การเดินทางของ สุนิษา ฤกษ์ชัย วิลคินซัน เภสัชกรไทยที่ฝันจะไปเติบโตในแคนาดา

แคนาดา

การได้มีโอกาสลองไปอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลานานๆ ไม่ว่าจะไปเที่ยว เรียน หรือทำงาน นอกจากจะช่วยเปิดโลกเปิดมุมมองให้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวางขึ้นแล้ว ความคิดที่อยากจะย้ายมาอยู่ประเทศนี้หรือประเทศอื่นที่มีลักษณะคล้ายๆ กันอย่างถาวรก็อาจเกิดขึ้นได้กับหลายคน

สำหรับ สุนิษา ฤกษ์ชัย วิลคินซัน ความคิดนี้เกิดขึ้นกับเธอเมื่อเกือบสิบปีก่อนในตอนที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 หลังจากที่ได้ไปโครงการ Work and Travel ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทัศนคติของคนในสังคมที่เปิดกว้าง บรรยากาศที่สร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยนโดยไม่มีใครตัดสินว่าผิด-ถูก รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการใช้ชีวิต ทำให้เธอเกิดความประทับใจจนตัดสินใจว่าหลังเรียนจบจะย้ายมาใช้ชีวิตที่นี่ให้ได้

เมื่อกลับมาประเทศไทย เธอกับแฟนชาวอังกฤษจึงช่วยกันหาข้อมูลวางแผนการย้ายประเทศ จนสุดท้ายมาตกลงที่ประเทศแคนาดา เพราะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าจากโครงการ Canada Express Entry สำหรับ skilled worker ซึ่งเปิดรับวิชาชีพเภสัชกรด้วย อีกทั้งแคนาดายังมีสภาพสังคมน่าอยู่ ปลอดภัย มีระบบการศึกษาที่ดี และมีระบบสุขภาพที่ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

ท้ายที่สุดแล้วสุนิษาก็ได้เดินทางย้ายมายังแคนาดาในสถานะ PR (Permanent Residence) โดยโควตา Family sponsorship เพราะแฟนของเธอยื่นขอเป็นพลเมืองแคนาดาได้สำเร็จ เนื่องจากเป็นวิธีที่ค่อนข้างชัวร์และใช้เวลาน้อยกว่า

แต่ถึงกระนั้น สุนิษาก็ไม่ได้ละทิ้งความตั้งใจในการไปทำงานเป็นเภสัชกรที่นั่น เธอศึกษาหาข้อมูลและใช้เวลาเตรียมตัวอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้ทำงานที่ชอบในประเทศที่เลือกให้ได้ ซึ่งปัจจุบันเธอก็เป็นเภสัชกรประจำร้านยาที่แคนาดามาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว

สุนิษเตรียมตัวยังไง ต้องปรับตัวแค่ไหน และการทำงานเป็นเภสัชกรในประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับต้นๆ เป็นยังไง

ให้ถ้อยคำของเธอในบรรทัดต่อจากนี้เล่าให้คุณฟัง 

ฮาวทูเตรียมตัวก่อนย้ายประเทศ

ก่อนเดินทางมาเป็นเภสัชกรที่แคนาดา สุนิษาใช้เวลาหลังเรียนจบประมาณ 2 ปีทำงานพาร์ตไทม์หาประสบการณ์ด้านเภสัชกรที่ไทย ตั้งแต่โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และร้านยา เพื่อศึกษาการทำงานในหลายๆ เซตติ้งของระบบการทำงานเภสัชกรในไทย แล้วนำไปปรับใช้ตอนที่ย้ายไปทำงานในแคนาดา

“เราอยากเรียนรู้ว่าบทบาทและการทำงานเป็นเภสัชกรในต่างประเทศนั้นเป็นยังไง ประชาชนเขารู้จักหรือเห็นคุณค่าของเภสัชกรมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากตอนอยู่ไทยเราคิดว่าคนไทยยังไม่ค่อยรู้ว่าอาชีพนี้คือใคร ทำอะไรหรือมีส่วนช่วยในเรื่องสุขภาพของประชาชนยังไงบ้าง”

ในตอนนั้นข้อมูลการย้ายไปทำงานในต่างประเทศไม่ได้หาได้ง่ายๆ หรือมีรีวิวจากคนไทยที่เคยย้ายไปก่อนเยอะแบบปัจจุบัน “ตอนนั้นเสิร์ชอินเทอร์เน็ตก็แบลงก์ ไม่มีข้อมูลเลย แต่โชคดีที่แคนาดาจัดการข้อมูลค่อนข้างเป็นระบบ เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ทำความเข้าใจจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ดูแลการสอบใบประกอบเภสัชกร ตอนแรกแอบยากเพราะยังไม่เข้าใจระบบ จนถึงจุดที่อ่านเข้าใจและจับประเด็นได้”

นอกจากข้อมูลการทำงานที่ต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลักแล้ว ด้วยความที่เธอกับแฟนแทบจะเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะไม่เคยเดินทางไปเยือนประเทศแคนาดามาก่อน ทั้งยังไม่มีคนรู้จักที่พึ่งพาได้อาศัยอยู่ที่นี่ ทั้งคู่จึงอาศัยการหาข้อมูลเรื่องเมืองที่ต้องการย้ายไปอยู่ทางอินเทอร์เน็ตล้วนๆ

“เราพยายามดูว่าเมืองไหนน่าอยู่ ลักษณะเมืองเป็นยังไง มาเสิร์ชเจอว่าแวนคูเวอร์ติดอันดับเมืองน่าอยู่ สังคมดี ปลอดภัย ก็คิดว่าลองมาที่นี่ก่อนไหม ส่วนเรื่องบ้านให้เป็นการย้ายมาแล้วค่อยมาหาอีกที ช่วงมาถึงเราเลยเช่าเป็น Airbnb เพราะยังไม่รู้ว่ามุมไหนของเมืองเป็นยังไง”

“ขณะเดียวกันพอย้ายมามันต้องมีขั้นตอนการสอบต่างๆ เช่น การสอบขั้นแรกแบบเทียบความรู้ด้านเภสัชกรว่าจบที่ไทยมาเท่ากับที่นี่ไหม สอบภาษา สอบใบประกอบขั้นสุดท้าย เราก็ดำเนินการสอบนี้ด้วย บวกกับหางานเป็นอันดับแรก ตั้งใจเลยว่าจะหางานเป็นผู้ช่วยเภสัช เพื่อเรียนรู้ระบบการทำงานในร้านยาระหว่างสอบใบประกอบ สุดท้ายก็สมัครแต่งานนี้จนได้รับเข้าทำงาน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหลังแลนด์ดิ้งทั้งหางาน สัมภาษณ์งาน และดูบ้าน”

จากเภสัชกรไทยสู่สนามเภสัชกรแคนาดา

ด้วยความที่เคยมีประสบการณ์การทำงานที่ไทยมาก่อน เมื่อต้องมาสมัครงานที่นี่ สุนิษาจึงมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าตำแหน่งที่สมัครจะเป็นผู้ช่วยเภสัชกร ไม่ใช่เภสัชกรแบบที่เธอทำที่ไทยก็ตาม

“ระบบสัมภาษณ์งานไม่เหมือนกันเลย การเขียนเรซูเม่กับ cover letter (จดหมายสมัครงาน) ต่างจากที่ไทย ก็ต้องเรียนรู้ไป แต่อย่างหนึ่งที่ดีคือสำหรับคนที่ย้ายมาใหม่คือที่นี่จะมีมูลนิธิและหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือ เขามีคอร์สสอนให้หมด อย่างคอร์สการเขียนเรซูเม่ คอร์สสัมภาษณ์งาน หรือใครที่อยากเรียนภาษาก็มี ฟรีหมดเลย เราสามารถไปขอความช่วยเหลือได้ เหมือนเขาเป็นที่ปรึกษา”

ส่วนการหางานสายเภสัชของแคนาดาจะมีวิธีการที่แตกต่างไปจากที่ไทยเช่นเดียวกัน อย่างที่นี่จะใช้การเข้าไปตามเว็บไซต์ของร้านยาและแพลตฟอร์มรวมงานต่างๆ เป็นหลัก หรือกระทั่งการวอล์กอินเข้าไปในร้านเพื่อแนะนำตัวก็ได้ แต่ที่ไทยจะเน้นการบอกต่อหรือดูประกาศตามโซเชียลมีเดียของสถานที่นั้นๆ มากกว่า นอกจากนี้ที่นี่ยังไม่มีการทดสอบความรู้และขอหลักฐานเอกสารแบบที่ไทยด้วย ซึ่งนี่เป็นจุดที่ทำให้สุนิษามองว่าคนแคนาดาเชื่อมั่นในความสามารถของคนทำงาน

ถึงอย่างนั้นเธอก็แนะนำว่าสำหรับใครที่อยากมาทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะสาย health care ควรจะมีประสบการณ์ติดตัวมาบ้าง เพื่อที่อย่างน้อยจะได้นำสิ่งที่เคยเจอมาประยุกต์กับงานที่นี่ “อย่างเวลาเจ้าของร้านยาถามอะไรเราก็พยายามลิงก์กับประสบการณ์ที่มี เพื่อให้เขารู้ว่าเราเรียนรู้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็เต็มใจที่จะเทรนแหละ แต่มันก็ยากเหมือนกันสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ในระบบของแคนาดามาก่อน อาจเป็นข้อเสียเปรียบนิดหนึ่งถ้าต้องมีการแข่งขัน เพราะร้านก็อยากได้คนที่รู้งานผ่านระบบมาแล้ว”

สำหรับปัญหาการเลือกปฏิบัติหรือเหยียดเชื้อชาติ สุนิษาออกปากว่าไม่ต้องเป็นห่วง ยิ่งเฉพาะเมืองใหญ่อย่างแวนคูเวอร์หรือโตรอนโต้ที่มีความหลากหลายสูง คนที่นี่มองทุกคนเป็นชาวแคนาดาเหมือนกัน อีกทั้งเวลาสมัครงานก็ไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดพวกนี้ด้วย

ในช่วงแรกๆ ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยเภสัชกร แม้จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและระบบการทำงานที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจบ้างแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนในที่สุดเมื่อสอบใบประกอบอาชีพเภสัชกรที่แคนาดาผ่าน เธอก็ได้ทำงานเป็นเภสัชกรสมใจ

แคนาดา

ระบบและสภาพแวดล้อมที่พร้อมส่งเสริมคนทำงาน

สำหรับสุนิษา อาจพูดได้ว่าการได้มาทำงานเป็นเภสัชกรที่แคนาดาแทบจะเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ของเธอ อย่างน้อยก็กับระบบการทำงานที่แตกต่างจากไทยมากทีเดียว

“ที่นี่เภสัชกรส่วนใหญ่จะอยู่ที่ร้านยา ร้านยาเป็นศูนย์ของทุกๆ อย่าง เราต้องเรียนรู้ตั้งแต่ระบบการคีย์ยาเข้าคอม ระบบประกันสุขภาพ ตอนแรกก็ยากเหมือนกันเพราะประกันที่นี่มีหลายตัว แล้วแต่ละร้านก็ยังมีระบบการทำงานที่แตกต่างกันไปบ้าง

“อีกอย่างคนไข้ที่นี่แตกต่างจากที่ไทย ตอนเราอยู่โรงพยาบาลที่ไทยเวลาคนไข้มารับยา จะไม่ค่อยอยากรู้หรือฟังเรื่องยามากเท่าไหร่ แต่คนที่นี่ส่วนใหญ่ชอบถามข้อมูลเรื่องยาค่อนข้างเยอะ บางคนยังไม่ได้กินยาก็ขอเข้ามาปรึกษาเภสัชกรก่อน ดังนั้นเราจะต้องปฏิสัมพันธ์เรื่องยากับคนไข้ค่อนข้างลึกพอควร แล้วสมัยนี้คนไข้จะศึกษาทางอินเทอร์เน็ตมาก่อนแล้วค่อยมาถามเราเพื่อความชัวร์ ข้อมูลเรื่องยาเราเลยต้องแน่นกว่าที่ไทยนิดหนึ่งในแง่ที่คนไข้คาดหวังว่าจะได้รับข้อมูลที่เยอะ ครบถ้วน และละเอียด”

ขณะเดียวกัน คนไข้ที่แคนาดาก็จะคาดหวังให้เภสัชทำงานอย่างรวดเร็ว ถ้าให้คนไข้รอนานถึง 20 นาทีก็ถือว่าช้ามากแล้ว ทั้งนี้ตัวเภสัชเองยังต้องทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเช็กยา ให้คำปรึกษาคนไข้ หรือพูดคุยกับหมอ ซึ่งแตกต่างจากการทำงานเป็นเภสัชที่ไทยที่จะแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน

แคนาดา

นอกจากความแอ็กทีฟของคนไข้และการทำงานที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้นแล้ว สุนิษายังประทับใจระบบสาธารณะสุขที่นี่ที่ส่งเสริมคนทำงานให้ได้พัฒนาเรียนรู้มากขึ้นอีกด้วย

“เขามีฐานข้อมูลที่หาได้ค่อนข้างง่าย อย่างที่ร้านมีงานวัคซีน ซึ่งเราจำข้อมูลไม่ได้หมด บวกกับที่ไทยเองเภสัชกรก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย พอคนไข้มาขอฉีดกันบาดทะยัก เราที่ไม่รู้ว่าจะฉีดยังไง ต้องเว้นเวลาห่างกี่ปี ถ้าฉีดสองตัวพร้อมกันได้ไหม มันก็มีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาลที่จัดทำขึ้นมาเพื่อรวบรวมวัคซีนที่ใช้ในประเทศ มีวิธีการฉีด มีข้อมูลยา อย่างช่วงโควิด-19 ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในเว็บไซต์หมดเลย แล้วเขาจะอัพเดตข้อมูลยาและงานวิจัยเรื่อยๆ เสิร์ชอะไรก็หาเจอ แถมยังมีไกด์ไลน์การรักษาแยกเป็นของแต่ละจังหวัด จัดเก็บเป็นระบบ อัพเดตตลอด เชื่อถือได้”

“ประเทศเขาค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเภสัชมีความรู้เรื่องยาเยอะ ถ้าเทียบกับที่ไทยยังไม่แน่ใจ เพราะคนยังไม่ค่อยรู้บทบาทเภสัช แม้อยู่ในโรงพยาบาลเขาก็ไม่รู้ว่าในห้องยานั้นเราทำอะไรกันบ้าง หรือการมองว่าร้านยาเป็นการบริการแบบฉันสั่งเธอ เธอก็เอายามาให้ฉัน มันยังไม่เกิดกระบวนการคิดว่าถ้าเภสัชจะให้หรือไม่ให้ยาตัวนั้นตัวนี้มันมีเหตุผลจากอะไรบ้าง เหมือนที่ไทยหมอจะมีบทบาทชัดเจนมากกว่า จะได้ยินบ่อยๆ ว่าหมอให้ยาอะไรมาก็กินหมด แต่ที่จริงมันมีเภสัชที่คอยดูว่ายาตัวไหนเหมาะหรือไม่เหมาะ ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งที่นี่คนเขาจะค่อนข้างเข้าใจว่าเภสัชกรทำอะไร ถ้าคิดถึงเรื่องยาหรือวัคซีน เขาจะมาถามเราก่อน”

แคนาดา

สังคมที่คนทำงานมีเสียงเท่ากันและได้รับความคุ้มครอง

หลังจากย้ายไปทำงานในสายเภสัชที่แคนาดาเป็นเวลากว่า 4 ปี สุนิษาก็ได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนเริ่มทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดคือเธอรู้สึกสนุกกับงาน ถึงขนาดที่ว่าเธอเปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อเภสัชกรไทยในแคนาดา เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นเภสัชกรและเรื่องราวการใช้ชีวิตในแคนาดาให้แก่คนไทยที่อยากย้ายมาทำงานแบบเธอบ้าง

เธอเล่าว่าการทำงานเภสัชกรที่ไหนๆ ก็ย่อมมีความเครียด ความกดดัน และอุปสรรคไม่ต่างกัน แต่อย่างน้อยในแง่สภาพแวดล้อมและระบบการทำงาน ต่อให้เป็นงานสายเดียวกันยังไงก็ไม่เหมือนกันแน่นอน นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยจำนวนมากให้ความสนใจเพจของเธอ

“ไม่ว่าจะตอนเป็นเภสัชกรหรือผู้ช่วย สภาพการทำงานในห้องทำงานเราจะรู้สึกว่าทุกคนมีความเท่ากัน ไม่ว่าคุณจะทำตำแหน่งอะไร มันจะไม่รู้สึกว่าเราตัวเล็กหรือเขาตัวใหญ่กว่า อย่างเราเป็นเภสัชกรจะขอให้ผู้ช่วยช่วยทิ้งขยะให้ก็ต้องพูดกับเขาดีๆ ไม่ใช่เธอไปทิ้งขยะให้หน่อย ทุกคนต้องให้เกียรติกัน

“ตอนเป็นเภสัชที่ไทย ต่อให้เราไม่คิดอะไรแต่จะเห็นได้ว่าผู้ช่วยเขาไม่กล้าพูดหรือแสดงความเห็นเรื่องงานได้เท่ากับผู้ช่วยที่นี่ รู้สึกว่าคนไทยยังไม่ค่อยกล้าพูดหรือแย้งมากเท่าไหร่ ว่าไงว่าตามกัน ผู้ช่วยในร้านยาก็ทำทุกอย่างตามที่เภสัชกรบอก แต่ผู้ช่วยที่นี่เราสามารถส่งงานให้เขารับผิดชอบได้ ถ้าเห็นระบบยังไม่ดีเขาก็บอก เรารับฟัง ถ้าปรับได้ก็ปรับ ไม่มีปัญหา หรือถ้าคิดว่าเราทำงานดีแล้วอยากขอขึ้นเงินเดือนก็พูดได้เลยตามผลงาน”

แตนาดา

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุนิษาประทับใจการทำงานที่นี่ คือกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้อย่างเข้มงวด ถ้าเจออะไรที่ไม่เป็นธรรมก็สามารถเรียกร้องได้ เพราะหน่วยงานที่นี่จะคอยซัพพอร์ต ตามเรื่องให้ตลอด และทำงานรวดเร็ว อย่างเธอเองก็เคยประสบกับเหตุการณ์ที่ไปทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้างจนต้องมีการร้องเรียน

“เขาจัดการให้เราดีจริงๆ มีการติดตามสอบถาม คุ้มครองเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ค่อยเจออะไรไม่ดี หรือถ้าเจออย่างน้อยก็รู้ว่าจัดการได้แน่ แค่เราต้องกล้า ไม่กลัว เพราะมันทำได้หมดตามกฎหมาย หรือถ้าเราเจอร้านยาที่ดูไม่ดีไม่มีมาตรฐานก็สามารถแจ้งกับหน่วยงานได้ มีหลายร้านที่โดนปิดไปเหมือนกัน”

ทั้งหมดนี้ทำให้เธอตกตะกอนได้ว่าการตัดสินใจย้ายมาเป็นเภสัชที่แคนาดาคือประสบการณ์ที่ดี ทั้งในแง่การใช้ชีวิตและการทำงานที่นอกจากจะได้พัฒนาความรู้ทักษะต่างๆ แล้ว เธอก็สามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนสาขาเดียวกันในประเทศไทยเพื่อปรับใช้ร่วมกันด้วย

“ที่ไทยเริ่มมีร้านยานำร่องที่คนไข้สามารถมารับยาได้ คือเป็นมากกว่าสถานที่ซื้อ-ขายยา หรือการพยายามลดความแออัดในโรงพยาบาล เกิดคลินิกเล็กๆ ที่คนไข้จะมาหาหมอได้ เท่าที่เห็นก็มีการปรับมาให้คล้ายๆ การพยาบาลฝั่งนี้ ยังไงก็ตามเราคิดว่ายังมีอีกหลายๆ บทบาทที่บ้านเรายังไม่ได้ทำ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งในอนาคตเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่นี่ก็ได้ อาจจะไปอังกฤษหรือเรียนต่อปริญญาโทที่อื่น เพราะเรายังอยากเรียนรู้อีก

“การมาแคนาดาทำให้เราได้เห็นการวางระบบของเขาว่ามันเอื้อประโยชน์ให้คนไข้ยังไง รวมถึงการทำงานหลายๆ อย่างที่เภสัชไทยยังไม่ได้ทำ ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์มากๆ อีกทั้งยังได้สังคมการทำงานที่ให้เกียรติกันและกัน 

“อยู่ที่นี่ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร ทุกคนจะให้ความสำคัญ ให้ความเคารพคนทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียม”

แคนาดา

แคนาดา

AUTHOR