“รู้ใช่ไหมว่าครูใหญ่เป็นใคร”
ประภาส ชลศรานนท์ เอ่ยถามเราก่อนที่บทสนทนาระหว่างศิษย์กับครูจะเริ่มขึ้น
แม้เราพยักหน้าตอบรับ แต่ความรู้สึกส่วนลึกห่างไกลคำว่ามั่นใจหลายช่วงตัว ไม่ใช่เตรียมตัวมาไม่พร้อม ไม่ใช่ไม่มีผลงานให้ศึกษา ไม่ใช่หาความน่าสนใจไม่ได้ ตรงกันข้าม เรื่องราวชีวิตของ ครูใหญ่-สดใส พันธุมโกมล ล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าพูดถึง คุณูปการต่อวงการศิลปะการละครของครูนั้นยิ่งใหญ่เกินบรรยายด้วยตัวอักษร
แต่กับใครบางคน ถึงแม้เราตั้งใจเตรียมตัวมาอย่างดีเพียงใด ก็ยังไม่มั่นใจว่าศึกษามาอย่างเพียงพอ
เรารู้สึกแบบนั้น กับครูผู้นี้
ในยุคสมัยที่การละครยังถูกตีตราชี้หน้าว่าเต้นกินรำกิน ครูใหญ่ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่เมกกะทางการละครอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาอย่างจริงจัง ลงลึก หวังนำความรู้กลับมาเปิดภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับใครบางคน ความสุขคือการออกไปพบปะผู้คน สังสรรค์กับแสงสีของมหานคร แต่สำหรับครูใหญ่ โรงละคร ห้องสมุด และสตูดิโอ คือชีวิต หากจะมีแสงสีที่สร้างรอยยิ้มให้ครูใหญ่ได้บ้างก็คงจะเป็นแสงสีที่ปรากฏบนเวที
ด้วยความสามารถทางการละครเข้าขั้นพรสวรรค์ ครูใหญ่ได้รับการยอมรับในโลกตะวันตกอย่างไม่ยากเย็น มีโอกาสดีๆ มากมายหลั่งไหลเข้ามาในชีวิตช่วงรอยต่อ ครั้งหนึ่งบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ เคยเสนอสัญญา 7 ปีให้ครูใหญ่พิจารณา เป็นใครก็คงจับปากกาเซ็นสัญญาโดยไม่ต้องคิด แต่ครูใหญ่ปฏิเสธ แล้วเลือกทางเดินที่ปูไว้เพื่อกลับเมืองไทยมาเป็น ‘ครู’
ครั้งนั้น ลูแอลล่า พาร์สัน นักเขียนข่าวชื่อดังคนหนึ่งของฮอลลีวู้ดได้เขียนวิจารณ์ไว้อย่างน่าคิดว่า แปลกประหลาดเหลือเกินที่คนไทยปฏิเสธสัญญาของบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ ซึ่งสาวอเมริกันล้วนยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้สัญญาดังกล่าวมา
‘ศูนย์ศิลปการละคร สดใส พันธุมโกมล’ และละคร แมคเบธ ที่เหล่าลูกศิษย์พร้อมใจกันจัดแสดงเพื่อระลึกถึงพระคุณครู อาจบ่งบอกได้ในระดับหนึ่งถึงคุณูปการของครูใหญ่ที่มีต่อภาควิชาศิลปการละคร และสะท้อนภาพความรักของเหล่าลูกศิษย์ที่มีต่อท่าน แต่พูดก็พูดเถอะ หากลองไถ่ถามจากลูกศิษย์ของครู เชื่อว่าทุกคนคงคิดเหมือนกัน-สิ่งเหล่านี้ยังน้อยเกินไป
ช่วงเวลาการสนทนากว่า 4 ชั่วโมงระหว่างครูใหญ่-สดใส พันธุมโกมล และศิษย์ทั้งสองอย่าง
ครูแอ๋ว-อรชุมา ยุทธวงศ์ ผู้เป็นทั้งศิษย์ นางเอกละครของครูใหญ่ และอาจารย์คนแรกๆ ของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ประภาส ชลศรานนท์ นักคิดนักเขียนผู้เคยคลุกคลีเรียนวิชาการละครนอกห้องเรียนจากครูใหญ่สมัยเป็นนิสิต
ล้วนเต็มไปด้วยข้อคิดที่หาฟังไม่ได้จากที่ไหน แม้กระทั่งในวิชาเรียน
สิ่งเหล่านี้ถูกบอกเล่าจากปากของ ‘ครู’ ผู้ที่ทำหน้าที่ ‘ครู’-เต็มความหมาย
ประภาส: ขออนุญาตย้อนถามไปไกลถึงตอนเริ่มต้น อะไรทำให้ครูใหญ่เลือกเรียนการละครครับ
ครูไม่ได้เลือก ครูไม่ได้เลือกอะไรในชีวิตเลย
ตอนครูอยู่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย มาแมร์จับเล่นละครเป็นพระเอกมาตั้งแต่ประถม 1 ทุกเรื่องที่โรงเรียนจัดเป็นละครภาษาอังกฤษ มาแมร์ไม่เคยให้เป็นอย่างอื่นนอกจากพระเอก จนกระทั่งปีสุดท้ายตอนอยู่ม.8 มาแมร์คงสงสาร กลัวว่าจะผิดเพศเลยให้เล่นเป็นนางเอก (หัวเราะ) จึงได้เล่นเป็นผู้หญิงเรื่องเดียว แต่ชีวิตช่วงที่เรียนมาแตร์ฯ เราเล่นละครตลอด ไม่มีตอนไหนที่ว่างจากละครเลย
พอจบมาแตร์ฯ ก็สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เลือกคณะอักษรศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้เลือกคณะอื่นเลย เพราะเรารู้ตัวว่าเราเรียนได้อย่างเดียว อย่างอื่นเรียนไม่ได้ โง่สนิท เข้าไปปีแรกเพื่อนๆ เขามีโหวตดาว ผู้แทนน้องใหม่ เราเกิดได้รับเลือกขึ้นมา ต้องช่วยเอนเตอร์เทนในวันรับน้องใหม่ รุ่นพี่เขารู้ว่าเราเล่นไวโอลินได้ เลยบอกนัดให้เราหิ้วไวโอลินไปเจอกับหมอตรง พันธุมโกมล ซึ่งเป็นนายกชุมนุมดนตรี ส.จ.ม. ปัจจุบันคือ C.U. Band ตอนนั้นเขายังเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เตรียมแพทย์ ปี 2 ถือเป็นครั้งแรกที่เจอกัน พอรู้ว่าเราเล่นไวโอลินมาก่อน เขาก็บอกให้วางไวโอลิน แล้วสอนให้ร้องเพลง พอเราร้องเสร็จเขาก็หันมาบอกว่า เสียงดี ภาษาดี ท่าทางดี อย่าเล่นไวโอลินเลย มาร้องเพลงดีกว่า หลังจากนั้นเราแทบไม่ได้เล่นไวโอลินอีกเลย
ตั้งแต่ปี 1 เราร้องเพลงไม่ได้หยุดเลย ไปทุกงาน และวงดนตรีก็มีชื่อเสียงมากในตอนนั้น
จนถึงปี 4 เราได้รับเลือกเป็นนายกชุมนุมดนตรี ถือเป็นนายกชุมนุมดนตรีหญิงคนแรกของจุฬาฯ พอขึ้นเป็นนายกชุมนุมเราต้องรับผิดชอบทำโชว์สำหรับโอกาสต่างๆ ตอนงานต้อนรับวันเปิดเทอมเราคิดว่าอยากทำให้มโหฬารหน่อย เลยให้หมอตรงช่วยแยกเสียงเพลง น้ำใจน้องพี่สีชมพู เป็น 4 เสียง แล้วเอานิสิตปี 1 ทุกคณะมาร้องคนละเสียง แล้วให้ถือลูกโป่งสีของตัวเอง ถือเป็นครั้งแรกที่มีการคอรัส พอร้องเพลงจบก็ปล่อยลูกโป่งขึ้นไปบนหอประชุม คนตื่นเต้นกันมาก แล้วในงานชุมนุมนิสิตหญิง เราคิดว่าอยากทำอะไรที่ดูคล้ายมิวสิคัลเลยแต่งเพลง C.U. Polka ขึ้น เอาผู้ชายมาหัดเต้นทำเป็นมิวสิคัลซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครเคยทำ ก็เป็นที่ชื่นชม
หลังจากเรียนจบคณะอักษรศาสตร์ บัณฑิตเกียรตินิยม ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ท่านเสนอให้เรามาเป็นอาจารย์ในแผนกวิชาภาษาอังกฤษ เราก็ตกลง ท่านให้พักได้แค่เดือนเดียว หลังจากนั้นก็เริ่มทำงาน
ระหว่างที่ทำงานปีแรกมีการเปิดสอบชิงทุนฟูลไบรต์ เราก็ไปสอบแข่งกับเขาโดยเลือกไปเรียนปริญญาโทสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ และสอบได้ จึงไปกราบทูลศาสตราจารย์พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมปุรฉัตร หัวหน้าวิชาภาษาต่างประเทศ ว่าเราสอบได้ทุนไปเรียนวิชาการสอนภาษาอังกฤษ แต่ท่านรับสั่งเฉยเลยว่าสดใสเรียนอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเรียนการละครอย่างเดียว เรียกว่าเป็นบัญชาเลย เราจึงกลับไปขอเปลี่ยนกับผู้ใหญ่ทางฟูลไบรต์ บอกเขาว่าเราอยากไปเรียนวิชาการละคร เขาเปลี่ยนให้ทันทีเลย แต่ต้องยอมรับว่าค่อนข้างเสี่ยงเพราะว่าฟูลไบรต์เขาให้ทุนปีต่อปี ถ้าเลือกเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เวลา 1 ปี เราได้ปริญญาโทแน่นอน แต่วิชาการละครเราไม่มีพื้นสักอย่างเดียว เพราะสมัยนั้นในเมืองไทยยังไม่มีการเปิดสอนการละคร ถ้าจะไปเรียนต่อต้องไปเก็บวิชาพื้นฐานทั้งหมดตั้งแต่ปี 1 – 4 ให้ได้ภายใน 1 ปี และต้องได้คะแนนสูงพอ เขาถึงจะต่อทุนให้เรียนปริญญาโท เราเลยกลับมาปรึกษาพ่อ พ่อบอกว่า “ไปเรียนอะไรที่เรารัก ถึงไม่ได้ปริญญากลับมาก็ยังดีกว่าไปเรียนวิชาที่เราไม่ได้รักจริงเพื่อเอาปริญญา การเรียนไม่ใช่แค่การเอาปริญญา ไปเรียนที่ชอบดีกว่า”
พอพ่อพูดอย่างนี้เราตัดสินใจโดยไม่ต้องคิดเลย กลับไปบอกผู้ใหญ่ทางฟูลไบรต์ว่าตกลง ขอเปลี่ยนวิชาเป็นการละครทันที
ประภาส: ครูช่วยเล่าถึงชีวิตการเรียนวิชาการละครที่สหรัฐอเมริกาให้ฟังหน่อยสิครับ
เขาส่งเราไปอยู่ที่ University of North Carolina (Chapel Hill) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่น่ารักมาก อยู่บนเขา และอาจารย์ใจดีมาก เขาเลือกวิชาพื้นฐานที่เราต้องเรียนให้หมดภายใน 1 ปีให้เรา มีทั้งวิชา Acting, Directing, เชคสเปียร์ และอีกหลายวิชา
ปรากฏว่าตอนเรียนเราได้คะแนนสูงสุดวิชาเชคสเปียร์ โดยที่คนเรียนจำนวนเป็นร้อยๆ เราเพิ่งรู้ว่าพวกอเมริกันเขาไม่ค่อยชอบอ่าน เรานี่นั่งอ่านจนตาแฉะ อ่านหมดทุกเล่มของเชคสเปียร์ และรายงานที่เราทำส่งเรื่อง The Tempest อาจารย์ชอบมาก ถึงกับขอให้เก็บผลงานนั้นไว้ที่หอสมุด คือไม่ได้มีอะไรมากหรอก ทำไปตามเรื่องตามราวของเรา เรื่องนั้นมีเทวดา เราให้เทวดานั้นแต่งกายเป็นไทยหมดเลย เพลงที่ใช้ก็ใช้เพลงไทยหมดเลย ปรากฏว่าอาจารย์เขาชอบ
ที่แปลกประหลาดที่สุดคือละคร 4 เรื่องของมหาวิทยาลัยในปีนั้น เราได้เป็นผู้แสดงนำฝ่ายหญิงหมดทั้ง 4 เรื่อง โดยตอนนั้นเขาบังคับว่าทุกคนที่เรียนการละครต้องไปออดิชัน ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องไป เรื่องถึงเรื่องที่ 3 เราได้รับเลือกเป็นนางเอก พอเรื่องที่ 4 เป็นละครเพลงที่นิสิตต้องสร้างเพลงและเขียนเรื่อง original ขึ้นมา แล้วทำเป็นมิวสิคัลใหญ่ตบท้ายรายการ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับชีวิตมากเลย ตอนที่คัดเลือกนักแสดงเขาบอกว่าเราเล่นเป็นนางเอกมา 3 เรื่องแล้ว ถ้าเรื่องนี้ไม่มีคงจะไม่ดี เขาเลยเจาะจงเขียนบทเพิ่มให้ ในบทเขาให้เราเป็นคนไทยเข้ามาออดิชัน เขาก็ถามว่าเราร้องเพลงอะไรได้บ้าง เราก็ร้อง ลาวดวงเดือน แล้วรำด้วย ในบทเขาพูดต่อว่าไม่ต้องการเพลงช้า ที่นี่ต้องการแบบสวิง แบบแจ๊ซ ร้องได้ไหม คนแต่งเพลงละครเวทีเรื่องนี้เขาแต่งไว้แล้ว เพลงนี้มันมาก เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราก็ร้องแล้วเต้นด้วย ปรากฏว่าพอร้องจบคนลุกขึ้นยืนทั้งโรงละครปรบมือไม่หยุด
คนแต่งเพลงเขารู้อยู่แล้วเขาเตรียมเพลงอังกอร์ไว้ให้ เพลงอังกอร์เป็นเพลงช้า เศร้า เราเดินไปหน้าเวทีคุกเข่านั่งลงแล้วก็ร้อง ตอนนั้นเงียบมาก มีแค่เสียงร้องและเปียโน พอร้องจบคนดูก็ลุกขึ้นยืนอีก โห่ร้องให้อีก แต่เราไม่ไหวแล้ว ขอเลิกแค่นี้ (หัวเราะ)
หลังจากการแสดงในวันนั้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวกันหลายฉบับ และเราไม่รู้มาก่อนว่างานแบบนี้มีแมวมองจากนิวยอร์กมาดูด้วย เราได้หนังสือเชิญให้ไปออกรายการ Jack Paar Show ที่นิวยอร์ก และอีกหลายรายการ อาจารย์ที่ปรึกษาท่านดีเหลือเกิน แนะนำเราว่าที่นิวยอร์กนี่สำคัญ ควรไป รายการอื่นไม่ไปก็ได้ และให้เราลาเรียนไปออกรายการ Jack Paar Show หลังจากนั้นก็ได้รับการเสนอให้ไปอัดแผ่นเสียงกับลิเบอร์ตี้ เรคคอร์ดส และได้รับข้อเสนอจาก Warner Brothers ให้ไปเล่นเป็นนางเอกคู่กับ Darren McGavin ในภาพยนตร์ชุด Mike Hammer
ในที่สุดไม่รู้จะทำอย่างไรจึงนำข้อเสนอไปปรึกษาหัวหน้าภาควิชาการละครและผู้แทนของฟูลไบรต์ เขาก็บอกว่ารู้สึกว่า Chapel Hill จะเล็กเกินไปสำหรับเรา เขาแนะนำให้เปลี่ยนไปเรียนปริญญาโทที่ UCLA เพราะว่าที่นั้นเราจะได้ฝึกงานด้านการละครที่ฮอลลีวู้ดด้วย เราเลยตัดสินใจย้ายไปเรียนต่อที่ UCLA ฟูลไบรต์ก็ยินดีต่อทุนให้เป็นปีที่ 2 ทาง UCLA เขาก็ดีเหลือเกิน คือทุกคนที่จะมาทำปริญญาโทที่นี่ต้องสอบเข้า แต่เอ็ดเวิร์ด เฮอร์น ซึ่งเป็นอาจารย์เขาบอกว่าดูผลงานเราแล้วไม่ต้องสอบ
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับครูเป็นโชคชะตาทั้งนั้น พระเจ้าบันดาล ครูไม่ได้เลือก
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 131 กรกฎาคม 2554)
ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ