โลกอุ่นขึ้นหลายเท่าเมื่อรู้ว่าเราไม่ได้เผชิญเรื่องนั้นอยู่แค่คนเดียว

“แก ชั้นมีเรื่องอยากเล่า”

“ฝ้าย นอนรึยัง มีเรื่องอยากปรึกษาหน่อย” 

“เธอออออออ ขอฉันพิมพ์บ่นทิ้งไว้ TT” 

“มึง ชีวิตแม่งยากกับกูจริงๆ” 

ตั้งแต่ยุคที่คุยกันผ่านโทรศัพท์ ผ่านมาถึง msn, ไลน์, เฟซบุ๊ก ฯลฯ กิจกรรมพูดคุยกับเพื่อนและรับฟังเรื่องราวต่างๆ เป็นกิจวัตร ทำให้ฉันผู้ไม่ถนัดกีฬาหรือดนตรีใดเป็นพิเศษ ระบุความสามารถพิเศษในใบสมัครฝึกงานไว้อย่างมั่นใจว่า ‘เป็นศิราณี’ (ศิราณีในความทรงจำ = ผู้รับฟังปัญหาทุกข์ชาวบ้านด้านความรักและให้คำปรึกษา) 

สมัยนั้นยังไม่มีใครพูดถึงนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์มากมายนัก support system หรือข่ายใยที่คอยสนับสนุนชีวิตหลักๆ ที่เรามี ถ้าไม่ใช่คนในบ้าน ก็เพื่อนนี่แหละช่วยฉุดเราขึ้นมาจากหนองน้ำอุดมน้ำตา ธรรมเนียมสำหรับคนสนิทคือ ส่วนใหญ่เราจะแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เป็นทุกข์ของกันและกัน ฟังเพื่อนจบ ฉันก็ได้รับการถามไถ่ว่าชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง และได้บอกเล่าอะไรสักอย่างออกมา แต่ต่อให้เป็นคนที่ไม่ได้คุยกันบ่อย การรับฟังเรื่องราวของอีกคนก็ทำให้ได้คิดอะไรหลายอย่างกับตัวเองเหมือนกัน 

‘ไม่ใช่ว่าแกเป็นทุกข์อยู่คนเดียวสักหน่อยนะ’ ประโยคนี้มักแวบเข้ามาในใจ เหมือนมือล่องหนที่คอยตบบ่าฉันเบาๆ เสมอ 

เมื่อเข้ามาเรียนต่อด้านจิตวิทยาการปรึกษาจริงๆ จังๆ เวลามีคนถามว่ารู้สึกไม่โอเคเลย ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร หากฟังแล้วรู้สึกว่าปัญหานั้นควรได้รับการรักษาตั้งแต่ ‘ต้นตอ’ ฉันจะแนะนำว่าลองหานักจิตวิทยาการปรึกษาสักคนดูไหม จะได้มีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ปลอดภัยต่อใจ 

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ฉันพบว่าตัวเองระมัดระวังมากขึ้นที่จะให้คำปรึกษา เพราะไม่แน่ใจว่าเราในฐานะเพื่อนหรือคนรู้จักจะพูดอะไรที่มีอคติของเราปะปนมากไปไหม เราไม่รู้ตื้นลึกหนาบางทั้งหมด ฉันพบว่าตัวเองคิดนานขึ้นก่อนตัดสินใจพูดอะไรกลับไป จนบางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นธรรมชาติเท่าเก่า 

นึกย้อนดู นับตั้งแต่ปีที่แล้ว มีเพื่อนฝูงและคนรู้จักรอบตัวทักมาขอคอนแทกต์นักจิตวิทยารวมๆ กันน่าจะถึงหลักสิบคนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก แสดงว่าคนตระหนักในสิทธิการดูแลใจตัวเองมากขึ้น และนับว่าการเดินเข้าไปใช้บริการจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาสักคนคือหนึ่งในหนทางเยียวยาที่เลือกทำได้

แต่แล้วฉันก็พบว่า ไม่ใช่ว่ากระบวนการระหว่างทางจะง่ายและรวดเร็วสำหรับทุกคน 

ปัญหาคลาสสิกก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเงินที่ทำให้เจ้าตัวต้องตัดสินใจเยอะก่อนติดต่อไปขอรับบริการ ปัญหาความคลิกไม่คลิกกับผู้ให้บริการที่ได้เจอ (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้) และปัญหาด้านเวลา กว่าจะได้รับบริการก็อาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าคิวจะวนมาถึง ว่ากันตามตรง บุคลากรด้านสุขภาพจิตในบ้านเราก็ยังมีน้อย กว่าคนคนหนึ่งจะเรียนจบจนให้บริการได้อย่างเชี่ยวชาญก็ต้องอาศัยเวลาหลายปี ปัญหา demand กับ supply ไม่สมดุลกันเลยยังคงอยู่อย่างไม่น่าแปลกใจ

ฉันในฐานะผู้รับบริการก็เคยประสบปัญหาที่ว่า แถมการจะเดินเข้าไปหาคนไม่รู้จักสักคนแล้วนั่งพ่นเรื่องที่จะทำให้เราร้องไห้ได้ใหม่ มันอาศัยพลังงานและความกล้าปริมาณหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกสบายใจในขั้นตอนนั้น 

ถึงอย่างนั้น หมวกนักจิตวิทยาที่สวมอยู่ก็ทำให้ฉันอยากแนะนำให้แต่ละคนลองสำรวจหนทางการดูแลตัวเองที่ยั่งยืนขึ้น ส่วนตัวเองก็พยายามลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่ช่วยรักษาคุณภาพใจตามตำราว่าไว้ พวกเรากำลังหัดดูแลตัวเองด้วยวิธีการใหม่ๆ (ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมากขึ้น) แต่เรื่องง่ายๆ ที่ฉันลืมไปสนิทใจคือ ฉันในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งได้รับฟังน้อยลง และได้บอกเล่าน้อยลง อย่างน่าใจหาย 

ฉันเริ่มหลงลืมระหว่างทางที่เราต่างคนต่างแค่มานั่งปรับทุกข์ แล้วก็หัวเราะให้กัน ไม่ว่าจะหัวเราะด้วยความตลกขบขันในเรื่องราว หรือหัวเราะประชดใส่ตลกร้ายของชีวิตบ้าง โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องพยายามเป็นใคร ไม่ต้องพยายามวิ่งไปที่ไหน แค่อยู่ตรงนั้นด้วยกัน

มือล่องหนที่คอยตบบ่าจึงหายไป ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ตัว

“เวลาไม่รู้จะทำยังไง ง่ายๆ คือยกหูหาเพื่อนเลย” คือประโยคของพี่ดุจดาวที่เซอร์ไพรส์ฉันเล็กๆ ตอนเป็น co-host ในพอดแคสต์ R U OK 

ฉัน (ในฐานะนักจิตวิทยามือใหม่) พยายามเติมข้อมูลความรู้ใส่หัวเพื่อให้ตัวเอง ‘มีอะไร’ ไปบอกเล่าในรายการ ถ้ามีคนถามว่าเวลาเหงา เป็นทุกข์ ทำยังไงดีคะ? ฉันจะได้พร้อมตอบข้อมูลที่มีประโยชน์ แต่พอพี่ดาวพูดประโยคง่ายๆ นั้นในฐานะวิธีปฐมพยาบาลตัวเองขั้นต้นก่อนถึงมือผู้เชี่ยวชาญ มันเคาะหัวฉันดังๆ เลยว่า บางทีแกแค่กลับมาเป็นมนุษย์ง่ายๆ ก่อนก็ได้ 

‘just say it … แค่เล่ามันออกมาก่อนเท่านั้นเอง’ บางครั้งฉันต้องกล่อมและง้างปากตัวเองอยู่นาน

ตั้งแต่ปีใหม่มาก็มีเรื่องราวประปรายรายทางที่ท้าทายมากขึ้นตามอายุ แต่มันดันเป็นช่วงที่ฉันได้คุยกับคนรอบตัวมากเป็นพิเศษ ทั้งหมดล้วนเป็นบทสนทนาที่ทำให้เห็นฉากหลังชีวิตที่แท้จริงที่เราไม่มีวันได้เห็นจากเบื้องหน้า ใครคนหนึ่งที่กำลังฉลองความสำเร็จในหน้าที่การงานกำลังร้องไห้เพราะความรัก ใครคนหนึ่งที่เราเข้าใจว่าเขากำลังได้พักผ่อนช่วงวันหยุด กำลังรับมือประสบการณ์เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างเข้มข้น 

ส่วนฉันเอง ก็ได้รับรู้ว่าเมื่อมองจากภายนอก ทุกคนก็เห็นภาพสดใส ความสัมพันธ์ลงตัว เส้นทางการงานสว่างไสว ไม่ได้แปลว่านั่นเป็นเรื่องไม่จริง หรือเป็นการจัดฉาก เพียงแต่เมื่อเราละการเล่าถึงมุมเหน็ดเหนื่อย เราทั้งหมดก็ต่างเข้าใจไปว่า คนรอบตัวดูมีชีวิตที่โอเคในมิติภาพรวม และหลงลืมไปว่าเราต่างมีเรื่องให้ฝ่าฟันและผ่านพ้นในชีวิตไปด้วยกันเสมอ ไม่มีใครไม่เจอเรื่องยาก

สายวันหนึ่งหลังผ่านมรสุม PMS (กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน) มาหมาดๆ หัวยังหนักๆ ไม่สดชื่น ฉันโทรหาเพื่อนที่ไม่ได้คุยกันมาพักใหญ่

“ขอถามอะไรที่ฟังดูคลิเช่หน่อยสิ” ปลายสายเอ่ยขึ้นมา แล้วอธิบายว่าตัวเองกำลังมีความกลัวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตแบบที่ฉันก็เคยเป็น แล้วก็ถามต่อว่า ถ้าเป็นแบบนั้นเราควรทำยังไงดี  

‘ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้น เราจะทำอย่างไรดี?’ ฉันทวนคำถามของอีกฝ่ายในหัว 

อาจเพราะสมองตื้อๆ ทำให้คิดไม่ออกในทันทีว่าตอนนั้นฉันผ่านมาได้ยังไง แต่ในเมื่อออกตัวแล้วว่าวันนี้เราจะคุยในฐานะเพื่อน ฉันก็ค่อยๆ พูดออกไปว่า

“อย่างแรก เราจะบอกว่าเราก็เคยรู้สึกแบบนี้” ฉันเงียบและหยุดคิดอีกหน่อย ยังไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จอะไรหรอกในชีวิตจังหวะนั้น เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะทำยังไง เรามีแต่ความกลัวต่ออนาคตเท่านั้น ให้พยายามบอกตัวเองแค่ไหน ความรู้สึกนั้นก็ยังคงอยู่ เหมือนที่เพื่อนสนิทอีกคนที่เพิ่งเลิกกับแฟนพูดว่า สมองน่ะเข้าใจ แต่ใจมันยังรู้สึก เวลาแบบนั้น ถ้าบอกให้รีบหยุดเสียใจ ก็จะยิ่งเสียใจ แล้วคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ฉันในเวลานั้นไม่รู้เลย

ก่อนไปถึงคำตอบ วิธีการ หรือทางออก ฉันนึกย้อนถึงคำถามอีกครั้ง แล้วพูดสิ่งที่เพิ่งคิดได้ในวินาทีนั้นออกมาตรงๆ มันเป็นจุดที่ฉันก็ไม่เคยนึกถึง

“แต่…ถ้าบอกว่ามันเป็นคำถาม ‘คลิเช่’ แสดงว่าจริงๆ แล้วก็มีคนเยอะมากเลยที่เคยรู้สึกแบบนี้ แสดงว่ามันเป็นจุดที่ทุกคนต้องเคยผ่าน เราก็เป็นหนึ่งในนั้น” 

เพียงเท่านั้น เสียงรับคำจากปลายสายก็ดูผ่อนคลายลงอย่างสัมผัสได้ 

คุยกันอีกสักพัก เมื่อวางสายไปก็มีข้อความขอบคุณส่งตามมา ฉันไม่ได้ให้คำตอบด้วยซ้ำว่าขั้นตอน 1-2-3-4 ที่ควรทำคืออะไร เพราะประสบการณ์ดั้งเดิมและวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละคนย่อมต่างกัน แต่อีกฝ่ายก็ย้ำว่า นี่คือการช่วยเหลือที่ตรงจุด มันปัดเป่าความทุกข์ส่วนหนึ่งออกไปอย่างชัดเจน

ฉันอ่านข้อความอย่างประหลาดใจ ตามมาด้วยความรู้สึกมีพลัง 

เมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญไม่ใช่เรื่องใหม่ เรายังมีเพื่อนร่วมทางที่เคยมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน แม้แต่ละคนจะเลือกเส้นทางเดินต่างกันในสถานการณ์นั้น แต่สุดท้ายเราได้รู้ว่า เราไม่ได้กำลังก้าวผ่านไปคนเดียว ข้างหน้ายังมีคนคอยอยู่เพื่อยืนยันว่าเขาได้ผ่านมาแล้ว ข้างๆ ยังมีคนที่พยายามและล้มลุกคลุกคลานไปด้วยกัน เพียงเท่านั้นความกลัวข้างในก็อ่อนกำลังลง 

สิ่งที่เผชิญอยู่คือเรื่องธรรมดา ความรู้สึกที่รับมืออยู่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องหลีกหนี และเธอไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ฉันในฐานะผู้รับฟังและบอกเล่าเรื่องราว ได้รับความรู้สึกนี้เป็นของขวัญเสมอ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง 

“แกเป็นนักจิตฯ ที่ชั้นคุยแล้วสบายใจที่สุดเลย” ไม่กี่วันก่อน ปลายสายอีกคนบอกด้วยน้ำเสียงสดใส เธอพูดแบบนี้มาสองครั้งแล้ว ตลอดการสนทนาเราก็คุยกันแบบเพื่อนฝูง เพียงแต่เธอได้ไปใช้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยามาก่อนหน้านี้แล้วพบว่ายังไม่คลิก ซึ่งเธอเข้าใจว่ามันเป็นเพียงธรรมชาติระหว่างคนสองคนที่แตกต่างกัน 

“ชั้นไม่ได้เก่งอะไร เราแค่รู้จักกันดี” ฉันหัวเราะแล้วบอกกลับไปแบบนั้น แล้วก็ได้คิดกับตัวเองว่า สุดท้ายความเข้าอกเข้าใจและยอมรับในตัวตนอีกฝ่าย และการแสดงออกว่าเราจะอยู่เคียงข้างกันในเวลายากๆ แม้ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็คือหนึ่งในการเยียวยาที่มีพลังที่สุดอยู่ดี 

การได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อน (มนุษย์) คนอื่น ทำให้เราอ้าแขนรับอย่างกล้าหาญมากขึ้นว่า ชีวิตก็ยากแบบนี้ แต่ถ้ายังอยู่ข้างกัน เราจะไม่เป็นไร 

เนื้อหาตอนหนึ่งในหนังสือ Maybe You Should Talk to Someone (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อ เพราะนี่คือสิ่งที่ (นักจิตวิทยา) ไม่เคยบอก) ที่ฉันประทับใจ คือตอนที่ โลริ นักจิตบำบัดตัวเอกของเรื่องเล่าถึง จูลี่ ผู้รับบริการซึ่งกำลังรักษามะเร็งมาพบเธอเพื่ออัพเดตสถานการณ์ จูลี่อยากมีชีวิตอยู่ และได้พยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่มะเร็งไม่ยินยอมพร้อมใจไปด้วย เธอกำลังจะตาย 

มันเป็นโจทย์ที่โหดหินสำหรับนักบำบัด เราจะช่วยคนตรงหน้าให้รู้สึกดีขึ้นบ้างสักนิดได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตมันตลกร้ายออกปานนั้น ไม่มีคำถามแล้วว่า ‘หากเกิดเรื่องราวนั้นจริงๆ เราจะทำอย่างไรต่อไป?’ การพูดคุยเหลือเพียงขั้นตอนเตรียมตัวเตรียมใจก่อนลาจาก ทั้งสองพูดคุยกันจนกระทั่งจูลี่พูดว่า ต่อจากนี้เธอคงจะคิดถึง ‘ชีวิต’ แล้วก็สบถคำว่า “แม่ง แม่ง แม่งเอ๊ย!” ออกมายกใหญ่ ถัดจากนั้นเธอก็หัวเราะและขอใช้หนึ่งนาทีสุดท้ายของชั่วโมงนั้นทำเรื่องแปลกๆ ด้วยการชวนโลริมาสบถด้วยกัน 

โลริรู้ชัดขึ้นมาว่า แม้เธอจะให้ความหวังจูลี่ในการมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ แต่นี่คือสิ่งที่เธอช่วยจูลี่ได้ในวินาทีนั้น มันคือการอยู่เคียงข้างกัน แล้วสองคนก็ตะโกนจนลั่นห้องไปด้วยกัน ก่อนจะกอดลา 

คงไม่ต้องเฉลยใช่ไหมว่าทำไมฉันรักเนื้อหาตอนนี้เป็นพิเศษ 

สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น 

  • สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรารับมือปัญหาตรงหน้าได้อย่างมั่นคงและเมตตาตัวเองมากขึ้น คือการรับรู้ว่าเหตุการณ์ความทุกข์และความบกพร่องในชีวิตต่างๆ เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนล้วนประสบร่วมกัน (Common Humanity) 
  • การบอกเล่าเรื่องราวกับใครสักคนที่ไว้ใจ ไม่ได้ช่วยคลายทุกข์ผ่านการได้ระบายในพื้นที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราทบทวนเหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึกภายใน จนได้ตกตะกอนและเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้นในเบื้องต้น ดังนั้นในเวลาที่เริ่มจมกับความทุกข์และยังไม่ถึงมือนักบำบัด ลองยื่นมือไปหา Social Support หรือการสนับสนุนทางสังคมที่เรามี โดย ‘เปิดประตู’ ไปคุยกับใครสักคนที่แน่ใจว่าเขาจะให้พื้นที่รับฟัง 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JCCHR

นักวาดภาพประกอบ ชอบแมว ชอบจังหวัดเกียวโตกับโอกินาวา ชอบกาแฟ และดูหนังฟังเพลงที่ชอบซ้ำหลายๆ รอบ