JCCHR ศิลปินที่ผสมผสานงานวาดมือกับดิจิทัลเพนต์เพื่อสร้างลายเส้นและสีสันสุดเซอร์เรียล

JCCHR คือศิลปินนักวาดภาพประกอบประจำคอลัมน์ Peace of Mine บนเว็บไซต์ a day ที่สร้างความประทับใจให้ผู้อ่านมากมาย ด้วยภาพวาดสไตล์เซอร์เรียลที่แสนละเมียดละไม

ต่างจากนักเรียนศิลปะส่วนใหญ่ที่เข็ดขยาดกับวิชาดรอว์อิ้ง ศิลปินสาวอย่าง JCCHR หรือ แนน–จิดาภา จันทร์สิริสถาพร คือคนที่ชื่นชอบการสเกตช์และร่างเส้นด้วยดินสอมาก จนมักจะเก็บลายเส้นต้นฉบับนั้นไว้ในงานเสมอ แม้ว่าเธอจะนำภาพนั้นไปลงสีด้วยเทคนิคดิจิทัลเพนต์ก็ตาม 

“เทคนิคงานที่เราใช้จะค่อนข้างหลากหลาย เราชอบทั้งงานดิจิทัลและ traditional เพราะส่วนตัวคิดว่าแต่ละเทคนิคมีเสน่ห์และวิธีการที่ยาก-ง่ายต่างกัน เวลาได้โจทย์ในการทำงานเราก็จะเลือกเทคนิคที่ดูเหมาะกับงานได้หลากหลายขึ้น ตามความยาก-ง่ายหรือระยะเวลา ซึ่งเป็นความสนุกในการทำงานด้วย”

JCCHR

ย้อนกลับไปสมัยเรียน แนนเริ่มต้นทำงานภาพประกอบลงเว็บไซต์ส่วนตัวมาตั้งแต่ตอนเรียนปี 3 ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้มีคนรู้จักและติดต่อเธอทำงานภาพวาดอยู่เรื่อยๆ ทำให้เจ้าตัวได้ฝึกหัดลายเส้นอยู่เสมอ

จุดเปลี่ยนหนึ่งบนเส้นทางการวาดของแนนคือตอนที่เธอตัดสินใจเดินทางไปเรียนภาษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นทำให้เธอได้มีโอกาสทำงานให้กับ Samsung Japan เมื่อปี 2017 

“โปรเจกต์นี้ทำให้ต้องคิดว่าคาแร็กเตอร์จริงๆ ของงานเราเป็นยังไง และเราอยากจะสื่อสารความเป็นตัวเองออกไปแบบไหนในเวลาที่จำกัด ตอนนั้นคิดว่ามี object, โทนสี หรือเส้นโค้งที่เราถนัดวาดอยู่ เพราะเราหมกมุ่นที่จะวาดมันมาตั้งแต่สมัยเรียน เลยอยากจับมาพัฒนา เพราะถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนชอบงานที่สีสันสดใสกับลายเส้น แต่พอทำงานที่สีสันเยอะๆ ทำให้บทบาทของลายเส้นมันดร็อปลง เลยลองพยายามหาจุดบาลานซ์ ไม่ให้ทั้งสองอย่างแย่งซีนกัน” 

JCCHR

“ด้วยความที่พื้นฐานเราเป็นคนชอบดรอว์อิ้งมาก รู้สึกว่าเส้นที่วาดเข้ากับน้ำหนักมือตัวเองที่สุด แต่ละครั้งที่วาดเราจะจริงจังกับโครงสร้างมาก ทุกอย่างสัดส่วนต้องเป๊ะเท่าที่จะทำได้ (หัวเราะ) ทำให้ก่อนหน้านี้ลายเส้นของเราจะออกไปทางเรียลลิสติกมาก ช่วงหลังเราลองลดทอนความจริงจังของเส้นลง ทำให้โครงสร้างที่เราวาดผ่อนคลายขึ้น และทำให้เราวาดสนุกขึ้นด้วยค่ะ

นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ในเชิงเทคนิค คอนเซปต์ไอเดียในการวาดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาพวาดของแนนสะดุดตา เธอเล่าว่าวัตถุดิบสำคัญโดยมากจะมาจากสิ่งรอบตัวที่เธอเสพอย่างสม่ำเสมอ 

“เราชอบจับบรรยากาศหรือมวลอารมณ์ของสิ่งเหล่านั้นมาตีความในเชิงนามธรรม และถ่ายทอดออกมาให้คนเห็นเป็นวิชวลเซอร์เรียลเพื่อเปิดโอกาสให้คนดูได้ตีความเองอีกทีหนึ่ง”

ใครอยากเห็นภาพแนวคิดการทำงานของ JCCHR ให้มากขึ้น ลองตามไปดูผลงานทั้ง 5 ชิ้นที่แนนคัดมาให้ดู พร้อมบอกเล่าวิธีคิดและเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นอย่างละเอียด

JCCHR

Kekkonshiki

“ความหมายของชื่อภาพแปลว่าพิธีแต่งงาน แรงบันดาลใจของภาพนี้เกิดจากการที่เราชอบไปเปิดดูรูปฟิล์มที่ถ่ายพิธีการต่างๆ ซึ่งที่บ้านมีเก็บเอาไว้เยอะมาก เพราะพ่อกับแม่เราชอบถ่ายฟิล์มทั้งคู่ แล้วเราชอบมู้ดการถ่ายรูปพรีเวดดิ้งสมัยก่อนที่จะมีการจัดท่าทางออกมาเป็นทางการๆ เลยเอาค่านิยมตรงนั้นมาใช้กับภาพนี้

“แต่การตีความการแต่งงานสำหรับเราคือ ทั้งสองฝ่ายสามารถยอมรับตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่ายเอาไว้ได้อย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านที่สวยงามหรือไม่ โดยที่แต่ละฝ่ายก็สามารถรักษาความเป็นตัวเองเอาไว้ได้ด้วย”

JCCHR

You Are So Lucky To Be Yourself

“คอนเซปต์ของภาพนี้เกิดจากความคิดของเราว่าการที่คนเราได้เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจเสียงจากภายนอกเป็นเรื่องที่โชคดีที่สุด เราแทนตัวคนด้วยน้องแมว (ที่ได้โมเดลเป็นแมวของเราเอง) มองเข้าไปในกระจกแล้วสะท้อนเป็นแมวกวักที่มีความหมายสื่อถึงความโชคดี ส่วนเหรียญที่ห้อยคอนั้นเป็นคำว่า ‘ตัวเอง’

“พลุที่กระจายอยู่รอบๆ เหมือนเป็นประกายที่ส่องสว่างสื่อถึงคุณค่าภายในตัวตนของทุกคน เพราะเราอยากสื่อสารว่าทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเองที่แตกต่างและไม่มีใครมาบิดเบือนมันได้ ถ้าทุกครั้งที่ส่องเข้าไปในกระจกคุณเห็นคุณค่าในตัวเอง”

JCCHR

Tiger Lily

“ภาพนี้เกิดขึ้นช่วงที่เรากลับไปดูเรื่องปีเตอร์แพน ปี 1953 ของ Disney ไทเกอร์ ลิลลี่ เป็นตัวละครที่เราชอบที่สุด เพราะเป็นเด็กผู้หญิงที่พูดและแสดงออกแค่เท่าที่จำเป็น มีความทะนงตัวแบบชาวอินเดียนแดง แต่อีกด้านหนึ่งก็ร่าเริงสดใสแบบเด็กผู้หญิง เราเลยตีความออกมาตามชื่อเลย ในภาพจึงเป็นเสือที่มีลายบนตัวเป็นดอกไทเกอร์ลิลลี่ 

“อันที่จริงสีของดอกไม้จะต้องเป็นสีส้ม แต่เราอยากให้มันดูเซอร์เรียลขึ้นอีกนิดเลยเปลี่ยนเป็นสีชมพูที่เราชอบ ส่วนตัวเสือเป็นสีฟ้า มาจากสีขนของแมวที่เราเลี้ยง มันจะเป็นสีเทาออกฟ้าหม่นๆ แต่ชื่อโค้ดสีที่คนเรียกกันคือบลู เราก็คิดว่าถ้าขนเป็นสีฟ้าชัดๆ แล้วเอามาใส่ในภาพเลยคงจะสนุก” 

JCCHR

Kimi to Watashi

“ไอเดียของภาพนี้มาจากเพลง FUSHIGI ของ Gen Hoshino เป็นเพลงที่ฟังแล้วเราเข้าถึงความรู้สึกต่างๆ ทั้งความชอบ ความคิดถึง และการมีระยะห่างที่พอดีต่อกันในความสัมพันธ์ เลยอยากให้ภาพนี้สื่อออกมาถึงความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย เหมือนคนสองคนที่ชมจันทร์ด้วยกันในคืนหน้าร้อน”

JCCHR

Us

“ภาพนี้มาจากประโยคหนึ่งในเนื้อเพลง Umi no Yuurei ของ Yonezu Kenshi ที่ว่า 大切なことは 言葉にならない หมายถึง ‘สิ่งสำคัญไม่อาจสื่อออกมาได้ด้วยถ้อยคำ’ ซึ่งมันเป็นประโยคที่อิมแพกต์กับเรามาก ประกอบกับทำนองเพลงที่เหมือนคลื่นทะเลซัดเข้ามาแล้วกลืนเราเข้าไปตลอดทั้งเพลง ทำให้เราประทับใจและวาดภาพนี้ออกมา

“สิ่งที่เราอยากสื่อสารออกมาคือ การกระทำนั้นสำคัญกว่าคำพูดเสมอ เด็กผู้ชายที่ภายนอกสีหน้าเรียบเฉยแต่ประคองใบหน้าของเด็กผู้หญิงอย่างอ่อนโยน เราเห็นบรรยากาศภาพนี้ในงานเทศกาล ท่ามกลางสายรุ้งที่ห้อยหล่นลงมา เราเอาตรงนั้นมาใส่บนหัวคนเป็นการบอกใบ้ความรู้สึกที่อยู่ภายใน และถ้ามองภาพไกลๆ จะเห็นว่าภาพคนออกมาเป็นรูปหัวใจด้วย”

AUTHOR