echo : เสียงสะท้อนจากเพื่อนเชี่ยที่เล่าเรื่องไม่เชี่ยได้กวนโคตร

ท่ามกลางสื่อออนไลน์หลายหัวในโซเชียลมีเดีย สามเดือนที่แล้วเพจ echo เกิดขึ้นโดยแนวทางการเล่าเรื่องด้วยวิดีโอที่เรากล้าพูดว่าแทบไม่เหมือนใครแถมไม่มีใครเหมือน พวกเขาให้คำจำกัดความแนวทางของตัวเองด้วยคำว่า ‘echo from your fucking friends’ หรือ ‘เสียงสะท้อนจากเพื่อนเชี่ย’

ตลอดสามเดือนที่ผ่านมา เราเห็น echo เล่าหลายๆ เรื่องผ่านวิดีโอได้โคตรสนุกและเจ๋งขึ้นทุกวัน เรื่องที่หยิบยกขึ้นมาล้วนสร้างการถกเถียงให้กับเพื่อนที่มาชมได้เสมอ อย่างเรื่องการทำแท้ง เพศที่สาม เซ็กซ์โดยการพันธนาการ หรือแม้กระทั่งการช่วยตัวเอง ปัจจุบันเพื่อนเชี่ยคนนี้มีคนมาชอบ (like) กว่าแสนคนแล้ว ถือเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับอายุ 3 เดือนของพวกเขา

ไม่รู้เหมือนกันว่า echo นับเราเป็นเพื่อนสนิทไหม แต่เราคิดว่าด้วยความเป็นเพื่อนเชี่ยและการเล่าเรื่องที่ดีมาตลอดทำให้เราเองอยากสนิทกับพวกเขาบ้าง (แถมเราอยากแนะนำ echo ให้ทุกคนได้รู้จักมากกว่านี้อีกต่างหาก) วันนี้เราเลยชวน แชมป์-ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ manager และ co-founder ของ echo มาคุยกันเกี่ยวกับที่มาที่ไปและตัวตนของเพื่อนคนนี้ให้เราฟัง

“สวัสดี นี่เพื่อนเรา ชื่อ echo

เดี๋ยวให้เขาแนะนำตัวอย่างละเอียดแล้วกันว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร

ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากเพื่อนเชี่ยคนนี้พร้อมๆ กันเลยเนอะ

เริ่มมมมมม (เริ่มมมม เริ่มมม เริ่มม เริ่ม ….)”

“สวัสดีนาย…เราชื่อ echo”

“ตอนที่เราตัดสินใจทำเพจ echo ขึ้นมา เราคิดว่าในยุคนี้สื่อออนไลน์เกิดขึ้นเยอะ แต่ตัวเราเองอยากคุยกับคนที่มีความคิดอยู่ในช่วงเจนวาย เราอยากให้มีเสียงสะท้อนออกไปถึงเขาให้ได้ แล้วเสียงสะท้อนนี้มันเกิดขึ้นจากอะไร? เราอยากให้มันเกิดจากสิ่งที่เพื่อนของคุณบอกคุณ เลยเกิดเป็นคอนเซปต์ว่า ‘เสียงสะท้อนของเพื่อน’ หลังจากนั้นเราคิดต่อว่าเสียงสะท้อนจริงๆ ที่เพื่อนได้ยินเนี่ย เป็นยังไงวะ มันคงไม่ใช่แบบ คุณครับ กินข้าวหรือยังครับ ดื่มเบียร์กันไหม เรารู้สึกว่าเพื่อนจริงๆ มันต้องพูดเชี่ยใส่กัน เฮ้ยมึง แดกเบียร์กัน แดกข้าวหรือยังวะ ถ้าเราจะมานั่งสุภาพเรียบร้อย มันคงจะไม่สามารถสะท้อนคนกลุ่มที่เราต้องการจะเข้าไปหาได้”

“ถ้าให้จินตนาการ เราคงเป็นเสียงสะท้อนของเพื่อนคุณที่อยู่หลังห้อง เพื่อนที่โดดเรียนประจำแถมชวนคุณโดดเรียน ชวนคุณแดกเหล้าอีกต่างหาก แต่ถึงเราจะเป็นคนแบบนี้ พอถึงเวลาทำหรือพูดอะไรจริงจัง เราจะทำได้ดี มันมีคนแบบนี้อยู่จริงๆ ในสังคม และคนๆ นี้แหละที่อยากเป็นเพื่อนเชี่ยๆ ของคุณ”

“เพื่อนเชี่ยคนนี้อยากจะบอกคุณว่า…”

“ปกติเวลาคุยกับเพื่อน เราคุยทุกเรื่องตั้งแต่กินขี้ปี้นอนไปจนถึงเรื่องเครียดๆ แต่สำหรับเราจะไม่ใส่ความซีเรียสลงไป คอนเทนต์ของเรามีเนื้อหาแต่ไม่ได้ใส่วิชาการ เราไม่ได้คาดหวังจะเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนหรือรับรางวัลลูกกตัญญู เรามองว่าตัวเราเป็นงานที่ imperfect น่ะครับ สำหรับเรา เราว่าเป็นข้อดีนะ เพราะมันทำให้เกิดช่องว่างให้คนไปเถียงกันต่อในสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพูดเลยไล่ไปตั้งแต่เรื่องการกินอยู่ งานอดิเรก เรื่องลึกซึ้งจนถึงขั้นปรัชญา เรื่องของทัศนคติการเมือง การปกครองหรือระบบโครงสร้างต่างๆ ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน เนื้อหาเราจะครอบคลุมหลายอย่าง”

“ตอนแรกมีคนเข้าใจเราผิดเยอะเหมือนกัน เพราะเราเล่าเรื่องที่ค่อนข้างจะกว้าง เรื่องไหนสนุก บ้าๆ บอๆ หรือเป็นเรื่องที่ดีเราก็ทำ แต่ก็ทำให้ตัวตนของเนื้อหาเราอาจจะยังไม่ชัดซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุยกันตั้งแต่วันแรกแล้วว่าอาจจะเกิดขึ้น แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพียงแต่เราคิดว่าวันหนึ่งมันจะค่อยๆ ชัดขึ้นเรื่อยๆ คนที่เข้ามาดูจะเริ่มเก็ตมากขึ้นว่า อ๋อ ไอ้นี่มันคือสื่อที่วางตัวอยากเป็นเพื่อนกับคุณ แล้วคุณคุยอะไรกับ echo ก็ได้”

“บางทีเราก็ตลก บางทีเราก็จริงจัง”

“ผมเชื่อว่าคนทำสื่อในยุคนี้ต้องคิดมากกันหมด ตัวเราเองก็คิดกันเยอะ ทำการบ้านกันหนัก กว่าที่คลิปจะออกมาดูตลก บ้าบอ ดูไม่มีสาระ แต่มันผ่านกระบวนการวางแผน ในขั้นตอนการทำงาน เราจะเริ่มจากการที่ทีมหาคอนเทนต์ที่เราอยากทำแล้วมาใส่ storytelling ให้มัน แต่ละเรื่องจะมีวิธีการเล่าที่ชัดเจนที่สุดอยู่ ซึ่งวิธีการนั้นไม่จำกัด เราใช้ทุกอย่างที่สามารถหามาได้ แต่จะต้องครอบด้วยการเป็นวิดีโอเท่านั้น”

“สาเหตุที่เราทำเป็นวิดีโอแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเราคิดว่ามันเป็นเรื่องของกลไก ยุคนี้ user เสพวิดีโอเป็นส่วนใหญ่ แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเองก็ให้ค่ามันสูงที่สุด ดังนั้นเราเลยเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ถึงเราจะเขียน about ในหน้าเพจว่าที่เราทำวิดีโอก็เพราะเราเขียนหนังสือกันไม่เป็น แต่ในความเป็นจริง ทีมเราทุกคนเป็นคนเขียนหนังสือมาก่อนทั้งนั้นเลย เพียงแต่เราเลือกที่จะเอาทักษะการเขียนเหล่านั้นออกมาให้อยู่ในรูปแบบสคริปต์วิดีโอในแง่ storytelling มันมีความยืดหยุ่นในเนื้อหาของเรา บางคอนเทนต์เล่ายังไงก็ไม่ตลก แต่ถ้าเรามองว่ามันดี ต่อให้มันไม่ตลก ไม่สนุก เราก็อยากทำ เราจะ brainstorm ตบตีกันในทีมจนหา storytelling ที่เอามาครอบแล้วมันเวิร์กให้ได้”

“บางคนก็บอกว่าเราแย่ บางคนก็บอกว่าเราดี”

“จากวิดีโอหลากหลายเรื่องที่เราทำออกไป ฟีดแบ็กแง่ลบก็มีนะครับ เพียบเลย ยกตัวอย่างคลิปที่เห็นชัดคือเรื่องระบบการศึกษา มีหลังไมค์หาเราประมาณว่า ‘เนื้อหาคลิปคุณโอเคนะ แต่ขอติอย่างแรงเลย คุณนั่งบนโต๊ะเรียนได้ยังไง?’ ผมก็ช็อกแล้วก็ตอบกลับไป ‘อ้าว ทำไมจะนั่งไม่ได้ล่ะ งั้นเตียงนอนก็ห้ามเ_ดกันเหรอ ต้องนอนอย่างเดียวเหรอ?’ (หัวเราะ)

“ทั้งหมดนี้เราเข้าใจนะครับ มันคือสิ่งที่เราต้องเจออยู่แล้ว welcome to the internet เพราะเราไม่ได้ทำสิ่งที่ร้อยคนจะถูกใจ มันไม่มีทางทำได้ด้วย ถึงแม้กระทั่งเราทำคลิปของ Refill Station ก็ยังมีคนที่เขาไม่ชอบ แต่สิ่งนี้แหละที่ผมรู้สึกว่าความ imperfect มันเกิดขึ้นและตามมาด้วยการถกเถียง พอถกเถียงแล้วก็เกิดปัญญา เราดีใจนะที่เราเจอแบบนี้ มันก็มีบ้างที่ส่งข้อความมาให้กำลังใจ เรารู้ว่ามีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เราไม่ได้เกลียดคนที่ไม่ชอบเรา เรารับได้เพราะมันทำให้เกิดการพูดคุย นั่นคือเป้าหมายอยู่แล้วสำหรับคนทำสื่อ”

“แต่เพื่อนคนนี้สัญญาว่าจะเป็นเพื่อนเชี่ยของคุณต่อไป”

“3 เดือนกับหนึ่งแสนไลก์ถือว่า echo โตไวเหมือนกัน ก่อนหน้านี้เรามีไมล์สโตนอยู่ ซึ่ง echo ก็แตะไมล์สโตนที่เราตั้งไว้ได้ทุกเป้า”

“ถ้าถามว่าอนาคตเราอยากเห็นเพื่อนเชี่ยคนนี้เป็นยังไง เราคงอยากเห็น echo โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีโดยยังมีความเชี่ยอยู่ (หัวเราะ) คือในตอนเด็กพวกเราบางคนก็คงโดนตัดสินจากกรอบความเชื่อเดิมๆ จนเราอาจคิดว่าตัวเองเป็นปัญหาของสังคม ปัญหาของครอบครัว คนในทีมเราส่วนใหญ่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เราอาจเป็นคนที่ใส่รองเท้าเหยียบส้นหรือแหกกฎไม่ใช้กระเป๋าที่โรงเรียนแจก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพอโตมาเราจะทำประโยชน์ให้สังคมไม่ได้ ให้ครอบครัวไม่ได้ มันไม่ใช่ จริงๆ เราทำได้นะ เราคิดว่า echo ก็เป็นแบบนั้นและอยากเห็นเขาโตไปเป็นคนแบบนั้น ไม่ต้องเป็นคนดีรับรางวัลอะไรหรอก แค่เขาเป็นเพื่อนคนหนึ่งของคุณที่รู้ผิดชอบชั่วดีและมีสติ พวกเราก็โอเคแล้ว”

ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด