หากใครเคยดูซีรีส์หรือภาพยนตร์เกาหลี หรือเคยเดินทางไปเยือนเกาหลี คงจะเห็นว่าประเทศเกาหลีมีระบบขนส่งสาธารณะที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ขนาดเมื่อไม่นานมานี้ก็เริ่มมีการติดตั้งห้องกระจกใสให้คนเข้ามานั่งรอรถเมล์ เปิดแอร์ในหน้าร้อนและเปิดฮีตเตอร์ในหน้าหนาว ถึงกับมีที่ชาร์จแบตฯ โทรศัพท์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ด้วย
จนหลายคนเห็นแล้วถึงกับพูดว่า “เกาหลีพัฒนาต่อไม่รอแล้วนะ”
ดูเหมือนเกาหลีจะไปต่อไม่รอใครแล้วจริงๆ เพราะนอกจากการเดินทางโดยรถเมล์หรือรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมอยู่แล้ว ยังมีการติดตั้งจุดให้เช่าจักรยาน และล่าสุดที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ตอนนี้คือสกูตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าที่ติดตั้งอยู่ตามทางเท้าจุดสำคัญต่างๆ เช่น หน้าทางเข้า-ออกสถานีรถไฟใต้ดิน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
แม้แต่ซีรีส์ต่างๆ ก็มีตัวละครใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าให้เห็นเหมือนเป็นเรื่องสามัญ เพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของคนเกาหลี เช่น No Matter What (2020) ที่มีฉากตัวละครหญิงในเรื่องใช้สกูตเตอร์ หรือ Vincenzo (2021) ที่ตัวละครผู้ใช้สกูตเตอร์ถูกหัวหน้าตำหนิว่า “เวลารีบๆ แบบนี้ควรขึ้นแท็กซี่มาสิ” แต่เขาก็ตอบกลับไปว่า “เวลานี้เจ้านั่น (สกูตเตอร์) เร็วกว่าแท็กซี่อีก และกำลังเป็นเทรนด์ของคนเมืองด้วย”


เหตุใดสกูตเตอร์จึงเป็นเทรนด์ของคนเมืองเกาหลี ทั้งที่การเดินทางด้วยรถโดยสารอื่นๆ ก็สะดวกสบายอยู่แล้ว
เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการที่คนเกาหลีหลายคนชอบทำอะไรรวดเร็ว สำหรับคอซีรีส์หรือผู้ที่ชอบดูรายการวาไรตี้เกาหลีคงเคยได้ยินคำว่า “ปัลลีปัลลี (빨리빨리)” แปลว่า “เร็วๆ” คนเกาหลีทำอะไรด้วยความกระตือรือร้นรวดเร็วจนนับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง เรียกกันว่าเป็น “วัฒนธรรมปัลลีปัลลี” มีนักวิชาการหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากประเทศบอบช้ำจากสงครามเกาหลีในยุค 60s เกาหลีใต้ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรม ประชาชนพยายามดิ้นรนทำงานอย่างหนักและแข่งกับเวลา สิ่งนี้จึงน่าจะเป็นที่มาของวัฒนธรรมปัลลีปัลลี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการกล่าวถึงวัฒนธรรมนี้อยู่ มีทั้งมุมมองของชาวต่างชาติหรือแม้กระทั่งคนเกาหลีเองที่เมื่อพูดถึงภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลี สิ่งที่พวกเขานึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือคำว่า “ปัลลีปัลลี”
วัฒนธรรมปัลลีปัลลีอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเกาหลีเลือกใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้า ในกรณีที่ต้องเลือกระหว่างเดินเท้าบนฟุตพาทที่จริงๆ แล้วก็กว้างขวาง แข็งแรง เดินง่าย แต่เมื่อมีสกูตเตอร์ให้เช่า บางคนที่เร่งรีบก็จะเลือกใช้สกูตเตอร์เพื่อประหยัดเวลาให้ได้มากที่สุด
อีกเหตุผลหนึ่งคือสกูตเตอร์เป็นยานพาหนะที่มีขนาดเล็ก สามารถใช้งานได้คล่องตัว ประกอบกับช่วงนี้อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 สกูตเตอร์จึงเป็นทางเลือกที่ทำให้ไม่ต้องไปแออัดกับคนอื่นๆ บนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า และด้วยความกะทัดรัด หาที่จอดง่าย จึงมีพนักงานส่งอาหารเดลิเวอรีหลายคนเลือกใช้สกูตเตอร์เป็นยานพาหนะในการส่งอาหาร


จำนวนสกูตเตอร์ไฟฟ้าในโซลเมื่อปี 2020 อยู่ที่ 16,580 คัน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2019 และมียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับการเช่าสกูตเตอร์มากถึง 214,451 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 6 เท่า จากสถิติระบุว่าคนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี รองลงมาคือคนที่มีอายุ 30-39 ปี และ 40-49 ปี ตามลำดับ
ส่วนในฝั่งธุรกิจก็มีบริษัทที่เข้ามาลงทุนเกี่ยวกับบริการให้เช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้ามากกว่า 20 บริษัท ตั้งแต่กลุ่มสตาร์ทอัพไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่
แต่ไม่ใช่ว่าการใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าในประเทศเกาหลีจะมีแต่ผลดีต่อพลเมืองทุกคน ก่อนหน้านี้ผู้ที่สามารถใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าได้ไม่จำเป็นต้องมีใบขับขี่ และมาตรการต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจนนัก คนส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกกันน็อก ชอบขี่บนฟุตพาท บ้างขี่สกูตเตอร์ตอนข้ามทางม้าลายทั้งที่เสี่ยงชนคนเดินเท้า และคนที่ขี่สกูตเตอร์บนถนนหลายคนมักจะฝ่าไฟแดงตรงจุดที่มีทางม้าลายสำหรับคนข้ามถนน คงเพราะคิดว่าสกูตเตอร์ฉันแค่คันเล็กๆ บ้างก็มีคนซ้อนท้าย ส่วนตัวเราเองก็มักจะเห็นภาพคู่รักโอบตัวหรือเกาะเอวกันบนสกูตเตอร์คันเดียวกัน พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อผู้ใช้สกูตเตอร์และคนอื่นๆ ในบริเวณนั้นไม่น้อย


จากผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้สกูตเตอร์พบว่า 9 ใน 10 คนรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้า เมื่อปี 2020 มีคดีอุบัติเหตุเกี่ยวกับยานพาหนะเคลื่อนที่ส่วนตัว (เช่น สกูตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า สเก็ตบอร์ดไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้าล้อเดียว) จำนวน 897 คดี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวน 995 คน ในช่วงปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้มีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่สกูตเตอร์สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 60 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้ ในที่สุดทางการเกาหลีจึงได้ออกกฎหมายให้ผู้ที่มีใบขับขี่เท่านั้นจึงจะสามารถใช้สกูตเตอร์ได้ ต้องสวมหมวกนิรภัย ห้ามซ้อนท้าย ห้ามขี่บนฟุตพาทหรือทางม้าลาย (ต้องลงมาเข็นเท่านั้น) หากทำให้เกิดอุบัติเหตุจะถูกลงโทษเทียบเท่ากับการขับขี่จักรยานยนต์ หากขี่บนฟุตพาทแล้วเกิดชนคนเดินเท้าจะมีโทษปรับไม่เกิน 20 ล้านวอน (ราวๆ 6 แสนบาท) และจำคุกไม่เกิน 5 ปี

ปลายปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานตำรวจบางแห่งถึงกับลงพื้นที่จริงในวันนั้นและเข้าตักเตือนเรื่องกฎหมายการขับขี่สกูตเตอร์ให้กับผู้ใช้ที่สัญจรไปมาในละแวกนั้น หากพบว่าทำผิดอีกจะดำเนินการปรับจริงๆ คนส่วนใหญ่ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ซ้อนสอง หรือขี่บนฟุตพาทต่างบอกว่าไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้ออกมาแล้ว
ที่จริงแล้วเริ่มมีการพูดถึงการใช้กฎหมายเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงนอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ผ่านโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์และรณรงค์การขี่สกูตเตอร์ที่เหมาะสมผ่านโฆษณาสไตล์ฮิปๆ อีกด้วย


ทุกการพัฒนาที่รวดเร็วย่อมต้องมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของคนและกฎหมายเพื่อให้ทุกคนอยู่กันได้อย่างปลอดภัย คนรีบได้ไปต่อ คนเดินเท้าก็ไม่ต้องกังวลว่าการเดินเท้าที่ทำอยู่ทุกวันจะต้องโดนเบียดเบียนด้วยเทรนด์ใหม่ๆ การรณรงค์และการไม่นิ่งดูดายของภาครัฐที่กำหนดกฎหมายให้เข้มงวดและมีเจ้าหน้าที่คอยกวดขันน่าจะทำให้คนขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้าในเกาหลีปฏิบัติตามกฎหมายกันมากขึ้นในอนาคต และช่วยยกระดับความปลอดภัยให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนหรือคนเดินเท้า
อ้างอิง