ง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยหรือคนจน คุณจะเป็นแชมป์หรือเป็นขี้แพ้ แต่คุณต้องวิ่งบนสนามและอุปสรรคเดียวกัน เพราะฉะนั้นสนามวิ่งคือสัมพันธภาพระหว่างคนที่แข่งขัน ทุกคนแข่งขันกับตัวเอง คนอื่นเป็นเพื่อนร่วมทาง ช่วยเค้นศักยภาพตัวเองออกมา ดึงพลังตัวเองออกมาให้มากที่สุด ถ้ามีใครสักคนหกล้มแล้วมีคนกลับมาช่วย ยอมหยุดการแข่งขันของตัวเองและประคองคนบาดเจ็บเข้าเส้นชัย คนจะจำคนที่ช่วยคนอื่นได้ เขาไม่ได้จดจำคนที่ได้ที่หนึ่งนะ เรื่องแบบนี้สำคัญเพราะสะท้อนว่ามนุษย์ยังเป็นมนุษย์และยังเห็นอกเห็นใจกันอยู่

นอกจากการวิ่งเพื่อสุขภาพ ขั้นกว่าของการวิ่งแบบนี้คืออะไร
คนออกวิ่ง อาจอยากวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างเดียว แต่พอมาวิ่งบ่อยเข้าแล้วมีบางอย่างเปลี่ยน เช่น คนที่มาวิ่งเพื่อลดความอ้วน เกิดความคิดว่าอยากวิ่งให้ดีขึ้น นี่คือเปลี่ยนแล้วนะเพราะคุณรู้ตัวแล้วว่าฉันชอบวิ่ง ฉันได้ใส่เสื้อผ้าที่กระฉับกระเฉงกว่าเดิม ฉันมีความสุขและเห็นคุณค่าในตัวเอง

อีกกรณีหนึ่งมีคนที่พูดเสมอว่าฉันอยากลดความอ้วน พูดมา 5 ปี แต่ไม่เคยทำ คุณต้องหยุดกินก่อนสิเพราะคุณมีความสุขระยะสั้น ไม่ได้มีความสุขระยะยาว คุณลงทุนระยะยาวไม่เป็น ฉันอยากได้แต่ไม่มีความอดทน เพราะฉะนั้นมาราธอนจะสอนให้คุณมีความอดทนที่จะได้มา เหมือนชีวิตคนเรา ชีวิตที่ประสบความสำเร็จเมื่ออายุ 40 ปีใครๆ ก็ทำได้ แต่จะประคองอยู่ได้ตลอดชีวิตยังไงถ้าคุณไม่รักษาสุขภาพ สุดท้ายชีวิตล้มเหลวเพราะเป็นโรค ล้มเหลวเพราะคุณลืมนึกไปว่าทุกอย่างต้องแลกเพื่อจะได้อีกอย่างกลับมา

เราได้ยินมาว่าคุณใช้การวิ่งเพื่อขับเคลื่อนสังคมด้วย คุณทำอะไรบ้าง
ผมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระหว่างทางที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มออกมาออกกำลังกาย เริ่มมีทัศนคติที่ดี ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 3 – 6 เดือน ใครทำกิจกรรมเรื่องวิ่งก็ยินดีไปช่วย ช่วยกันส่งเสริม ไม่ต้องจ้างเลยเพราะยินดี ขอบคุณ a day มากที่ทำนิตยสารเล่มวิ่งแล้วเอาตูน Bodyslam ขึ้นปก จัดงานวิ่ง Human Run เป็นประจำทุกปี เพิ่มกลุ่มคนที่เข้ามาวิ่งซึ่งเป็นกลุ่มแฟนๆ ของอะเดย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณผูกพันกับงานวิ่ง Human Run ยังไงบ้าง
ปีแรกไปร่วมวิ่งระยะทาง 21 กิโลเมตร ปีที่สองเป็นพิธีกรงาน ส่วนปีที่สามก็เริ่มทำเพซเซอร์ (Pacer) แต่ว่าเพซเซอร์ปีนี้จะแตกต่างจากที่อื่น ใครอยากเป็นก็สมัครเข้ามาแล้วเราต้องคัดเลือกกันอีกที

บทบาทการเป็นเพซเซอร์สำหรับผมมีสองส่วน คือเป็นเพซเซอร์แบบนาฬิกาสนามให้คนที่วิ่งด้วยได้รู้ว่า ถึงจุดนี้ เวลาเท่านี้แล้ว ถ้าจะทำเวลาต้องวิ่งด้วยความเร็วแบบไหน อีกความหมายหนึ่งคือการเป็นคนพานักวิ่งหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยการวิ่งแต่ละระยะ ให้มาวิ่งจนจบการแข่งขันตามเวลาที่เขาตั้งใจ ใช้ศักยภาพในร่างกายอย่างถูกต้องที่สุด อธิบายความหมายให้ชัดเจนว่าเขาต้องตามเราเพราะอะไร เราต้องคอยเกลี่ยพลังงานของคนวิ่งให้ดี

เพซเซอร์คือผู้ที่เสียสละมานำทาง เพราะเพซเซอร์จะควบคุมการวิ่งได้ดี การเสียสละไม่ใช่แค่การไปวิ่งนำคนอื่น มันต้องเสียสละทุกอย่างเท่าที่เราทำได้ การให้ต้องไม่หวังผล เราหวังแค่เห็นเขามีความสุขก็จบ ถึงแม้ว่าผมพาคุณเข้าเส้นชัยเรียบร้อย คุณจะไม่ขอบคุณผมสักคำก็โอเคเพราะเราตั้งใจให้แต่แรก มันจบตั้งแต่ให้แล้วเพราะเรามีความสุขไง ผมไม่ต้องการอะไรแล้ว

ในการวิ่งจำเป็นต้องมีเพซเซอร์ด้วยเหรอ
จำเป็น เพราะในสนามแข่งขันมีตัวปลุกเร้าเยอะมาก คนวิ่งอาจเจออะไรที่ตื่นตาตื่นใจ เราต้องบอกเขาว่าอย่างเพิ่งรีบร้อน หลักการคือต้องมีการแบ่งเวลาวิ่ง ใช้เวลาวิ่งครึ่งแรกมากกว่าครึ่งหลัง คนส่วนใหญ่รู้ดีแต่ทำยากเพราะคุ้นเคยกับการวิ่งเร็วๆ ตั้งแต่ออกตัว แต่ความจริงเราควรช้าก่อน แล้วพอพ้น 14 – 17 กิโล คุณวิ่งไปเลยเพราะผมคุมเวลาและระยะทางให้แล้ว

นอกจากการวิ่ง ชีวิตคุณคาดหวังอะไรอีกบ้าง
ผมมีบ้านและมีหน้าที่การงานแล้ว เพราะฉะนั้นอยากเอาเวลาที่มีไปส่งต่อความสุขให้คนอื่นมากกว่า ไม่ได้อยากได้อะไรอีกแล้ว ผมไม่ได้มองว่ารถเบนซ์เป็นรถเบนซ์ ผมว่ามันคือรถธรรมดา ผมไม่ได้มองว่าโรเลกซ์คือโรเลกซ์ แต่มันคือนาฬิกาธรรมดา คุณค่าชีวิตที่เหลืออยู่ของผมคือการสร้างความสุขและความสำเร็จให้ชีวิตคนอื่น ผมเชื่อเรื่องการส่งต่อ ถ้าอยากตอบแทนกันเราต้องส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไป

“หลายคนบอกว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย

แต่พอคุณป่วย ทำไมถึงมีเวลามานั่งรอกันทั้งวันแบบนี้ล่ะ เพราะคุณยอมจำนนไง

แต่ตอนไม่ป่วยทำไมไม่แบ่งเอาเวลาสักหนึ่งชั่วโมงของแต่ละวันมาออกกำลัง พอตอนนี้คิดได้ก็สายไปเสียแล้ว

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR