ชีวิตในอเมริกาของ นิ้ง ชลลดา ดินแดนที่ทำให้เธอรู้สึกถึงคุณค่าของเสียงตัวเอง

นิ้ง ชลลดา

ฌอง ฌากส์ รุสโซ เคยกล่าวไว้ว่าถ้าอยากรู้ว่าระบบปกครองประเทศนั้นดีแค่ไหนให้ดูที่วิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชากร อย่าวัดผลที่ตัวผู้นำ

เราหวนนึกถึงคำกล่าวนั้นของรุสโซในระหว่างที่สนทนากับนิ้ง–ดร. ชลลดา จารุกิติสกุล ถึงความเป็นอยู่ของเธอในสหรัฐอเมริกา สถานที่ที่ทำให้เธอได้รับรู้ว่าเสียงตัวเองมีค่า 

นิ้ง ชลลดา

จากบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เรียนจบและมุ่งหน้าทำงานในตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ของนิตยสารหัวหนึ่ง เมื่อมองไม่เห็นว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นได้ยังไง จึงหวนนึกถึงความฝันที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่เด็ก 

แต่ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล เมื่อพ่อและแม่อยากให้นิ้งกลับมาสานต่อกิจการร้านขายของของครอบครัวมากกว่า 

เธอจึงต้องพยายามศึกษาทุกวิถีทางเพื่อพาตัวเองไปเหยียบดินแดนแห่งเสรีภาพ และตามหาโอกาสในการลืมตาอ้าปากให้ชีวิต จนกระทั่งได้เข้าศึกษาด้านจิตวิทยาอย่างหวัง โดยเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และปริญญาเอกมหาวิทยาลัยบอสตัน ก่อนจะเดินหน้าทำงานเป็นนักจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยบราวน์ หนึ่งในกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีกหรือสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงในอเมริกา

นิ้ง ชลลดา

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างที่เราอธิบายมาเพียงไม่กี่บรรทัด เพราะยังมีเรื่องราวเบื้องหลังตลอด 10 ปีของการอยู่ในอเมริกาที่นิ้งมีราคาต้องจ่ายเพื่อให้ได้เรียนและทำงานนอกบ้านเกิด

 และนี่คือตอนที่ 3 ของซีรีส์ One Way Ticket ที่จะพาไปสำรวจชีวิตของคนที่ตัดสินใจไปอาศัยอยู่ต่างประเทศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม

นิ้ง ชลลดา

Departure Time
ความฝันของคนที่เชื่อว่าการศึกษาในต่างประเททำให้เสียงของตัวเองดังขึ้นได้

การพาตัวเองไปเรียนหนังสือในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา คือความฝันของนิ้งตั้งแต่จำความได้ เธอเริ่มต้นเล่าเรื่องนี้ตั้งแต่นาทีแรกๆ ที่เราเริ่มสนทนากัน

“ด้วยความที่สมัยเรายังเด็กไม่มีสื่อมาก เวลาดูละคร เห็นตัวละครเดินทางกลับมาจากเมืองนอก สวยๆ เราอยากเป็นคนคนนั้น ก็คิดว่าวันหนึ่งฉันต้องทำให้ได้ 

“อีกอย่างคือเราเป็นเด็กชนชั้นกลาง เรียนโรงเรียนต่างจังหวัด เราจึงเชื่อว่าการศึกษาสามารถเลื่อนระดับชนชั้นของเราได้ ถ้าจบมามีคำว่าด็อกเตอร์นำหน้ามันน่าจะทำให้เสียงของเรามีคนฟังมากขึ้น ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นในการแสดงความคิดเห็นและพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มา”

ตอนแรกนิ้งไม่มั่นใจว่าความฝันของตัวเองจะเป็นจริงได้ยังไง เพราะที่บ้านไม่เคยมีใครไปเรียนต่อเมืองนอกมาก่อน 

นิ้ง ชลลดา

“บ้านเราเป็นครอบครัวคนไทย-จีนชนชั้นกลาง เปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างเล็กๆ อยู่จังหวัดตรัง พ่อไม่ได้จบมหาวิทยาลัย แม่เรียนจบรามฯ เราก็ไม่รู้ว่าการไปเรียนเมืองนอกมันเป็นไปได้หรือเปล่า ตอนแรกเราลงเรียนบัญชีที่ธรรมศาสตร์ตามคำแนะนำที่เขาอยากให้กลับมาดูแลกิจการต่อ แต่สุดท้ายก็ซิ่วไปนิเทศฯ จุฬาฯ เพราะเราไม่ชอบเรียนวิชาบัญชี เลยพยายามค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ เราเลยลองเลือกเรียนนิเทศฯ ไปก่อน” 

หลังจากเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นิ้งทำงานกราฟิกดีไซน์อยู่ที่นิตยสารแห่งหนึ่ง ชีวิตที่ต้องทำงานดึกดื่นข้ามคืน แต่ได้เงินเดือน 15,000  ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพอย่างที่ควร ทำให้นิ้งหวนกลับไปนึกถึงความฝันในการเรียนต่อต่างประเทศอีกครั้ง

“ทีแรกความฝันมันมอดไปแล้วตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเราได้ไปเห็นความจริงของชีวิต เห็นความแตกต่างทางชนชั้น และเริ่มรู้สึกว่าการไปเรียนเมืองนอกไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับเรา เพราะที่บ้านก็ไม่มีเงิน จนกระทั่งทำงานได้สักพัก เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำงานอย่างนี้ไปตลอดชีวิตเหรอ เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร อายุของเราก็มากขึ้น เวลาผ่านไปทุกวัน” 

นิ้ง ชลลดา

นิ้งจึงตัดสินใจวางแผนเพื่อออกเดินทาง โดยเธอตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 3 ปีจะต้องได้ทำตามฝันสำเร็จ เริ่มจากลาออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นฟรีแลนซ์ เก็บเงินไปเรียนภาษา สมัครทุนที่เหมาะกับตัวเอง ในขณะที่ต้องพยายามคุยกับคนในครอบครัวไปด้วย

“แม่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง คะยั้นคะยอให้กลับไปช่วยงานที่บ้าน เราก็บอกว่าขอไปเรียนก่อน ขอเรียนโท 2 ปีนะ เขาก็ยังไม่ให้ เราเลยไม่พูด ดื้อเงียบ เพราะมันไม่มีประโยชน์ ยังไงเขาก็ไม่อยากให้เราไปอยู่ดี” 

จนวันหนึ่งที่เธอได้รับจดหมายตอบกลับจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียให้เข้าศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยาตามที่นิ้งตั้งเป้าหมายไว้ เพราะเธออยากเรียนในสิ่งที่ทำให้เข้าใจตัวเองและได้เอาประโยชน์มาช่วยเหลือคนอื่น ความดีใจทำให้เธอรีบไปบอกเรื่องราวทั้งหมดกับที่บ้านทันที

“จริงๆ จำเหตุการณ์วันนั้นได้ไม่ชัดเจน แต่ตอนได้รับจดหมายตอบรับคือดีใจมาก และอยากบอกข่าวนี้ให้ที่บ้านรู้ว่าเราทำได้แล้วนะ ซึ่งก็เหมือนกับว่าเรามัดมือชกเขา (หัวเราะ) แต่ ณ ช่วงเวลานั้น แม้ว่าพ่อและแม่จะไม่อยากให้เราไปมากแค่ไหน แต่ลึกๆ เราก็รู้สึกและสัมผัสได้ว่าเขาดีใจกับความสำเร็จก้าวแรกนี้ของเราจริงๆ

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกคนรีบระดมเงินมาช่วยกันเพื่อส่งให้เราไปเรียนปริญญาโทให้ได้” 

นิ้ง ชลลดา

Arrival Time
เท้าแตะผืนแผ่นดินที่รู้ว่าเสียงของเรามีคุณค่า

หลังจากพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่าเธอสามารถพาตัวเองมาเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาได้แล้ว นิ้งได้เจอกับเรื่องราวและประสบการณ์อะไรบ้างในระยะเวลา 10 ปีที่เธอเรียนและทำงานในอเมริกา ให้คำตอบของเธอต่อไปนี้ช่วยไขข้อสงสัยของเรา

จำความรู้สึกของก้าวแรกที่แตะพื้นแผ่นดินอเมริกาได้ไหม

โอ้มายก็อด ใช่เลย (หัวเราะ) ยังจำความรู้สึกแรกที่เหยียบแผ่นดินอเมริกาตรงตรวจคนเข้าเมืองได้เลย เรานึกถึงอเมริกันดรีม มันเป็นความรู้สึกที่เกินจริงมากๆ ฉันมาถึงแล้ว และกำลังเริ่มต้นทำตามความฝันให้เป็นจริง

ช่วงแรกที่มาอยู่มันเป็นแบบที่คิดไว้ตอนแรกไหม

ไม่ (หัวเราะ) มันก็มีทั้งสิ่งที่เป็นไปตามคาดและคาดไม่ถึงผสมกัน ก่อนหน้านี้เรามีความ idealize หรือ romanticize ความเป็นต่างประเทศ เราวาดภาพไว้ว่าการมาอเมริกาคือฉันจะได้ผจญภัย ฉันจะได้มาต่อสู้เพื่อลำแข้งตัวเอง ฉะนั้นฉันจะหาเพื่อนฝรั่ง ฉันจะได้พูดภาษาอังกฤษ 

แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็คือประเทศประเทศหนึ่ง (หัวเราะ) มีด้านมืดและด้านสว่าง เช่น การมีเพื่อนเป็นฝรั่ง มันก็แล้วแต่ดวงด้วยว่าเราจะเจอคนแบบไหน ไม่ได้อยากเหมารวมว่าทุกคนเป็นแบบนี้นะ แต่การจะหาฝรั่งที่มีบุคลิก การมองโลก และการใช้ชีวิตคล้ายๆ กับเราก็ค่อนข้างยาก แล้วคนนั้นก็ต้องมีความตระหนักเรื่อง racism พอสมควร เราถึงจะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วย เพราะจริงๆ แล้วที่นี่ก็ยังมีเรื่องการแบ่งแยกและเหยียดสีผิวอยู่ค่อนข้างมาก

นิ้ง ชลลดา

ประสบการณ์ที่คาดไม่ถึงของคุณเป็นยังไง ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

ช่วงฝึกงานเราจะต้องไปเจอคนไข้ แล้วที่ปรึกษาของเราจะมาดูเพื่อให้คะแนน ซึ่งบางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ที่คนไข้ขอเปลี่ยนตัวเรา บางคนไม่บอกว่าเพราะอะไร แต่บางคนบอกตรงๆ เลยว่า “Because you’re asian.” หรือ “Because of your accent.”

เราร้องไห้หนักมาก เพราะมันไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียว และเราก็กังวลด้วยว่าที่ปรึกษาจะประเมินให้เราไม่ผ่านหรือเปล่า เราจะเป็นนักจิตวิทยาได้ไหม จะมีใครมาหาฉันหรือเปล่า ลามไปถึงการตั้งคำถามกับตัวเองว่าฉันผิดตรงไหน ฉันไม่เก่งหรือเปล่า 

นิ้ง ชลลดา

แล้วคุณผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ยังไง

โชคดีมากที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือ คือเขาเป็นคนขาวที่ตระหนักในประเด็น racism เขาจึงเข้าใจเรา บางเคสที่คนไข้ขอเปลี่ยนตัว เขาไม่ให้เปลี่ยนเลย เพราะเขาเชื่อในตัวเรา 

เขาบอกว่า เรายังมี internalized racism อยู่ นั่นคือการเหยียดไม่ได้เกิดจากแค่เขาเหยียดเรา แต่เราก็ยังรับเอาทัศนคติของคนอื่นมากดตัวเองไปด้วย เราจึงคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ คิดว่าตัวเองด้อยกว่าคนขาว และรู้สึกกลัวไปหมด จนไม่กล้าให้คำปรึกษาและบำบัดคนขาวอยู่ช่วงหนึ่งเลย

ที่ปรึกษาของเราบอกว่าถ้ายิ่งกลัว ก็ยิ่งต้องเจอ เอาชนะความกลัวในใจ แล้วให้เอาชนะ internalized racism ให้ได้ ตอนนั้นเขาฟีดแบ็กกับเราเลยว่า ตอนให้คำปรึกษาเรานั่งห่อไหล่เพราะความกลัว ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อความมั่นใจ เริ่มจากนั่งตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง มันจะรู้สึกถึงพลัง แรกๆ มันอาจจะยังมีความกลัวอยู่ แต่สักพักจะชิน 

พอเปลี่ยนแปลงข้างนอกแล้ว มันทำให้เรารู้สึกถึงข้างในว่าเสียงเรามันดังนะ เราเชื่อในตัวเองมากขึ้น แล้วเราก็ค่อยๆ ก้าวข้ามผ่านความกลัวมาจากการเจอเคสที่หลากหลาย เหมือนเราได้รับข้อมูลใหม่ เพราะถ้ากลัว ไม่ยอมไปไหน ข้อมูลมันก็จะวนลูปเดิม

ซึ่งเราว่าการมาเรียนหรือมาทำงานที่เมืองนอก สิ่งสำคัญคือเราต้องมีคนที่เคียงข้างเรา เขาอาจจะเป็นแม่ พ่อ น้องสาว ป้า หรือคนที่อยู่ที่นี่ ต้องมีสักคนที่สามารถอยู่เคียงข้างเราได้แหละ

นิ้ง ชลลดา

คุณคิดยังไงกับการที่บางคนบอกว่า ไปอยู่อเมริกาเราก็เป็นได้แค่พลเมืองชั้นสองที่ถูกกีดกันจากคนอเมริกัน 

ถูกในเรื่องที่ว่าเราเป็นพลเมืองชั้นสอง จริงๆ อาจจะเป็นชั้นสามด้วยซ้ำ ทุกสังคมมันมีความไม่เท่าเทียมหรือความไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว เราว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก

แต่ด้วยระบบของอเมริกา แม้ว่าเราเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่เราสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เท่ากับคนอเมริกันทุกคน ตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีนในช่วงโควิด-19 เรานับเป็นกลุ่มแรกที่ต้องได้ฉีดพร้อมหมอคนอเมริกันตั้งแต่กุมภาฯ แล้ว เพราะต้องเจอกับคนไข้ การได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องหรือทรัพยากรที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เลยนะ นึกภาพว่าถ้าเราอยู่ไทย เป็นพลเมืองไทยก็จริง แต่การเข้าถึงทรัพยากรของเราเท่ากันไหม 

โอเคว่าปัญหาด้านทัศนคติของคนอเมริกันบางคนยังมี แต่ส่วนตัวคิดว่าสิ่งสำคัญคือ เราต้องมองให้ดีว่าเราจะไปอยู่จุดไหนของสังคมด้วย เพราะเราอาจจะต้องเลือกที่ที่เขาให้ความสำคัญและตระหนักรู้เรื่องเหยียดเชื้อชาติ เหยียดสีผิว เวลาเราเลือกที่ทำงาน เลือกที่อยู่ เราต้องรู้สึกปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาเราโชคดีที่อยู่ในสังคมที่คนขาวตระหนักเรื่อง racism ซึ่งทำให้เรารู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่าเสียงของเรามีค่า

นิ้ง ชลลดา

แต่เมื่อต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติโดยตรง มันทำให้คุณอยากกลับบ้านไหม 

ตอนฝึกงานเราคิด จริงๆ ก็มีหลายครั้งที่คิดว่าอยากกลับบ้าน เพราะครอบครัวก็อยู่ที่นู่น เราเคยตั้งเป้าหมายว่าอยากเอาความรู้ไปพัฒนาบ้านเมือง ช่วยเหลือคนอื่น แต่ช่วงเวลานี้เราก็เริ่มกลับมาคิดถึงความเป็นไปได้ในแง่การเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวมากขึ้น เพราะเราเองก็เป็นคนธรรมดา บ้านไม่ได้รวย ถ้าจะกลับไปจริงๆ เราก็อยากแน่ใจว่าเราและครอบครัวสามารถอยู่ได้โดยไม่อดตาย

อีกอย่างที่สำคัญคือเราเองก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เราก็รู้สึกดีที่ได้มาอยู่ในสังคมที่เขาให้ความสำคัญกับเรา อยู่ในที่ที่เสียงของเรามีค่า งานของเรามีค่า ทุกวันนี้เรารู้สึกมีความมั่นใจในการออกเสียงแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ถึงแม้เราอาจจะมีเชื้อชาติและวัฒนธรรมแตกต่างจากคนอื่น

นิ้ง ชลลดา

ในอีกมุมหนึ่ง มีราคาที่คุณต้องจ่ายเพื่อแลกกับการไปมีชีวิตที่ดีในอเมริกาไหม

เป็นคำถามที่ดีมาก เราเคยโพสต์เรื่องนี้ลงเฟซบุ๊กตอนเรียนจบปริญญาเอกว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้างตลอด 7 ปีในการพาตัวเองมาอยู่ที่นี่ เพราะมันไม่ใช่แค่ว่าเราจบปริญญาเอกแล้วมันคือความสำเร็จ คำถามคือเบื้องหลังมันมีอะไรที่เราต้องจ่ายไปบ้าง

ย้อนกลับไปตอนเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยให้ทุนเพียงบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ของค่าเทอมและค่ากินอยู่ ทางครอบครัวเราต้องส่งเงินมาให้  ดังนั้นเรามีความรู้สึกผิดในตัวว่าพ่อ แม่ และน้องสาว 2 คนต้องเสียสละให้เราได้มาทำตามความฝัน ดังนั้นเราต้องประสบความสำเร็จ เป้าหมายคือเรียนให้จบปริญญาเอก เพราะที่นี่เรียนฟรีในบางสาขา พอเรียนจบ เราอยากทำงานที่นี่เพื่อครอบครัวต่อด้วย เราจึงต้องทุ่มเทเวลาและทุกอย่าง เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เราเรียนจนสุขภาพทรุดโทรม กินแต่มาม่า ไม่มีเวลาดูแลร่างกาย 

นิ้ง ชลลดา

แต่สิ่งที่เราเสียใจมากที่สุดในราคาที่ต้องจ่ายคือวันที่พ่อกับยายเสีย แต่ไม่มีโอกาสได้อยู่ด้วยกันในช่วงเวลาสุดท้าย

ตอนปริญญาเอกปี 2 อยู่ๆ พ่อเราก็ล้มป่วยและเกิดอาการหัวใจวายกะทันหัน เข้าโรงพยาบาลตอนเช้า และเสียตอนกลางคืน เขาจากไปโดยไม่มีสัญญาณใดๆ ล่วงหน้า ตอนนั้นเราอยู่ที่นี่ ทำอะไรไม่ถูก เราตกใจมาก เลยต้องรีบบินกลับไปงานศพ

หลังงานศพเราเพิ่งรู้ว่าพ่อเป็นหนี้หลายล้าน เขาเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว แม่กับน้องสาวก็ไม่รู้ เราจึงยิ่งรู้สึกผิดว่าฉันทิ้งพ่อแม่มาทำตามความฝันโดยที่ไม่สนใจเขาเลย ตอนที่รู้เราช็อกจนมีอาการตื่นตระหนก วิตกกังวล ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง พอตั้งสติได้เราก็คุยกับน้องสาวว่าจะทำยังไงต่อไป แวบแรกเราคิดว่าจะลาออกจากที่เรียน ส่วนน้องจะลาออกจากที่ทำงาน

แต่คำถามคือมันจะเป็นไปได้หรือเปล่าที่เราจะเริ่มต้นใหม่ เพราะไม่ใช่การเริ่มจากศูนย์ แต่มันเริ่มจากติดลบ แถมยังไม่มีใครรู้เรื่องการทำงานที่ร้านเลย สุดท้ายด้วยอะไรหลายๆ อย่างเลยตัดสินใจปล่อยเซ้ง 

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โคตรยากลำบากในชีวิต ความรู้สึกผิดมันมหาศาล การปล่อยเซ้งทำให้ครอบครัวเรารู้สึกเหมือนเสียสิ่งสำคัญ เพราะมันคือร้านที่พ่อสร้างมาทั้งชีวิต อีกอย่างคือเราไม่ได้เซ้งแค่ร้าน แต่บ้านเราก็อยู่ที่ตึกนั้นด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทดสอบจิตใจมากๆ กว่าที่พวกเราจะสามารถผ่านมันมาได้ในที่สุด

นิ้ง ชลลดา

คุณทำยังไงเพื่อก้าวข้ามจุดนั้นและกลับมาเดินต่อในทางที่เลือก

ในเมื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับความเจ็บปวด ยอมรับความผิดพลาดของเรา ขณะเดียวกันก็ไม่ไปจมอยู่กับมัน เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไปไหนไม่ได้เลย 

เรามองตามความเป็นจริง มองความเป็นไปได้ และผลที่จะตามมา แน่นอนว่าการเรียนต่อปริญญาเอกมันยังไม่เห็นผลในตอนนี้ แต่มันคือการลงทุนระยะยาวที่เราคาดเดาอนาคตได้ อีกอย่างน้องสาวก็มีการงานที่ดีอยู่ มันเลยเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในตอนนี้ที่แม่และป้ายังอยู่ จะทำยังไงเพื่อใช้เวลาและให้ความรักกับเขา

นิ้ง ชลลดา

เหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณรู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่ตัดสินใจกลับมาเรียนและทำงานต่อที่อเมริกา

เราไม่รู้ว่าจะใช้ถูกหรือผิดได้ไหม เพราะในความเป็นจริงมันไม่มีอะไรถูก-ผิด แต่เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ การทำงานที่เรารักและถนัดทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยความสุข ความสบายใจ และมีความหวัง

ด้วยระบบการทำงานที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ทำให้คำว่า work-life balance มีอยู่จริงในอเมริกา เช่น ทำงาน 8 โมงครึ่งถึง 5 โมง เราจึงมีเวลามากพอเพื่อดูแลตัวเองและให้เวลากับครอบครัว นอกจากนี้เรายังสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ โดยรวมแล้วจึงตอบโจทย์พื้นฐานคุณภาพชีวิตที่คนทั่วไปพึงมี

นิ้ง ชลลดา

Good to Declare

ในปีที่ 10 ของการใช้ชีวิตต่างแดน นิ้งมีคำแนะนำอะไรที่เป็นแบบฉบับตามประสบการณ์ของตัวเองบ้าง เราชวนเธอมาแชร์คำตอบกัน

เรื่องที่คนอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับอเมริกา

เพราะภาพจำของอเมริกาคือดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเท่าเทียม หลายคนอาจคิดว่าที่นี่มีกฎหมายมากมายที่คุ้มครองเรา แต่ทัศนคติจริงๆ ของคนในสังคมมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป อย่างเรื่องเพศหรือสีผิว เราทำงานด้านนี้จึงเห็นเรื่องทำนองนี้เยอะ เช่น เพศชายได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าเพศหญิง ทรานส์เจนเดอร์ก็ยังถูกกีดกัน หมอเอเชียก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติเท่าหมอคนขาว หรือบางมหาวิทยาลัยที่เอาเรื่องความหลากหลายมาใช้โฆษณา แต่ในรายละเอียดยังมีเกณฑ์รับเข้าเรียนที่ไม่เหมือนกัน

เรื่อง racism ยังเป็นรากของปัญหาหลายอย่างที่นี่ แม้ว่าเขาพยายามแก้ไข แต่ก็ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ อีกยาวไกลที่จะก้าวผ่านมันไปได้

เรื่องที่ต้องเตรียมใจไว้ก่อนมาอยู่อเมริกา

ความเป็น individualism สูงมาก ที่นี่คืออยู่คนเดียวเป็นเรื่องปกติ กินข้าวคนเดียว ทำอะไรคนเดียว ถ้ายังไม่ชินก็อาจจะรู้สึกเหงา ไม่มีเพื่อน หรือสงสัยว่าฉันทำผิดอะไร แต่พออยู่ไปจะรู้ว่ามันเป็นธรรมชาติของที่นี่ เขาเป็นแบบนี้กันตั้งแต่เด็ก 

อเมริกาเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของคุณไปบ้าง

เยอะมาก อันดับแรกคัลเจอร์เปลี่ยนตัวเรา อย่างที่เล่าเรื่องการนั่งตัวตรงและความมั่นใจ 

อีกอย่างคือเรื่องการแสดงความคิดเห็น บอกความต้องการของตัวเอง เราจะเคยชินกับความอะไรก็ได้ ไม่กล้าแสดงความเห็น หรือไม่บอกสิ่งที่ต้องการ เพราะบอกไปแล้วไม่มีใครฟังเราเลยไม่พูด แต่อยู่ที่นี่เราต้องพูด 

อย่างตอนเลือกโปรเจกต์ทำวิจัย อาจารย์มีหัวข้อเยอะมาก เพื่อนก็ยกมือเลือก เราไม่กล้า กลัวไปแย่งเพื่อนแล้วเขาหาว่าเสนอหน้า เรามักจะตอบอาจารย์ว่าเลือกอะไรมาให้ก็ได้ แล้วก็ไม่ได้หัวข้อที่อยากทำ พอเป็นแบบนี้บ่อยๆ อาจารย์พูดประโยคหนึ่งที่เรายังจำได้ทุกวันนี้คือ

“Chonlada, here in the U.S. culture, you will never get what you want if you do not ask for it.” 

อีกเหตุการณ์คือเราไปปาร์ตี้ เพื่อนถามว่า What do you want to drink? ก็ให้เลือกโค้ก น้ำเปล่า แอลกอฮอล์ เราตอบว่า Up to you. เพื่อนงงว่าทำไมต้องให้ฉันเลือกให้ อยากได้อะไรก็พูดไปเลย

นิ้ง ชลลดา

คิดว่าอเมริกาเหมาะกับคนแบบไหน

เหมาะกับคนทุกแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราไปอยู่จุดไหนในอเมริกาที่ทำให้เรามีความสุข คนที่ปรับตัวได้ก็จะอยู่รอดได้ 

สิ่งที่เจอในอเมริกาและอยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง

ก่อนอื่นเราคิดว่าทุกสังคมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของสังคมนั้นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ จนบางครั้งอาจถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา และมีคนยอมรับไปกับความเป็นไปของสังคม จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีเท่าที่ควร แต่ด้วยระบบที่ค่อนข้างแข็งแรงของอเมริกา ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิในการออกความเห็น ตรวจสอบปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนา ทั้งต่อสังคมเล็กๆ ไปจนถึงการขับเคลื่อนในระดับประเทศ 

เราจึงอยากเห็นประเทศบ้านเกิดของเราเองมีระบบที่เข้มแข็งมากขึ้น เสียงของเราไม่ว่าจะมาจากไหน ก็ควรจะได้รับฟังมากขึ้น 


ติดตามเรื่องราวและชีวิตของนิ้งในอเมริกาได้ที่ h a p p e n : n i n g

AUTHOR