เพียงก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้าไปในโฮมออฟฟิศย่านอารีย์ของ ทศ–ทศเทพ วงศ์หนองเตย เราก็รับรู้ได้ถึงความตั้งใจและคลั่งไคล้ของเขาที่มีต่อวงการละครใบ้ไทยอย่างชัดเจน
ทุกหยาดเหงื่อที่เขาทุ่มเทให้กับศาสตร์ไร้เสียงนี้ ถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบของโปสเตอร์งานแสดงที่เขาเป็นผู้ควบคุมดูแล ทั้ง Pantomime in Bangkok และงาน International Street Show in Bangkok โปสเตอร์งานแสดงซึ่งมีละครใบ้เป็นแกนหลักทั้งหมดนั้นแขวนไว้แทบจะเต็มทุกอณูของฝาผนัง มันย้ำเตือนและบอกซ้ำให้ผู้มาเยือนอย่างเรารับรู้ว่าวงการละครใบ้ไทยมีชายผู้นี้อยู่เบื้องหลังมาแล้วแสนนาน
จากปี 2540 ที่เด็กหนุ่มอย่างเขาหลงใหล และผลักดันความชอบของตัวเองจนเกิดเป็นเทศกาลละครใบ้ในกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 มาจนวันนี้ที่งานเทศกาลนั้นผ่านร้อนผ่านหนาวและกำลังจะจัดแสดงเป็นครั้งที่ 16
ทศรอบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังงานเทศกาลครั้งนี้อยู่แล้ว พร้อมกับ ธา–ณัฐพล คุ้มเมธา หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของคณะละครใบ้ยอดนิยมในประเทศไทยอย่าง Babymime คณะละครที่ยังท้าลมท้าฝน ต่อสู้เพื่อละครใบ้ที่เขารักอย่างเคย แม้ในวันที่การแสดงเริ่มซบเซา
งานเทศกาลละครใบ้ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้พวกเขายังทำมันอย่างต่อเนื่อง พูดคุยกับชายหนุ่มผู้ไม่ยอมหมดใจทั้งสองได้เลย
ละครใบ้ ไม่ยาก
“เรารู้สึกว่าคำว่าละครใบ้มันเป็นลบ คงเพราะมันมีคำว่า ‘ใบ้’ อยู่ด้วยมั้ง สิ่งแรกที่คนพูดถึงเลยมักเป็น ‘มันจะดูรู้เรื่องหรือเปล่า’” ทศชวนคุยด้วยท่าทีสบายๆ เผยเรื่องราวของละครใบ้ที่ใครหลายคนเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงแล้วละครใบ้ถือเป็นการแสดงที่เข้าใจง่าย ใกล้ตัวคนมากกว่าที่คิด และยังเป็นพื้นฐานของศาสตร์ด้านการแสดงแทบทุกอย่าง เดี่ยวไมโครโฟน ของ โน้ต–อุดม แต้พานิช ที่มักมีท่าทางตลกๆ ประกอบการทอล์กโชว์ ทศยังบอกเลยว่านั่นก็นับเป็นพื้นฐานของละครใบ้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่าอาจเป็นเพราะบ้านเรารับวัฒนธรรมละครใบ้ของญี่ปุ่นมามากกว่าฝั่งยุโรปด้วย ละครใบ้ที่นิยมแสดงกันจึงไม่ทาหน้าขาว และมักดึงสถานการณ์ง่ายๆ ออกมาเล่าเป็นเรื่อง อย่างในงาน Pantomime in Bangkok ปีที่แล้วก็มีคนเล่นเป็นคนเปิดแผ่นเสียงกับเข็มแผ่นเสียง
“ละครทั่วไปมันจะมีพล็อตที่ซับซ้อนเพื่อทำให้อยากติดตามว่า เฮ้ย แล้วมันจะเป็นยังไงต่อ แต่ละครใบ้มันจะตัดความซับซ้อนนั้นออกไปหมดเลยครับ มันจะเป็นเรื่องที่เรียบง่ายมากๆ แต่มาซับซ้อนที่การใช้ร่างกายของนักแสดงแทน” ธาที่นั่งอยู่ข้างกันพูดขึ้นมาบ้าง
“เราสามารถนั่งดูไปได้เรื่อยๆ เลย ทั้งๆ ที่เรื่องที่กำลังดูอยู่สามารถเล่าจบได้ในหนึ่งบรรทัด เช่น ผู้ชายคนหนึ่งมีความสุขกับการกินลูกพลับแล้วจินตนาการถึงความทรงจำในวัยเด็ก เรื่องมีอยู่แค่นี้เลยนะ แต่วิธีการเล่า การใช้ร่างกาย จินตนาการ มันทำให้เรารู้สึกว่ามึงทำได้ยังไงวะ”
นักแสดงหนุ่มพรั่งพรูเรื่องราวเกี่ยวกับละครใบ้ที่ตนเคยผ่านตาและยังเก็บไว้ในใจให้เราฟังต่อเนื่องไม่ขาดสายด้วยน้ำเสียงที่กักเก็บความตื่นเต้นเอาไว้ไม่อยู่
“อย่างเรื่อง เบสบอล ของคุณฮอนดะ ไอยะ เรื่องนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีซสำหรับผมเลย เขาเล่นคนเดียวก็จริง แต่แสดงเป็นทุกคนในสนามเลย ใช้การเปลี่ยนท่าทางที่รวดเร็วมาก จากคนนู้นกลายเป็นคนนี้ ตัดฉับแบบฮอลลีวูดเลย เขวี้ยง วิ่ง กลายเป็นคนดู เปลี่ยนเป็นคนขายป๊อปคอร์น กลับมาเป็นนักเบสบอล มันทำให้เราตื่นตามาก แล้วที่สำคัญคือเขามีสารที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวนั้นด้วย เรื่องนั้นบอกเล่าถึงปาฏิหาริย์ หลังจากที่เขาแสดงเป็นคนในสนามไปร้อยกว่าคนแล้ว ตอนท้ายเรื่องเขาเล่าว่าพอนักเบสบอลสามารถตีโฮมรันได้ ลูกเบสบอลก็ออกนอกสนามไปผ่านหน้าตำรวจจราจรที่กำลังเหนื่อย พอเห็นโฮมรันก็พลอยหายเหนื่อย หรือมีคนที่ปีนตึกกำลังจะฆ่าตัวตาย แต่ลูกเบสบอลดันโดนหัวกบาลพอดี เขาเลยคิดได้ว่าช่างแม่ง ไม่ฆ่าตัวตายแล้วดีกว่า
“แค่เล่าให้ฟังตอนนี้ยังขนลุกเลย คือถ้าเป็นหนัง เป็นละคร เรื่องธรรมดาๆ พวกนี้มันอาจจะน่าเบื่อ แต่พอเป็นละครใบ้มันกลับพิเศษด้วยเทคนิคของนักแสดง”
ละครใบ้ ดูง่าย
“Pantomime in Bangkok ทำให้ละครใบ้ลงมาหาคนดูมากขึ้น แม้ยังไม่ถึงกับแมสมาก แต่ก็ไม่ต้องปีนบันไดดูแบบเก่าแล้ว” ทศว่าขำๆ โยงเข้าเทศกาลโดยมีธาเป็นลูกคู่
“ใช่ ผมว่างานนี้มันเปลี่ยนวิธีการเสพของคนดูไปเลย จากที่คิดว่าคงดูยาก ต้องปีนบันไดดู คนก็เริ่มรับรู้มากขึ้นว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น พอได้มาดูจริงเขาจะพบว่ามันตลก และเป็นคนละเรื่องกับที่เข้าใจ งานมันมีคาแรกเตอร์อย่างหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ละครใบ้ที่เลือกมาแสดงจะมีความหลากหลาย ถ้าเป็นประเภทหนังก็คือต้องบอกว่ามีทั้งหนังดราม่า แอ็กชั่น และทริลเลอร์ ในวงการละครใบ้จะมีนักแสดงที่ชอบเล่นแนวนี้หรือแสดงแนวนี้ได้ดี งานนี้เขาก็จะคัดแต่ตัวเจ๋งๆ มา เหมือนกินอาหารแล้วมีความหลากหลายของอาหาร มันก็ทำให้การกินของเราเปิดกว้างมากขึ้น ในมุมของคนดูก็ได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย”
เช่นเดียวกันกับในมุมของคนแสดง ธาเล่าว่า Pantomime in Bangkok ก็เป็นเหมือนโรงเรียนสอนละครใบ้ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้เทคนิคการเล่นเพิ่มเติม และได้แพสชั่นในการแสดงกลับไปจากที่นี่เยอะมาก ตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้ชมในงานครั้งที่ 4 มาจนถึงปัจจุบันนี้ที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16
“ที่นี่เป็นเทศกาลละครที่นักแสดงอย่างเราต่างอยากมาเล่น ตอนนั้นที่ผมมาดูครั้งแรก กลับไปก็คิดกันกับเพื่อนเลยว่าทำยังไงถึงจะได้มาเล่นที่นี่ กลับไปซ้อม ไปคิดเรื่องอย่างหนัก จนปีถัดไปได้เล่นเปิดป้าย แค่เปิดป้ายก็เยี่ยวแตกแล้วนะ” ธาหัวเราะร่วนเมื่อเล่าให้ฟังถึงอดีต
“เหมือนเราเป็นเวทีมวยชั่วคราวที่คัดนักมวยดีๆ มารวมไว้ด้วยกัน” ทศเปรียบเทียบเทศกาลละครใบ้ในกรุงเทพฯ ไว้อย่างนั้นเมื่อได้ฟังความคิดเห็นของธา
เพราะกว่าจะได้รายชื่อนักแสดงแถวหน้ารับประกันคุณภาพอย่างที่ธาว่า ทศและทีมงานจากฝั่งญี่ปุ่นก็ใช้เวลาช่วยกันเลือกสรรและเสนอชื่อร่วมกันนานไม่น้อย
“เราจะตกลงเลือกเรื่องกันว่าใครจะเล่นเรื่องอะไร ความยาวเท่านี้พอไหม เพิ่มนักแสดงดีหรือเปล่า ซึ่งที่ผ่านมาจะเจอปัญหาว่าฝั่งญี่ปุ่นบอกให้ตัดนักแสดง ส่วนเราบอกว่าให้เพิ่ม” หนุ่มผู้จัดงานหัวเราะรื่น บอกเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำงาน ซึ่งมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม “ตามธรรมชาติคนไทยแหละ เราอยากดูเยอะ อยากดูต่อ แต่สุดท้ายก็จะเจอกันตรงกลาง คือไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง เพราะไม่อย่างนั้นคนดูจะเหนื่อยเกินไป ด้วยว่าต้องใช้จินตนาการ ต้องนั่งดูตามไปตลอด ธีมงานของเราทุกปีเลยมักจะเกี่ยวกับจินตนาการ เพราะเรามองว่าละครใบ้คือการบริหารจินตนาการร่วมกัน คนเล่นเป็นฝ่ายคิดเรื่องมา สร้างจินตนาการ ระหว่างชมคนดูก็ต้องคิดตาม มันเหมือนการเอาจินตนาการของคนสองคนมาเจอกัน ซึ่งเราว่ามันเจ๋งมากเลยนะที่มนุษย์สามารถสื่อสารกันได้ โดยที่ไม่ต้องใช้คำพูดต่างชาติ ต่างภาษาก็ดูละครใบ้ได้ นี่คือเสน่ห์ของมันเลย”
“ผมว่ามันเป็นแฟมิลีไทม์ด้วย” ธาเอ่ยขึ้นสมทบ เพราะการพาลูกออกไปดูละครใบ้ด้วยกัน ถือเป็นกิจกรรมที่ผู้เป็นพ่ออย่างเขาเลือกสรรและใช้ร่วมกันกับลูกชาย นอกจากลูกจะสนุกไปกับการบริหารจินตนาการตรงหน้าแล้ว เขาเองยังใช้กิจกรรมนั้นปลูกฝังลูกเรื่องมารยาทในการรับชมได้อีกทาง
“ตัวผมเองก็ยังตื่นเต้นทุกปีเลยที่จะได้ดู อย่างปีนี้มีนักแสดงคู่สามีภรรยาที่ชื่อ si vous plait ด้วย งานของสองคนนี้เหมือนหนังของ Pixar เลยครับ” ธายิ้ม บอกให้ฟังถึงความพิเศษของนักแสดงชาติอื่นที่แม้แต่ตัวเขาเองยังรอคอย
“มันเหมือนกับเวลาดูหนังเรื่อง Coco แล้วมีกลิ่นอายความเป็นเม็กซิกันอยู่ในผลงาน แต่ของคู่นี้จะมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจ๋าเลยนะ แต่พอเล่าออกมาแล้วมันกลับสากล ใครๆ ก็สามารถดูได้ หรืออย่าง ยามาโมโตะ โคโย วิชวลเขาจะแรงมาก งานทุกชิ้นจะต้องมีฉากหนึ่งให้จดจำ
เพียงพูดถึงนักแสดงท่านนี้ ชายตรงหน้าเราทั้งสองคนก็แลกเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับฉากในความทรงจำที่เขาจดจำได้ไม่เลือนกันอย่างสนุกปาก
“เขาเคยเอาร่มสองคันมาแทนเป็นนม แล้วพอเดินผ่านร่มก็จะมองไปแล้วคิดว่า โห อยากจับนมจัง คือถ้าคนไทยเล่นอาจจะดูหยาบ แต่ท่าทางที่เขาแสดงมันมีความเป็นญี่ปุ่นมาก เป็นเอกลักษณ์ หรืออย่างงานมาสเตอร์พีซของเขาคืองานภาพถ่าย มันเป็นงานที่เรียบง่ายมาก เล่าเรื่องราวว่านั่งถ่ายรูปแล้วทะเลาะกับตากล้อง ตากล้องสั่งให้ใส่เสื้อในกางเกง เขาตอบครับ ตากล้องกดถ่าย แชะ จบ ใส่คอสตูมเพิ่มอีกชิ้นเพื่อบอกว่าคนคนนั้นโตขึ้นแล้วถ่ายใหม่ เล่าจนแต่งงานมีลูก จนแก่ และภาพสุดท้ายคือเขาเดินออกจากกรอบไป แล้วก็ถ่ายรูป แชะ มันเล่าเรื่องชีวิตคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดยันตายได้เลย ทั้งๆ ที่งานนั้นยาวแค่สิบนาทีเอง คือถ้างานดีมันจะอยู่ในความทรงจำไปตลอด มันอิ่มเอม”
แน่นอนว่าความอิ่มเอมจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเรื่องโปรดักชั่นแสง สี เสียง เข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย ซึ่งในงานครั้งนี้ก็จัดเต็มไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ารายชื่อนักแสดงนัก
“ทางญี่ปุ่นจะเป็นคนกำหนดว่าต้องมีอะไรบ้าง ต้องใช้ไฟกี่ดวง งานนี้เขาใช้ไฟเยอะมาก สองร้อยกว่าดวงเลย บางดวงก็จะใช้แค่ครั้งเดียวนะ เล่นจบฉากนี้ก็เลิกใช้ แต่สิ่งที่เขาดีไซน์มามันมีความหมายหมด เขาละเอียดมาก” ทศเล่าเสริมถึงเบื้องหลังเพื่อให้เราเห็นสเกลงาน โดยมีธาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในมุมมองของนักแสดง
“โดยปกติถ้าเรื่องเราดีอยู่แล้ว แล้วได้ไฟมาช่วย ได้เสียงมาช่วย จากที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ งานของเราอาจดีเพิ่มขึ้นเป็นสามร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็ได้ พอมีองค์ประกอบเหล่านี้มาช่วยมันจะดีขึ้นมาก Pantomime in Bangkok มันลบภาพความทรงจำที่ว่าละครใบ้จะเป็นไฟแช่และเล่นไปโดยที่ไม่มีชุด ไม่มีคอสตูมของเราไปเลย อันนี้มันคือโชว์แสง สี เสียงเลยมากกว่า”
ไม่ดูละครใบ้
แม้จะฟังเรื่องราวของ Pantomime มาจนเปิดใจ คล้อยตามอยากรับชมละครใบ้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนนอกวงการอย่างเราสงสัยคือ ทุกวันนี้ละครใบ้เป็นที่นิยมแค่ไหน ทั้งในแง่ของผู้ชมและนักแสดงที่รันวงการ
“ในแง่ผู้ชม คนที่เคยดูแล้ว เขาก็อยากกลับมาดูอีกนะ มันมีกลุ่มแฟนที่ติดตามอยู่ แต่คนกลุ่มนั้นอาจจะเป็นเด็กแนวเมื่อ 20 ปีที่แล้วไง วันนี้เขาอาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นจนไม่สามารถมาดูได้แล้ว สิ่งที่ยากที่สุดของการจัดงาน เลยกลายเป็นจะทำยังไงให้ผู้ชมทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เขามาดูให้ได้” ทศเปิดใจเล่าให้ฟังในมุมมองของผู้จัดงาน ถึงปัญหาที่เขายอมรับว่าเป็นจุดอ่อน อย่างการพีอาร์ให้คนรู้จักมากขึ้น เนื่องจากผู้จัดอย่างเขาเองก็ไม่อาจอธิบายให้คนอื่นเข้าใจเพิ่มเติมได้ว่านอกจากสนุก เข้าใจง่ายแล้ว ยังจะสามารถทำยังไงให้คนภายนอกรับรู้ได้อีก
“ผมว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจด้วย” ธาให้ความเห็นในมุมของตัวเอง
“จริงๆ ช่วงงานครั้งที่ 8 มันเคยบูมมาก อาจเป็นเพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจดีด้วย คนจึงมีเวลามาเสพงานศิลปะ พอมายุคนี้ที่มันเริ่มซบเซา ก็เป็นเพราะทั้งคนดูและคนแสดงต้องหาเลี้ยงปากท้องก่อน ก่อนหน้านี้นักแสดงละครใบ้มีเยอะมากและพร้อมเล่นด้วย แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี พวกเขาก็ต้องไปทำอาชีพอื่น ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยประเทศเดียวนะ ญี่ปุ่นเองก็เป็น พอเป็นแบบนี้มันก็มีข้อดีและข้อเสียแหละ ข้อเสียคือแทนที่เราจะได้กินปลาที่หลากหลาย ตอนนี้เราก็อาจจะไม่ได้ความหลากหลายนั้น แต่เราจะเจอปลาแท้ๆ คนที่อยากทำจริงๆ และหาทางอยู่กับมัน
“อีกอย่างคือต้องยอมรับด้วยว่าเราไม่มีวัฒนธรรมเดินเข้าโรงละครแล้วจ่ายเงินเข้าไปชม ไม่ใช่แค่ละครใบ้อย่างเดียวนะ ละครทุกอย่างเลย ถามว่ามันดีขึ้นไหม ก็ดีขึ้นมาก แต่ผมว่ามันจะไปได้มากกว่านั้นอีก เราต้องหาวิธีช่วยกัน นักแสดงก็ต้องทำงานที่ดี มีความรับผิดชอบกับตัวเอง ซ้อมด้วยตัวเอง ในมุมของสื่อถ้าเห็นว่ามันดีก็ส่งเสริม ในมุมของรัฐบาลถ้าเห็นว่ามันเป็นประโยชน์กับประเทศก็สนับสนุน”
“ผมมองว่าของพวกนี้มันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สร้างชาติได้นะ ญี่ปุ่น เกาหลีให้งบสนับสนุนเยอะมาก เพราะเขาใช้ละครสร้างชาติ เราคิดว่าละครใบ้เองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติ สร้างวัฒนธรรมที่ดีได้ มันเป็นการแสดงที่ใครๆ ก็ดูได้ ต่างชาติเข้าใจ เด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ก็ดูได้ทั้งหมด เพราะมันก้าวข้ามเรื่องภาษาไปแล้ว ใช้จินตนาการเป็นสำคัญ
“ผมเคยดูละครสั้นๆ ที่นักศึกษาทำ แล้วดีดนิ้ว ร้องว่าเชี่ย ต้องลุกขึ้นไปทำอะไรสักอย่างแล้ว ต้องออกไปวิ่ง ต้องพาลูกออกไปเที่ยวแล้วว่ะ หลายคนที่มาดูละครใบ้ก็เกิดความคิดแบบนี้เหมือนกันเพราะมันมีความอิ่มเอมใจ มีแพสชั่นบางอย่าง อันนี้ไม่ได้อวยเลยนะเพราะเราก็เป็น ดูจบแล้วอยากจะไปทำอะไรสักอย่าง ดูเรื่องนี้แล้วโทรหาแม่ดีกว่า มันคือการทำงานของภาวะภายใน สองชั่วโมงที่ดูละครใบ้ มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปทั้งชีวิตเลยก็ได้
“อย่างที่พี่ทศเคยพูดว่า ดูละครใบ้ครั้งหนึ่ง มันเป็น one time for forever ดูครั้งเดียวแล้วเปลี่ยนชีวิตไปเลย”
เทศกาลละครใบ้ในกรุงเทพฯ จะจัดแสดงที่โรงละคร เอ็ม เธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในวันที่ 20-21 กรกฎาคมนี้
บัตรราคา 900 / 1,100 และ 1,300 บาท สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา