แนทตี้และแฟกซ์ : สแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนมือใหม่ ผู้คุ้นเคยกับวงการสแตนด์อัพ คอมเมดี้เป็นอย่างดี

หากคุณเป็นคนที่ติดตามข่าวคราวในวงการบันเทิงอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือต่างประเทศ คงเคยพบเจอข่าวของดารานักแสดงพลิกบทบาทการแสดงสู่บทบาทใหม่ที่ท้าทายความสามารถของตนมากขึ้น หรือผันตัวเองจากงานแสดงข้ามมาเรียนรู้งานสายอื่นๆ ในวงการเดียวกัน ทั้งงานเขียนบท งานโปรดิวซ์ หรืองานกำกับ ดาราหลายคนทำงานใหม่ของเขาได้ดี อีกทั้งบางคนยังค้นพบว่าทางใหม่ของเขาคือทางที่ใช่มากกว่า

การผันตัวไปทดลองทำงานด้านอื่นๆ ในวงการที่ตัวเองรักไม่ได้มีเฉพาะในวงการละคร เพลง หรือภาพยนตร์เท่านั้น วงการสแตนด์อัพ คอมเมดี้ก็มีเช่นกัน

แนทตี้-วริศา วีโกดา คือตัวอย่างของนักแสดงที่เราได้กล่าวไปข้างต้น สาวไทยเชื้อสายจีนที่ไปร่ำเรียนและเติบโตในเมืองนอก ขณะเดียวกันก็ซึมซับวัฒนธรรมของสแตนด์อัพ คอมเมดี้จากสื่อต่างๆ จนเกิดเป็นความชอบ หลังจากที่เธอมีโอกาสได้เข้าประกวดการแข่งขัน Humorous Speech Contest และได้รับรางวัลชนะเลิศ เลยถือโอกาสพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นด้วยการรับบทบาทของนักแสดงสแตนด์อัพ คอมเมดี้ภาษาอังกฤษและเป็นกำลังสำคัญของ ‘The Comedy Club Bangkok’ คอมมูนิตี้ด้านคอมเมดี้หลากรูปแบบที่สามีของเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ครั้งนี้แนทตี้จะขอพัฒนาตัวเธอไปอีกขั้นกับการแสดงสแตนด์อัพ คอมเมดี้ในรูปแบบภาษาไทย ซึ่งสำหรับเธอนั้น การจะปรับการแสดงสำหรับชาวตะวันตกเพื่อมาโกยเสียงหัวเราะจากคนไทยนั้นไม่ง่ายเลย

และหากคุณติดตามข่าวในวงการบันเทิงลึกลงไปถึงเบื้องหลัง คุณจะพบว่ามีบุคคลเบื้องหลังไม่น้อยเช่นกันที่ผันตัวเองจากหลังกล้องมาโลดแล่นอยู่ด้านหน้าจอเงินหรือจอแก้ว

แฟกซ์-คณิตกรณ์ ศรีมากรณ์ คือหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าว เขาคือครีเอทีฟหนุ่มผู้มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมเป็นผู้เขียนบทในสแตนด์อัพ คอมเมดี้ A-Katanyu 30 ปีชีวิตห่วยสัส จากการประกาศรับสมัครผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของ ยู-กตัญญู สว่างศรี แฟกซ์ได้สะสมเรื่องราวที่ตัวเองอยากเล่ามาเรื่อยๆ ครั้งนี้เขาจะลองนำเรื่องราวเหล่านั้นมาพูดให้คุณฟัง แล้วคุณจะพบว่าถึงเขาจะเป็นผู้เขียนบทให้ยู แต่เรื่องราวและรูปแบบที่เขานำเสนอออกมานั้นช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

จากประวัติความเป็นมาของทั้งคู่ทำให้เราอยากรู้มุมมองสองด้านในวงการสแตนด์อัพ คอมเมดี้ รวมถึงการปรับตัวของเธอและเขาจนต้องชวนทั้งสองมานั่งคุยกัน ประจวบกับวันและเวลาที่เรานัดสัมภาษณ์เเนทตี้และแฟกซ์เป็นวันซ้อมโชว์สแตนด์อัพ คอมเมดี้ของทั้งคู่ที่จะเกิดขึ้นในงาน Stand Up Tragedy #คืนระทม2018 คืนวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์นี้ที่ Live Lounge อารีย์ พอดี เราเลยถือโอกาสซ้อมเป็นคนดู นั่งชมโชว์ของทั้งคู่เสียเลย

เมื่อการแสดงจบลง เราค้นพบว่าทั้งสองมีสไตล์ของตนเองที่ชัดเจนเหมือนดังที่กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์นี้จริงๆ

เบื้องหลังการเขียนบทให้กตัญญูเป็นอย่างไรบ้าง
แฟกซ์: การเขียนบทให้พี่ยูเหมือนการเริ่มใหม่ เพราะสแตนด์อัพ คอมเมดี้เป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง โรงเรียนสอนก็ไม่มี ตัวอย่างนักแสดงสแตนด์อัพ คอมเมดี้ในไทยที่มีให้ดูก็ไม่มาก ถ้าเป็นสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนชัดๆ ก็มีอยู่คนเดียว และเราไม่อยากทำเหมือนเขาเลยหาทางใหม่กันดู ซึ่งเป็นการเริ่มจากศูนย์จริงๆ

ยังจำครั้งเเรกที่บทถูกกตัญญูเอาขึ้นไปโชว์บนเวทีได้มั้ย
แฟกซ์: จำได้เลยว่าคนดูอึ้ง ไม่ได้ขำนะ แต่เพราะไม่รู้ว่าคนพูดมันพูดอะไรกัน วันนั้นหลังโชว์จบ เรากับพี่ยูร้องไห้ เพราะอะไรไม่รู้ ไม่ใช่เพราะความกดดัน อาจจะเป็นองค์ตลกลงมาทับมั้งก็เลยร้องไห้กัน (หัวเราะ) จากครั้งเเรกที่เหมือนโดนของกระเเทกหน้ามา รู้สึกว่าความตลกนั้นเป็นเซนส์ของแต่ละคน การเขียนบทให้อีกคนเล่าออกมาตลกไม่เหมือนกับที่เราเขียนให้ตัวเองตลกเลย ดังนั้นบทที่เขียนให้พี่ยูขึ้นไปเล่นบนเวทีจะต้องเป็นเรื่องที่ผสมกันระหว่างเราและพี่ยูคนละครึ่ง

แล้วครั้งเเรกในการขึ้นเเสดงสแตนด์อัพ คอมเมดี้ของแนทตี้ล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง
แนทตี้: ขอออกตัวก่อน เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เเสดงเก่งนะ เราว่าเรามีพรสวรรค์ด้านการเขียนมากกว่า แต่ด้วยความหวงบทเราก็เลยอยากเเสดงเอง ครั้งเเรกที่ขึ้นไปโชว์ เราก็เตรียมตัวมาพร้อมนะ แต่วันนั้นเราไม่มีความมั่นใจ ไม่ว่าจะเล่นมุขอะไรไปมันก็แป้กอยู่ดี วันนั้นรู้สึกดาวน์นิดนึง แต่เราได้บทเรียนเลยว่าการแสดงจะต้อง own it เหมือนคุณต้องมีร่างสิงเข้าตัวคุณแล้วแสดงร่างนั้นออกมา

ครั้งเเรกในแต่ละบทบาทของเเต่ละคนก็ผ่านไปแล้ว แต่ครั้งนี้ในฐานะสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนมือใหม่ คนหนึ่งใหม่ในการแสดงหน้าเวที อีกคนใหม่ในรูปแบบและภาษาของการแสดง มีวิธีการเตรียมตัวยังไงบ้าง
แฟกซ์: เรื่องการเขียนบทก็ทำเหมือนเดิม จดเป็นบุลเล็ตไว้จำ จริงๆ ก็เตรียมตัวเหมือนที่เตรียมให้พี่ยูเลยแหละ เราโชคดีที่เคยทำงานให้พี่ยูมาก่อน ทุกอย่างเราจึงค่อนข้างรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ส่วนเรื่องการพูดก็ต้องลองซ้อมดู

แนทตี้: การเตรียมตัวของเรา เราจะดูก่อนว่ามุขภาษาอังกฤษที่เราเคยเล่น เมื่อนำมาแปลเป็นภาษาไทย มุขไหนสามารถใช้ได้บ้าง จากนั้นดูว่ามุขทั้งหมดนั้นมีธีมอะไรที่สอดคล้องกัน พอได้ธีมปุ๊บ เราจะรู้เเล้วว่าโชว์ครั้งนี้จะพูดเรื่องอะไร จากนั้นเขียนมุขใหม่เพิ่มเติมเข้าไปในธีมเดียวกัน แล้วซ้อมๆๆ

รูปแบบของโชว์สแตนด์อัพ คอมเมดี้เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับภาษาไทยต่างกันมั้ย
แนทตี้: ถ้าตอนแรกใครถาม เราจะตอบเลยว่าง่ายนิดเดียว เดี๋ยวเราเอามุขภาษาอังกฤษมาแปลเป็นไทยก็เรียบร้อยเเล้ว ปรากฏว่าพอซ้อมเข้าจริงๆ บางมุขนั้นไม่สื่อสารและไม่สามารถแปลภาษากลับไป-มาได้ลงตัวเพราะมันมีหลายปัจจัย หนึ่ง คือวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกต่างกันมาก อย่างเวลาคนไทยพูดว่าพี่หรือน้อง เราจะรู้สึกว่าสถานะของเราเหนือกว่าหรือด้อยกว่าทันที ในขณะที่ภาษาอังกฤษใช้ I และ You ซึ่งสถานะนั้นเท่ากัน และสอง ที่ต่างมากๆ เลย คือมุมมองที่เราเล่า เวลาเราทำสแตนด์อัพ คอมเมดี้ภาษาอังกฤษ เราจะเล่าด้วยมุมมองของชนกลุ่มน้อยอย่างผู้หญิงเอเชีย ซึ่งเป็นมุมที่แปลกใหม่ของฝรั่ง เวลาเราพูดในมุมนั้นเขาก็จะสนใจและสนุกเพราะไม่เคยรู้เรื่องเหล่านั้นมาก่อน แต่เมื่อมาเล่าให้คนไทยซึ่งมีมุมมองเดียวกับเราฟัง เราต้องเล่าด้วยมุมมองใหม่ ซึ่งมุมนั้นคือมุมมองของคนที่ไปโตเมืองนอกแล้วมองกลับมายังวัฒนธรรมไทย มุขภาษาอังกฤษแปลมาใช้ได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์เอง ที่เหลือเราเขียนขึ้นมาใหม่

แต่ละคนมีวิธีสะสมเรื่องราวมาเล่าอย่างไรบ้าง
แฟกซ์: ปกติเราชอบสะสมเรื่องราวตอนไปเจอโน่นเจอนี่ไว้อยู่เเล้ว เรื่องที่เราจะเล่าในครั้งนี้จึงเอามุขที่เรามีมาเลือกดูว่าเราอยากเล่าเรื่องไหนหรืออยากลองเล่นมุขไหนที่สุดเเล้วหยิบเรื่องนั้นมา บางคนบอกว่าคนไทยมักจะให้ความสำคัญกับวิธีการพูดมากกว่าเรื่องเล่า ถ้าเราพูดสนุก เรื่องก็จะสนุกเอง แต่เรารู้สึกว่าถ้าเล่าสนุก แต่เรื่องนั้นไม่ได้พาไปไหนไกล ไม่ได้ทดลองไปเล่นมุขอื่นในหัวข้ออื่น สุดท้ายเเล้วความสนุกที่คนดูได้รับก็ได้เเค่เท่าที่อาณาเขตที่มันเคยให้ เราเลยรู้สึกว่าการเขียนสำคัญไม่เเพ้กัน ยิ่งเราเขียนได้คมหรือต่างออกไปเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งพาอาณาเขตความสนุกไปได้ไกลขึ้น แล้วการพูดก็จะไปไกลขึ้นด้วย เพราะสองสิ่งนี้เสริมกันอยู่

แนทตี้: ของเราก็คล้ายๆ น้องแฟกซ์ เวลานึกอะไรออกเราจะจดใส่กระดาษบ้าง มือถือบ้าง ระยะเวลาในการรวบรวมจะเรียกว่าสะสมเป็นปีเลยก็ได้

สองสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนมือใหม่กำลังจะขึ้นเวทีโชว์ในเร็วๆ นี้เเล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง กลัวมั้ย
แนทตี้: ตื่นเต้นมาก เพราะเราไม่เคยแสดงสแตนด์อัพ คอมเมดี้เป็นภาษาไทยเลย กลัวมุขของเราจะฝรั่งเกินไปจนคนดูไม่ขำ แต่ก็รู้สึกท้าทายดี และดีใจที่ได้รับโอกาสนี้

แฟกซ์: (นิ่งคิด) ตอนแรกแอบรู้สึกว่าได้เปรียบกว่าคนอื่นนิดนึง ไม่ได้หมายถึงว่าเก่งกว่านะ เเต่เพราะว่าเราเคยทำงานกับพี่ยูนี่แหละ เราเลยพอจะเห็นภาพลางๆ เเล้วว่าอะไรบ้างที่มันเวิร์กและไม่เวิร์ก เพราะมีพี่ยูทดลองให้แล้วเลยรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เคยเป็นคนเขียนบทมาก่อน เเล้วก็ขอบคุณพี่ยูด้วยที่ออกไปเจ็บตัวแทนเรา

สแตนด์อัพ คอมเมดี้มีเสน่ห์อะไร ทำไมถึงติดใจในวงการนี้
แฟกซ์: สำหรับเรา เสน่ห์ของสแตนด์อัพ คอมเมดี้ที่ทำให้เราอยากเขียน อยากทำไปทุกวัน คือการมองเรื่องๆ หนึ่งให้แตกต่างไปจากที่คนอื่นเคยมอง ทำให้ทุกเรื่องนั้นมีอะไรเล่าได้หมด อีกทั้งการมองแบบสแตนด์อัพ คอมเมดี้ยังขยายมุมมองที่เรามีต่องานที่ทำด้วย เราได้วิธีเล่าที่ต่างออกไปซึ่งเป็นบางมุมที่ครีเอทีฟโฆษณาไม่คุ้นเคยที่จะคิด สแตนด์อัพ คอมเมดี้ให้สิ่งนี้เรามา เราเลยชอบมัน

แนทตี้: เรารักสแตนด์อัพ คอมเมดี้เพราะเป็นที่ที่ทำให้เราแสดงออกได้ เสน่ห์ของมันอีกอย่าง คือทำให้เราเปลี่ยนเรื่องเนกาทีฟหรือเรื่องที่ไม่น่าพึงประสงค์ออกมาเล่าได้ในรูปแบบที่น่าฟังและตลก ทำให้คนดูคิดตามเราแล้วมีมุมมองที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้เขาสบายใจขึ้นว่า บางทีเรื่องแย่ๆ มันไม่แย่เท่าไหร่

หลังจากจบโชว์สแตนด์อัพ คอมเมดี้ คนดูจะจำจุดเด่นอะไรในตัวคุณทั้งสองคนได้
แฟกซ์: จริงๆ จะรู้วันนี้นี่เเหละครับ เราก็ไม่รู้ว่าจุดเด่นของตัวเองคืออะไรเหมือนกันเพราะไม่เคยพูดมาก่อน แต่ถ้าให้ตอบจากสิ่งที่พี่ยูหรือคนอื่นบอกเราก็น่าจะเป็นวิธีคิดมุขของตัวเองที่สนใจในเรื่องที่คนอื่นไม่ได้สนใจ บางคนอาจจะขึ้นไปเล่าเรื่องของตัวเอง แต่เราไม่ใช่แบบนั้น เวลาเราเล่าเรื่องของตัวเองเราจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ เราเลยชอบเล่าเรื่องอื่นๆ เรื่องเล็กๆ รอบตัว อย่างมด แมลง อ้วก โชว์ของเราจะเป็นเซนส์อะไรแบบนั้น

แนทตี้: เราอยากให้คนมองว่า เราเป็นสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนที่ตลกได้โดยไม่ต้องใช้คำหยาบหรือเรื่องที่ลงใต้สะดือ ไม่ว่าจะเป็นการเล่ามุขภาษาอังกฤษหรือไทย เราพยายามทำมันอยู่เสมอ เพราะเราเชื่อว่า ไม่ต้องหยาบคาย ไม่ต้องทะลึ่งก็ตลกได้

แฟกซ์: เราก็เป็นเหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่เราพยายามจะทำให้ได้ ไม่ใช่ว่ามุขแบบไหนดีหรือแย่กว่ากันนะ บางทีมุขก็เกิดมาจากตัวตนของเราด้วย ถ้าเราไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องที่หยาบคาย เราก็ไม่จำเป็นต้องเล่าแบบนั้น บางคนอาจรู้สึกว่าตลกแม่งต้องหยาบคาย จริงๆ แล้วตลกก็คือตลก ไม่ได้มีว่าหยาบหรือสุภาพอะไร ถ้าจะมันตลกก็เพราะมุขนั้นเป็นเซนส์แบบที่เราชอบ เราว่ามุขของเราก็ไม่หยาบนะ แต่เเค่ทะลึ่งเป็นตัวตนมากกว่า

ในฐานะที่เเนทตี้เป็นสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนหญิงหนึ่งเดียวในโชว์ที่ใกล้จะถึงนี้ เลยอยากรู้ว่าแนทตี้คิดว่าโชว์สแตนด์อัพ คอมเมดี้โดยผู้หญิงนั้นมีเสน่ห์ตรงไหน
แนทตี้: เสน่ห์ของผู้หญิงก็ดีนะ เราว่าน่าจะเป็นความอ่อนน้อม ไม่ได้ว่าผู้ชายแข็งกร้าวนะ แต่เราว่าผู้หญิงจะมีเซนส์บางอย่าง ไม่รู้สิ อย่างเวลาเราพูดในมุมมองของเราจะใช้วิธีพูดอ้อมๆ มีออปชั่นหลายอย่าง ซึ่งต่างจากของผู้ชายที่อาจจะพุ่งตรงไปที่ประเด็น

แฟกซ์: เราก็ว่าต่างนะ จากที่เคยดูสแตนด์อัพ คอมเมดี้ฝรั่งที่แสดงโดยผู้หญิง ผู้หญิงก็จะมีหัวข้อบางเรื่องที่เขาสนใจแต่ผู้ชายไม่เคยรู้ แล้วด้วยความที่สแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนหญิงมีน้อย เท่าที่เรารู้จักนะ พอมีโชว์สแตนด์อัพ คอมเมดี้โดยผู้หญิงขึ้นมา โชว์นั้นจะมีมุมมองใหม่ที่ผู้ชายหรือเเมสทั่วไปที่มีความเป็นชายเยอะอยู่เเล้วไม่เคยรู้และไม่เคยสนใจ

แนทตี้: ตอบได้ดีๆ

Q: ในมุมมองของทั้งคู่ ระหว่างสแตนด์อัพ คอมเมดี้ในไทยกับต่างประเทศต่างกันอย่างไร
แฟกซ์: ต่างกันมากเลยแหละ เราเพิ่งไปเจอมาว่า รูปแบบตลกของฝรั่งมีไม่รู้กี่สิบแบบ อย่าง satire (ตลกเสียดสี) observational comedy (ตลกจากการสังเกตสรรพสิ่งในชีวิตประจำวัน) หรือ blue comedy (ตลกในหัวข้อเกี่ยวกับเพศสภาพ สีผิว คนชายขอบ) เราก็ไม่รู้ว่าตลกจะสามารถแบ่งอะไรได้เยอะขนาดนั้น แต่แค่นี้ก็ทำให้เห็นเป็นภาพชัดเจนเเล้วว่าตลกของไทยกับฝรั่งต่างกันขนาดไหน

แนทตี้: ความจริงน้องแฟกซ์พูดได้ดีมากนะ สแตนด์อัพ คอมเมดี้เป็นอะไรที่แพร่หลายมากในแอลเอ แคลิฟอร์เนียหรือกระทั่งในโทรทัศน์ เราซึ่งโตที่เมืองนอกเลยซึมซับและโตมากับมัน ที่เมืองนอกนั้นสแตนด์อัพ คอมเมดี้จะมีโครงสร้างและรูปแบบชัดเจนมาก แต่ในไทยยังเป็นอะไรที่ใหม่มาก ฉะนั้นเราไม่คิดว่าในไทยจะมีสแตนด์อัพ คอมเมดี้จริงๆ สักเท่าไหร่ ก่อนหน้านี้อาจจะมีคนสองคนที่สร้างพื้นที่สำหรับสแตนด์อัพ คอมเมดี้ในเมืองไทย แต่ครั้งนี้ยูจะเป็นคนเริ่มสร้างคอมมูนิตี้สแตนด์อัพ คอมเมดี้ของคนไทยให้คนทั่วไปที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถทำได้มาลองดู ซึ่งการทำคอมมูนิตี้ก็ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากอยู่ ดังนั้นรูปแบบและโครงสร้างก็จะไม่ใช่ของทางตะวันตกซะทีเดียว เราหวังว่าเราจะได้ร่วมงานกับยูแล้วทำสแตนด์อัพ คอมเมดี้ให้มันทันสมัยขึ้น ก็ต้องรอดูกันต่อไป

ภาพ พิพัฒน์พงศ์ ชิตรัตนธรรม

AUTHOR