“เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรได้ดั่งใจร้อยเปอร์เซ็นต์” Opendream บริษัทบุกเบิกเทคโนโลยีเพื่อสังคม

Highlights

  • เก่ง–ปฏิพัทธ์ สุสำเภา คือผู้ก่อตั้ง Opendream บริษัทที่นำเอาความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาช่วยเหลือสังคม
  • จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเขาคือ การได้เจอกลุ่มคนที่อยากสร้างนวัตกรรมทางสังคม นั่นทำให้เขาเริ่มทำงานอาสาสมัครกับเอ็นจีโอ แล้วผันตัวมาเปิดบริษัทร่วมกับแฟนอย่างเต็มตัว ด้วยเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นสะพานเชื่อมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน

“ผมว่ามันน่าตื่นเต้นมาก มันเหมือนเป็นทะเลใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” เก่งบอกถึงความรู้สึกแรกของการได้รู้จักโลกของกิจการเพื่อสังคมเมื่อสิบกว่าปีก่อนซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีคำนี้ด้วยซ้ำ ประโยคนี้ทำให้ฉันเห็นภาพลูฟี่กำลังยืนอยู่ที่หัวเรือกำลังออกไปในทะเลอันกว้างใหญ่ ทะเลแห่งยุคดิจิทัลที่เหมือนจะกว้างออกไปเรื่อยๆ

เก่ง–ปฏิพัทธ์ สุสำเภา เป็นผู้ก่อตั้ง Opendream บริษัทที่นำเอาความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาช่วยเหลือสังคม หลายคนอาจไม่รู้จักชื่อของ Opendream แต่ฉันเชื่อแน่ว่าคุณคงเคยผ่านตาผลงานของเขามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่น DoctorMe, แพลตฟอร์มการระดมทุนของ เทใจ, เว็บไซต์หลักของ BNK48 หรือเว็บไซต์ของ a day magazine ที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้

การเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับสังคมในยุคนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเราย้อนกลับไปสักสิบกว่าปีก่อน หลายคนอาจไม่ทันได้รู้จัก ICQ หรือ MSN เสียด้วยซ้ำ ในยุคที่เราต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมงในการต่ออินเทอร์เน็ต แล้วเทคโนโลยีในสมัยนั้นทำอะไรได้บ้าง

 

จากวิศวะคอมฯ สู่ผู้ประกอบการทางสังคม

ฉันนั่งคุยกับเก่งในห้องเล็กๆ ภายนอกกระจกเป็นพนักงานกว่า 20 ชีวิตที่มีหน้าจอคอมฯ เป็นของตัวเอง มีทั้งภาพวาด แผนที่ ไปจนถึงโค้ดประหลาด

เก่งเป็นคนคุยสนุกและตรงไปตรงมา เก่งเล่าให้ฟังถึงเส้นทางวิศวกรคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าของธุรกิจว่าในยุคนั้นตัวเลือกคนไม่มากนัก “เป้าหมายใหญ่ตอนนั้นก็คืออยากได้เงิน อยากรวยแบบบิล เกตส์ ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้ตัวเองเป็นบิล เกตส์ ได้ ถ้ายังทำงานอยู่แบบนั้นมันไม่มีอะไรให้จดจำเลยครับ”

ฉันชอบเรื่องตอนต้นนี้เป็นพิเศษ แม้มันจะยังไม่เกี่ยวกับ Opendream แต่มันก็เต็มไปด้วยความจริงที่ว่าใครๆ ก็อยากรวย แต่เราจะคาดหวังผลลัพธ์ใหม่จากการย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ ด้วยความที่นิสัย ความใฝ่ฝัน และวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เข้ากัน เก่งจึงตัดสินใจลาออกทั้งที่ยังไม่มีเป้าหมาย

“จนได้มาเจอคนเพี้ยนๆ ในอีเวนต์หนึ่งที่อยากสร้างนวัตกรรมทางสังคม เราไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะสร้างนวัตกรรมทางสังคมขนาดนั้น ในตอนนั้นเรารู้สึกว่าอยากไปทำงานอีเวนต์เพราะได้เงินเยอะ แต่พอมาเจอคนกลุ่มนี้ที่เขาอยากทำเพื่อสังคมเราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดี มันเหมือนความพยายามที่ข้ามสายงานกันมาสร้างสิ่งที่นึกไม่ออกว่าจะเป็นยังไง” เขาเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต

เก่งเริ่มไปทำงานอาสาสมัครกับเอ็นจีโออยู่ประมาณครึ่งปี ประกอบกับการผลักดันจาก Change Fusion ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นงานที่มีประโยชน์มาก นอกจากช่วยเหลือสังคมได้แล้วยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วย เมื่อเขาเริ่มเห็นเส้นทางที่ชัดเจนขึ้นจึงผันตัวจากอาสาสมัครมาเปิดบริษัทร่วมกับแฟนอย่างเต็มตัว

จาก Web Browser สู่ Application

Browser 1.0           

ในช่วงนั้นเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตกำลังผลิบาน คนทั่วไปเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นผ่านการต่อสายโทรศัพท์บ้านเข้ากับเครื่องส่งสัญญาณและเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บบราวเซอร์

“ยุคนั้นถ้าพอจำได้จะมีตัวหนังสือกะพริบๆ มีตัววิ่งบนหน้าเว็บไซต์ว่านิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่มใหม่ออกแล้ว” เก่งเล่าถึงหน้าตาเว็บไซต์ของมูลนิธิหมอชาวบ้านที่เขาได้มีโอกาสทำงานด้วย

“แต่พอบอกว่าเล่มใหม่ออกแล้ว แล้วไงวะ” นี่เป็นคำถามที่เขาอยากทำมันให้ดีขึ้น

ก่อนหน้าการมาถึงของอินเทอร์เน็ต มูลนิธิหมอชาวบ้านมีหนังสือที่รวบรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์ต่างๆ ตีพิมพ์มากว่า 30 ปีและกำลังถูกปลวกกิน เขาจึงช่วยพัฒนาเครื่องมือแปลงหนังสือหลายร้อยเล่มเป็นตัวอักษรออกมา และเผยแพร่ให้คนได้อ่านทางช่องทางออนไลน์ จากเว็บไซต์ที่มีคนเข้ามาอ่านเดือนละพันกว่าคน ก็มียอดพุ่งขึ้นสูงถึงเดือนละแสน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นไม่ใช่แค่ตัวเลขของคนอ่าน หากเป็นการที่คนได้นำความรู้ไปใช้จริง ไปรักษาให้ตัวเองหายจากอาการป่วย

 

Browser 2.0

“ตอนปี ’54 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ เราเห็นว่าตอนนั้นสรยุทธไปที่ไหน ที่นั่นจะได้มาม่าเป็นร้อยซอง แต่เขาไม่มีน้ำต้มเว้ย! ทำไมเราไม่เอามาม่าไปให้คนที่เขาต้มได้ โชคดีที่ตอนนั้นเราอยู่ในทำเนียบและมีส่วนร่วมในการจัดการข้อมูล เราก็เลยสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาว่าใครต้องการอะไรที่ไหนและมีใครจะให้อะไร เราอยู่ในจุดที่เราได้มีโอกาสทดลองอะไรหลายๆ อย่างและมันก็สนุกมาก” เขาเล่าถึงวิกฤตที่เขาและทีมได้มีโอกาสช่วยอย่างภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ยังมีโครงการลักษณะคล้ายกันที่ทำกับรัฐบาล เก่งเล่าว่าตอนนั้นรัฐบาลมองอินเทอร์เน็ตเป็นผู้ร้ายเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่คนได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ เขาจึงพัฒนาพื้นที่บนโลกออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเชื่อมรัฐกับประชาชนเข้าด้วยกัน โดยให้ประชาชนมาถามคำถามนายกรัฐมนตรีและคำถามที่มีคนโหวตสูงสุดจะได้รับการตอบ

Application

เมื่อเข้าสู่ยุคแอพพลิเคชั่น เราเริ่มเห็นภาพของเทคโนโลยีชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร ข่าว ธนาคาร หรือความบันเทิง ก็ล้วนยกระดับมาอยู่บนสมาร์ตโฟน ทำให้ Opendream เองมีงานสร้างสรรค์ออกมาอีกหลายชิ้น

“ช่วงนั้นสมาร์ตโฟนเริ่มเข้ามา เราอยู่บนรถไฟฟ้าแล้วเห็นคนไถโทรศัพท์กันเยอะ เราก็คิดว่ามันจะเป็นยังไงถ้าเราขโมยเวลาของเขาได้สัก 30 วินาทีหรือ 1 นาที ให้เขามาสนใจเรื่องสุขภาพและทำให้คนดูแลตัวเองได้” เก่งอธิบายถึงที่มาของแอพลิเคชั่น DoctorMe ที่ให้เราเป็นหมอให้ตัวเอง แอพพลิเคชั่นที่ทักทายเราทุกวัน ว่าวันนี้ยังสบายดีอยู่หรือเปล่าเพราะเก็บประวัติความเจ็บป่วยของเราไว้

อีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่เก่งเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จและความงดงามจากการร่วมมือกันคือแอพที่มีชื่อน่ารักว่า ‘ผ่อดีดี’ หรือ PODD ซึ่งใช้เพื่อรายงานการตายของสัตว์เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมพอเจอสัตว์ตายก็ไม่มีใครทราบ พอเยอะเข้าก็กลายเป็นโรคระบาด ซึ่งกว่าเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งและช่วยเหลือได้ทันก็ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากและต้องฆ่าสัตว์จำนวนมาก เช่นเดียวกันกับโรคไข้หวัดนกที่เคยเป็นวิกฤตและเราต้องฆ่าไก่ไปหลายหมื่นตัว แอพพลิเคชั่นนี้เป็นช่องทางให้ชาวบ้านได้รายงานเข้ามาว่ามีสัตว์ตาย และข้อมูลเหล่านี้จะถูกคำนวณและส่งไปให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและป้องกันโรคระบาดไว้ได้ทันการ

“ถ้าไม่มีเทคโนโลยี โครงการนี้ก็สำเร็จยาก ถ้าไม่มีความร่วมมือจากผู้คนและชุมชนก็สำเร็จยากเหมือนกัน” เก่งอธิบายถึงความซับซ้อนในการขอความร่วมมือกับชุมชนทั้งจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนร่วม เรียกได้ว่าเทคโนโลยีนี่แหละที่เป็นสะพานเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีเกมอีกมากมายที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับเด็ก เช่น เกมเกี่ยวกับเพศศึกษา เกมต้านคอร์รัปชั่น เกมเกี่ยวกับการรับมือกับน้ำท่วม ที่ฉันเองก็คงเล่าไม่หมดนอกจากให้ทุกคนลองไปโหลดเล่นดูกันเอง พอมาถึงตรงนี้ฉันเลยโยนคำถามยอดนิยมไปว่าเด็กเล่นเกมเยอะๆ จะดีเหรอ

เขาในฐานะเด็กติดเกมก็ตอบได้อย่างน่าสนใจว่า “เด็กเล่นเกมเยอะไม่ดี ที่เขาพูดก็ถูก แต่ถ้าอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องที่มันซับซ้อนมากๆ ก็ต้องการ option เหมือนจะไปบอกให้เด็กไม่โกงมันก็ไม่ได้ไง ต้องเป็นคนดีนะครับ มันก็ยากที่จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าผลกระทบของเรื่องซับซ้อนเหล่านั้นคืออะไร และเกมก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือนั้น”

เขายังย้ำว่าคำตอบของเขาไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สังคมเองก็ต้องเปิดใจในการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ด้วย

 

บทเรียนของความอินดี้

กว่าสิบปีของการเปิดบริษัทที่แทบจะเป็นยุคบุกเบิกของกิจการเพื่อสังคม น่าแปลกที่ปัญหาของบริษัทไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานกับบริษัทใหญ่เพื่อหาเงิน แต่เกิดจากการอุทิศตัวเพื่อทำงานฟรีต่างหาก

“เราไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นเหมือนกันหรือเปล่า อย่างการผลักดันด้วยอารมณ์ที่อยากแก้ไขปัญหาสังคม อยากทำอะไรที่มีคุณค่า พอผลักดันด้วยวิธีของอารมณ์มากๆ เราจะไม่อยากทำงาน commercial แต่ในขณะเดียวกันที่ร้ายแรงกว่าคือเราจะอยากทำงานทุกงานที่มีอิมแพกต์ งานพี่เจ๋งจัง เลยอยากทำให้ฟรี กลายเป็นว่าการทำงานกับ commercial ไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่งานฟรีที่มีอิมแพกต์ทำร้ายโฟกัสเรามากๆ จริงๆ เราสนุกกับทุกงานและมันดีมาก แต่ในฐานะบริษัทมันไม่ค่อยดี”

เก่งมองออกไปทางห้องกระจกและเล่าเรื่องพนักงานที่อยู่ด้วยกันมานาน ด้วยภาระที่เพิ่มขึ้นและทีมที่ใหญ่ขึ้นทำให้เขาเรียนรู้ที่จะหาสมดุลระหว่างอารมณ์และเหตุผล เขาเองก็ตอบไม่ได้ว่าแผนการในอนาคตของบริษัทจะเป็นอย่างไร คิดไม่ออกเสียด้วยซ้ำว่าแผนการอะไรที่ทำให้บริษัทเติบโตมาถึงจุดนี้ แต่สิ่งที่เขาตั้งใจมากๆ คือ “เราอยากทำยังไงก็ได้ให้เราใช้คนเท่าเดิม แต่เพิ่มคุณค่าตัวเองให้ได้มากขึ้น”

ส่วนน้องๆ ที่เริ่มอยากลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนอื่นหรือมอบคุณค่าให้สังคม เก่งยังให้คำแนะนำสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ถ้าอยากทำอะไรทำเลยครับ ถ้าไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ ข้อดีของน้องๆ ที่จบใหม่คือยังมีเวลาให้ลองอีกมาก ล้มก็ต้องลุก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรได้ดั่งใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่ทุกครั้งที่ล้ม ให้เรารีบลุกขึ้นมา”

 

ติดตามผลงานของ Opendream ได้ที่ www.opendream.co.th

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!