เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดประเด็นถกเถียงเรื่องการจัดพื้นที่ออฟฟิศด้วยรูปแบบ Hot Desk ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากเจ้าของบริษัท Bearhug เผยแพร่คลิปวิดีโอ TikTok ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎเหล็กของบริษัทที่สั่งห้ามพนักงานวางสิ่งของบนโต๊ะ เก้าอี้ หรือบริเวณโดยรอบ เนื่องจากเป็นโต๊ะส่วนกลางที่สามารถใช้งานได้อย่างอิสระ พนักงานจำเป็นต้องนำสัมภาระต่างๆ ไปเก็บไว้ในล็อกเกอร์ของตนเองทุกวันหลังเลิกงาน ส่งผลให้ ‘มนุษย์ออฟฟิศ’ หลายคนไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับดังกล่าว เพราะเป็นกฎที่ไม่เหมาะสมกับการทำงานจริง
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็น ‘Gen Z ไม่อดทนต่อการทำงานหนัก’ จำนวนมาก โดยผู้คนบางส่วนมองว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิทธิของตนเองมากเกินไป จนขาดสามัญสำนึกในการทำงานร่วมกับคนอื่นในสังคม
ในขณะที่อีกฝ่ายตั้งคำถามต่อสังคมไทยว่า “หากวัฒนธรรมองค์กรไม่เหมาะสม พนักงานจำเป็นต้องอดทนหรือไม่?” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทไทยหลายแห่งยังคงเอาเปรียบลูกจ้าง เช่น การพูดคุยเรื่องงานผ่านช่องทางไลน์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือสั่งให้ทำงานล่วงเวลา แต่กลับไม่จ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมอย่าง OT (Overtime) ซึ่งขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานไทย
เว็บไซต์ Workvivo by Zoom องค์กรสตาร์ตอัพจากไอร์แลนด์ ที่มุ่งพัฒนาประสบการณ์การทำงานของพนักงานทุกคนบนโลก เผยว่า “พนักงาน 76 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอเมริกาเห็นด้วยว่า วัฒนธรรมขององค์กร (Organizational Culture) มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคน โดยบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่งมักสร้างผลกำไรสูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในตลาดเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด”
แม้วัฒนธรรมองค์กรจะเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อบรรยากาศและประสิทธิผลในการทำงานโดยตรง แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงมองข้ามปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่รับฟังความต้องการของคนทำงานจริง ครั้งนี้ a day จึงชวน ‘มนุษย์ออฟฟิศ’ มาเปิดอกพูดคุยว่า คัลเจอร์ในบริษัทที่พวกเขาอยากเปลี่ยนแปลงคืออะไร และทำไมคัลเจอร์เหล่านั้นจึงไม่ตอบโจทย์การทำงานในยุคนี้
แล้วคุณล่ะ…กำลังเผชิญปัญหาคัลเจอร์ในที่ทำงานอยู่ไหม?
กฎห้ามวางของบนโต๊ะ ‘Hot Desk’ เทรนด์ใหม่ที่ไร้พื้นที่ส่วนตัว
“การจัดพื้นที่ออฟฟิศรูปแบบ Hot Desk โดยไม่สอดคล้องกับลักษณะงาน หรือการตั้งกฎสั่งห้ามวางของบนโต๊ะ Hot Desk ทั้งที่ไม่มีโต๊ะประจำส่วนตัว เปรียบเสมือนการเพิ่มภาระมากกว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่พนักงาน”
พาย (นามสมมติ) นักวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง วัย 22 ปี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎห้ามวางสิ่งของบนโต๊ะ Hot Desk เนื่องจากบริษัทของเธอจัดพื้นที่และรูปแบบออฟฟิศตามลักษณะงานของแต่ละแผนก บางแผนกมีโต๊ะประจำส่วนตัว เช่น ฝ่ายบัญชี หรือ IT (Information Technology) เพราะเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิค่อนข้างมาก
ขณะที่บางแผนกใช้โต๊ะส่วนกลางร่วมกัน หรือที่เรียกว่ารูปแบบ ‘Hot Desk’ เช่น ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (Strategic Planning) เพราะลักษณะงานจำเป็นต้องพูดคุยปรึกษา และระดมความคิดร่วมกันเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโต๊ะส่วนกลางที่สามารถสลับปรับเปลี่ยนที่นั่งได้ตลอดเวลา แต่บางคนก็มีที่นั่งประจำของตัวเอง หรือเลือกนั่งบริเวณเดิมแทบทุกวัน
ข้อเสียของ ‘Hot Desk’ คือพนักงานไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เนื่องจากเป็นโต๊ะส่วนกลางที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น ล้อมรอบไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ทำให้รบกวนสมาธิในการทำงาน แต่ถ้าพนักงานมีโต๊ะประจำของตนเอง พวกเขาจะสามารถออกแบบโต๊ะตามที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางของใช้ประจำ เช่น แท่นวางโน้ตบุ๊ก แก้วน้ำ ผ้าห่ม เบาะรองหลังเก้าอี้ หรือแม้แต่การตกแต่งโต๊ะด้วยสิ่งของชุบชูหัวใจอย่างอาร์ตทอยหรือรูปภาพต่างๆ ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานมากกว่าการต้องเก็บสัมภาระไว้ที่ล็อกเกอร์หรือนำกลับบ้านทุกวัน
“การได้ทำงานในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากกว่าการทำงานที่โต๊ะ Hot Desk ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพหรือ Productivity ในการทำงาน”
การที่พนักงานหลายคนเลือกวางของไว้บนโต๊ะทำงาน Hot Desk ทั้งที่บริษัท Bearhug ตั้งกฎห้ามไว้ อาจเป็นเพราะกฎของบริษัทไม่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของพวกเขา แม้ปัญหานี้จะเป็นเพียงความสะดวกเล็กน้อยในสายตาของผู้บริหาร แต่ที่จริงแล้ว มันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มาก ผู้บริหารจึงควรสอบถามความต้องการของพนักงาน และไม่ควรเข้มงวดในกฎนี้จนเกินไป
หากผู้บริหารหรือหัวหน้าเปิดใจรับฟังความต้องการของพนักงาน จะทำให้พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองได้รับการปฏิบัติที่ดี และเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท (Ownership) ดังนั้น บริษัทที่ดีควรรับฟังเสียงความต้องการของพนักงาน เพราะพนักงานถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า วัฒนธรรมองค์กรที่ดีนำมาซึ่งความสุข และความต้องการทำงานต่อไปในอนาคตของพนักงาน
“พนักงานคือคนที่รู้ดีที่สุดว่า ชีวิตประจำวันในการทำงานควรเป็นอย่างไร เพราะพวกเขาคือคนที่ประสบปัญหาเหล่านั้น”
การบังคับเข้าออฟฟิศทุกวัน ทั้งที่ไม่จำเป็น
“เมื่อมีการทำงานรูปแบบ Work from Home เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ทำให้หมู่คนทำงานด้านสื่อสามารถเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนว่า การทำงานที่บ้านจะมีสมาธิและประสิทธิภาพมากกว่า จึงไม่แปลกที่หลายคนจะต้องการทำงานรูปแบบ Hybrid มากกว่าเข้าออฟฟิศทุกวัน”
นาย (นามสมมติ) Art Director หรือผู้กำกับศิลป์ ประจำองค์กรสื่อออนไลน์ วัย 32 ปี ระบุว่า วัฒนธรรมองค์กรที่เขาไม่ต้องการคือ ‘การเข้าออฟฟิศทุกวัน โดยไม่มีการ Work from Home’ แม้รูปแบบการทำงานจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท แต่บริษัทภายใต้อุตสาหกรรมสื่อควรปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ Hybrid Working ซึ่งพนักงานสามารถทำงานที่ออฟฟิศ บ้าน หรือที่ไหนก็ได้ เพราะการทำงานรูปแบบนี้ส่งผลดี และเอื้อประโยชน์ให้แก่พนักงาน
เนื่องจากกระบวนการทำงานด้านสื่อมีทั้งส่วนที่ต้องระดมความคิดกับคนในทีม ซึ่งการเข้าออฟฟิศ ทำให้การประชุมร่วมกันมีประสิทธิภาพมากกว่า และส่วนที่ต้องใช้สมาธิสูง เช่น การคิดไอเดียตั้งต้น โดยรูปแบบ Work from Home จะตอบโจทย์การทำงานขั้นตอนนี้มากกว่า เพราะพนักงานไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สามารถจดจ่อกับงานตรงหน้าได้ดีกว่า อีกทั้ง การทำงานรูปแบบ Work from Home ยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงทำให้พนักงานไม่ต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากจะคาดเดาของการจราจรในตอนเช้า ส่งผลให้เริ่มต้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“บริษัทสายครีเอทีฟควรสร้างระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เพราะถ้าพนักงานได้ทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีสมาธิในการตกตะกอนความคิด จะนำไปสู่การผลิตผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น”
สาเหตุของการกำหนด ‘นโยบายเข้าออฟฟิศทุกวัน’ ไม่ได้พิสูจน์จากประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเปรียบเทียบกับการ Work from Home แต่ผู้บริหารที่กำหนดนโยบายคำนึงถึงเรื่อง ‘ความคุ้มค่า’ ของต้นทุนเป็นหลัก เพราะการบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน ทำให้ผู้บริหารสามารถควบคุมพนักงานได้ง่าย เช่น ตรวจสอบการเข้า – ออกงานตรงเวลา เพื่อนับชั่วโมงการทำงาน และคำนวณเงินเดือน
“ผู้บริหารที่กำหนดนโยบายเข้าออฟฟิศทุกวัน เขาให้ความสำคัญกับผลกำไรจากชั่วโมงการทำงานมากเกินไป จนลืมนึกถึงกำไรจากศักยภาพของคนทำงาน ทั้งที่ผลลัพธ์ที่ดีมักมาจากศักยภาพมากกว่าระยะเวลาในการทำงาน”
บริษัทต่างๆ ควรเก็บข้อมูลความต้องการ และศึกษาพฤติกรรมของพนักงานในยุคปัจจุบัน เพื่อออกแบบวัฒนธรรมองค์กรอย่างเหมาะสม และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นสุข ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงทำให้พนักงานอยากทำงานที่บริษัทเดิมต่อไปในอนาคต
การรับฟังเสียงคนเก่ามากกว่าคนใหม่
“หัวหน้ามักรับฟังไอเดียของพนักงานเก่ามากกว่า ทำให้ข้อเสนอของพนักงานใหม่ไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง คัลเจอร์นี้ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม บั่นทอนสภาพจิตใจของคนทำงาน ทำให้รู้สึกหมดไฟ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความคิดสร้างสรรค์ และอาจนำไปสู่การลาออกในท้ายที่สุด”
น้ำตาล (นามสมมติ) นักข่าว สังกัดสื่อออนไลน์ วัย 23 ปี มองว่า ‘การให้ความสำคัญพนักงานเก่ามากกว่าพนักงานใหม่’ คือคัลเจอร์ที่เธออยากให้บริษัทปรับเปลี่ยน เนื่องจากเมื่อพนักงานเก่าบอกเล่าปัญหาการทำงานของพนักงานใหม่แก่หัวหน้า หัวหน้ากลับปักใจเชื่อตามคำพูดของพนักงานเก่า โดยไม่สอบถามความจริงที่แน่ชัดจากพนักงานใหม่ ทั้งที่ควรรับฟังอย่างรอบด้าน จนทำให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากองค์กรสื่อมีจำนวนพนักงานประมาณ 20 – 30 คน ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ วัฒนธรรมขององค์กรจึงขึ้นอยู่กับหัวหน้า หรือกลุ่มพนักงานเก่าเพียงไม่กี่คน เมื่อหัวหน้าไม่ได้มองว่าควรแก้ไข หรือไม่มีใครริเริ่มชี้ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหา คัลเจอร์นี้จึงยังคงอยู่ และหล่อเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้า ซึ่งจะต้องทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ผ่านการวางตัวที่เป็นกลาง และระบบการทำงานที่เหมาะสม
“พนักงานหลายคนเคยนำปัญหาอื่นไปพูดคุยกับหัวหน้า แต่เขาไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเลย ทำให้เราไม่ได้รู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะปรึกษาเรื่องปัญหานี้กับหัวหน้า ดังนั้นจึงควรมี HR เป็นสื่อกลางในการแก้ไขและไกล่เกลี่ยปัญหาต่างๆ ในที่ทำงาน”
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คัลเจอร์นี้ไม่หายไป อาจเพราะฝ่าย HR ของบริษัทไม่แข็งแกร่ง ไม่มีบทบาทในการปกป้องพนักงาน หรือทำหน้าที่อื่นๆ นอกเหนือจากงานเอกสาร และจ่ายเงินเดือน ดังนั้น การมีฝ่าย HR ที่ดีนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทแล้ว ยังสามารถพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการออกแบบเวิร์กช็อปหรืออบรมพัฒนาทักษะต่างๆ
ในแต่ละบริษัทมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ วัฒนธรรมองค์กรจะต้องไม่ทำร้ายใคร อย่างประเด็นเรื่อง ‘การรับฟังคนเก่ามากกว่าคนใหม่’ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติของบริษัท แต่เป็นเพียงคัลเจอร์ที่ทำต่อๆ กันมา ซึ่งถ้าในปัจจุบัน คัลเจอร์นี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อใคร บริษัทก็ควรปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ดีขึ้น โดยการรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน เพื่อให้ที่ทำงานกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Space สำหรับทุกคน
“บริษัทที่ดีควรเป็นที่ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเพศ อายุ ตำแหน่ง หรือระยะเวลาในการทำงาน จุดเริ่มต้นของการทำงานที่มีประสิทธิภาพคือ พนักงานต้องแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย และได้รับการรับฟังอย่างแท้จริง”
. . . . . . . . . . .
แน่นอนว่า วัฒนธรรมองค์กรคงไม่อาจปรับเปลี่ยนตามความต้องการของพนักงานได้ทุกเรื่องทุกประเด็น แต่การรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน เพื่อออกแบบวัฒนธรรม กฎเกณฑ์ หรือสภาพแวดล้อมในองค์กรร่วมกัน นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
อ้างอิง:
https://www.tiktok.com/@sunbeary.bearhug/video/7431086856923614465https://www.workvivo.com/blog/company-culture-impacts-organizational-performance/