การระบุผู้ทรยศครอบครัวแอนน์ แฟรงค์ด้วย AI น่าเชื่อถือจริงหรือไม่?

ใครทรยศครอบครัวแฟรงค์? เป็นคำถามใหญ่ที่สร้างความสงสัยให้ผู้คนทั่วโลก การหาคำตอบว่าใครคือผู้ต้องสงสัยที่ทำให้แอนน์ แฟรงค์ เด็กสาวเจ้าของไดอารี่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย ต้องจบชีวิตในค่ายกักกันกลายเป็นความลับที่ทั้งโลกให้ความสนใจ ทุกครั้งที่มีทฤษฎีใหม่ถูกเสนอ สำนักข่าวมากมายก็พร้อมจะฉายไฟและนำความเป็นไปได้ใหม่มาให้ผู้อ่านได้ถกเถียง 

ไม่นานมานี้ทีมวิจัยนำโดยนายวินเซนต์ แพนโคเค (Vincent Pankoke) อดีตนักสืบ FBI เกษียณอายุ ได้ออกมาตีพิมพ์แผยแพร่ทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ชี้ว่าบุคคลผู้ทรยศคือนายอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก (Arnold van den Bergh) นักกฎหมายชาวยิวผู้เป็นสมาชิกสภาชาวยิวประจำประเทศเนเธอร์แลนด์

วินเซนต์ แพนโคเค (Vincent Pankoke) ให้สัมภาษณ์ในรายการ CBC News’ 60 Minutes, January 16, 2022.

ทีมวิจัยของนายแพนโคเค ประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญกรรมวิทยา รวมไปถึงที่ปรึกษาด้านอื่นๆ โดยลงมือสืบสวนชุดข้อมูลเอกสารผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI และ Metadata โรสแมรี่ ซัลลิแวน (Rosemary Sullivan) นักมนุษยวิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณจาก University of Toronto ประเทศแคนาดา ได้นำข้อมูลจากการศึกษาที่ว่ามาตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ ‘The Betrayal of Anne Frank’ (2022) ข้อสรุปสำคัญในหนังสือกล่าวว่า นายอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้เนื่องจาก 

หนังสือเล่มล่าสุดโดย โรสแมรี่ ซัลลิแวน (Rosemary Sullivan) ตีพิมพ์การค้นพบใหม่

1. หลังจากสภายิวถูกยุบไปในปี 1943 ตัวเขาไม่ได้ถูกจับเข้าค่ายกักกันเหมือนสมาชิกคนอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเขาขายข้อมูลเพื่อแลกความปลอดภัย

2.หลังสงครามจบลงไม่นาน มีกระดาษข้อความนิรนามถูกส่งไปให้นายอ็อตโต แฟรงค์ (พ่อของแอนน์ แฟรงค์ ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวของครอบครัว) ชี้ว่านายอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก คือผู้หักหลัง 

สภายิวประจำกรุงอัมสเตอร์ดัม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อ็อตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์ซึ่งนำไดอารี่ออกมาตีพิมพ์

อย่างไรก็ดี บรรดานักประวัติศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ต่างออกมาแย้งทฤษฎีใหม่กันอย่างแข็งขัน บาร์ต ฟาน เดอร์ บูม (Bart van der Boom) นักประวัติศาสตร์และอาจารย์จาก Leiden University ประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า กระดาษข้อความนี้ไม่ใช่หลักฐานใหม่ แต่มันไม่ใช่หลักฐานที่มีน้ำหนักเนื่องจากนักประวัติศาสตร์ (เช่นเดียวกับทีมของนายแพนโคเค) ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ส่ง ในเมื่อไม่ทราบที่มา ไม่ทราบจุดประสงค์ การใส่ร้ายนี้จึงปราศจากน้ำหนักอย่างสิ้นเชิง

“กระดาษใบนี้ถูกส่งให้พ่อของแอนน์ ไม่นานนักหลังสงครามสงบ ในช่วงเวลานี้การใส่ความและเอกสารปลอมถูกส่งให้กันเป็นเรื่องปกติ เป็นไปได้ว่าเจ้าของเอกสารอาจต้องการใส่ไฟนายฟาน เดน เบิร์ก จุดประสงค์คือทำให้เขาถูกจับกุมและดำเนินคดีในฐานะผู้ทรยศ” 

นายอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก เป็นสมาชิกสภายิว สภาที่ว่านี้ถูกก่อตั้งในช่วงยึดครองของเยอรมัน (ก่อตั้งปี 1941) เพื่อทำการสอดส่องดูแลและควบคุมชุมชนยิว มีชาวยิวจำนวนมากมองสมาชิกสภาเป็นพวกนิยมนาซี หรือเข้าข้างนาซีเพื่อเอาตัวรอด เป็นไปได้ว่าผู้ส่งเอกสาร อาจมีความแค้นส่วนตัวกับอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก

ชาวยิวในอัมสเตอร์ดัมช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อ็อตโต แฟรงค์ หลังได้รับจดหมาย ไม่ได้นิ่งนอนใจกับคำกล่าวหา ตัวเขาได้ว่าจ้างนักสืบให้ตามตรวจสอบแต่คดีถูกปิดไปเนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา เดวิด บาร์นูว์ (David Barnouw) นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์อีกท่านกล่าวว่า ชื่อของอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก ถูกตัดจากการเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ เนื่องจากข้อความในกระดาษขาดความน่าเชื่อถือ 

ศาสตราจารย์กิตติคุณโจฮันเนส โฮววิง เท็น เคท (Johannes Houwink ten Cate ) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโฮโลคอสต์จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (University of Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวถึงสภายิวที่ผู้ต้องสงสัยสังกัดอยู่ ว่าเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งโดยนาซี เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานเช่นนี้จะมีเอกสารที่ซ่อนชาวยิวทั้งหมด เพราะหากมีจริง ชาวยิวเหล่านี้ก็น่าจะถูกจับไปตั้งนานแล้ว “หากเราเชื่อว่านายอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก มอบรายชื่อที่ซ่อนให้นาซี เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่ารายชื่อเหล่านี้ตกมาอยู่ในมือของเขาได้อย่างไร ไม่มีหลักฐานว่าการเป็นสมาชิกสภาทำให้เขาเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว สภายิวถูกยุบไปในปี 1943 สมาชิกทั้งหมดถูกส่งไปค่ายกักกัน ส่วนเหตุผลที่นายอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก รอดมาได้ เป็นเพราะเขาหลบซ่อนตัวเช่นเดียวกับครอบครัวของแอนน์ แฟรงค์”

แผนที่แสดงห้องลับของครอบครัวแฟรงค์ Anne-Frank-Huis-museum-Amsterdam-3

ศาสตราจารย์กิตติคุณโฮววิง เท็น เคท กล่าวว่า นักประวัติศาสตร์ติดตามเส้นทางชีวิตของนายอาร์โนลด์ ฟาน เดน เบิร์ก มานานแล้ว และพบว่าตัวเขาเข้าสู่การซ่อนตัวแทบตลอดทั้งปี 1944 เขาตั้งคำถามน่าสนใจ 2 อย่าง 

1.หากคุณซ่อนตัวอยู่ คุณจะเปิดเผยตัวเพื่อมอบที่อยู่ของยิวคนอื่นๆ เพื่ออะไร แน่ใจหรือว่าความสัมพันธ์ของคุณกับนาซี ดีพอที่จะไม่ทำให้ตัวเองถูกจับเข้าค่ายกักกันไปด้วย 

2.ถ้าตัวคุณมีข้อมูลสำคัญเหล่านี้จริง ทำไมไม่เปิดเผยตั้งแต่ปี 1943 ซึ่งเป็นเวลาที่เพื่อนร่วมสภาถูกจับ ทำไมต้องรอถึงปี 1944

ทางฝั่ง Anne Frank House พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับชีวิตของแอนน์ แฟรงค์ ซึ่งตั้งอยู่บนบ้านเดิมที่ครอบครัวเคยหลบซ่อนก็ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ “เราคงบรรจุทฤษฎีนี้ในฐานะความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ข้อสรุป” โรนัลด์ ลีโอปอลด์ (Ronald Leopold) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว “มีข่าวลือว่าสภายิวมีที่อยู่ของชาวยิวที่หลบซ่อนจริง แต่ข่าวลือเหล่านี้พิสูจน์ไม่ได้ มันเสี่ยงมากที่จะเก็บข้อมูลซึ่งเป็นดังความเป็นความตายใต้จมูกนาซี” และที่สำคัญ ทำไมชาวยิวที่หลบซ่อนจะต้องมอบที่อยู่ตัวเองให้หน่วยงานอื่นจัดเก็บด้วย

บ้านของแอนน์แฟรงค์ในปัจจุบัน

สำนักข่าว The Times of Israel ออกมาตอบโต้ทฤษฎีใหม่ โดยกล่าวว่า การสรุปเช่นนี้เป็นการตอกย้ำแนวคิดเดิมๆ ว่าชาวยิวยอมทำทุกอย่าง กระทั่งขายเพื่อนบ้านเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ดารา ฮอร์น (Dara Horn) นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของผลงานหนังสือ People Love Dead Jews (2022) ให้สัมภาษณ์ว่า ทฤษฎียิวหักหลังยิวได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวยิว มันเป็นส่วนหนึ่งของกลไก victim blaming คนทั่วไปปลดเปลื้องความรู้สึกผิดที่ว่าการตายของยิวมากมายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง

เอมิลี่ ชไวเวอร์ (Emile Schrijver) ผู้อำนวยการย่านวัฒนธรรมยิวแห่งอัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า ตัวเธอชื่นชมในความตั้งใจที่ดีของทีมงาน แต่เห็นด้วยว่างานชิ้นนี้ขาดมุมมองด้านประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดาย ในขณะที่ลอรี่ เวสเทนเอาท์ (Laurien Vastenhout) นักวิจัยจาก National Institute for War, Holocaust and Genocide Studies ตั้งคำถามถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง AI และ Metadata ว่ามีส่วนช่วยมากน้อยแค่ไหนในการศึกษา 

“95% ของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ชาวยิวถูกทำลายในช่วงปลายสงคราม หากมีผู้ทรยศจริง ก็ยังเป็นเรื่องยากที่ตัวตนของเขาจะถูกค้นพบหลังเวลาผ่านมานานขนาดนี้” ศาสตราจารย์กิตติคุณโฮววิง เท็น เคท กล่าวทิ้งท้าย เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าการใช้ AI หรือ Metadata จะนำไปสู่บทสรุปที่น่าเชื่อถือได้จริงหรือไม่ในเมื่อเอกสารที่ใช้ เป็นแค่ 5% ของข้อมูลทั้งหมด 

รวมทฤษฎีผู้ทรยศแอนน์ แฟรงค์

ครอบครัวของแอนน์ แฟรงค์ รวมทั้งสมาชิกในห้องลับทั้งหมดถูกจับกุมในวันที่ 4 สิงหาคม 1944 อย่างไรก็ดี เอกสารเรื่องการจับกุมไม่เคยถูกค้นพบ มีตำรวจอย่างน้อยสามคนเข้าร่วมการจับกุม สองในสามเป็นตำรวจชาวดัตช์ 

ครอบครัวแฟรงก์

อ็อตโต แฟรงค์-พ่อของแอนน์ เชื่อมั่นจนวันสุดท้ายว่าพวกเขาถูกทรยศ แต่ยังไม่มีทฤษฎีไหนได้รับการฟันธง 100%  เราไล่ความน่าจะเป็นของเรื่องนี้ออกมาดังนี้ 

1.มีสายโทรศัพท์ปริศนาโทรมาแจ้งตำรวจลับของนาซี (SD) ในเช้าวันที่ครอบครัวแฟรงค์โดนจับ ถ้ามีจริง ทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร  

2.คนงานในโกดังใกล้ที่ซ่อนตัวเป็นคนแจ้งข่าว นายวิลเลียม ฟาน มาเรน  (Willem van Maaren) ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แจ้งที่อยู่ของครอบครัวแฟรงค์ แต่การสืบสวนไม่สามารถบอกได้ว่าเขาผิดจริงและถูกปล่อยตัวในภายหลัง 

3.ชาวดัตช์ผู้สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมเป็นคนทรยศ ผู้ต้องสงสัยคนต่อมาคือนายโทนี อัลเลอร์ส (Tonny Ahlers) เขามีแนวคิดสนับสนุนชาตินิยม และเคยมีเรื่องกับพ่อของแอนน์ ตอนอ็อตโตวิจารณ์การทำสงครามของเยอรมัน ในช่วงแรกของการยึดครอง ซึ่งแครอล แอนน์ ลี (Carol Anne Lee) นักเขียนหนังสือชีวประวัติของอ็อตโต แฟรงค์ เชื่อว่าอ็อตโตเคยส่งของให้กองทัพเยอรมันเพื่อป้องกันตัวเองและครอบครัว โดยมีนายอัลเลอร์สทำหน้าที่เป็นตัวกลาง อย่างไรก็ดี เราไม่มีหลักฐานว่าโทนี อัลเลอร์ส รู้เรื่องที่ซ่อนของตระกูลแฟรงค์จริงหรือไม่ และถึงรู้ เขาจะนำเรื่องนี้ไปบอกเพื่ออะไร 

รูปปั้นแอนน์แฟรงค์ในอัมสเตอร์ดัม

4.ลีนา (Lena) ภรรยาคนงานในโกดังเป็นคนแจ้งข่าว สามีของลีนาทำงานอยู่ในโกดังสินค้าใกล้บริเวณที่ซ่อนและเขาบอกภรรยาเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ซ่อนตัวอยู่ มีข้อสันนิษฐานว่า ลีนาคนนี้คือคนที่โทรไปบอกตำรวจ (ตามข้อสันนิษฐานที่ 1) อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานอีกเช่นกันว่าปลายสายโทรศัพท์เป็นสตรีคนนี้จริง เพื่อนบ้านของลีนากล่าวว่า เธอเคยพูดถึงคนที่ซ่อนตัวอยู่ในอาคารเดียวกันกับที่สามีทำงาน แต่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าลีนาพูดเรื่องนี้เมื่อไหร่ หากเธอพูดหลังวันที่ 4 สิงหาคม (วันที่แอนน์และครอบครัวโดนจับ) มันก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะการจับกุมครอบครัวแฟรงค์มีผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์หลายคน อาจรวมไปถึงสามีของลีนาด้วย

5.นักล่ายิวนามว่า แอนนา ฟาน ไดจ์ เป็นผู้รายงานที่ซ่อน แอนนา ฟาน ไดจ์ (Anna van Dijk) เป็นชาวยิวที่เคยถูกนาซีจับได้และผันตัวมาเป็นนักล่าชาวยิวเพื่อปกป้องชีวิตของตัวเอง หลังสงครามสงบ แอนนา ฟาน ไดจ์ถูกประหารชีวิตเนื่องจากมีหลักฐานชี้ว่าตัวเธอเปิดเผยที่ซ่อนของชาวยิวมากมาย หนึ่งในนั้นมีรายชื่อของครอบครัวแฟรงค์ แต่เราไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า แอนนา ฟาน ไดจ์เป็นผู้เปิดเผยที่ซ่อน เป็นไปได้ว่าชื่อของครอบครัวแฟรงค์แค่ถูกเพิ่มลงไปในข้อกล่าวหาเพราะถึงอย่างไรแอนนา ฟาน ไดจ์ก็น่าจะถูกตัดสินโทษตายอยู่แล้ว 

6.อาจไม่มีใครทรยศแอนน์ แฟรงค์ ครอบครัวของแอนน์ถูกพบโดยบังเอิญในระหว่างการจับกุมผู้ฉ้อโกงคูปองปันส่วนอาหาร เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าผู้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวแฟงค์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับคูปองปันส่วนอาหารและการค้าในตลาดมืด เป็นไปได้ว่าตำรวจกำลังสืบหาความจริงของเรื่องนี้และบังเอิญตามเบาะแสไปจนพบที่ซ่อนของครอบครัวแฟรงค์เข้า 

References:

Researchers say they may have uncovered who betrayed Anne Frank’s family to Nazis – https://www.washingtonpost.com/world/2022/01/18/anne-frank-betrayed-investigation/ 

Scholars Doubt New Theory on Anne Frank’s Betrayal https://www.nytimes.com/2022/01/18/books/anne-frank-betrayal-arnold-van-den-bergh.html 

Historians bash ‘rubbish’ findings of investigation into Anne Frank betrayal – https://www.timesofisrael.com/historians-bash-rubbish-findings-of-investigation-into-anne-frank-betrayal/ 

Anne Frank betrayal suspect identified after 77 years https://www.bbc.com/news/world-europe-60024228?xtor=AL-72-[partner]-[bbc.news.twitter]-[headline]-[news]-[bizdev]-[isapi]&at_custom2=twitter&at_medium=custom7&at_campaign=64&at_custom4=018D4126-7786-11EC-8128-6FFE4744363C&at_custom3=%40BBCWorld&at_custom1=[post%20type]&fbclid=IwAR14U2jON_GwSyU9Byu3XmzIcGp3mqHJ3SjH5htFwCsNzxCxv8pMtw1vvaI 
Anne Frank House official site – https://www.annefrank.org/

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น

นักออกแบบสายแอมบิเวิร์ท ผู้หลงใหลธรรมชาติ เสียงเพลง ภูเขา งานอดิเรกคือ อ่านหนังสือ ปาร์ตี้ และของกิน