ปณิธานปีใหม่นี้ ขอให้จดจำได้ว่าความทุกข์คือน้ำหนักที่เราถือไว้เพียงชั่วคราว

เดือนธันวาคมที่น่าจะสดชื่นสดใส อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นช่วงพายุมรสุมพัดเข้าชีวิตเสียอย่างนั้น ถ้าพูดให้เห็นภาพ คืนวันคริสต์มาสอีฟกับคืนผ่านเข้าสู่ปีใหม่ ฉันยังร้องไห้ก่อนนอนอยู่เลยคุณ 

ใช่ค่ะ นักจิตวิทยาที่คนส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะรับมือปัญหาชีวิตได้นี่แหละ มาตกม้าตายนอนร้องไห้เอาตอนสิ้นปี ท่ามกลางหน้าฟีดเฟซบุ๊กที่เพื่อนฝูงและคนรู้จักเขียนโพสต์ทบทวนชีวิตตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ฉันอยากจะพิมพ์สเตตัส ‘ไม่มีอะไรจะเขียนนอกจากอยากบอกว่า…ยังมีคนทุกข์เป็นเพื่อนอยู่ตรงนี้ค่าาาา’

เอาเข้าจริง ทุกข์ใจก็เรื่องธรรมดา พิจารณาดูแล้วพบว่าทุกเรื่องก็สมเหตุสมผลที่จะเครียดทั้งนั้น เพราะแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องเล็ก มีทั้งเรื่องสุขภาพ ความสัมพันธ์ และเศรษฐกิจให้เป็นกังวล 

แต่ประเด็นคือ พอมาทุกข์ใจในช่วงสิ้นปี แทนที่จะเป็นเดือนสุดท้ายที่ได้พักผ่อนหรือเฉลิมฉลอง กลับกลายเป็นวาระสะสางปัญหาและรื้อฝุ่นใต้พรม เมื่อภาพที่คาดหวังไว้มันหักมุมไปไกล ระดับความซัฟเฟอร์ก็เลยพุ่งสูง จากนั้นปฏิกิริยาภายในที่เกิดตามธรรมชาติก็คือ เราจะไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เราอยากจะหนีไปจากมวลอารมณ์ที่ใหญ่เลเวลสึนามิ แต่พอเราหนีไม่ได้ เราขอแฮปปี้ตอนนี้เลยไม่ได้ เราก็จะรู้สึกซัฟเฟอร์หนักขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง 

ทุกข์ใจในตัวเรื่องนั้นๆ ก็เรื่องหนึ่ง ทุกข์ใจที่ไม่หายทุกข์ใจก็อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นการจะคลี่คลายสถานการณ์ยากๆ นี้ เราต้องลดกำแพงชั้นนอกสุดออกก่อน 

ฉันคิดว่าจุดท้าทายที่สุดในการรับมือปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละ มันคือจุดวัดใจว่า ‘เราจะอยู่กับอารมณ์ที่เป็นทุกข์ตอนนั้น เพื่อเรียนรู้จากมัน แม้เราจะไม่ชอบมันเลย…ได้ไหมนะ?’

สารภาพกันตรงๆ ว่า หลายครั้งฉันก็ยังทำได้ยาก เพราะโดยธรรมชาติคงไม่มีใครชอบอยู่กับอารมณ์อึมครึม ไม่สดใส แต่ถ้าหนีจากมันไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีโอกาสได้มองและพิจารณามันตามความเป็นจริง และจะไม่ได้ยินเสียงในใจที่แท้จริงของตัวเอง ว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นและเป็นไป 

เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเลยเป็นช่วงที่ฉันกลับมาตั้งสติกับตัวเอง และหาทาง ‘อยู่’ กับอารมณ์ยากๆ ของตัวเองให้ดีขึ้น เหมือนสูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วตัดสินใจหย่อนก้นลงนั่งข้างเพื่อนคนหนึ่งที่เราไม่ค่อยชอบหน้า ไม่ต้องใกล้แบบแนบชิด แต่เว้นระยะโดยมีพื้นที่ให้ทั้งเราและเขามีพื้นที่หายใจ 

แล้วเริ่มรับฟังเขาอย่างตั้งใจอีกสักครั้ง 

หนึ่งในเหตุการณ์ยากๆ ของเดือนธันวาคมคือฉันทะเลาะกับคนใกล้ตัว จังหวะที่บทสนทนาพาทุกอย่างเข้ารกเข้าพง คู่กรณีขอแยกย้ายไปสงบสติอารมณ์แบบปุบปับ เหลือฉันนั่งอยู่คนเดียวบนรถ รู้สึกถึงก้อนน้ำหนักที่ถ่วงใจให้ดำดิ่งลงไปจากระดับปกติ 

“หนักจัง…” ฉันพูดออกมาแบบนั้นอย่างเหม่อลอย เพราะไม่คิดว่าสถานการณ์จะแย่ลง ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อ รู้แค่ว่าอยากปลดเอาก้อนน้ำหนักนั้นออก ตรงนั้น เดี๋ยวนั้น มันเป็นน้ำหนักที่ฉันไม่อยากแบก 

‘ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้นะ’ เสียงในใจพูดขึ้นมา แล้วก็มีอีกเสียงที่แย้งขึ้นมาว่า ‘แต่นี่มันรู้สึกแย่มากๆ เลยนี่นา ไม่เอาแล้วได้ไหม’ จากบาดแผลส่วนตัว เหตุการณ์ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จบลงสวยๆ ในวันนั้น สามารถกระตุ้นให้ฉันวิตกกังวลได้ข้ามวันข้ามคืน 

แต่ก่อนข้างในจะแตกตื่นไปมากกว่านั้น ฉันลงจากรถ พาตัวเองไปเดินเล่น แล้วก็ครุ่นคิดว่า ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น อย่างไรก็ต้องให้เวลาเราได้ตกตะกอน รีบไปก็เท่านั้น เดี๋ยวอะไรๆ คงคลี่คลายไปในแบบของมัน แต่ในระหว่างที่ก้อนน้ำหนักถ่วงใจนี้ยังอยู่ ฉันจะอยู่กับมันยังไงให้ดีขึ้นได้บ้าง จะอยู่ยังไงให้รู้สึกทรมานน้อยลงในเวลาแบบนี้ 

สักพักในหัวก็แวบขึ้นมาว่า ฉันจะลองมองก้อนน้ำหนักนี้เป็น ‘ถุงปุ๋ย’ ไม่ใช่ก้อนตะกั่วหนักๆ ที่ผูกถ่วงไม่ให้ฉันก้าวไปไหนได้ 

ทำไมต้องเป็นถุงปุ๋ย? ถุงปุ๋ยมีน้ำหนักก็จริง ตอนถือก็คงจะเหนื่อยและเมื่อยล้า แต่ปุ๋ยคือสารอาหารที่มีประโยชน์ สุดท้ายมันจะมีประโยชน์กับความสัมพันธ์ หรืออย่างน้อยก็ต่อการเรียนรู้ของฉันเอง 

พอลอง ‘ให้ชื่อ’ ก้อนความทุกข์นั้นเสียใหม่ พอค่อยๆ คิดตาม ฉันก็ค่อยๆ รู้สึกว่าตัวเองยอมรับสถานการณ์ได้มากขึ้น หายใจโล่งขึ้น ก้าวขาไปข้างหน้าได้สบายขึ้น ไม่ยืนห่อเหี่ยวอย่างเดิม 

โมเมนต์การเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นภายในระยะเวลาราว 5 นาทีเท่านั้น แต่เป็น 5 นาทีที่เป็นความมหัศจรรย์เล็กๆ สำหรับฉัน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีเรื่องที่เจ็บปวดใจมากๆ เกิดขึ้น ฉันจะคิดไปไกล แค่การทะเลาะครั้งเดียวก็อาจทำให้อยากวิ่งหนีไปจากความสัมพันธ์ สมองจะวิ่งวุ่นถึงวิธีเอาตัวรอดจากความเจ็บปวด แต่ 5 นาทีตรงนั้นและคำไม่กี่คำ ทำให้ฉันเริ่ม ‘อยู่’ กับสถานการณ์และมวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องรีบสลัดความรู้สึกทิ้ง และลบมันออกไปให้หมดจด 

เมื่อเป็นถุงปุ๋ย ไม่ใช่ก้อนตะกั่วที่ผูกติดไว้กับขา เราก็วางเขาลงได้ เราไม่ได้ถูกผูกโยงไว้กับน้ำหนักที่หนักอึ้งนี้ไปตลอดกาล 

ฉะนั้นแล้ว เราจึงไม่ต้องรีบหนีความทุกข์นั้นไปไหน เพราะรับรู้ว่าทุกข์ไม่ได้เข้ามาเพื่อทำให้วันของเราล่มสลาย 

การเปรียบเปรยเป็นถ้อยคำนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่พอมานึกย้อนดู ในเชิงจิตวิทยาก็มีวิธีที่ช่วยให้เรารับมือกับอารมณ์ความรู้สึกยากๆ ได้ ผ่านการ ‘แยกตัวเรากับมวลปัญหาออกจากกันก่อน’ 

การแยกที่ฉันอยากเล่าถึงในบทความนี้ คือการลองถอยตัวเองออกจากอารมณ์ที่วุ่นวายสักครู่ เพื่อให้เห็นในภาพกว้างว่าตอนนี้เรามีพายุอารมณ์อะไรพัดผ่านอยู่บ้าง คล้ายๆ เหมือนเราถอดร่างออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์หรือบุคคลที่สาม และตระหนักว่า ‘ตัวเรา’ และ ‘ปัญหาหรือสถานการณ์นั้น’ คือคนละสิ่งกัน 

บางครั้งเมื่อมองจากระยะไกล  เราก็มองเห็นอะไรชัดเจนขึ้น ไม่จมอยู่กับแง่มุมที่เจ็บปวดเพียงอย่างเดียว เราจะเริ่มเห็นว่า แม้เราจะตกอยู่ท่ามกลางพายุ แต่เราก็ไม่ใช่พายุ เรามีความเศร้า แต่ตัวเราไม่ใช่ความเศร้า เรามีความโกรธ แต่ตัวเราไม่ใช่ความโกรธ มวลคลื่นความรู้สึกเหล่านั้นมีหน้าที่พัดผ่านเข้ามา และพัดผ่านจากไปตามธรรมชาติ 

จุดสำคัญคือ เวลาที่ไม่รู้จะ ‘แยก’ ตัวเราออกจากอารมณ์พวกนั้นอย่างไร การเลือกใช้ ‘คำ’ ก็ช่วยได้ 

เพื่อนสนิทที่ทำงานด้านจิตวิทยาด้วยกันเคยเล่าว่า ถ้าเริ่มเห็นว่าในใจตัวเองหม่นๆ เธอจะมีคำที่เอาไว้ใช้เรียกมวลความรู้สึกนั้นอย่างน่ารักเพื่อพูดคุยกับตัวเอง เช่น “ไหน นังทัวร์ดี ช่วงนี้เจอกันอีกแล้ว เหลามาซิว่ามันเป็นอย่างไร” 

คำว่า ‘นังทัวร์ดี’ ทำให้ความทุกข์และปัญหากลายเป็นคนรู้จักคนหนึ่งที่แค่แวะมาเยี่ยมเยือนเป็นบางครั้งคราว ไม่ใช่คนน่ากลัวที่เราต้องวิ่งหนี ไม่ใช่คลื่นความรู้สึกท่วมท้นที่กำลังจะพาเราจมดิ่ง

ส่วน ‘ถุงปุ๋ย’ แม้จะเป็นคำที่ฟังดูตลก แต่มันก็ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศหม่นเทาในใจ ให้กลายเป็นภาพต้นไม้ที่ยังมีโอกาสเจริญเติบโตงอกงามได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

ในเวลาที่เป็นทุกข์ การตั้งชื่อให้ก้อนความทุกข์เสียใหม่ ก็ช่วยให้เรามองปัญหานั้นด้วยมุมมองใหม่ ในระยะสายตาและองศาที่เปลี่ยนไป 

ถึงเดือนธันวาคมจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายอย่างที่เล่าไป แต่ช่วงสิ้นปี ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับใครหลายคน มีบทสนทนากับคนสองคนที่ย้ำให้ฉันได้คิดเกี่ยวกับเรื่องพลังของถ้อยคำ

ช่วงที่กำลังว้าวุ่นใจ มีผู้ฟังพอดแคสต์ R U OK ที่ฉันเคยไปร่วมเป็น co-host ท่านหนึ่งทักมาพูดคุยส่วนตัวในเพจ เราได้แลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับการรับมือความวิตกกังวล (ที่ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน) คุยกันไปมา ฉันก็พิมพ์แชร์วิธีของตัวเองออกไปว่า การจะห้ามไม่ให้ตัวเองกังวลเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราแค่ค่อยๆ หาวิธีคุยกับ ‘ก้อนความกังวล’ ในน้ำเสียงใหม่ๆ เพื่อตกลงกับตัวเอง ก็ช่วยได้อยู่เหมือนกันนะ 

ตอนอ่านทวนก่อนส่งข้อความ ฉันสนใจที่ตัวเองใช้คำว่า ‘หาวิธีคุยกับก้อนความกังวลในน้ำเสียงใหม่ๆ’ ประหนึ่งว่าฉันมองอารมณ์กังวลนั้นเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ที่หากเราลองปรับน้ำเสียงและคำเรียกชื่อเขา เราสองคนอาจจะอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทะเลาะกันน้อยลง 

เป็นเรื่องน่าดีใจที่ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ เพราะหลายครั้งเราไม่รู้ตัวหรอกว่าที่ผ่านมาเรารับมือและผ่านพ้นปัญหามาด้วยวิธีไหน แต่พอต้องบอกเล่าให้ใครสักคนฟัง ความรู้ภายในก็หลั่งไหลออกมาโดยธรรมชาติ 

หลังจากนั้นพอผ่านปีใหม่มาไม่กี่วัน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ฉันเคารพนับถือเสมือนแม่อีกคนหนึ่ง ก็ให้คำแนะนำเรื่องการปรับความเข้าใจกับคนใกล้ตัวว่า เราควรเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่อารมณ์ (และอีโก้ของตัวเอง) คุกรุ่น

“มันอยู่ที่การใช้คำนั่นแหละนะ” แม่บอกสั้นๆ ให้ฉันไปคิดต่อ 

บทสนทนาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต แม้รายละเอียดจะต่างกัน แต่มันต่างย้ำความสำคัญว่า ‘คำ’ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ละเอียดอ่อน คำแต่ละคำมีพลังและความหมายของมัน มีคำที่สามารถทำให้เกิดแผล และมีคำที่ช่วยให้เกิดการเยียวยา คำจึงมีผลต่อความรู้สึกของผู้รับฟัง ทั้งคำที่เราพูดกับอีกฝ่าย และคำที่เราเลือกพูดกับตัวเอง 

ตอนที่ฉันรู้สึกว่าก้อนความทุกข์หนักเหมือนตะกั่วถ่วงขา ความทุกข์และความขัดแย้งก็กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย พอลองเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกความรู้สึกของตัวเองต่อความทุกข์ และความหมายที่เราให้ต่อประสบการณ์ความทุกข์นั้น ก็เปลี่ยนไปอย่างน่าอัศจรรรย์

คำคำเดียวทำให้ส่วนลึกในใจฉันตระหนักได้ว่า ทุกข์ไม่ได้มีไว้ให้แบกรับอย่างทรมาน เพราะระหว่างทางที่อดทนและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ฉันก็กำลังเจริญงอกงามในแบบของฉัน 

ดังนั้น คงจะดีหากเราไม่ลืมว่า แม้เราไม่อาจควบคุมให้ทุกวันเป็นอย่างใจนึก ไม่มีวันควบคุมไม่ให้ความทุกข์ก้าวเท้าเข้ามาหา แต่เรามีสิทธิ์จะ ‘ให้ความหมาย’ ในประสบการณ์ต่างๆ ที่เราเผชิญในแต่ละวัน 

เพื่อให้เรามองเห็นแง่งามในสิ่งนั้นๆ 

เพื่อให้เราอยู่กับปัญหาได้ 

เพื่อให้เราเข้าใจว่า เดี๋ยวสิ่งต่างๆ ก็ผ่านไป 

เพื่อจุดประสงค์ใดก็ได้ที่ช่วยให้เรายืนระยะในวันยากๆ ได้มากขึ้น 

และหนึ่งในเครื่องมือเรียบง่ายที่เราใช้ได้เสมอก็คือ ‘ถ้อยคำ’ ที่เรามีเป็นของเราเอง

สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น

  • เวลาท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกจนจัดการอะไรไม่ถูก ขั้นแรก ลอง ‘ถอย’ จากมุมที่กำลังรู้สึกท่วมท้นออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ เพื่อเว้นระยะให้สังเกตตัวเองได้ชัดเจนขึ้น (Self-distancing) เช่น เรียกชื่อตัวเองออกมาแล้วถามว่า “ตอนนี้เป็นอะไรอยู่นะ?” จากนั้นค่อยๆ ระบุว่ามีความรู้สึกอะไรอยู่บ้าง เช่น “อ๋อ เธอกำลังโกรธ แล้วก็เศร้ามากๆ ในเวลาเดียวกันเลย” 
  • หากรู้สึกว่าดีลกับก้อนความรู้สึกนั้นได้ยาก หรือยังไม่แน่ใจว่ารู้สึกอะไรอยู่ ลองใช้เทคนิคการ ‘ตั้งชื่อ’ ให้ความรู้สึกหรือปัญหานั้น เพื่อแยกตัวเราออกจากปัญหา (Externalization) และปรับมุมมองที่เรามีต่อปัญหานั้นๆ เช่น การตั้งชื่อความหนักอึ้งในใจว่า ‘น้องถุงปุ๋ย’ ก็ช่วยให้เราเห็นภาพว่าความทุกข์คือน้ำหนักที่เราถือไว้เพียงชั่วคราว และจะให้ประโยชน์กับเราได้ในอนาคต

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JCCHR

นักวาดภาพประกอบ ชอบแมว ชอบจังหวัดเกียวโตกับโอกินาวา ชอบกาแฟ และดูหนังฟังเพลงที่ชอบซ้ำหลายๆ รอบ