“อาม่าเหงาไหมเนี่ย อยู่คนเดียวมาตั้งหลายปี”
ประโยคคำถามของเอ็ม – หลานชายจอมกวนที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับตรงกับความรู้สึก ของคนแก่ที่อาศัยอยู่คนเดียวได้เป็นอย่างดี
‘หลานม่า’ กลายเป็นภาพยนตร์ที่เรียกน้ำตาตั้งแต่ปล่อยทีเซอร์ ของ GDH เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อน ความผูกพันท่ามกลางค่านิยมที่หลากหลายในครอบครัวใหญ่เท่านั้น แต่ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องนี้ ยังพูดถึงความเหงา และโลกของผู้สูงอายุ ที่อาศัยอยู่คนเดียวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย
เรื่องราวเริ่มต้นจาก ‘เอ็ม’ (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) หลานคนโตตัวดี ที่มักถูก ‘อาม่า’ (แต๋ว อุษา) บ่นเสมอว่าทำอะไรลวกๆ ทั้งเรียนไม่จบ แถมพอมาเอาดีด้านแคสต์เกม ก็ยังไม่รุ่ง วันหนึ่งหลังจาก ที่รู้ว่าอาม่ากำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เอ็มวางแผนกลับมาดูแลอาม่า ทั้งที่ปกติแล้วไม่เคยมาหา หวังทำคะแนนเป็นหลานคนโปรดอันดับหนึ่ง เพื่อให้อาม่ายกบ้านให้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
จากนั้น หนังก็ได้พาเราไปเข้าไปสำรวจความคิด และค่านิยมของคนแต่ละรุ่นในครอบครัว ชาวจีนที่คอยปะทะกันอยู่ในตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอาม่า หญิงชราอยากใช้เวลาร่วมกับลูกหลาน รุ่นลูกที่ต่างง่วนอยู่กับการดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่รุ่นหลาน ก็อยู่ในช่วงเริ่มต้นหาต้นทุน และความมั่นคงให้กับตัวเอง อย่างที่พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับได้บอกไว้ว่า “เรื่องของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด กับเรามากๆ คือครอบครัว ครอบครัวใหญ่มีความจับฉ่ายของทุกเจเนอเรชัน และความเชื่อมั่นรวมอยู่ ในบ้านเดียวกัน”
ในวันที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว อัตราผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น การอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่ไม่มีญาติคอยดูแลเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้แม้แต่ ในครอบครัวใหญ่ได้เช่นกัน ด้วยสภาพสังคมที่บีบบังคับให้ลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จึงทำให้ในบ้านเหลือผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังอย่างเลี่ยงไม่ได้
ระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไป หนังค่อยๆ เผยให้เห็นโลกของอาม่าที่อาศัยอยู่คนเดียวภายในบ้านหลังเก่า ลึกเข้าไปในซอยเล็กๆ ที่มีต้นทับทิมอยู่หน้าบ้านในย่านตลาดพลู เราจะได้เห็นกิจวัตรประจำวัน ของอาม่าผ่านสายตาของเอ็มหลังจากที่ย้ายเข้ามาอยู่บ้านเดียวกัน
ก่อนหน้านี้หญิงชราดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่เตรียมตัวออกไปขายโจ๊ก เช้ามืด รอคอยลูกหลานกลับมาหาในสุดสัปดาห์และเทศกาลสำคัญ แม้อาม่าจะไม่ได้แสดงความรักทางคำพูด แต่ทุกการกระทำเธอจะนึกถึงลูกหลานอยู่เสมอ
ถึงอาม่าจะไม่อยากเป็นภาระของใครมากแค่ไหน แต่สุดท้ายความเจ็บป่วยก็ทำให้เธอต้องหันมาพึ่งพาลูกหลานอยู่ดี โดยเฉพาะสำหรับคนชนชั้นกลางค่อนล่างในเมือง ซึ่งต้องใช้ทั้งเงินและเวลา จึงต้องมีใครสักคนที่พาเธอไปโรงพยาบาลรัฐที่ต้องไปต่อคิวตั้งแต่เช้ามืด
สิ่งหนึ่งที่หนังทำได้ดีคือการฉายภาพแต่ละคนในครอบครัวอย่างเข้าอกเข้าใจ การดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย ในสถานการณ์ที่แต่ละคนในครอบครัวต่างมีภาระหน้าที่ของตัวเอง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก ช่วงเวลาหนุ่มสาวที่ยังมีแรงจึงต้องทุ่มเทไปกับการทำงาน
หนังพาเราไปสำรวจลูกๆ ของอาม่าที่เรามักเห็นได้ในครอบครัวทั่วไป แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลที่ทำให้ไม่มีเวลาให้กับแม่ของพวกเขามากนัก อย่าง ลูกชายคนโต ‘กู๋เคี้ยง’ (ดู๋ สัญญา) ที่แม้จะมีฐานะการเงินดีที่สุดในสามพี่น้อง แต่อยู่ในช่วงเริ่มสร้างครอบครัวจึงต้องโฟกัส กับการดูแลลูกเป็นพิเศษ ส่วนลูกสาวคนกลางแม่ของเอ็ม ‘ซิว’ (เจีย สฤญรัตน์) เธอทำงานหนักตั้งแต่ยังวัยรุ่นจนไม่ได้เรียนต่อ ทำให้เธอไม่มีโอกาสในหน้าที่การงานมากนักและทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต และลูกชายคนเล็ก ‘กู๋โส่ย’ (เผือก พงศธร) ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากรับจ้างทั่วไป
การมีเอ็มหลานชายที่มีเวลาว่างมากที่สุด จึงกลายเป็นจิ๊กซอว์ที่ถูกวางลงบนภาพได้อย่างสมบูรณ์ บวกกับค่านิยมการมีเงินเท่ากับประสบความสำเร็จ ทำให้เขามองว่าการดูแลอาม่าเพื่อหวังมรดก ในบั้นปลายจะกลายเป็นสิ่งที่จะพาเขาไปถึงเป้าหมายนั้นได้เร็วขึ้น
อาการเจ็บป่วยทางกายของอาม่าจึงกลายเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกคนหันกลับมาใส่ใจหญิงชราอีกครั้ง เบื้องหลังความเจ็บป่วยทางกายมีความเจ็บปวดทางใจซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความเงียบเหงาในบ้านหลัง ช่วงเทศกาล แม้จะมีอาหารมากมายถูกเสิร์ฟบนโต๊ะแต่หลังจากที่ลูกหลานกลับไปหญิงชรา ต้องเป็นคนจัดการอาหารทั้งหมดคนเดียว ความกลัวที่ต้องจากโลกนี้ไปลำพัง หรือแม้แต่ความกังวลต่ออนาคตลูกหลานเมื่อเธอไม่อยู่แล้ว
เรียกได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนเสียน้ำตา อาจเป็นเพราะหนังได้ฉายให้เห็นโลกความเงียบเหงา ของคนแก่ที่เหล่าคนหนุ่มสาวไม่ทันสังเกตผู้สูงอายุที่ค่อยๆ ร่วงโรยลงไปทุกวัน อย่างที่มุ่ย (ตู-ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) หลานสาวฝั่งพ่อของเอ็ม ซึ่งรับหน้าที่ดูแลอากงที่กำลังป่วยติดเตียง ว่า “สิ่งที่คนแก่ต้องการแต่ไม่มีลูกหลานคนไหนให้ได้เลยคือเวลา”
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในหลานม่าคือสิ่งที่ผู้หญิงในครอบครัวจีนต้องเผชิญ อย่างค่านิยมที่บอกว่าลูกสาวที่แต่งงานออกไปแล้วก็เหมือนคนนอก หรือการมองว่าลูกสาวมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่ชรา จึงทำให้แม้พวกเธอจะพยายามมากแค่ไหนแต่ก็ไม่ได้รับการมองเห็น แถมยังมีค่าน้อยกว่าลูกชายที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบสกุลต่อ แม้ไม่ได้ดูแลยามแก่เฒ่าแต่ก็จะได้รับมรดกเสมอ สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นการกีดกันผู้หญิงให้เข้าถึงทรัพยากรเข้าไปอีก เหมือนอย่างอาม่าที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพี่ชายคนโต เพียงเพราะเธอเปลี่ยนนามสกุลไปแล้วเท่านั้น
จากเรื่องเงินๆ ทองๆ ค่อยๆ เผยให้เห็นรอยร้าวของความสัมพันธ์ในครอบครัว ในขณะที่คนแก่ต้องการเวลา ส่วนคนหนุ่มสาวกำลังรีบเร่งสร้างตัว ความต้องการที่สวนทางกันจึงกลายเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างวัย เรื่องราวในขมวดสุดท้ายของหนังทำให้เราอดกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งถึงสวัสดิการหรือโครงสร้างพื้นฐานอีกครั้งไม่ได้
หากมีพื้นที่พักผ่อนไม่ให้ผู้สูงอายุต้องเหงา
หากบริการด้านการแพทย์สะดวกและรวดเร็วขึ้น
หรือหากการเดินทางไม่ต้องใช้เวลานานๆ
ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงจะทำให้เราและผู้สูงอายุในครอบครัวได้กลับมาใช้เวลาด้วยกันมากขึ้นไหม