ท่ามกลางอาคารพานิชย์ที่เรียงรายอยู่ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เราเดินเท้าไปเจอกับร้านหนังสือเปิดใหม่แห่งหนึ่ง ที่มีดีไซน์โดดเด้งไปจากเพื่อนตึกข้างๆ อย่างสิ้นเชิง ด้วยการออกแบบภายนอกที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับบ้านที่ดูเรียบง่ายแต่ก็มีมวลบางอย่างที่เชื้อเชิญให้เราลองเข้าไปทำความรู้จักกับร้านนี้
ทันทีที่เราได้ก้าวเข้าไปด้านในร้าน ความรู้สึกที่ว่า “นี่แหละ” ก็ผุดขึ้นมาในหัวอย่างทันควัน ไม่ง่ายนักที่เราจะเจอกับร้านหนังสือแบบนี้ได้ในย่านฝั่งธน ร้านหนังสือที่เข้ามาก็ได้กลิ่นหอมฟุ้งของกาแฟ ได้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของกระดาษและหนังสือ บวกกับแสงแดดธรรมชาติที่ลอดเข้ามาผ่านกระจก “นี่มันสวรรค์ของคนรักหนังสือชัดๆ”
เราเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศของร้าน ก่อนที่จะฉุกคิดได้ว่า ‘ริมขอบฟ้า’ คือชื่อของร้านหนังสือที่เคยอยู่แถวราชดำเนินนี่หน่า จากนั้นประโยคที่ว่า “เขาเปิดสาขาใหม่เหรอ?” ก็เป็นคำถามที่ตามมา เราเลยไม่รอช้าที่จะชวนเจ้าของร้านอย่าง ‘คุณอมร ทองธิว’ มาเปิดบทสนทนาในยามบ่ายของวันนั้น
จุดเริ่มต้นของร้าน ‘ริมขอบฟ้า’ แหล่งรวมความรู้ทั่วทุกสารทิศของเมืองไทย
“จริงๆ แล้วคำว่า ‘ริมขอบฟ้า’ เป็นปรัชญาในครอบครัวเราตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ เลย คุณตา ‘เล็ก วิริยะพันธ์ุ’ จะสอนให้ลูกหลานมองออกไปข้างหน้า มองออกไปให้ไกล และมองออกไปให้กว้าง พี่ชายผมคนที่ทำร้านหนังสือนี้ขึ้นมาก็หยิบเอาคำว่า ‘ริมขอบฟ้า’ นี่แหละ มาใช้เป็นชื่อร้าน เพราะเรื่องที่เราอ่านมันมักจะเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเราเสมอ การมองไปที่ริมขอบฟ้าคือการมองไปข้างหน้า มองให้มันลึกและกว้าง ซึ่งความรู้มันก็เป็นอะไรแบบนั้น” คุณอมรเล่าถึงที่มาที่ไปของชื่อร้าน หลังจากเราถามถึงความหมายของมันด้วยความสงสัย
เดิมที ร้านหนังสือริมขอบฟ้าที่หลายๆ คนคุ้นเคย ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน
แต่ก่อนพื้นที่เล็กๆ ตรงมุมอนุเสาวรีย์นี้ ถูกใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเอกสาร หนังสือ และหลักฐานต่างๆ ในการทำงานเพื่อสร้างเมืองโบราณ และวารสารเมืองโบราณ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ที่นี่เปรียบเสมือนห้องสมุดขนาดย่อมๆ ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา มนุษยวิทยา หนังสือโบราณ และหนังสือหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แน่นอนว่าหน่วยงานนี้เคยเป็นเหมือนพื้นที่บริการความรู้ ที่เปิดให้คนทั่วไปรวมถึงนักศึกษา ได้เข้ามาใช้งานและค้นหาข้อมูลในเชิงลึก เมื่อเห็นว่าสถานที่นี้ดูเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดให้คนรักความรู้มาใช้ประโยชน์และเก็บเกี่ยวบางอย่างจากมันได้ ศูนย์รวบรวมข้อมูลแห่งนี้จึงได้แปรเปลี่ยนมาเป็นร้านหนังสือที่มีชื่อว่า ‘ริมขอบฟ้า’
จุดเด่นของร้านหนังสือริมขอบฟ้าตั้งแต่เดิม คือการเป็นร้านหนังสือที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความรู้ในเชิงลึก ไม่ว่าใครก็ตามที่อยากจะรู้เรื่องเมืองไทยในแง่มุมไหน เพียงแค่คุณก้าวเข้ามาที่นี่ ก็เหมือนกับได้ท่องเที่ยวไปทั่วทุกมิติของเมืองไทย ด้วยเหตุนี้เอง ร้านหนังสือริมขอบฟ้าจึงยังเป็นที่แวะเวียนมาของคนที่รักความรู้กว่า 20 ปี จนกระทั่งพื้นที่เดิมที่ร้านเคยมีชีวิต ต้องถูกคืนให้กับรัฐเพื่อพัฒนาไปเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จึงทำให้ร้านหนังสือริมขอบฟ้าต้องย้ายจากบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย และมาเริ่มต้นกับการเดินทางครั้งใหม่ในย่านบางพลัด
ต้องย้ายร้านทั้งที จะทำร้านหนังสือแบบเดิมก็กระไร
ด้วยความที่ร้านอยู่มานานและมีกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว หากย้ายร้านแล้วลงประกาศในเพจสักหน่อยก็คงยังมีกลุ่มลูกค้าเดิมแวะเวียนเข้ามาหาหนังสืออยู่บ้าง แต่ทว่าทางเจ้าของร้านได้มองถึงอนาคตของโลกการอ่านและสังคมการอ่านไปไกลกว่านั้น
“แน่นอนว่าคนกลุ่มเดิมของเราที่สนใจงานวิชาการเชิงลึก เขาก็ยังเกาะติดกับร้านเราอยู่ แต่ไหนๆ จะย้ายร้านทั้งที เราก็อยากดึงให้คนภายนอกที่ไม่ได้อ่านหนังสือมาสนใจเรื่องของความรู้เชิงลึกเพิ่มมากขึ้น เราเลยมีโจทย์ว่าจะดึงคนกลุ่มนี้มายังไง แล้วภาพของร้านกาแฟ ซึ่งเป็นที่ที่คนจะมาใช้เวลา มาอ่านหนังสือ หรือมาทำงานก็ผุดขึ้นมา”
เป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่า บ้านเมืองเรามีคนดื่มกาแฟมากกว่าคนอ่านหนังสือ แต่ข้อเสนอนี้ก็พอจะมีความเป็นไปได้ การจะเชื้อเชิญให้คนที่ไม่ได้อ่านหนังสือมาให้ความสนใจกับเรื่องยากๆ อาจจะต้องเริ่มจากอะไรใกล้ตัว ที่อยู่ในชีวิตประจำวันและไลฟ์สไตล์ของพวกเขาก่อน ดังนั้นการที่จะดึงดูดคนที่อยู่นอกแวดวงการอ่านมาได้ คงต้องเริ่มจากการทำให้ร้านนี้ ‘เป็นมากกว่าร้านที่ขายหนังสือแต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาใช้เวลาได้’
นอกเหนือไปจากร้านกาแฟที่คนมาใช้เวลาในการทำงาน หรือพักผ่อนหย่อนใจแล้ว เจ้าของร้านยังได้เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดที่อยากจะทำให้ร้านนี้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวิร์คชอปงานศิลปะ หรืองานเสวนาที่คนรักหนังสือจะมารวมตัวกันได้ ความตั้งใจนี้จึงถูกตีความผ่านการออกแบบร้านที่ประกอบไปด้วยหลากหลายฟังก์ชัน แต่ยังคงดูเรียบง่าย และคงไว้ซึ่งคอนเซปต์ของร้าน
“เราอยากจัดบรรยากาศของร้านให้เข้าถึงง่าย ไม่ใช่ว่าจะเคร่งขรึมเกินไป การออกแบบร้านเราให้คอนเซปต์เขาไปว่าต้องแสดงถึงชื่อร้าน ‘ริมขอบฟ้า’ ด้วย สิ่งที่คนออกแบบเขาตีความออกมามันก็คือ ดีไซน์ร้านที่ด้านล่างยังดูเป็นเหมือนบ้าน ใช้ไม้ ใช้อิฐ ใช้กระเบื้อง มีกลิ่นของกาแฟ แต่พอขึ้นมาด้านบน จะเหมือนกับการเปิดโลก พื้นที่ด้านบนจะมีความขาว โปร่ง โล่ง สบาย มีการใช้สีฟ้าแต้มนิดหน่อย แล้วก็มีการใช้แสงตีขอบแนวนอน ให้เป็นเหมือนกับริมขอบฟ้าจริงๆ”
ความจริงแล้วร้านหนังสือริมขอบฟ้าแห่งใหม่นี้ ถูกออกแบบมาใช้งานอยู่ 3 ฟังก์ชัน อันดับแรกคือการเป็นร้านหนังสือสำหรับคนอยากมาหาความรู้ อันดับที่สองคือการมีร้านกาแฟเพื่อให้คนมาใช้เวลา และสุดท้ายคือการเป็นสเปซสำหรับจัดอีเวนท์ต่างๆ สำหรับคนที่อยากใช้เวลาไปกับเรื่องที่เขาสนใจ ซึ่งที่มาของการออกแบบร้านในลักษณะนี้ ก็เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนในยุคปัจจุบัน และเตรียมรับกับเทรนด์ในอนาคตด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบันก็คงต้องมองว่านักอ่านรุ่นใหม่จะถูกแบ่งไปอ่านเป็นออนไลน์บ้าง แต่ในมุมกลับกันผมกลับมองว่า นักอ่านที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่สื่อออนไลน์มันก็มีเยอะ มีคอนเทนท์ที่น่าสนใจเยอะ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องพวกนี้เขาก็จะกลับมาอ่านหนังสือด้วย ร้านหนังสือมันก็ยังต้องมีอยู่ พื้นที่แบบนี้ก็ต้องมีอยู่”
พื้นที่ที่ต้อนรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร
ความตั้งใจที่อยากให้ร้านหนังสือนี้เป็นเหมือน ‘บ้าน’ ซึ่งให้ความรู้สึกสงบและสบาย ถูกถ่ายทอดผ่านทั้งการออกแบบภายนอก ภายใน และการใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่จะทำให้คนที่เข้ามาในร้านหนังสือแห่งนี้รับรู้ได้ถึงบรรยากาศที่เชื้อเชิญให้พวกเขาเข้าใกล้กับหนังสือมากยิ่งขึ้น คนมาดื่มกาแฟก็สามารถมองเห็นหนังสือวางเรียงอยู่ในร้านได้ คนที่มาหาหนังสือก็แวะไปไปดื่มกาแฟได้ รวมถึงคนที่มางานเวิร์คชอป มาอีเวนท์ ก็ไปดูหนังสือต่อ หรือลองชิมกาแฟต่อได้เช่นกัน ทั้งสามฟังก์ชันในร้านถูกวางมาอย่างดีเพื่อให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดคนที่แวะเข้ามาทำความรู้จักกับอะไรสักอย่างในร้านนี้ ก็จะถูกนำพาไปสู่สิ่งอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเรามองว่ามันคือการออกแบบที่นำคนไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างนุ่มนวล ไม่บังคับ และเป็นธรรมชาติ
“การเลือกหนังสือมันเป็นกิจกรรมซึ่งให้อารมณ์ของความสงบ และใช้ความคิด ผมอยากให้ริมขอบฟ้าตอบโจทย์ได้มากที่สุดในมุมของนักอ่าน อยากให้เขามาใช้เวลา มามีความสุขกับที่นี่ และได้หนังสือที่เขารักกลับไป
“สำหรับคนที่ไม่ใช่นักอ่านที่นี่ก็สามารถเป็นประตูสู่การอ่านหนังสือเชิงลึกได้ เรานำเอาอะไรที่มันเป็นชีวิตของเขาอยู่แล้ว อย่างการมาร่วมกิจกรรม การมานั่งใช้เวลาในร้านกาแฟ เราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใกล้หนังสือได้”
สุดท้ายนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นนักอ่านตัวยง เป็นคนชอบความรู้ รักหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ที่นี่จะเป็นพื้นที่อันแสนสงบให้คุณได้ท่องไปในโลกของการอ่านอย่างสนุก หรือหากคุณเป็นแค่คนที่อยากแวะมาลองชิมกาแฟ มาถ่ายรูปกับร้านสวยๆ ที่นี่ก็ยินดีให้คุณได้มาใช้เวลาแห่งการผ่อนคลายของคุณได้ เผลอๆ คุณอาจจะเจอเข้ากับหนังสือปกสวยสักเล่ม ที่ยั่วยวนให้คุณพามันกลับไปด้วย ก่อนที่มันจะพาคุณไปสู่เรื่องราวที่คุณเองอาจจะไม่ได้สนใจมันมาก่อนก็เป็นได้
เรามองว่าร้านหนังสือริมขอบฟ้าจะเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของทุกคน และอย่างที่บอกที่นี่อาจเป็นประตูอีกบานหนึ่งที่เปิดให้เราเข้าไปทำความรู้จักกับอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะโลกแห่งความรู้ที่คุณอยากฟังจากที่ไหนสักที่ก็ได้นะ
ร้านหนังสือริมขอบฟ้า: ถนนจรัญสนิทวงศ์ ระหว่างซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 – 73
https://maps.app.goo.gl/xhb2AriGESMmGjRe6
MRT ลงที่สถานีสิรินธร (ประตู 3C) เดินมาร้าน ประมาณ 300 เมตร
เวลาเปิด-ปิด:
ร้านหนังสือริมขอบฟ้า: 09:00 – 19:00 น.
ร้านกาแฟ Black and Milk: 07:00 – 19:00 น.