ในวันที่ซีรีส์เกาหลีอย่าง The Glory ที่เล่าถึงการแก้แค้นของเหยื่อที่เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนกำลังได้รับความนิยมในบ้านเรา สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการใช้ความรุนแรงและการคุกคามยังคงเกิดขึ้นอยู่ แม้ในยุคสมัยที่หลายคนเริ่มตระหนักถึงการมีสิทธิเท่าเทียมกัน
ภายในเรื่องไม่ได้พูดถึงแค่การรังแกกันระหว่างนักเรียนสองฝ่ายเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อม คนรอบข้าง หรือแม้แต่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินและคุ้มครองเด็กที่เพิกเฉยความรุนแรงก็มีส่วนไม่น้อยในการหล่อหลอมให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้านี้
แต่นอกจากการกลั่นแกล้งระหว่างเด็กนักเรียนแล้ว ภายนอกรั้วโรงเรียนปัญหาความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผู้หญิง และมักถูกมองข้าม ไม่ต่างจากเหตุผลของการเพิกเฉยการกลั่นแกล้งในโรงเรียนว่า เป็นเรื่องที่ ‘เด็กๆ เล่นกัน’ จากสถิติทั่วโลกบอกว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกถูกกระทำความรุนแรงในชีวิต ขณะที่มีไม่ถึง 40% ที่ประสบการกระทำที่รุนแรงและร้องขอความช่วยเหลือ
สิ่งที่พอจะช่วยเยียวยาและหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเหยื่อได้จึงอาจหมายถึงการไม่ปล่อยผ่านเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นตรงหน้า และมีกระบวนการสอบสวนที่โปร่งใสและเอาจริงเอาจังกับปัญหาความรุนแรงเหล่านี้
เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแรกๆ ที่เริ่มมีแผนจริงจังกับการยุติความรุนแรงในมหาวิทยาลัย อย่างการจัดทำมาตรการการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และกำลังจะนำไปสู่การเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยในอนาคต
เราชวน รศ.โรจน์ คุณเอนก อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พ่วงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ที่นอกจากจะมีหน้าที่สนับสนุนนักศึกษาในด้านการเรียนแล้ว ยังดูแลเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย มาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงทางเพศในสถานศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นความสำคัญของความรุนแรงทางเพศ และวิธีการใดที่จะทำให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัยและได้รับการเยียวยา ก่อนไปหาคำตอบว่าความตระหนักรู้จะนำไปสู่การลงมือทำเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงทางเพศได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ อ.โรจน์ รอเราพร้อมคำตอบแล้ว
1
อ.โรจน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเห็นความสำคัญของความรุนแรงทางเพศว่ามาจากความเชื่อของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้วว่าจะเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ราษฎรทุกคนไม่ว่าชายหญิง รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยและความไม่เข้าใจทางเพศที่เกิดขึ้นในทุกสถาบันการศึกษามาตลอด ทำให้มหาวิทยาลัยเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดมาตรการป้องกันปัญหาเหล่านี้
ขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปถึงสาเหตุใดที่ทำให้ความรุนแรงส่วนใหญ่มักเกิดกับเพศหญิง อ.โรจน์ก็ให้มุมมองที่น่าสนใจว่าส่วนหนึ่งมาจากมุมมองและทัศนคติเชิงลบที่มีต่อเพศหญิงที่ส่งมาจากรุ่นสู่รุ่น นั่นจึงทำให้มายาคตินี้ยังคงอยู่ในสังคมไทย แม้ว่าปัจจุบันเรามักจะเห็นว่าเพศหญิงก็สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ต่างไปจากเพศชาย
“ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องสภาพสังคมในอดีต ที่คนยังไม่ได้เรียนมากเท่าไหร่นัก เพราะงั้นจะเห็นว่าสตรีเพศถูกกดขี่” อ.โรจน์เล่าถึงสาเหตุที่ผู้ได้รับความรุนแรงมักตกไปอยู่กับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
“ด้วยสายตาโลกในยุคเก่าเป็นแบบนั้น กำหนดให้หน้าที่ของสุภาพสตรีแบบนึง เห็นว่ามีสภาพร่างกายที่แข็งแรงไม่เท่าผู้ชายก็เลยให้หน้าที่ไปอีกแบบ อยู่บ้าน เลี้ยงดูลูก แต่ในโลกปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยน สุภาพสตรีก็ออกไปทำงานมากขึ้น จริงๆ แล้วก็เริ่มเห็นว่ามันเท่าเทียมกัน เพราะงั้นเรื่องเหล่านี้มันก็เลยเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผมว่ามันเปลี่ยนตามโลก ในสายตาของคนอดีตก็มองแบบนึง แล้วในยุคนี้ที่มันเปลี่ยนแปลงเร็ว คนเลยเปลี่ยนตามไม่ทัน เราถึงต้องค่อยๆ ช่วยกันให้ความรู้ ช่วยกันสร้างความตระหนัก”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ความรุนแรงทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะกับคนรุ่นก่อนๆ เท่านั้น ปัจจุบัน แม้ในสถานที่สถานศึกษาก็ยังเกิดการคุกคามและความรุนแรงกับเพศหญิงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังเป็นสถานที่ที่มีโครงสร้างเชิงอำนาจมาเกี่ยวข้อง นอกเหนือไปจากเพศแล้ว ยังรวมถึงสถานะอาจารย์กับลูกศิษย์ด้วย
“ประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมีหลากหลายมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) เช่น ระหว่างนักศึกษาและนักศึกษาด้วยกัน อาจารย์กับนักศึกษา” อาจารย์ธรรมศาสตร์อธิบายถึงลักษณะความรุนแรงที่มักเกิดในรั้วมหาวิทยาลัย
“อย่างเคสอาจารย์และลูกศิษย์ บางทีการแตะตัวโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้ยินยอมก็ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง บางทีก็เคยมีคดี เช่น อาจารย์ที่ปรึกษากับนักศึกษา หยิบข้าวของเอื้อมข้ามกันแล้วไปโดนเนื้อตัว ก็เป็นเรื่องร้องเรียน ซึ่งต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น
“บางทีก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเพศด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องที่ไปใช้งานเขาแล้วเอาผลงานไปใช้ ซึ่งก็เรื่องของการใช้อำนาจ ก็ถือว่าเป็นการคุกคามอย่างนึง หรือการทำอะไรในรูปแบบที่ก่อให้เกิดความอันตราย หรือกระทบกระเทือนทางจิตใจเขา อันนี้ก็ต้องระมัดระวังในความเปราะบาง
“หลายครั้งปัญหาเหล่านี้เกิดจากความเคยชิน หรือความที่ไม่เคยตระหนักว่าเรื่องนี้มันสำคัญ เจอใครก็ไปแซว ซึ่งการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งหลายต้องช่วยด้วย อย่างมหาวิทยาลัยเราก็มีวิชาเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เพื่อให้ความรู้ไม่ให้คนไปทำเรื่องเหล่านั้น แม้ว่าคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยทำมา แต่มันไม่ใช่ เพราะงั้นเรื่องอย่างนี้ก็ต้องค่อยๆ บอกเขา”
2
สิ่งสำคัญคือเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว กระบวนการสอบสวนต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและรวดเร็ว เพื่อเยียวยาเหยื่อและไม่ให้ผู้กระทำทำผิดซ้ำอีก
สิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำคือการเปิดช่องทางให้ร้องเรียน ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดูแลสภาพจิตใจ ไปพร้อมๆ กับการพยายามให้ความรู้กับผู้คนว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรโทษเหยื่อที่ลุกขึ้นมาส่งเสียงให้กับตัวเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการสอบสวนที่มีผู้เกี่ยวข้องหลากหลายฝ่ายเข้ามาอยู่ในกระบวนการด้วย
ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าการสอบสวนแต่ละครั้งมีความยุ่งยาก หลายขั้นตอน ทำให้กินเวลานาน รวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ร้องเรียนที่ต้องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งจนบอบช้ำ ปัจจุบันจึงมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ ให้รวดเร็วกว่าเดิม
“เดิมทีเรามีกรรมการชุดนึง เรียกว่ากรรมการการดูแลเรื่องการคุกคามทางเพศ ที่ทำหน้าที่สอบสวน แต่ผลปรากฏว่าพอสอบสวนตามข้อบังคับเสร็จ ก็ต้องเอาไปเข้ากรรมการสอบวินัยอีกรอบนึง เพราะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจ เลยต้องส่งไปให้อีกชุดนึงสอบ ชุดนั้นก็ต้องสอบใหม่อีก ถามว่าเอาผลสอบจากตรงนี้ไปเลยได้มั้ย ไม่ได้ เพราะผิดจากข้อบังคับ กลายเป็นต้องสอบสวน 2 รอบ เหยื่อก็แย่ สอบคนนู้นที สอบคนนี้ที มันก็เลยกลายเป็นว่าแทนที่เรื่องจะเร็ว กลายเป็นช้า
“ตอนนี้ก็เลยปรับใหม่ กรรมการสอบวินัยก็มีตั้งที่คณะเลย เกิดเรื่องที่ไหน ตั้งกรรมการที่คณะนั้นเลย แล้วก็ให้มีนักจิตวิทยาไปอยู่ด้วย มีทั้งคนที่รู้เรื่องว่าการคุกคามทางเพศ นักสิทธิให้อยู่ที่คณะ พอตั้งสอบสวนเสร็จก็ส่งผลมา เราก็ลงโทษเลย อันนี้สำหรับนักศึกษากับนักศึกษา ถ้าผิดวินัยเราส่งกองนิติการเลย กองนิติการเราก็ตั้งขึ้นมา โดยระบุว่าถ้าเป็นคดีแบบนี้ ต้องมีนักจิตวิทยาหรือกรรมการที่เกี่ยวข้องไปนั่งอยู่ด้วย นักสิทธิต่างๆ ทำให้กระบวนการมันเบ็ดเสร็จ รวดเร็วมากขึ้น
“กระบวนการที่รวดเร็วผมว่าสำคัญมากนะ ในขณะเดียวกันในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีคนดูแลโดยเฉพาะ อย่างการสอบสวนต้องมีคนคอยช่วยเราระวัง เช่น นักจิตวิทยา ผมว่ากระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใส และไม่ใช่คนคนเดียวตัดสิน มันต้องเป็นรูปแบบที่มีคนหลากหลาย เพื่อเวลาที่สังคมตั้งคำถาม จะได้ตอบได้ว่าไม่ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่คนเดียวนะ แต่นี่เป็นรูปกรรมการ และกรรมการชุดนี้ก็ไม่ได้เข้าข้างใดข้างหนึ่ง”
อ.โรจน์สรุปกับเราว่า ผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่รวดเร็วและยุติธรรม จะเป็นการเยียวยาเหยื่ออีกทางหนึ่ง เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีคนที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และคนทำผิดได้รับโทษจริง รวมถึงยังเป็นการยับยั้งไม่ให้คนทำผิดแบบนั้นอีก
“ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันคือการเยียวยา การที่มันรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าเรื่องร้ายในชีวิตผ่านไปเร็ว เพราะเหยื่อทุกคนจะบอกว่าไม่อยากให้คนแบบนี้ไปทำกับคนอื่นอีก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรีบจัดการให้มันรวดเร็ว ทำให้คนเห็นว่าจะทำอะไรก็ต้องยับยั้งชั่งใจ และมีความรู้มากขึ้นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรทำ”
3
นอกจากกระบวนการสอบสวนในมหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันเพื่อลดความรุนแรงทางเพศ คือการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อไม่ให้มีใครกระทำผิดอีก หรือแม้แต่สร้างสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำงานร่วมกับหน่วยงาน UN Women และเครือข่ายจากที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยทางเพศ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น TU.Change Makers การสัมมนาเพื่อสร้างพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาทางเพศในมิติต่างๆ หรือโครงการยุติการคุกคามทางเพศในสถาบันการศึกษา และส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศ ภายใต้แนวคิด “TU Say No To Sexual Harassment on Campus. We are ‘Generation Equality’.” นอกจากนี้ยังมี exhibition ให้นักศึกษาได้มาดูในโอกาสสำคัญๆ
ขณะเดียวกันภายในมหาวิทยาลัยยังมีการจัดตั้งกลุ่มของนักศึกษาเองเพื่อดูแลและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ด้วยและดูแลสภาพจิตใจของเหยื่อที่บอบช้ำ เช่น กลุ่มสังวิทเฟมินิสต์คลับ กลุ่มเฟมินิสต์แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือ ‘ศูนย์ Viva City’ ทำหน้าที่คล้ายกับคลินิกให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ ที่ตั้งขึ้นภายในโซนหอพักนักศึกษา
อ.โรจน์เล่าว่า กรรมการชุดเดิมที่เคยทำหน้าที่สอบสวนในช่วงแรกก็ไม่ได้ยุบไป เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นกรรมการระดับนโยบาย เพื่อจะให้มหาวิทยาลัยมีความปลอดภัยในเรื่องการคุกคามทางเพศมากขึ้น โดยพยายามส่งเสริมให้กรรมการชุดนี้มีความรู้และความตระหนักเรื่องเพศให้มากขึ้น
“เราพยายามให้กรรมการทั้งหมด มีความรู้พอๆ กัน เลยร่วมกับ UN Women ด้วย ให้หน่วยงานนี้ช่วยมาทำเวิร์กช็อปหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการมีความรู้มีความเข้าใจตรงกัน ในที่สุดสามารถออกเป็นนโยบายให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยทางเพศเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย
“ผมมองว่าเรื่องเหล่านี้ถ้าเราเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันก็จะก่อให้เกิดบาดแผลกับผู้คน เพราะงั้นอยากให้ทุกคนช่วยกันหาความรู้ พยายามเตือนผู้คน ถ้าเขาไปในทางไม่ถูก ดึงให้เขามีสติ ผมว่ากำลังของคนสำคัญที่สุด ถ้าเขาช่วยกันเตือนสติ การคุกคามทางเพศก็น่าจะลดลงอีกมาก” อ.โรจน์กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง: https://bit.ly/3JeALrd