ค้นพบความสนุกในถ้วยชาที่คาเฟ่เล็กๆ ย่านพระโขนง The Orange’s Tea

Highlights

  • The Orange's Tea คาเฟ่ชาน้องใหม่ย่านพระโขนง เกิดจากความตั้งใจของ ส้ม–ศชญา เชยสมบัติ หญิงสาวที่อยากสร้างสรรค์ชาแบบที่ตัวเองชอบแบบไร้กรอบกฎเกณฑ์ ชาของที่นี่จึงเกิดจากการผสมผสานตามการทดลอง เช่น ลองเอาชาไปผ่านกระบวนการไนโตรในวิถีกาแฟจนเกิดเป็นชารสนุ่ม
  • ชาที่โดดเด่นของร้านได้แก่ Hipster Moroccan หรือชาดำใส่มิ้นต์สดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชาโมร็อกโกแท้ สามารถนำมาพลิกแพลงเป็นเครื่องดื่มชาแบบร้อน เย็น และม็อกเทลรสเปรี้ยวหวาน
  • หากชื่นชอบชาเบลนด์ของร้าน สามารถซื้อชาแบบกระปุกกลับไปชงดื่มเองได้ ซึ่งทางร้านก็พร้อมให้คำแนะนำเพื่อให้ทุกคนได้ดื่มชาอร่อยฝีมือตัวเอง

เดินลัดเลาะเข้าซอยที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นร้านโปรดมาไม่เท่าไหร่ ข้างกันกับร้านดอกไม้น่ารักคือร้านชาน้องใหม่ประจำย่านพระโขนง The Orange’s Tea

ในยุคที่เรามีคาเฟ่ให้เลือกเข้าทั่วเมือง ที่นี่ยังมีชาที่พาให้เราอยากหวนกลับมาจิบรสชาติเดิมที่เคยสัมผัส ร้านน่ารักความกว้างหน้าห้องดูเรียบง่าย แต่ซ่อนไว้ซึ่งชาแปลกใหม่ที่เราไม่เคยได้ดื่มมาก่อน อย่างเช่นเจ้า Cold Heart Nitro ชาอู่หลงที่มาพบกับกุหลาบและลิ้นจี่ในแก้ววิสกี้ กินแล้วบอกไม่ถูกว่ากำลังลิ้มรสชาตะวันออกหรือตะวันตก แต่ที่แน่ๆ คือมันอร่อย นุ่ม และสดชื่น

ส้ม–ศชญา เชยสมบัติ หญิงสาวผู้เป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ให้นิยามชาของเธอไว้ว่า Twisted Tea Culture

ถ้าให้เราถอดเป็นคำภาษาไทยที่ตรงใจ มันน่าจะหมายถึง ชาอร่อยที่เกิดจากการทดลองออกนอกกรอบด้วยความสนุก

เริ่มที่บริบทของเรื่องราว ส้มเคยทำงานประจำเป็นประชาสัมพันธ์อยู่ในองค์กรสร้างสรรค์แห่งหนึ่ง ด้วยใจที่สนใจเรื่องอาหารการกินและเครื่องดื่มเป็นทุนเดิม เมื่อได้ลองทำน้ำสมุนไพรขายแล้วผลตอบรับดี เธอจึงกล้าสร้างแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา

“ส่วนตัวเรากินทุกอย่าง ทั้งชากาแฟเครื่องดื่มต่างๆ แต่ไม่อยากแค่ต้มน้ำใบเตยขาย อยากให้เครื่องดื่มตัวเองมีรสชาติแตกต่างจากคนอื่น เลยเริ่มเบลนด์สมุนไพรก่อน เริ่มไปเวิร์กช็อป เรียนรู้จากเพื่อนที่ทำชาแล้วเอามาปรุงเองต่อ อ่านหนังสือเองเยอะ พบว่าชามีทั้งเรื่องสรรพคุณและวิถีชีวิต เรื่องราวมันกว้างมากๆ แบบไม่จบไม่สิ้น มันเลยยิ่งสนุกและน่าสนใจไปหมดทุกอย่าง” ส้มย้อนอดีตสั้นๆ ให้ฟัง

ท่ามกลางมหาสมุทรรายละเอียดของชา ชาที่ส้มอยากทำเป็นชาแบบไหน เราถาม

“ชาที่ไม่มีกรอบใดๆ” เธอตอบ ชาที่ไร้กฎเกณฑ์ก็สะท้อนตัวตนสบายๆ ของผู้เป็นเจ้าของเองด้วย “เราเอาสิ่งที่เรียนรู้มาผสมรวมกัน บางอย่างก็เป็นเทคนิคกาแฟที่ลองเอามาทำกับชา”

ชาไนโตรคือชาตัวเด่นของร้านที่หลายคนอยากมาลิ้มลอง ส้มทำชาแบบ cold brew ก่อนจะนำมาเข้าเครื่องไนโตร เทคนิคเดียวกับที่ใช้ในกาแฟ เมื่อเครื่องดื่มผ่านเข้าเครื่อง ก๊าซไนโตรเจนจะช่วยลดความขมของชา เพิ่มความนุ่มจากฟองครีม จิบแล้วรสชาติก็จะค่อยๆ ปล่อยออกมาช้าๆ ให้ดื่มด่ำ

“บางคนอาจจะเข้าใจว่าชาจีนต้องเป็นกังฟู (วัฒนธรรมชงชาดั้งเดิมของจีน) ชาญี่ปุ่นต้องแบบนั้นแบบนี้ แต่เราลองเอาชาจีนมาทำด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ให้ความผิด-ถูกกับทุกอย่าง แต่ไปเรียนรู้วัฒนธรรมของเขาจริงๆ ว่าทำไมเขากินแบบนี้ ชงแบบนี้ แล้วจึงเอามาพลิกแพลงผสมผสาน”

ที่ร้านนี้มีทั้งชาแบบ single origin และชาเบลนด์ซิกเนเจอร์อีกกว่า 10 ชนิด วัตถุดิบมาจากในไทยและต่างประเทศ เมื่อจะเบลนด์ชา ส้มอาจมีจินตนาการไว้ว่าอยากให้ชาออกมาเป็นแบบไหน เช่น ชา Dark Paradise ที่มาจากไอเดียอยากสร้างชาซึ่งให้รสชาติแบบไวน์แซงเกรีย หรืออาจจะคิดจากวัตถุดิบที่มีในมือ เช่น ชาชื่อ Monkey Bliss ที่มีวัตถุดิบ Honeybush ซึ่งให้ความหวานแบบรากไม้ เธอก็ดีไซน์ให้ออกมาเหมือนขนม มีกลิ่นอายรสชาติแบบบานอฟฟี่ซึ่งเกิดจากการเบลนด์กล้วยกับคาราเมล

อีกชาเก๋ชื่อ Phrakanong’s Breakfast ที่มาจากชื่อย่านที่ร้านตั้งอยู่ เกิดจากการนำชาดำจากเคนย่า จีน อินเดีย และไทย เบลนด์เข้าด้วยกัน ให้กลิ่นชาดำเต็มที่โดยไม่ได้ถูกปรุงแต่งจากอย่างอื่น

“ตัวที่เราเอามาใช้เบลนด์ก็เป็น single origin เหมือนกัน มันจะต่างจากพวกชาแบรนด์ใหญ่ที่ต้องผลิตในปริมาณเยอะมาก จึงต้องกว้านซื้อจากหลายๆ ที่ พอชาอีกคนละแห่งมาเบลนด์เข้าด้วยกันเพื่อทำเป็นรสเดียวกัน เอกลักษณ์ของชาก็อาจหายไป”

ช่วงหลังนี้เธอก็เริ่มนำ chai หรือ ‘ไจ’ ชาอินเดียมาเบลนด์เป็นเครื่องดื่มรสชาติใหม่ๆ ของร้านแต่ไม่ละทิ้งจุดเด่นของมัน จิบแล้วยังได้กลิ่นเครื่องเทศชัดเจนแต่ไม่ยากเกินจะเอนจอย อีกจุดหนึ่งที่เรารักในชาที่นี่คือรสชาติที่ไม่หวานเกินไป

“ชาบางอย่างก็เกิดจากความบังเอิญ” เธอเล่ายิ้มๆ “ชาชื่อ Hipster Moroccan ที่หลายคนชอบนี่ ปกติชา Moroccan ของโมร็อกโกคือชาเขียวกินกับมิ้นต์สดและน้ำตาล ตอนนั้นเราเพิ่งเริ่มเปิดร้านแบบ soft opening เพื่อนมาก็ทำเมนูนี้โดยไม่ได้คิดอะไร ชงชาดำแบบร้อนใส่มิ้นต์ตกแต่งเยอะๆ เพื่อนก็ถ่ายรูปเล่นจนมันเย็น เราเลยลองเอามาเชคกับไนโตร เลยได้ชา Moroccan แบบเย็นออกมา พอใช้ใบมิ้นต์สดทำก็จะได้กลิ่นรสอ่อนๆ คนไม่ชอบมิ้นต์ก็กินได้”  

แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่ชาเบลนด์นี้ก็กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมประจำร้านไปเรียบร้อย อาจด้วยอากาศร้อนของเมืองไทยที่คนต้องการความสดชื่นตลอดเวลา

ส้มลองชง Hipster Moroccan ให้เราชิม ทั้งแบบร้อน แบบไนโตรเย็น รสชาตินุ่มลึกของชาดำเมื่ออยู่กับรสมิ้นต์แล้วเข้ากันอย่างประหลาด จากนั้นเธอก็พลิกแพลงมาชงเป็นม็อกเทลรสเปรี้ยวหวานด้วยการใส่เสาวรสลงไป นี่คือการแสดงให้เห็นว่าในชาตัวเดียวกัน เราสามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ ถ้าลูกค้าดื่มแล้วชอบก็ซื้อชากระปุกกลับไปชงเองที่บ้านได้

ด้วยความที่เป็นร้านเล็กๆ ที่นี่จึงสามารถเสิร์ฟชาแบบ craft tea ที่พยายามทำทุกขั้นตอนแบบแฮนด์เมด และลงดีเทลในเครื่องดื่มได้อย่างต้องการ ไม่ว่าจะเป็นไซรัปที่ส้มพยายามปรุงเอง การเลือกใช้น้ำที่ให้รสชาติเหมาะสมที่สุด หรือการเลือกใช้ชาจากคนรู้จักในแวดวงคนรักชาด้วยกัน (อาทิ ชาจากเจ้าของไร่ชาชาวเนปาลที่เดินทางมาเยี่ยมตั้งแต่ร้านเปิด) เพราะรายละเอียดต่างๆ ในชาย่อมส่งผลต่อรสชาติที่เราจะได้รับ

“เราไม่มีร้านชาเป็นธุรกิจครอบครัว ไม่ได้มีไร่ชาของตัวเอง เราจึงมีความเปิดกว้าง สมมติว่ามีร้านที่นำเสนอชาตะวันออก ร้านที่ขายชาซีลอนอย่างเดียวก็อาจจะโจมตีว่าชาจีนไม่ดีนะ มันมีการแบ่งขั้วอยู่ บางคนก็บอกว่าชาไม่ปรุงแต่งเลยดีกว่าชาเบลนด์ แต่พอเราไม่มีข้อจำกัดใดๆ เราก็เลยเลือกใช้ทุกๆ อย่างได้ แค่ว่าสิ่งที่เรานำเสนอนั้นคนชอบไหมก็เท่านั้นเอง” ส้มเล่า ทุกวันนี้เธอยังศึกษาเพิ่มเติมจากผู้รู้ในสิ่งที่สนใจ เพื่อให้ชาของร้านให้มิติประสบการณ์ใหม่ๆ แก่คนดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากพยายามให้ความรู้ในการดื่มชากับลูกค้า ร้านยังขยันจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับชาทุกเดือน ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับลูกค้าและสรรหารสชาติใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคต ความพยายามที่จะไม่ยึดติดกับอะไรเดิมๆ ยังเห็นได้จากเครื่องดื่มพิเศษประจำเดือนที่จะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์คนดื่มชาเสมอ

“ส้มรู้สึกเหมือนว่าชาทำให้เราภูมิใจในตัวเอง เวลาทำก็รู้สึกมีความสุขไปเรื่อยๆ พอเปิดร้านจริงจังก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่เราก็ยังทำต่อ มันเป็นทั้งงานอดิเรกและเป็นอาชีพ” เธอบอกพร้อมรอยยิ้ม นอกจากนี้เธอก็เชื่อว่าเราทุกคนสามารถสร้างสรรค์ชาที่ตัวเองชอบได้ โดยไม่ต้องมีคำว่าผู้เชี่ยวชาญพ่วงท้าย

“ชาที่อร่อยที่สุดของเราคือ ชาที่ทำตามคำแนะนำหรือทฤษฎีของมันก่อน แต่ลองปรับให้เข้ากับตัวเอง บางทีมันอาจจะเข้มไปหรืออ่อนไปสำหรับเราก็ลองเปลี่ยนใหม่ เราชงอร่อยได้เอง ต้องลองดู ลองเปิดใจ ไม่ต้องเครียดมากว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน

“เพราะจริงๆ แล้วแค่ได้นั่งชิลล์ ดื่มชา ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของมันระหว่างอ่านหนังสือก็จบแล้ว”

The Orange’s Tea

address : ซอยสุขุมวิท 69 (BTS พระโขนง เข้าซอยเจอร้าน Okinawa Kinjo แล้วเลี้ยวขวา)
hour : 10:30-19:30 น. ปิดวันอังคาร
facebook | The Orange’s Tea

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

ช่างภาพสาวร่างเล็ก อดีต a team junior 11 ผู้หลงใหลความทรงจำในภาพถ่ายและสนุกกับการแต่งตัวเป็นที่สุด เจ้าของ instagram @mochafe