อึดอย่างเดียวไม่พอ เมื่อการทำข่าวออนไลน์ ‘กรรมกรข่าว’ ต้องอาศัยความสร้างสรรค์

น่าเสียดายที่คนยุคนี้ไม่ได้เห็นการทำงานของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา คนข่าวเบอร์หนึ่งของเมืองไทย ที่ห้วงเวลาหนึ่งไม่มีใครไม่รู้จักเขา

คุณสรยุทธโด่งดังในยุคฟรีทีวี 6 ช่อง และใน 6 ช่องนั้นก็มีไม่กี่ช่องที่ปักธงการนำเสนอข่าวเป็นเสาหลักของสถานี ในช่วงพีคๆ เมื่อพูดถึงข่าวคนจะนึกถึงสรยุทธ ฟุตบอลเตะได้แชมป์มา คนก็รอให้สรยุทธสัมภาษณ์ ข่าวไหนกำลังดัง ตกเย็นเปิดโทรทัศน์รอได้เลย สรยุทธและทีมงานจะพูดถึงเรื่องนั้นแน่นอน

คุณสรยุทธมีฉายาว่า ‘กรรมกรข่าว’ ซึ่งมาจากชื่อหนังสือที่เขียนเอาไว้ ความขยันของคุณสรยุทธเปรียบได้กับกรรมกรจริงๆ จัดรายการหกโมงเช้า เข้าสถานีตั้งแต่ตีสองตีสาม อ่านข่าว แต่งหน้า 2-3 ชั่วโมง เสร็จงานกะแรกสักสิบโมงเช้าก็นอนพักช่วงบ่ายอ่อนๆ พักได้สักชั่วโมงหน่อยๆ ตื่นมาอีกทีบ่ายสาม เตรียมจัดรายการตอนเย็นต่ออีก แล้วเข้านอนไม่เกินสี่ห้าทุ่ม เพื่อตื่นให้ทันการจัดรายการเช้า

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับช่วงเวลาว่างๆ ที่ต้องเสพข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

ที่เล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ ไม่เคยได้สิงอยู่กับคุณสรยุทธหรอก

แต่มันเป็นเรื่องราวเล่าต่อๆ กันมาในวงการข่าว ให้นักข่าวทุกคนเอาเยี่ยงอย่างถึงความขยัน ความอึด ความสม่ำเสมอในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับการทำงานข่าวโทรทัศน์

ต้องเข้าใจความแตกต่างก่อนว่าข่าวโทรทัศน์ ใช้เวลาในการนำเสนอนาน

คุณสรยุทธจัดรายการเช้า 3-4 ชั่วโมง รายการเย็นอีกครึ่งชั่วโมง เท่ากับว่าในแต่ละวันจะต้องมีอะไรพูด มีอะไรมานำเสนออย่างน่าสนใจ มีพลัง เอาคนดูอยู่ ร่วมๆ สี่ชั่วโมงครึ่ง บางวันจำนวนข่าวที่นำเสนออาจมีเป็นร้อยข่าวก็เป็นไปได้ นั่นคือสาเหตุหลักว่าทำไมคนข่าวอย่างพวกเรา (รวมถึงข้าพเจ้า) ที่เติบโตมาในยุคหลังคุณสรยุทธ ถูกปลูกฝังให้ขยันและอึดเยี่ยงกรรมกร (แน่นอน เรื่องของมันสมองและความแหลมคมก็ต้องมีด้วย)

แต่บรรยากาศของสื่อออนไลน์ไม่เหมือนทีวี ไม่มีการแช่ดูช่องใดช่องหนึ่งนานๆ ในแต่ละวันคนไถหน้าจอมือถือมองเห็นเนื้อหาที่สลับสับเปลี่ยนผู้ผลิตทุกวินาที

โลกออนไลน์อาศัยความแหลมคม

ถ้าคนทำสื่อออนไลน์ใช้หลักความอึด ความถี่ ความน่ากลัวคือข่าวที่ทุกสำนักข่าวทำออกมาอาจจะกลายเป็นข่าวที่ลอกต่อๆ กันมา ประเด็นซ้ำๆ กันไปหมด ถ้าเราเน้นจำนวนเป็นหลัก

จุดชี้วัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะในโลกออนไลน์น่าจะเป็นเรื่องของความแหลมคม ความลึก และวิธีการนำเสนอที่ชัดเจนกว่า ยกตัวอย่างเช่นเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่าน ประเด็นใหญ่ประเด็นแรกที่สังคมพูดคุยถกเถียงกัน คือเรื่องที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนตัดสินใจทดลองให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ ในคืนวันจันทร์ทุกสำนักข่าวรู้อยู่แล้วว่าวันรุ่งขึ้นจะนำเสนอเรื่องนี้อย่างแน่นอน

ประเด็นเดียวกัน แล้วความแตกต่างคืออะไร

  1. มุมในการนำเสนอ เช่น เลือกเล่าผ่านชีวิตนักเรียนคนหนึ่ง หรือเล่าผ่านที่มาที่ไปว่าทำไมโรงเรียนจึงตัดสินใจแบบนี้
  2. การเลือกใช้คำพาดหัว ตรงนี้สำคัญมาก อะไรที่เตะตา ดึงดูดให้คนเข้าไปดูล่ะ นักข่าวทุกช่องล้วนได้เสียงสัมภาษณ์ผู้อำนวยการคนเดียวกัน พูดเหมือนกัน คำพูดไหนที่คนอ่านแวบเดียวแล้วอยากคลิกเข้าไปดูทั้งข่าว
  3. คุณภาพของภาพและเสียง งานออนไลน์เป็นงานเนี้ยบ คนเสพสื่อออนไลน์จ้องจอใกล้มาก เขาเห็นความคมชัดของฟุตเทจข่าวที่ออกไปถ่าย สัมผัสได้ถึงความแตกต่าง ตรงนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ 
  4. ความลึกและแม่นยำของข้อมูล บรรยากาศการเสพสื่อในเมืองไทย ยังมีความเฮละโล เห่อเป็นประเด็นตามๆ กันไปอยู่มาก ประเด็นควรตามหรือไม่ สำคัญแค่ไหน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ปฏิเสธยากว่าพอมีเรื่องไหนที่ถูกจุดติดกลายเป็นกระแสขึ้นมา คนก็จะพูดคุยกันทั้งสังคมออนไลน์ ทีนี้สิ่งสำคัญคือเมื่อมันพูดเรื่องเดียวกันแล้ว เราจะแตกต่างได้อย่างไร ความลึกของข้อมูล และความแม่นยำ ไม่ผิดพลาด จะเป็นอีกหนึ่งจุดที่ชี้ขาดในสนามแข่งขัน

แน่นอน ความอึด ความอดทน สมบัติเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของการทำงานข่าว แต่ในโลกออนไลน์ เราต้องมั่นใจว่าเราให้เวลามากพอกับพื้นที่ที่สร้างสรรค์และการทำงานที่ไม่เครียด ไม่กดดัน เพื่อให้การทำงานของคนข่าวตอบโจทย์ 4 ข้อที่พูดถึงเอาไว้

AUTHOR

ILLUSTRATOR

สหรัฐ คาน

สหรัฐ คาน aka Marc Khan นิสิตออกแบบ ชั้นปีที่ 4 อยู่ในวัยทำ Thesis แต่อยากทำทุกอย่างที่ไม่ใช่ Thesis ชอบงานออกแบบ ชอบภาพประกอบ ความฝันตอนนี้คืออยากเรียนจบมากๆ