ชีวิตในไต้หวันที่ แพร–วรรษมน โฆษะวิวัฒน์ เลือกที่จะดับเครื่องชนและเดินหน้าต่อ

ท่ามกลางกระแสการโยกย้ายประเทศในหมู่หนุ่มสาวชาวไทยที่กำลังร้อนระอุ จะด้วยเหตุผลเรื่องการเมืองหรือการฝันใฝ่ในชีวิตที่ดีพร้อมกว่าก็ตามแต่

‘ไต้หวัน’ ประเทศเกาะเล็กๆ ไม่ไกลจากไทยจัดเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่หลายคนสนใจ 

ประเทศที่ประชาธิปไตยผลิบาน รัฐบาลโปร่งใส คุณภาพชีวิตที่ดีด้วยระบบขนส่งสาธารณะและค่าครองชีพที่ไม่สูงจนเกินไป วิถีชีวิตเรียบง่ายที่แวดล้อมด้วยภูเขาและทะเล หรือจะด้วยเหตุผลแค่ที่นี่มีชานมไข่มุกร้านอร่อยให้ลองได้ไม่เบื่อทุกวัน ทั้งหมดทำให้ไต้หวันเป็นความฝันของชาว #ย้ายประเทศ ที่ดูเป็นจริงได้ไม่ยาก

ในซีรีส์ One Way Ticket ตอนนี้ เราเลยชวน แพร–วรรษมน โฆษะวิวัฒน์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ Made in Taiwan ซึ่งว่าด้วยวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ชีวิตแบบคนไต้หวันแท้ๆ มาแชร์ประสบการณ์ตรงของเธอ ในฐานะคนที่มุ่งมั่นตั้งใจว่าจะย้ายมาใช้ชีวิตในไต้หวันให้ได้ตั้งแต่สมัยมัธยม กระทั่งวันนี้ที่เธอทำตามเป้าหมายได้สำเร็จลุล่วง โดยไม่นึกลังเลว่าจะกลับไปยังที่ที่จากมาอีกเลย

Departure Time
ไต้หวันคือความรักสมัยมัธยม

ย้อนกลับไปสมัยมัธยม ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นคลั่งไคล้วัฒนธรรมญี่ปุ่นหรือศิลปินจากประเทศเกาหลีใต้ แพรกลับพบว่าตัวเองสนใจเรื่องราวของไต้หวันทุกแขนง เริ่มตั้งแต่ซีรีส์ นักแสดง ไปจนถึงวงการนักเขียน นักวาด และหนังสือ เธอมีงานของจิมมี่ เลี่ยว นักวาพภาพประกอบชาวไต้หวันชื่อดังเป็นงานในดวงใจ 

พอเริ่มศึกษาประเทศเล็กๆ แต่รุ่มรวยด้วยสิ่งน่าหลงใหลมากขึ้นเรื่อยๆ แพรก็ตั้งใจว่าอยากมาลองใช้ชีวิตในประเทศไต้หวันนี้นานๆ แม้ว่าชื่อของไต้หวันจะยังแทบไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยเลยก็ตามในตอนนั้น

ถึงจะโดนครอบครัวเบรกไว้ไม่ให้มาเรียนต่อปริญญาตรีที่ไต้หวันตามความตั้งใจแรก แต่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย แพรก็หาโอกาสเข้าร่วมโครงการ AIESEC โครงการอาสาสมัครของเยาวชนและนักศึกษาจากทุกมุมโลก โดยเลือกมาทำค่ายภาษาอังกฤษที่เมืองซินจู๋ (Hsinchu) ที่ทำให้เธอประทับใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และคุณภาพชีวิตของคนไต้หวันที่ได้เจอแม้จะไม่ใช่เมืองหลวงอย่างไทเป อย่างทางเท้าที่กว้างขวางเป็นระเบียบ เดินได้สบาย หรือการได้ไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยขนส่งสาธารณะโดยไม่ต้องหงุดหงิดกับปัญหารถติด สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายถ้าไม่มีรถยนต์ในประเทศไทย

ประสบการณ์หนึ่งเดือนครึ่งบอกแพรว่าคุณภาพชีวิตดีๆ ที่ลงตัวหาได้จริงในไต้หวัน และทำให้ยิ่งมั่นใจว่านี่แหละคือประเทศที่ฉันอยู่ได้และอยากอยู่ต่อไปอีกนานๆ ไต้หวันจึงกลายเป็นตัวเลือกเดียวในการมาเรียนต่อปริญญาโทเพื่อสานต่อความฝันของเด็กหญิงคนนั้นให้สำเร็จ

อีกหนึ่งตัวกระตุ้นที่ทำให้การย้ายออกจากประเทศไทยของแพรมาถึงเร็วขึ้นอาจไม่ต่างจากที่ใครหลายคนรู้สึกอยู่ในตอนนี้ นั่นคือปัญหาคุณภาพชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ในประเทศไทย (ที่รวมกันแล้วใหญ่โต) ตั้งแต่ทางเท้าน้ำกระเซ็น ขนส่งสาธารณะที่ประเมินเวลาไม่ได้ รถติด และความปลอดภัยในชีวิตที่ทำให้แพรเริ่มตั้งคำถามถึงเงินภาษีที่จ่ายไปในแต่ละเดือน

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าอยู่ประเทศไทยแล้วเราไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติสุข ทำไมชีวิตเรามันยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ตอนเด็กเราคิดว่าประเทศไทยมันน่าจะดีกว่านี้ถ้ามีการจัดการที่ดี แต่เวลาผ่านไป ประเทศไทยไม่ได้เจริญขึ้น แต่มันแย่ลง เราเลยคิดว่าถ้ายังอยู่ที่นี่ต่อไป อีก 5 ปี 10 ปี จะเป็นยังไง ถ้าเราเกษียณ เราจะเป็นยังไง เราน่าจะอยู่ไม่ได้เลยรู้สึกว่ารีบพาตัวเองออกไปดีกว่าก่อนที่อะไรๆ จะแย่กว่านี้” แพรเล่าให้ฟังถึงเหตุผลลึกๆ ในใจ

ฤดูใบไม้ร่วงปี 2017 แพรเคลียร์ข้าวของส่วนตัวที่บ้าน โละของสะสมทิ้ง และบริจาคหนังสือต่างๆ ที่มีอยู่ที่ไทย แล้วตัดสินใจหอบกระเป๋าพร้อมความฝันยิ่งใหญ่ บินมาเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการย้ายมาไต้หวันจนถึงตอนนี้

Arrival Time
ไต้หวัน vs. ไทยแลนด์ เหมือนใกล้แต่ก็ไม่เหมือนกัน

หลังจากใช้ชีวิตที่ไต้หวันด้วยสถานะนักเรียนปริญญาโทอยู่ 2 ปี แพรใช้เวลาหลังเรียนจบอีกหนึ่งปีเพื่อหางานประจำจนได้รับ work visa ถูกต้องตามกฎหมายในฐานะ Marketing Specialist ของบริษัททำแอพพลิเคชั่นแห่งหนึ่งในไต้หวัน 

เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่ความตั้งใจในการอยู่ไต้หวันของแพรค่อยๆ เป็นจริงมากขึ้นทีละนิด และต่อจากนี้คือบทสนทนาว่าด้วยวิธีการย้ายมาอยู่ไต้หวันในแบบฉบับของเธอ

เมื่อตั้งใจแต่แรกว่าจะไม่ได้แค่มาเรียนต่อแล้วก็กลับ อะไรทำให้คุณมั่นใจว่าเราจะสามารถอยู่ที่ไต้หวันต่อได้ยาวๆ

เราไม่มีความมั่นใจเลย แค่มีแพลนคร่าวๆ ว่าเราจะเริ่มหางานทำตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ประเทศไต้หวัน หลังจากเรียนจบปริญญาโท เราจะมีเวลาหนึ่งปีที่สามารถต่อวีซ่าได้ครั้งละ 6 เดือน เพื่อที่จะเรียนภาษาต่อหรือหางาน เราก็คิดแค่ว่าภายในหนึ่งปีนั้นต้องหางานให้ได้ ถ้าหาไม่ได้ก็กลับไทย แค่นั้นเลย 

แต่สมมติว่าต้องกลับจริงๆ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ได้อะไรกลับไปนะ เพราะในอนาคตถ้าเราอยากจะกลับมาหางานที่ไต้หวันอีก อย่างน้อยเราก็มีประสบการณ์ที่นี่แล้ว การที่เราเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในไต้หวันก็การันตีได้ว่าเรามีเครดิตที่ดีที่บริษัทไต้หวันจะเรียกเราอีกครั้ง

ก่อนมาคุณโน้มน้าวครอบครัวยังไง เพราะการย้ายประเทศน่าจะเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน

จริงๆ แล้วแพรบอกที่บ้านว่าอยากมาอยู่ไต้หวันตั้งแต่ตอนมัธยม แต่ตอนนั้นเขาก็คงมองว่าเราพูดเรื่อยเปื่อย แล้วก็โดนป๊าเบรกว่าให้เรียนปริญญาตรีที่ไทยก่อน ถ้าอยากไปก็ค่อยไปตอนปริญญาโท 

แต่การได้มา AIESEC ที่ไต้หวันในระหว่างที่เรียนปริญญาตรี ก็เหมือนจุดประกายเราอีกครั้ง คราวนี้เราพูดจริงจังเลยว่าแพรจะมาเรียนที่ไต้หวันและจะมาหางานทำต่อ เขาก็คงได้ยินเราพูดถึงไต้หวันบ่อยและนานมากจนเริ่มเข้าใจว่าเราคงอยากมาจริงๆ

ก่อนมา แพรคุยฟุ้งกับที่บ้านไว้เยอะมากๆ ว่าถ้ามาไต้หวันจะต้องสอบให้ได้ทุนรัฐบาล จะต้องมีคอลัมน์ของตัวเองที่เขียนเกี่ยวกับไต้หวันเพราะตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนเล่าเท่าไหร่ จะหาของเข้ามาขายด้วยดีไหม ซึ่งพอได้มาที่นี่แล้วเราก็ค่อยๆ ทำให้เขาเห็นว่าเราทำตามที่พูดได้จริง อาจจะไม่ทุกอย่างแต่ก็เกือบทุกอย่าง เขาก็คงมองว่ามันทำได้ว่ะ ถ้าอย่างนั้นจะทำอะไรก็ทำ 

จากที่ช่วงแรกแพรพอจะสัมผัสได้ว่าเขาอยากให้เรากลับไทย เพราะเขาชอบถามว่าจะไม่กลับมาแล้วเหรอ จะหางานอยู่นั่นจริงๆ เหรอ แต่ช่วงนี้ก็น่าจะชินกันแล้วเพราะแพรก็มานานมากแล้ว เดี๋ยวนี้เวลาโทรไปก็ไม่ค่อยมีใครอยากคุยกับแพรแล้ว (หัวเราะ) แม่เองก็บอกว่าถ้าอยู่ที่นี่แล้วดีกว่าก็อยู่ไปสิ 

ช่วงแรกที่มาเรียนต่อที่ไต้หวันเริ่มวางแผนชีวิตในการอยู่ที่นี่ต่อยังไง

จะว่ามีแผนก็มี แต่ไม่ได้ถึงกับจริงจังและต้องทำให้ได้ขนาดนั้น อย่างภาษาจีน ผ่านไปปีกว่าแล้วภาษาจีนแพรก็ยังเท่าเดิมคือยังไม่ถึงขั้นที่หางานทำแล้วเขาจะรับ กว่าจะได้เรียนภาษาจีนแบบฟูลไทม์ก็ตอนปีสองช่วงที่เริ่มเขียนทีสิส 

นอกนั้นก็พยายามออกไปแฮงเอาต์กับเพื่อนไต้หวัน ไปเต้นสวิง ทำความรู้จักกับคนเยอะๆ เพื่อดูว่าเขาทำอะไรกัน โดยเฉพาะปีแรกที่แพรมาจะไม่ค่อยแฮงเอาต์กับคนไทยเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเพราะตอนนั้นคนไทยยังมากันน้อยด้วย อาจจะมีคอมมิวนิตี้ของคนไทยอยู่บ้างแต่เราก็ไม่ได้เอาตัวเองเข้าไป

การแฮงเอาต์กับคนไต้หวันช่วยให้เราเข้าใจและกลมกลืนไปกับประเทศนี้มากขึ้นไหม

การแฮงเอาต์มีส่วนเยอะนะ อย่างช่วงแรกๆ เราพบว่าเวลาคนไต้หวันชวนไปเที่ยวเขาก็จะชวนปุบปับ ซึ่งตอนนั้นแพรก็ไม่ได้ถามด้วยว่าจะไปไหน ปรากฏว่าเพื่อนพาไปปีนเขาที่แอดเวนเจอร์มากๆ 

ทีแรกก็ไม่เข้าใจหรอกว่าการปีนเขาของคนไต้หวันนี่ทำไปเพื่ออะไร เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากเดินไปเรื่อยๆ จนสุดทางแล้วก็เดินกลับ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าคนไต้หวันไปปีนเขาก็เพื่อแค่ไปเดินและดูวิว นั่นแหละคือสิ่งที่เขาต้องการ การเดินเขาน่าจะเป็นความไต้หวันอย่างหนึ่งที่พออยู่ไปเราก็ค่อยๆ ซึมซับและเข้าใจมากขึ้น

แง่อื่นแพรไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ คนไต้หวันก็บอกว่าสำเนียงที่เราพูดคล้ายคนไต้หวันมาก อาจเพราะตอนเด็กๆ เราฟังเพลงหรือดูซีรีส์ไต้หวันเยอะด้วย อีกอย่างคือโครงหน้าเราก็คล้ายคนไต้หวันมาก ยิ่งพอเราเป็นคนไทยเชื้อสายจีน พ่อแม่ อากงอาม่า ก็เป็นคนแต้จิ๋วมันเลยต่อกันติดง่ายขึ้น เขาจะชวนคุยว่าคนจีนที่เมืองไทยเป็นยังไง ภาษาแต้จิ๋วเป็นยังไง แพรมักจะมีบทสนทนาแบบนี้กับคนไต้หวันบ่อยๆ 

และด้วยความที่แพรมาเรียนต่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เวลาไปกินข้าวกับคนไต้หวันเขาก็จะคุยกันเรื่องนี้ อัตลักษณ์ของคนไต้หวัน การเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ เราก็ได้เรียนรู้ผ่านตรงนี้ว่าคนไต้หวันมีความคิดยังไง

อยู่ไต้หวันมาเกือบ 4 ปี คิดว่าคนไต้หวันมีมุมมองต่อคนไทยยังไง

ช่วงแรกๆ ที่มา แพรรู้สึกว่าคนไต้หวันมองคนไทยดีมาก เขาจะคิดว่าประเทศไทยดีอยู่แล้วทำไมต้องมาเรียนต่อที่ไต้หวัน เราก็ให้เหตุผลไปว่าสำหรับเรา ไต้หวันมีเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันในสังคมมากกว่าหลายประเทศในเอเชีย 

หรือเวลาไปเดินตลาด พอบอกว่าเราเป็นคนไทย คนไต้หวันก็จะตกใจว่าทำไมมาไต้หวันล่ะ เมืองไทยดีมากเลยนะ ฉันชอบเมืองไทย เศรษฐกิจก็ดีเพราะเขาจะเทียบกันแค่ว่า GDP ของไทยดีกว่าไต้หวันในตอนนั้น

แต่ในมุมที่เหมือนจะดีนั้น เราก็สัมผัสได้ถึงมายด์เซตบางอย่าง เช่น จะชอบถูกถามว่าเธอเป็นคนไทยเหรอ ทำไมขาวจัง ทำไมพูดภาษาอังกฤษเก่ง ซึ่งเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจเหยียดหรอก แต่เขายังมองว่าคนไทยต้องดำ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือบางทีเราไปไหนกับเพื่อนคนไทยแล้วพูดภาษาไทยกัน พอพนักงานภาคบริการได้ยินก็จะไม่เฟรนด์ลี่กับเราเท่าไหร่เมื่อเทียบกับเวลาเราพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน อันหลังนี้เจอไม่บ่อยแต่ก็เจอ ก็ไม่รู้ว่าทำไมนะ

คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาไหมในการอยู่ไต้หวัน

แพรมองว่าไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ขนาดนั้น เพราะคนส่วนมากที่เจอก็เป็นประเภทที่อาจสงสัยบ้าง เผลอแสดงอะไรที่เหมือนจะเหยียดนิดๆ แต่ก็อย่างที่บอกว่าไม่ได้ตั้งใจหรอก เรารู้สึกว่าคนไต้หวันถามเพราะเขาไม่รู้จริงๆ พออธิบายเขาก็พร้อมจะรับฟังและเข้าใจ บางคนก็ขอโทษเรากลับด้วย 

ส่วนคนที่แสดงท่าทีออกมาเลยว่าไม่ชอบ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดอะไรกับเขา โดยรวมคนไต้หวันก็ยังเฟรนด์ลี่ เข้าถึงง่ายและพยายามช่วยเหลือเราตลอด อาจจะมีแค่สัก 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อาจจะแสดงทีท่าไม่ดีกับเรา

ดูเหมือนว่าการปรับตัวจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคุณ แล้วเคยมีช่วงเวลาไหนที่รู้สึกนอยด์หรืออยากล้มเลิกความตั้งใจและย้ายกลับประเทศไทยบ้างไหม

เยอะมาก (ลากเสียง) ตอนแรกๆ ที่เรามามันจะมีแต่อะไรใหม่ๆ น่าสนใจ อยากเรียนรู้ไปหมดเลยใช่ไหม แต่พอช่วงใกล้จบเทอมแรกและต้องทำงานไฟนอลจึงเริ่มเห็นปัญหาบางอย่าง 

หนึ่ง–เราเองยังปรับตัวไม่ทันกับงานวิชาการที่ไม่เคยทำ อ่านเปเปอร์ก็ไม่เข้าใจ เขียนก็ไม่ออก อีกใจก็กลัวว่าถ้าเกรดไม่ถึงแล้วจะโดนตัดทุนหรือเปล่า 

สอง–มันเป็นจุดที่เราเริ่มมีคำถามหลายอย่างเกิดขึ้นกับตัวเอง เวลาเห็นเพื่อนที่ไทยทำงานโปรเจกต์ต่างๆ ที่น่าสนุก ถ้าเรายังอยู่ไทยเราก็คงจะได้ทำโปรเจกต์นั้นด้วย มันทำให้เราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ สิ่งที่เราอยากทำมันจะทำได้จริงๆ ไหมนะ ถึงมันจะเป็นทางที่เราเลือกเองมันก็มีความลังเลอยู่ ตอนนั้นเลยมีความคิดว่า เอ๊ะ หรือเรียนจบจะกลับไทย แต่พอช่วงปิดเทอมที่ได้กลับไทยไปสั้นๆ ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำ ก็เหมือนได้กลับไปชาร์จพลัง พอกลับมาที่นี่ก็โอเคขึ้น พร้อมสู้ต่อ

อีกครั้งที่เกิดความรู้สึกนี้คือช่วงหลังเรียนจบที่หางานไม่ได้สักที ตอนแรกเราคิดว่าภายใน 6 เดือนแรกเราก็น่าจะหาได้แหละ แต่แพรไปสัมภาษณ์รอบที่ 1 รอบที่ 2 รอบที่ 3 หลายบริษัทมากแล้วสุดท้ายก็ไม่ผ่าน เลยคิดว่าหรือกลับไปหางานที่ไทยน่าจะง่ายกว่านะ 

ถ้าถามว่าที่นี่มีงานที่เราทำได้ไหม มันมี แต่มันอาจจะไม่ใช่งานที่เราชอบขนาดนั้น ขณะเดียวกันมันก็มีงานที่น่าสนุกอยู่ที่เมืองไทยเยอะไปหมดเลย แถมเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ แต่ว่าสุดท้ายก็ได้งานในบริษัทที่ทำปัจจุบันก่อนก็เลยไม่ได้กลับแล้ว

กระบวนการหางานทำที่ไต้หวันมีความยากยังไงบ้าง สำหรับคนไทย

มันยาก (ถอนหายใจ) จะให้พูดยังไง ช่วงแรกๆ แพรก็ไม่ได้หางานที่เน้นตลาดไทยด้วยเพราะคิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้นและอยากจะลองโฟกัสตลาดอื่นดูบ้าง แต่มันก็ยากด้วยเรื่องภาษาจีน ตอนที่เริ่มหางาน ภาษาจีนของแพรก็ยังไม่ได้ดีมาก เราจะไปแข่งกับคนไต้หวันหรือคนชาติอื่นๆ ยังไง สมมติว่าถ้าเราอยากหางานตำแหน่งเดียวกันที่เมืองไทยอาจจะยังพอมีโอกาส แต่ที่นี่ไม่ใช่สนามแข่งที่เราเป็นเจ้าภาพด้วยซ้ำ

อีกอย่างคือบริษัทในไต้หวันส่วนใหญ่ยังค่อนข้าง traditional กว่าไทย สมมติแพรสมัครตำแหน่งมาร์เก็ตติ้งก็ต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 1-2 ปี พอเราไปสัมภาษณ์และบอกว่าประสบการณ์ที่เรามีพอ adapt กับการตลาดได้นะ แต่เขาอยากได้คนทำการตลาดด้านชิ้นส่วนไอทีมาก่อน ซึ่งมันเจาะจงและเฉพาะทางลงไปอีก มันทำให้เราอดคิดในใจไม่ได้ว่า แล้วจะเรียกฉันมาทำไม เพราะเจอแบบนี้หลายครั้งมาก หรือบางบริษัทก็ยังมีมายด์เซตว่าถ้าเป็นผู้หญิงน่าจะทำงานด้านไอทีไม่ได้ เขาก็คัดใบสมัครเราออกแล้ว เราเลยคิดว่าที่ไทยน่าจะเปิดกว้างกว่า ชิลล์กว่า 

และสำหรับคนที่อยากย้ายสายงานแบบแพร ถ้าอยู่ที่ไทยก็คงง่ายกว่านี้ ด้วยความที่ประสบการณ์เราคืองานสื่อล้วนๆ หลายบริษัทก็จะมองว่าเราไม่ได้มีประสบการณ์ในสายมาร์เก็ตติ้งโดยเฉพาะ และปริญญาโทเราก็เลือกเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคณะที่ทำอะไรไม่ได้เลยในไต้หวัน มันก็ทำให้ยิ่งยากขึ้นไปอีก ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่เรียนด้าน MBA หรือนิเทศศาสตร์โดยตรงก็อาจมีเครดิตมากกว่า 

หรืออย่างช่วงสัปดาห์นี้ที่ต้อง work from home แพรก็ทำใจไว้แล้วว่ามันคงไม่เหมือนที่ไทย และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะ HR เพิ่งส่งมาบอกว่าต้องตอกบัตรเข้า-ออกงานอยู่นะ และต้องเขียนรายงานด้วยว่าวันนี้ทำอะไรไปบ้าง

นอกจากเรื่องจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ ในวัฒนธรรมการทำงานแบบไต้หวัน เคยเจอเรื่องอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ไหวกับไต้หวันไหม

แพรเคยเจอปัญหาใหญ่มากๆ คือการถูกเอาเปรียบสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นลงข่าวที่เมืองไทยเลย ตอนนั้นทำให้เรารู้สึกว่าไต้หวันนี่ก็ใช่ย่อยนะ มันยังมีนายจ้างแบบนี้อยู่จริงๆ ในไต้หวัน และมีเยอะมากด้วย แต่โดยรวมแล้วยังเป็นเรื่องเล็ก เรายังไม่ได้จนตรอกขนาดนั้น เพราะเรายังรู้ว่าต้องจัดการยังไงต่อเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับตัวเอง 

แต่ก็อยากเตือนคนอื่นเหมือนกันว่า ถ้าบังเอิญมาเจอนายจ้างไต้หวันที่เขี้ยวมากๆ บางคนจะเข้มงวดยิ่งกว่าที่ไทยอีก เช่น ถ้าหัวหน้ายังไม่กลับบ้านก็ห้ามกลับก่อนหัวหน้า โชคดีที่บริษัทของแพรไม่เป็น 

ส่วนเรื่องสัญญาที่ไม่ถูกต้อง เราก็เห็นว่ารัฐบาลไต้หวันเองก็พยายามจะแก้ไข อย่างตอนนั้นแพรไม่ได้แจ้งความแต่มีผู้หวังดีส่งเรื่องไปให้ตำรวจ อยู่ๆ ก็มีตำรวจติดต่อมาว่าอยากจะเข้ามาเป็นพยานไหม ก็แสดงให้เห็นว่าเขายังแอ็กทีฟ เมื่อมีคนแจ้งเรื่องแล้วมันไม่ได้หายไป เลยคิดว่าต่อให้มีเรื่องอะไร เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ยังช่วยเหลือเราอยู่ มันก็ยังมีความหวังมากกว่าอยู่ไทยนะ

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกว่าการย้ายมาไต้หวันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว และทำให้มั่นใจว่าเรายังอยู่ที่นี่ต่อได้แบบยาวๆ

ก็คงเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต เราอยู่ที่นี่ เวลาออกจากบ้านเราไม่ต้องเจอทางเท้าที่มีน้ำกระเด็นหรือแคบจนเดินไม่ได้ เราไม่ต้องรอรถเมล์นานแถมไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ คุณภาพก็ไม่ดี ที่สำคัญคือคือเวลาเห็นสลิปเงินเดือน ก็รู้สึกเลยว่าอยู่ต่อได้แน่นอน (หัวเราะ)

แพรพยายามหาบาลานซ์ให้ตัวเองด้วยการแบ่งงานเป็นสองอย่าง ระหว่างงานที่สร้างเงิน กับงานที่สร้างความสุข เราทำงานฟูลไทม์ในไต้หวันเป็นงานที่สร้างเงิน ซึ่งมันก็เหนื่อย และเอาเข้าจริงก็ไม่ใช่งานที่เราทำด้วยความรักขนาดนั้น แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังรับงานที่ไทยด้วย เป็นงานที่ตัวเองอยากทำจริงๆ นั่นคือการเผยแพร่ไต้หวันในมุมที่ไม่ใช่เรื่องกินเรื่องเที่ยวให้คนรู้จัก ตรงนี้ก็เป็นงานที่ช่วยชุบชูใจตัวเองแม้จะไม่ได้ทำเงินขนาดนั้น 

สมัยเรียนจบใหม่ๆ เราอาจคิดว่างานที่ทำต้องเป็นงานที่ฉันรัก แต่เราก็เรียนรู้ว่างานที่รักไม่ได้ทำให้เรามีเงินขึ้นมา

ทั้งที่คุณสามารถกลับไปทำงานที่สนุกและชอบจริงๆ ที่ประเทศไทยก็ได้ ทำไมถึงยอมแลกสิ่งนี้เพื่ออยู่ที่ไต้หวันต่อ

เพราะมันคือเป้าหมายระยะยาวที่ตั้งไว้แต่แรกแล้วว่าเราอยากใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวัน ถึงตอนนั้นได้กลับไทยจริงๆ ก็คิดว่าคงจะเอนจอยชีวิตในไทยแค่ 1-2 ปี

ก่อนมาไต้หวันแพรก็ดับเครื่องชนสุดๆ ใช้เงินทั้งหมดที่ตัวเองมีและใช้เงินที่บ้านอีกหลายส่วนเลย มันจึงไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ลงทุนไปกับสิ่งนี้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ช่วยเรา เลยรู้สึกว่าถ้าที่บ้านยังสนับสนุนเราขนาดนี้ก็ต้องไปต่อ การขายของตัวเองทิ้งก็เหมือนการป้องกันตัวเองในอนาคตว่าจะถอยกลับมาไม่ได้แล้วนะ ถ้ามันยังมีทางให้ไปเราก็ยังต้องไปต่อ

ทุกวันนี้เวลามองกลับไปที่ไทยแล้วรู้สึกยังไง

เรายังเชื่อว่าสักวันหนึ่งมันคงต้องเปลี่ยน เวลาที่มีการลงชื่อเรียกร้องต่างๆ ก็พยายามเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในนั้น หรือเวลาเราเขียนงานก็พยายามใส่อุดมการณ์ของตัวเองลงไปในงานเขียน ไม่ได้ถึงกับไม่สนใจแล้ว แค่เราไม่ได้อยากอยู่แบบนั้นแล้ว แต่เรายังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน


Good to Declare

ในฐานะคนที่ผูกพันกับไต้หวันตั้งแต่ตอนเรียนที่ประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน เราจึงชวนแพรมาให้คำแนะนำเล็กๆ ไว้เป็นคู่มือสำหรับคนที่มีไต้หวันเป็นจุดหมายปลายทางที่จะไปใช้ชีวิตในอนาคต

ต่อไปนี้คือประสบการณ์ในระยะเวลาเกือบ 4 ปี ที่แพรแนะนำไว้กับเรา

เรื่องที่คนอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับไต้หวัน

อาหารไต้หวันอร่อย ต้องเตือนไว้ก่อนเลยว่าไม่ใช่นะคะ และอาหารค่อนข้างมีตัวเลือกน้อย พอเรากินซ้ำไปซ้ำมาก็เบื่อ

เรื่องที่ต้องเตรียมใจไว้ก่อนมาอยู่ไต้หวัน

ค่าเช่าบ้านแพง ต้องเตรียมใจว่าราคาไม่เหมือนที่กรุงเทพฯ นะ มันแพงกว่ามาก และต้องเตรียมเงินด้วย

ไต้หวันเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของแพรไปบ้าง

แพรชอบออกนอกบ้านมากขึ้นเพราะมันมีอะไรหลายอย่างให้ทำ ออกไปหานิตยสารอ่านเล่นในห้องสมุด ออกไปสวนสาธารณะ ไปเดินเล่นริมแม่น้ำ วิ่งจ๊อกกิ้ง ไปปลูกผักหรือเดิน flea market ใกล้บ้าน ไปดูงานอาร์ตในพิพิธภัณฑ์ เพราะถ้าอยู่ไทยแถวบ้านแพรก็ไม่มีอะไรยกเว้นเข้าเมืองก็ไปห้าง

คิดว่าไต้หวันเหมาะกับคนแบบไหน

คนที่ outgoing ชอบออกไปเจอธรรมชาติ ลุยๆ น่าจะชอบไต้หวัน เพราะมันมีธรรมชาติอยู่ทุกที่ ต่อให้อยู่ไทเป นั่งรถเมล์ไปแป๊บเดียวก็ปีนเขาได้

สิ่งที่เจอในไต้หวันและอยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง

ขนส่งสาธารณะที่ดีมีคุณภาพ ครอบคลุมตั้งแต่รถเมล์ รถไฟใต้ดิน (MRT) รถไฟ รถไฟความเร็วสูง ที่ราคาถูกและทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริงๆ

AUTHOR