คลินิกแทนเจอรีน : ศูนย์สุขภาพชุมชนสำหรับคนข้ามเพศที่ดูแลกันทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

Highlights

  • ศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน หรือเรียกสั้นๆ ว่าคลินิกแทนเจอรีน เป็นศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มีเจ้าหน้าที่เป็นคนข้ามเพศ และมีบุคลากรที่เข้าใจเรื่องความหลากหลาย
  • บริการของคลินิกแทนเจอรีน มีตั้งแต่ให้คำแนะนำด้านการใช้ฮอร์โมน ตรวจเช็กความพร้อมสภาพร่างกายก่อนใช้ฮอร์โมน ดูแลสุขภาวะทางเพศ ดูแลช่องคลอดใหม่ ตรวจ HIV ให้บริการยา PrEP/PEP เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งให้การรักษา
  • นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายแล้วก็มีการดูแลสุขภาพใจ พร้อมรับฟัง ให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่คนข้ามเพศต้องเจอด้วยเช่นกัน

สำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคมที่อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ตรงกับเพศกำเนิด (sex) การไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็กสภาพร่างกายและรักษาอาการเจ็บป่วย เป็นเหตุการณ์ทั่วไปที่เราไม่ติดใจ

แต่กับคนข้ามเพศ (transgender) ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นชายข้ามเพศหรือหญิงข้ามเพศ การไปรับบริการทางสุขภาพที่โรงพยาบาลนั้นอาจชวนให้เครียดหรืออึดอัดใจกันได้ง่ายๆ เริ่มตั้งแต่การถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลซักถามด้วยน้ำเสียง คำพูดคำจา หรือกริยาท่าทางที่แฝงไปด้วยการเหมารวม ตั้งแง่ ตีตรา หรือการประกาศเรียกชื่อด้วยคำนำหน้าตามเพศกำเนิดออกลำโพง ทำให้คนรอบข้างหันมามอง บ้างก็ชี้ชวนให้เพื่อนดู ถามคำถามส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ เป็นต้น จนคนข้ามเพศหลายคนไม่สบายใจในการไปโรงพยาบาล และไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างที่ควรเป็น

ศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อความสบายใจในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพของคนข้ามเพศโดยเฉพาะ

เพราะมองเห็นอุปสรรคในการเข้าถึงด้านสุขภาพของคนข้ามเพศ บวกกับงานวิจัยจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติที่ชี้ให้เห็นว่าหญิงข้ามเพศมีโอกาสมีเชื้อ HIV สูงโดยไม่ได้รับการตรวจหรือรักษาอย่างที่ควร ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จึงเริ่มความคิดที่จะเปิดคลินิกที่ให้บริการคนข้ามเพศขึ้นมา และเพื่อให้แน่ใจว่าคลินิกนี้จะตอบสนองความต้องการทางด้านสุขภาพของคนข้ามเพศได้ดีที่สุดและเป็นตัวอย่างในการให้บริการทางสุขภาพที่มีความละเอียดอ่อนต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงมีการจัดประชุมครั้งใหญ่เพื่อให้ชุมชนคนข้ามเพศได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคลินิกขึ้นมาด้วยกันตั้งแต่ต้น

เริ่มจากการรับฟังปัญหาที่ทุกคนพบเจอ ฟังความต้องการของชุมชนว่าอยากให้มีการให้บริการอะไรบ้าง ไปจนถึงอยากให้คลินิกทำงานวิจัยเรื่องไหน จนได้ออกมาเป็นโมเดลคลินิกคนข้ามเพศที่ให้บริการแบบองค์รวมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน หรือเรียกสั้นๆ ว่าคลินิกแทนเจอรีน ตั้งอยู่ภายในคลีนิคนิรนามบนถนนราชดำริ มีหัวหน้าคลินิกและเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนข้ามเพศ 5 คน และให้บริการโดยแพทย์-พยาบาลที่แม้จะไม่ใช่คนข้ามเพศ แต่ก็มีความเข้าใจความหลากหลายเป็นอย่างดี

เจี๊ยบ–กฤติมา สมิทธิ์พล หัวหน้าคลินิกแทนเจอรีนเล่าให้ฟังว่า ก่อนคลินิกแทนเจอรีนเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2015 มีการประชุมรวมของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดตั้งแต่แพทย์ พยาบาล ไปจนถึงแม่บ้านและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ สิ่งที่ควร-ไม่ควรทำ และจัดประชุมซ้ำทุกปีเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีความละเอียดอ่อนมากพอ

ส่วนชื่อ ‘แทนเจอรีน’ นั้น ก็มาจากการเสนอและโหวตกันของคนในชุมชนคนข้ามเพศเองเช่นเดียวกับสโลแกน ‘Where transition fulfills identity’ ซึ่งคำว่า Tangerine เป็นการเล่นคำมาจาก transgender สามารถเขียนย่อออกมาเป็น TG ได้เหมือนกัน และความหมายโดยตรงอย่าง ‘ส้ม’ ก็ถูกหยิบมาใช้เป็นธีมสีของคลินิกที่ให้ความรู้สึกในเชิงบวก สดใส สดชื่น เป็นมิตรกับผู้มาเยือนนั่นเอง

ดูแลสุขภาพร่างกาย

ในยามเช้าวันทำงาน ผู้คนยังเข้ามาเยี่ยมเยียนคลินิกแทนเจอรีนเพียงประปราย เราจึงถือโอกาสเข้าไปนั่งคุยกับเจี๊ยบเรื่องการให้บริการของคลินิก

“สิ่งที่คนให้ความสำคัญเยอะมากจากการประชุมครั้งแรก คือความรู้ในการข้ามเพศและการใช้ฮอร์โมน” เจี๊ยบว่า ก่อนจะอธิบายให้เราฟังว่า ไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนที่ต้องการฮอร์โมนหรือทำศัลยกรรม แต่คนส่วนใหญ่มีความสนใจในการใช้ฮอร์โมน สำหรับคนที่ซื้อฮอร์โมนใช้เองอยู่แล้ว ก็จะแนะนำว่าควรใช้ฮอร์โมนอะไร ขนาดไหน ควรดูแลตัวเองอย่างไร เพราะผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ฮอร์โมนมีหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ส่วนคนที่ยังไม่เริ่มใช้ฮอร์โมน คลินิกจะทำหน้าที่ซัพพอร์ต ตรวจร่างกายว่าสามารถรับฮอร์โมนได้ไหม มีโรคประจำตัวอะไรที่ควรรักษาหรือดูแลก่อน

“เราให้คำแนะนำ คุยกับเขาว่าถ้าเริ่มใช้ฮอร์โมนจะรับผลกระทบที่ตามมาได้หรือเปล่า เช่น ที่บ้านว่ายังไง ที่โรงเรียน ที่ทำงาน ถ้ามีแฟน แฟนว่ายังไง เขาจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขนาดไหน แต่เราไม่ได้อนุมัตินะว่าเขาจะเริ่มได้หรือไม่ได้ เขาต้องตัดสินใจเอง” เธอบอกกับเรา

นอกจากนี้คลินิกยังมีบริการตรวจและรักษาสุขภาวะทางเพศ สามารถตรวจ HIV ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และรักษาได้เลย หรือหญิงข้ามเพศที่แปลงเพศแล้ว หากมีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิงที่ไม่ใช่ปัญหาด้านการศัลยกรรม เช่น ติดเชื้อ ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่หากไปโรงพยาบาลก็อาจรู้สึกไม่สบายใจ ก็สามารถมาที่นี่ได้เพราะแพทย์มีความเชี่ยวชาญโดยตรง และค่าบริการทุกรายการก็อยู่ในเกณฑ์สบายกระเป๋าเพราะเป็นส่วนหนึ่งของสภากาชาดไทย

“เราอยากรณรงค์ให้มาที่นี่ มาเจอเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนข้ามเพศด้วยกัน บริการกันเอง ไม่ต้องขัดเขินหรือมีขั้นตอนเยอะ คุยกับเจ้าหน้าที่แล้วเราก็พาไปเจอแพทย์เลย หรือใครที่อยากผ่าตัดศัลยกรรม เราก็มีข้อมูลให้โดยเราไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เขาเลือกเอง” เจี๊ยบยิ้ม

ไม่ลืมสุขภาพใจ

นอกจากจะไม่ต้องกลัวอคติทางเพศแล้ว การมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนข้ามเพศยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

“เวลาคนมีปัญหาเยอะๆ เข้ามาหาแล้วเจอเจ้าหน้าที่เป็นคนข้ามเพศด้วยกัน มันช่วยได้มาก เพราะเขามีคนรับฟังและเข้าใจ เราอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างของเขาไม่ได้ แต่เขามาเจอเราแล้วรู้สึกดีขึ้น ออกไปรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ต่อไป ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตและสังคมสำคัญมาก เพราะเรายังเจอว่าพี่น้องคนข้ามเพศยังถูกกดทับ ตีตรา เลือกปฏิบัติเยอะมาก เราก็เก็บข้อมูลว่าใครถูกกระทำอะไร เช่น บางคนแปลงเพศแล้วจากชายเป็นหญิง แต่ทำงานในโรงเรียนและต้องใส่วิกเป็นผู้ชายไปสอนหนังสือ เขาต้องเจอกับอคติและการถูกเลือกปฏิบัติจากตัวระบบเยอะมาก การมีพื้นที่ชุมชนตรงนี้มันทำให้เขาเจอที่ที่สบายใจ” เธออธิบายว่า หลายคนเข้ามาที่คลินิกเพียงเพราะอยากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อความสบายใจ ซึ่งคลินิกก็เต็มใจจะเปิดรับแบบไม่เกี่ยงงอน

กรณีคนที่กำลังสับสน ไม่แน่ใจในตัวตน ครุ่นคิดว่าจะข้ามเพศดีหรือไม่ ก็สามารถเข้ามานั่งคุยที่คลินิกได้เช่นกัน เจี๊ยบเล่าว่าที่ผ่านมา คนที่เข้ามาพูดคุยและค้นพบว่าตนเองไม่ใช่คนข้ามเพศก็มีให้เห็น

ช่วงอายุของคนที่เข้ามาปรึกษาที่คลินิกนั้น มีตั้งแต่ไม่ถึง 10 ปี ไปจนถึงกว่า 70 ปี โดยในกรณีของเด็กนั้นมีผู้ปกครองพามาเพราะน้องบอกว่าเป็นคนข้ามเพศ พ่อแม่จึงปรึกษาว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ทำความเข้าใจอะไรบ้าง หรือครูคนข้ามเพศที่พาลูกศิษย์ที่เป็นวัยรุ่นข้ามเพศมาก็มีเช่นกัน

เราถามเจี๊ยบว่า หากเข้ามาปรึกษาอย่างเดียวที่นี่คิดค่าบริการเท่าไหร่ คำตอบที่ได้เราแทบไม่เชื่อหูตัวเอง

“ไม่มีค่าบริการเลย”

เผยแพร่ความเข้าใจ

ภายในช่วงเวลา 3 ปีครึ่ง คลินิกแทนเจอรีนให้บริการคนข้ามเพศเป็นจำนวนเกือบสามพันคนด้วยกัน และหากนับจำนวนครั้งของการใช้บริการ ก็จะพบว่ามีการแวะเวียนมากว่า แปดพันครั้งเลยทีเดียว

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสะดวกมาคลินิกในกรุงเทพฯ

คนข้ามเพศคนไหนรู้ตัวว่าอยู่ไกล สามารถแวะไปเยี่ยมคลินิกแทนเจอรีนได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ในเฟซบุ๊ก Tangerine Community Health Center ซึ่งมีการโพสต์คอนเทนต์สุขภาพเกี่ยวกับคนข้ามเพศที่หาอ่านยากในเว็บไซต์อื่นๆ เช่น การขยายช่องคลอดสำหรับคนแปลงเพศแล้ว หรือเร็วๆ นี้ก็จะมีคอนเทนต์ที่ว่าด้วยการดูแลหน้าอกของหญิงข้ามเพศที่ใช้ยาฮอร์โมนหรือทำศัลยกรรมมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเชิญคนข้ามเพศที่มีชื่อเสียงหรือคุณหมอมา live อยู่เป็นประจำ

“วันไหนที่คอนเทนต์มีประเด็นน่าสนใจ จะมีคนถามคำถามกันมาในอินบอกซ์เยอะมาก ตอบกันอุตลุด โทรศัพท์ก็ดังแทบไม่หยุด” เจี๊ยบหัวเราะ

นอกจากช่องทางออนไลน์ เครือข่ายพันธมิตรของแทนเจอรีนก็เปิดให้บริการด้านสุขภาพแก่คนข้ามเพศแล้วเช่นกัน

“เราต้องขยายไปให้ได้มาก เพราะคนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึง พี่ๆ น้องๆ หลายคนก็มาจากต่างจังหวัด เราต้องขยายไปให้เขาได้สิ่งที่ต้องการ ในระดับประเทศเราร่วมมือกับองค์กร LGBTQIA อื่นๆ เช่น สมาคมฟ้าสีรุ้งฯ, มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ในเชียงใหม่มีมูลนิธิเอ็มพลัส และศูนย์สุขภาพแคร์แมท และในระดับภูมิภาคก็ทำงานกับเวียดนามจนเขาสามารถเปิดคลินิกสำหรับคนข้ามเพศได้แล้ว 2 แห่ง” เจี๊ยบบอกอย่างมุ่งมั่นก่อนจะอธิบายต่อ

“โมเดลเราเป็นโมเดลชุมชน เจ้าหน้าที่ของเราก็เป็นคนในชุมชนคนข้ามเพศด้วยกัน ก่อนทำงานก็จะมีการเทรนเรื่องการให้คำปรึกษา องค์ความรู้ที่ต้องใช้ เช่น ฮอร์โมน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรักษา เทรนจนครบทุกอย่างและเทรนอยู่ตลอด เราอยากสนับสนุนให้ชุมชนคนข้ามเพศเข้มแข็งและดูแลตัวเองได้”

 

facebook.com/TangerineCenter

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย