เข้าใจเด็กจบใหม่ โลกออนไลน์ และความแตกต่างของเจเนอเรชั่น

ด้วยเพราะการทำงานที่ต้องเกี่ยวพันกับการคัดเลือก สัมภาษณ์ รับเด็กจบใหม่เข้ามาทำงานด้วย ทำให้มีหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากช่วงเวลาที่ผ่านมานี้

ก่อนอื่นขอเล่าให้เห็นภาพก่อนว่าผู้เขียนอายุ 34 ปี เด็กจบใหม่จะอายุประมาณ 22-23 ปี ช่องว่างสิบกว่าปีนี้สำคัญมาก เพราะเป็นช่องว่างของเจเนอเรชั่นอันมีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราแตกต่าง

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขออธิบายไทม์ไลน์ไว้ตามนี้ ผู้เขียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี 2546 หนึ่งปีก่อนที่เฟซบุ๊กจะก่อตั้ง เมื่อเรียนจบ เฟซบุ๊กกำลังเริ่มเข้ามาถึงประเทศไทยพอดี ผู้เขียนเกิดในปี 2527 ซึ่งเท่ากับว่าผ่านมาตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ต มาสู่ยุคเว็บไซต์ และเริ่มทำงานในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังแพร่หลาย

ในขณะที่เด็กจบใหม่ พวกเขาเกิดปีเดียวกับที่พันทิปดอตคอมก่อตั้ง เฟซบุ๊กแพร่หลายในไทยในช่วง ม.ปลาย ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตพวกเขา

ที่ต้องเอ่ยถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพราะเห็นว่าโลกออนไลน์นั้นสำคัญกับการเติบโตของคนจริงๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการได้รับการยอมรับจากสังคม

การจะโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของคนในยุคข้าพเจ้า ถ้าไม่เรียนเก่ง ไม่โดดเด่นในโลกวิชาการ ก็ต้องทำกิจกรรมเก่ง ซึ่งทั้งสองทางต้องอาศัยเวทีของคนอื่นเพื่อพิสูจน์ตนเองโดยเฉพาะอย่างหลัง ยกตัวอย่างเช่น เวทีประกวดดนตรี เหล่านี้ล้วนต้องมีเวทีกลางซึ่งนั่นตามมาด้วยการต้องเคารพกฎการอาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่น แม้ปลายทาง ความสามารถจะเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จไม่ต่างกัน แต่ระหว่างทางนั้นได้เรียนรู้อะไรอีกมากมาย

เด็กที่เกิดมาพร้อมกับโซเชียลมีเดียมีสิ่งที่คนรุ่นผมไม่มีนั่นคือพื้นที่ของตัวเอง การเติบโตมาพร้อมกับเฟซบุ๊ก ยูทูบ และอินสตาแกรม ทำให้เด็กรุ่นนี้มีโอกาสได้แสดงออกถึงความคิด ความสามารถ และอารมณ์ของตนเองได้เสมอ ซึ่งอาจมีความแตกต่างตรงที่ความอดทน การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับกฎกติกาที่มีอาจจะน้อยกว่า แต่จุดแข็งคือคนรุ่นนี้จะเรียนรู้เร็ว เกิดมาพร้อมกับเครื่องมือช่วยเหลือมากมาย เข้าใจการทำงานในโลกออนไลน์ และไม่จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ของคนอื่นในการพิสูจน์ตนเอง

 

ถ้าเก่งจริงก็จะมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกและได้รับการยอมรับอยู่เสมอ

 

อีกหนึ่งมิติที่น่าสนใจคือความกระตือรือร้นและความทะเยอทะยาน อาจเพราะด้วยสาเหตุเรื่องของเวทีและพื้นที่กลางที่คนรุ่นผมต้องไขว่คว้าแสวงหา คนยุคผมถ้าอยากได้รับการยอมรับก็ต้องแลกด้วยความกล้า กล้ายกมือ กล้าเสนอตัว เพราะถ้าคุณไม่ฉวยโอกาสเหล่านั้นไว้ก็สูญเปล่า ถ้าไม่เป็นหนึ่งก็เป็นศูนย์ คนยุคผมจึงออกดอกผลมาเป็นสองอย่าง นั่นคือคนที่ทำได้จริงกับพวกวอนนาบี (คือยกมือหราอาสารับงานแต่ทำจริงไม่ได้)

เด็กจบใหม่ยุคนี้คุ้นชินกับการมีพื้นที่ มีผู้ติดตาม มีคนให้การยอมรับในตัวตนของเขาตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิดบัญชีในโซเชียลมีเดีย พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องชูมืออาสาทำงานอะไรเมื่อมีคนมอบหมายให้ จะทำไปทำไมในเมื่อพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ก็ให้การยอมรับตัวตนของเขาอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน ความโหดร้ายของการเติบโตมากับยุคโซเชียลมีเดียนั้นเกิดขึ้นกับเด็กๆ หลายคนที่ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้มากพอ แต่ก็ต้องมาเจอกับการบูลลี่ การแสดงความเห็นอย่างเจ็บแสบ ความโหดร้ายผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็ส่งผลกับภาวะอารมณ์จนหลายคนถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าไปก็มี

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่น ไม่มีรุ่นไหนดีกว่า-แย่กว่า สิ่งที่พวกผมต้องเจอคือการดีลกับเด็กจบใหม่ที่อาจจะอดทนกับคำดุ คำวิจารณ์ ไม่เท่าคนรุ่นผม ต้องดีลกับการเปลี่ยนงานบ่อยหรืออดทนต่อสู้กับช่วงพิสูจน์ตัวเองน้อยกว่าคนรุ่นเรา แต่นั่นก็คือปัญหาที่พวกเราต้องเรียนรู้จัดการ เพราะนั่นไม่ใช่ความผิดของเด็กจบใหม่ทั้งหลาย

ในทางกลับกัน พวกเขาเกิดมาในยุคที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถมากมายและหลากหลาย มีตลาดรองรับมากกว่า มีกลุ่มเป้าหมายที่แยกย่อยแตกต่างมากกว่า ลึกๆ พวกเขารู้ดีว่า ถ้าเขาเก่งจริง เขาไม่อดตาย เขามีพื้นที่ที่เขาจะได้เป็นตัวเองและพิสูจน์ความสามารถของพวกเขาได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สหรัฐ คาน

สหรัฐ คาน aka Marc Khan นิสิตออกแบบ ชั้นปีที่ 4 อยู่ในวัยทำ Thesis แต่อยากทำทุกอย่างที่ไม่ใช่ Thesis ชอบงานออกแบบ ชอบภาพประกอบ ความฝันตอนนี้คืออยากเรียนจบมากๆ