Penguin Books นกเพนกวินแห่งหมู่บ้านวรรณกรรม แม่แบบหนังสือพ็อกเกตบุ๊กที่อยากให้คนเข้าถึงหนังสือง่าย

เจมส์ จอยซ์ กับหนังสือ ‘Ulysses’

โรอัลด์ ดาห์ล และหนังสือ ‘ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต’

อกาธา คริสตี กับนวนิยายสืบสวนที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ทำเงินอย่าง ‘Murder on the Orient Express’

เจน ออสติน กับนวนิยายคลาสสิกเรื่อง ‘Sense & Sensibility’

เชกสเปียร์ กับคอลเลกชันบทละครทั้งหมด

และวลาดิมีร์ นาโบคอฟ กับโศกนาฏกรรมที่แสนสวยงามในหนังสือเรื่อง ‘โลลิตา’

รายชื่อของนักเขียนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานพิมพ์หนังสือของ ‘สำนักพิมพ์ Penguin’ 

สำนักพิมพ์นี้เป็นเจ้าของโลโกรูปนกเพนกวินบริเวณหน้าปกและสันเล่ม ซึ่งเรามักหยิบขึ้นมาในร้านหนังสือ และก็กลายเป็นหนึ่งในกองดองของเราๆ กันถ้วนหน้า

ก่อนที่โลโกนกเพนกวินจะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านวรรณกรรม

แต่เดิมหนังสือ ‘พ็อกเกตบุ๊ก’ ไม่ได้มีหน้าตาเข้าถึงง่ายเหมือนอย่างในปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง ‘หนังสือ’ เคยดูเคร่งขรึม จริงจังและหนักอึ้ง 

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นเวลาที่วัฒนธรรมการอ่านเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในประเทศอังกฤษ สิ่งพิมพ์ในสมัยก่อนมักเป็นตำราวิทยาการแขนงต่าง ๆ บันทึกเรื่องเล่าหรือตำนานที่สืบทอดกันมา คอลเลกชันรวบรวมโคลงกลอนหรือบทกวี และนวนิยายที่มีเนื้อเรื่องยาวหลายร้อยหน้า

หนังสือหนึ่งเล่มในตอนนั้น จึงมีความหนามากกว่า 1-2 นิ้ว ปกหุ้มด้วยหนังสัตว์อย่างดี เสริมความคงทนอีกชั้นหนึ่งด้วยกระดาษแข็งที่อยู่ด้านในปก สันหนังสือเย็บด้วยด้ายเคลือบไขผึ้ง เพื่อให้เหมาะกับน้ำหนักของกระดาษเนื้อดีที่มีความหนา 

หนังสือในช่วงเวลานั้นมีลักษณะเป็น ‘Hardcover’ หรือว่าหนังสือปกแข็งที่มีความคงทน แข็งแรง และมักพิมพ์เป็นซีรีส์หลายๆ เล่ม เหมาะสำหรับการเก็บในห้องอ่านหนังสือหรือว่าห้องสมุดเป็นเวลาหลายสิบปี ลักษณะเดียวกับคอลเลกชันหนังสือของห้องสมุดโรงเรียน Hogwart ในภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter 

Agatha Christie และที่มาของสำนักพิมพ์เพนกวิน

แม้ว่าสิ่งพิมพ์จะเป็นที่แพร่หลายในสังคม แต่หนังสือที่วางขายในตอนนั้นกลับมีราคาสูงเกินที่ทุกคนจะซื้อหามาอ่านได้

แล้วในวันๆ หนึ่ง อัลเลน เลน (Allen Lane) ชายหนุ่มชาวอังกฤษเจ้าของสำนักพิมพ์หนังสือ ก็เกิดได้ไอเดียขึ้นมาระหว่างเดินทางกลับจากบ้านของ อกาธา คริสตี (Agatha Christie) เพื่อนรักนักเขียนนวนิยายสืบสวนแห่งยุค 

ในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาก่อนการมาถึงของ ‘หน้าจอ’ ทั้งหน้าจอโทรทัศน์และหน้าจอโทรศัพท์ การอ่านหนังสือจึงเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ใช้เวลาด้วยมากที่สุด

ลองนึกภาพที่นั่งด้านข้างหน้าต่างรถไฟ ในยุคสมัยที่อากาศสดชื่นเป็นใจ เหมาะกับการเปิดหน้าต่างรถไฟขึ้นมารับลม 

รถไฟที่วิ่งไปข้างหน้าแบบไม่เร็วจนเกินไป สายลมอ่อนพัดเบา ๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยสีเขียวของธรรมชาติ อากาศเย็นสบายกำลังดี เป็นบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือเป็นที่สุด

แต่ที่สถานีรถไฟกลับจำหน่ายแต่หนังสือราคาแพง เกินกว่าจะซื้อมาอ่านเล่นบนรถไฟได้ อัลเลนจึงได้ไอเดียใหม่ที่พลิกโฉมวงการสิ่งพิมพ์โลก

“ทำไมไม่พิมพ์หนังสือราคาดีที่ทุกคนจ่ายได้ล่ะ”

พอกลับมาถึงกรุงลอนดอน เขาก็เริ่มสร้างความฝันของเขาให้เป็นรูปเป็นร่างในทันที 

กว่าจะมาเป็นโลโกนกเพนกวินบนปกหนังสือ

เพื่อให้เป็นหนังสือราคาดีที่ทุกคนจ่ายได้ อัลเลนเลือกพิมพ์หนังสือด้วยกระดาษเนื้อบาง แต่ยังมีคุณภาพ เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไม่สูงจนเกินไป และเปลี่ยนจากปกแข็งทำด้วยหนังสัตว์ มาเป็นปกกระดาษเนื้อหนาที่ราคาดีกว่า และยังมีน้ำหนักเบามากกว่าด้วย

แล้วหนังสือจากวิสัยทัศน์ของอัลเลน ก็กลายเป็นแม่แบบของหนังสือพ็อกเกตบุ๊กในยุคต่อ ๆ มา จนถึงในปัจจุบัน 

ส่วนเรื่องโลโกอัลเลนมอบหมายให้ เอ็ดเวิร์ด ยัง (Edward Young) จากทีมออกแบบและผลิตในสำนักพิมพ์ เป็นผู้ดูแล โดยได้บรีฟให้ใช้รูปสัตว์เป็นแรงบันดาลใจ เอ็ดเวิร์ดก็ไม่รอรี รีบตรงไปที่สวนสัตว์ลอนดอนเพื่อสเกตช์ภาพโลโกของสำนักพิมพ์ใหม่

เอ็ดเวิร์ดลองสเกตช์อยู่หลายครั้ง กว่าจะได้ภาพที่ถูกใจ ซึ่งท้ายสุดก็เป็นภาพนกเพนกวินจากในสวนสัตว์นั่นเอง

นกเพนกวินสื่อความหมายเรื่องความเป็นมิตร การอยู่ร่วมกันเป็นคอมมิวนิตี และความแน่วแน่ในการลงมือทำ นกเพนกวินจึงเหมาะที่จะเป็นโลโกถ่ายทอดความฝันที่สวยงามของอัลเลน

แล้วภายในเวลาหนึ่งปี หนังสือล็อตแรกของสำนักพิมพ์เพนกวินก็วางจำหน่ายในอังกฤษ หนึ่งในนั้นคืองานเขียนของอกาธา คริสตี และนักเขียนอเมริกันอย่างเอิร์นเนสต์ เฮมมิงเวย์

ความแมสที่คัดสรรมาอย่างดี

สำนักพิมพ์เพนกวินจัดพิมพ์หนังสือหลากหลายประเภท เพื่อให้เข้าถึงผู้อ่านที่มีความสนใจแตกต่างสาขา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วรรณกรรมอังกฤษหรืออเมริกันเท่านั้น 

งานพิมพ์ของสำนักพิมพ์เปลี่ยนโลกแห่งนี้ มีตั้งแต่งานเขียนปรัชญาของเพลโต แนวคิดปรัชญาตะวันออกของขงจื๊อ นิทานที่เล่าสืบต่อกันมาจากอาหรับ โคลงกลอนของญี่ปุ่น เรื่องสั้นจากเกาหลีใต้ และนวนิยายจากประเทศแถบเอเชีย 

ปัจจุบันจัดพิมพ์งานเขียนของผู้นำทางความคิดในระดับนานาชาติ เช่น หนังสือ “Sapiens” ของ ยูวาล โนอา ฮารารี่ (Yuval Noah Harari) และงานเขียนสร้างแรงบันดาลใจของมิเชล โอบามา 

ในเรื่องดีไซน์ การออกแบบปกหนังสือของสำนักพิมพ์เพนกวิน เน้นความเรียบง่ายมาตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงปัจจุบัน

หน้าปกหนังสือไม่เน้นความฉูดฉาดหรือว่าอลังการ แต่ออกแบบให้ติดตา จำง่าย และมีรูปแบบคล้ายๆ กันในทุกเล่ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่เข้มแข็งทางแบรนดิงของสำนักพิมพ์เพนกวิน

ส่วนการจัดเรียงเนื้อใน ก็ใช้ฟอนต์ตัวอักษรคลาสสิกที่อ่านง่าย สบายตา และมีขนาดไม่เล็กหรือว่าใหญ่จนเกินไป แต่ละหน้าจัดวางให้มีความกว้างเท่าๆ กัน ดูแล้วเป็นระเบียบ ไม่โดดเด่นหรือว่าเตะตาจนเกินไป เหมาะสำหรับการอ่านเพลินๆ อย่างแท้จริง

สำนักพิมพ์เพนกวินในตอนนี้

ปัจจุบันสำนักพิมพ์เพนกวินเป็นผู้นำทางด้านสิ่งพิมพ์ของโลก แต่ละปีจะพิมพ์หนังสือออกมาหลายพันชื่อเรื่อง เพื่อวางจำหน่ายทั่วทุกประเทศ 

สำนักพิมพ์เพนกวินเหมือนกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลกหลายๆ แบรนด์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการผลิตสินค้าหรือว่าผลิตภัณฑ์คุณภาพดีในราคาที่ทุกคนจ่ายไหว

วิธีคิดนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แบรนด์เติบโตในวงกว้าง ดังที่เห็นตัวอย่างจากแบรนด์ใหญ่อย่าง IKEA หรือว่า Muji ซึ่งทั้งหมดเติบโตขึ้นมาจากการเป็นแบรนด์เล็ก ๆ ที่มีความตั้งใจที่ดีต่อโลกและสังคม

จนกระทั่งวันหนึ่งความมุ่งหวังตั้งใจของแบรนด์ ก็กลายเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จอย่างงดงาม

ที่มารูปภาพ: https://saboteur.studio/stories/the-story-of-penguin/

AUTHOR