วาฮากา เมืองขวัญใจชาว digital nomads และมีหน้าตาเหมือนเชียงใหม่แห่งเม็กซิโก

Home is where I work, and I work everywhere. บ้าน คือที่ไหนก็ได้ที่ผมทำงาน และผมก็ทำงานได้ทุกที่เสียด้วยนี่สิ

Alfred Nobel

HOME…?

ชาว digital nomads มักเลือกเมืองวาฮากา (Oaxaca City) เป็นหนึ่งในสถานที่พักอาศัยเพื่อทำงานทางไกล ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ อยู่ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้โดยมีคอมพิวเตอร์พกพากับอินเทอร์เน็ตความเร็วมากพอ ก็สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ตัวเองได้แล้ว

คนต่างชาติพลัดถิ่นมีชุมชนของพวกเขาเอง อาจจะเพื่อให้ได้ sense of belonging ส่วนใหญ่รู้จักกันทั้งจากปากต่อปาก จากการไปพบปะกันตามอีเวนต์ ร้านกาแฟ หรือแกลเลอรี่ บ้างถึงกับเริ่มธุรกิจของตัวเองปักหลักถาวรก็มี เมืองนี้ใหญ่ประมาณหนึ่ง ค่าที่เป็นเมืองหลวงของรัฐวาฮากา (Oaxaca State) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่น่าสนใจมากของประเทศเม็กซิโก แม้จะเป็นเมืองใหญ่ ประชากรเกือบล้านคน แต่ยังนับว่าเล็กมากพอที่ใครต่อใครจะรู้จักกันอย่างค่อนข้างทั่วถึง

อันที่จริง ไม่เฉพาะแค่เมืองนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเมืองในเม็กซิโก รวมถึงอีกหลายเมืองในแถบอเมริกากลาง (Central America) อย่างเช่น ประเทศกัวเตมาลา (Guatemala) หรือนิคารากัว (Nicaragua) ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งพักพิงทำงานของคนประเภทนี้เช่นกัน

ผมทำงานเขียนและงานอื่นๆ (เช่น กาแฟ) ขณะเดินทางด้วยเช่นกัน ไม่แน่ใจนักว่าสามารถจัดตัวเองเข้าไปอยู่ในหมวดหมู่นักทำงานเร่ร่อนได้หรือไม่ เพราะเวลาเกินกว่าครึ่งของแต่ละปียังคงปักหลักอยู่ในไทย แต่นั่นก็ไม่ได้สลักสำคัญมากเท่ากับการตระหนักว่าตนเองได้ทำในสิ่งที่ตนเองหลงใหล ซึ่งคือการเดินทางและได้ทำงานที่ชื่นชอบในเวลาเดียวกัน

ใช่ไหม?

ในเมืองแห่งคนเมสติโซ (Mestizo)

ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบเมืองวาฮากากับเชียงใหม่ แทบอยากตั้งฉายาเอง ว่าเมืองนี้ คือ ‘เชียงใหม่แห่งเม็กซิโก’ นั่นไม่ใช่เพราะวาฮากาล้อมรอบด้วยกำแพงกับคูเมืองสี่ด้าน ไม่ได้มีประตูเมืองเก่าคล้ายประตูท่าแพ สถาปัตยกรรมก็คนละโลก ผังเมืองยิ่งต่างกันเสียยิ่งกว่ามาจากดาวเคราะห์คนละดวง

แต่ขณะพักอาศัย เดินเหิน เสพกลิ่นอายเมืองนี้ กลับรู้สึกเหมือนกำลังสูดกลิ่นเชียงใหม่ ทั้งร้านรวงเท่ๆ ร้านอาหารหลากสัญชาติ แกลเลอรี่แทรกตัวในซอกตึก สตูดิโอของศิลปินผลิตชิ้นงานศิลปะเกิดขึ้นเต็มเมือง นักดนตรีทั้งเล่นข้างถนนและในผับบาร์ ร้านกาแฟหนาแน่น ภูเขาตระหง่านนอกเมืองคล้ายดอยสุเทพ เป็นความแปลกแยกแตกต่างอันแสนคุ้นเคย 

ไม่แปลกเลย ที่เมื่อมาถึงเมืองนี้ ผมไม่ได้กระตือรือร้นเที่ยวทำกิจกรรมปกติแบบทัวริสต์ทำกัน ปล่อยจังหวะผ่อนคลายกับเร่งเร้าด้วยความเร็วพอๆ กับขณะอยู่เชียงใหม่ (เวลาไม่ไปไหนต่อไหน ผมอยู่เชียงใหม่ ก็เลยใช้เป็นจุดอ้างอิง)

ประชากรเมืองนี้ ส่วนใหญ่คือเมสติโซ (Mestizo) ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ช่วงที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะพวกสเปนเข้ามายึดครองทวีปนี้ตามแบบฉบับเทรนด์ชาติต่างๆในยุโรปแข่งกันล่าอาณานิคม พวกเขาพากันลงหลักปักฐาน สร้างบ้านแปงเมือง แต่งงานแตกหน่อออกลูกหลานกันระหว่างคนยุโรปกับคนพื้นเมืองท้องถิ่น เกิดเป็นลูกผสม เรียกกันว่าเมสติโซ คำนี้ไม่ได้เป็นคำดูถูก เรียกกันเพราะประเทศนี้เต็มไปด้วยคนเชื้อสายกึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง เคยทำงานให้กับบริษัททัวร์สัญชาติอังกฤษ เขาเป็นคนวาฮากา และเขาก็เป็นลูกครึ่งสเปนกับซาโปเท็ก (Zapotec People) ผิวน้ำตาลผมดำและหน้าตาออกฝรั่ง เป็นเมสติโซ เจ้าตัวบอกว่าอย่างไรเสีย คนเม็กซิกันผิวขาวก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งสูงส่งกว่า ขณะเดียวกัน คนที่มาจากเชื้อสายชนพื้นเมืองดั้งเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เป็นเบี้ยล่างในสังคมอยู่ดี เมื่อเทียบกับพวกเมสติโซ 

ชนชั้นวรรณะไม่ได้มีเฉพาะแค่ที่อินเดีย หรือที่ไทย แต่เม็กซิโกก็มีด้วยเช่นกัน

เทศกาลเกลาเก็ทซา (Guelaguetza Festival)

คำว่า เกลาเก็ทซา เป็นคำในภาษาซาโปเท็ก แปลให้เข้าใจง่ายน่าจะประมาณ ‘ร่วมด้วยช่วยกัน’ เมื่อใดก็ตามที่บ้านใครหรือหมู่บ้านไหนเฉลิมฉลองแต่งงาน กิจกรรมทางศาสนา หรือพิธีอะไรก็ตาม เป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อเนื่องยาวนานของคนในรัฐวาฮากาซึ่งประกอบกันขึ้นด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งแตกต่างกันถึงสิบหกภาษา

พวกเขาจะนำเอาข้าวปลาอาหาร เครื่องดื่ม และขนมนมเนยมาสมทบในงานที่จัดขึ้น เป็นการแสดงพลังแห่งการร่วมไม้ร่วมมือกันและการเป็นสมาชิกของสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ด้วย เทศกาลเกลาเก็ทซาจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นเวลาประจวบเหมาะกับช่วงที่ผมอยู่ที่นั่นพอดี จึงได้ร่วมสนุกสนานไปกับชาวเมืองด้วย

นอกเมืองในปัจจุบันซึ่งชาวเมืองกำลังจัดงานรื่นเริงกันอยู่ บนเนินเขา ห่างออกไปไม่ถึงสิบกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญ ชื่อมอนเตอัลบาน (Monte Alban) ที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการค้าการปกครองอาณาจักรของคนพื้นเมืองซาโปเท็กตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล ผ่านไปนับพันปี ซาโปเท็กเสื่อมอำนาจ ชาวมิกสเท็ก (Mixtec) ขึ้นมาเรืองอำนาจแทน ทว่าในที่สุดก็ถึงกาลดับสูญ เมืองถูกทิ้งร้าง ปัจจุบันซากเมืองโบราณแห่งนี้ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญยามมาเยือนเมืองวาฮากา นักท่องเที่ยวมักจับรถบัส ไม่ก็จองทัวร์พร้อมไกด์นำเที่ยว ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ขึ้นไปถึงเมืองโบราณแห่งนี้ซึ่งอยู่เหนือหุบเขา

องค์ประกอบโดยรวมช่วยให้สามารถจินตนาการย้อนกลับไปยังยุคเก่าก่อนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ภาพรางๆ ซ้อนทับสิ่งที่เห็นอยู่ต่อหน้า ชีวิตชีวาของเมืองในยุคนั้นปรากฏขึ้น เหมือนภาพฮอโลแกรมฉายขึ้นมาในฉากซึ่งมีนักท่องเที่ยวกำลังเดินเล่นกันอยู่ ชาวเมืองแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า เดินกันขวักไขว่ ค้าขาย ต้อนสัตว์เลี้ยง นำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแลกเปลี่ยนกัน อีกมุมของเมืองมีงานรื่นเริงลักษณะคล้ายเกลาเก็ทซา ผู้คนเฉลิมฉลอง สนุกสนาน เมามายเพราะร่ำรินดื่มเมสกัล (Mezcal) ซึ่งเป็นเหล้าท้องถิ่นที่ผลิตจากพืชทะเลทรายอย่างอะกาเว (Agave) ข้างบนตรงโน้นพวกผู้ชายร่างป้อมทว่ากำยำทั้งหลายกำลังขมีขมันเร่งก่อสร้างพีระมิดให้เสร็จทันพิธีกรรมสำคัญ

กลับลงมาจากมอนเตอัลบาน ช่วงบ่ายแก่ ยาวไปจนค่ำคืน การเฉลิมฉลองดำเนินต่อไป พาเหรดขบวนยาวครื้นเครง วงดุริยางค์ วงโยธวาทิตบรรเลง สาวน้อยสาวใหญ่แต่งกายด้วยชุดสีสันฉูดฉาดพลิ้วไหวร่ายระบำไปตามจังหวะดนตรี คนสวมตัวตุ๊กตายักษ์หน้าตาตลกหมุนตัวไปโดยรอบ กลุ่มเด็กหนุ่มต่อไม้เข้ากับขาตัวเองกลายร่างเป็นมนุษย์โย่งก็อยู่ในขบวน ไหนจะคนเชิดหุ่นวัวพร้อมกับมัดก้อนประทัดติดไว้กับหุ่น เมื่อจุดไฟ ประทัดดังสนั่นลั่น คนเชิดวัวหมุนตัวเต้นให้เข้ากับจังหวะ ฝูงคนดูแน่นขนัดสองข้างทางโห่ร้อง ผิวปาก ขบวนพาเหรดเคลื่อนรอบเมืองแล้ว ก็ไปหยุดกันที่ลานใจกลางเมือง การร้องรำทำเพลงยังคงดำเนินต่อไป เป็นบรรยากาศชื่นมื่นทีเดียว

วาฮากามีมิติของปัจจุบันที่ซ้อนทับอยู่กับอดีตค่อนข้างชัดเจน ผสมผสานวัฒนธรรมก่อนยุคล่าอาณานิคมเข้ากับสมัยใหม่ เป็นบ้านของทั้งคนท้องถิ่นดั้งเดิม คนลูกครึ่ง คลื่นคนย้ายถิ่นยุคใหม่ และเป็นบ้านชั่วคราวของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน   

AUTHOR