นันทินี ตันศรีสกุล ศิลปินไทยในนิวยอร์กผู้ใช้อัลกอริทึมสร้างงานศิลปะที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่ตามองเห็น

หากพูดถึงอัลกอริทึมในงานศิลปะ เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงอะไรที่หวือหวา ล้ำสมัย หรือนวัตกรรมแปลกตา แต่งานศิลปะแบบ new media art ของ นันทินี ตันศรีสกุล กลับเรียบง่าย และใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

เอกลักษณ์ในงานของนันทินีคือการใช้อัลกอริทึมมาเล่นกับประสาทสัมผัสและการตีความของสมอง เธอพยายามหาเส้นบางๆ ระหว่าง Perception (การรับรู้) กับ Cognition (การรู้คิด) ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านงานศิลปะจนเกิดเป็นเรื่องราวในมุมมองมิติใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งในฐานะมนุษย์เราไม่สามารถสร้างขึ้นได้เองอย่างแน่นอน และเธอบอกว่าผลลัพธ์ของอัลกอริทึมมักทำให้เราเซอร์ไพรส์เสมอ 

นันทินีสนใจทั้งทางด้านศิลปะและตัวเลขมาตั้งแต่เด็ก เธอเรียนจบด้านบริหารธุรกิจและเคยทำงานด้านที่ปรึกษาและการวิจัยทางการตลาด ระหว่างนั้นก็พบว่าตัวเองยังชอบศิลปะมาตลอด ประกอบกับเริ่มสนใจการเขียนโปรแกรม ทำให้ปัจจุบันในวัย 29 ปี เธอเปลี่ยนสายมาทำงานด้านศิลปะที่นิวยอร์ก ควบคู่ไปกับการทำงานสอนวิชา Feeling Patterns ที่โปรแกรม Interactive Telecommunications Program (ITP) & Interactive Media Arts (IMA) ที่ Tisch School of the Arts ของ NYU 

เธอหลอมรวมศิลปะและอัลกอริทึมไว้ด้วยกันได้อย่างไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน 

จุดเริ่มต้นของการมาเรียนและทำงานที่นิวยอร์ก

เราสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ชอบที่ศิลปะไม่มีถูกผิด ทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่ตายตัว ไม่มีสิ่งที่เป็นขาวดำ ขณะที่เวลาเราเรียนวิชาอื่นก็จะมีสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด เราสนใจศิลปะแล้วก็สนใจด้านเลขด้วย พอโตขึ้นคนส่วนใหญ่ก็จะถามว่า ทำไมไม่ไปเรียนสถาปัตย์ ซึ่งตอนนั้นที่บ้านเรามีคนที่เรียนด้านนี้เยอะมากแล้ว อยากให้เราเรียนทางด้านบริหารธุรกิจมากกว่า เราก็เลยได้ไปเรียนด้านบริหารธุรกิจที่ BBA ธรรมศาสตร์ แล้วก็ทำงานที่ปรึกษาและการวิจัยทางการตลาดมาตลอด จนพอมันอยู่ตัวก็รู้สึกว่าเราสามารถไปทดลองทำอะไรที่อยากทำได้จริงๆ แล้ว 

พอมีโอกาสก็เริ่มคิดว่ามีสื่อกลางอะไรที่เหมาะกับการสื่อสารสิ่งที่เราสนใจ ก็ได้มาเจอกับการเขียนโปรแกรม เราเคยจัดงานที่ TEDxBangkok เห็นงานของคุณภูริน พานิชพันธ์ เป็นศิลปินคนไทยเหมือนกันก็เลยได้รู้จักเขา หลังจากนั้นก็ติดตามงานมาเรื่อยๆ พยายามหางานแนวนี้ว่ามีแบบไหนบ้าง หาสถานที่ที่เราจะสามารถเรียนรู้ได้ เราได้ไปทำงานอยู่ที่ Bit Studio ที่ทำด้านเทคโนโลยีสร้างสรรค์สักพักหนึ่ง หลังจากนั้นก็ตัดสินใจมาเรียนด้าน Interactive Telecommunications Design ที่ Tisch School of the Arts ในนิวยอร์ก เพราะในไทยมีมหาวิทยาลัยน้อยมากที่สอนเรื่องนี้ในบริบทของศิลปะ ส่วนมากจะเน้นเรื่องการออกแบบ หรือไม่ก็เป็นวิศวะไปเลย ยังไม่มีอะไรที่ดึงทั้งสองอย่างไว้รวมกัน ซึ่งจริงๆ มันหายากมาก ไม่ใช่ทุกประเทศจะมีด้วยซ้ำ 

ในเชิงการเรียนต่างกันมากไหม

ต่างกันมาก เพราะเราเรียนบริหารธุรกิจที่ไทยมาก่อนซึ่งเป็นเลกเชอร์ทั้งหมด มีนักเรียนคลาสหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 60 คน มีคนสอนอยู่หน้ากระดานแล้วก็พูดไปเรื่อยๆ แต่ที่นี่รูปแบบการเรียนจะเป็นสตูดิโอเกือบทั้งหมด มีนักเรียนมากสุดห้องละไม่เกิน 14 คน ทุกคนต้องอ่านหนังสือหรือดูวิดีโอก่อนเข้าเรียนมาทั้งหมดแล้ว ห้องเรียนเป็นพื้นที่ให้คุยต่อยอดไอเดียกัน เถียงกัน โชว์งาน หรือช่วยเหลือกันมากกว่า

ส่วนในเชิงการทำงานที่อเมริกามีซัพพอร์ตเยอะกว่ามาก ทั้งสถานที่แสดงงาน อุปกรณ์การสร้างงาน เงินทุน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คอมมูนิตี้ และคนที่คอยต่อยอดไอเดียให้ข้อคิดกับเรา 

ทำไมต้องเป็นอัลกอริทึม

ศิลปะในทุกยุคเกิดจากการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเอง สังคม การเมือง หรือสภาพแวดล้อม เครื่องมือในแต่ละยุคก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรามองว่าเทคโนโลยีคืออะไร ถ้าเป็นเรื่องการเขียนโปรแกรม การใช้การคำนวณมาเป็นส่วนหนึ่งในศิลปะ มันเป็นการทำให้กระบวนการต่างๆ สามารถทำซ้ำและทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ เราเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์ แต่สุดท้ายตัวโปรแกรมเป็นสิ่งที่สร้างผลงานขึ้นมา 

งานของเราเริ่มจากความสงสัยและการสร้างสมมติฐานทั้งหมด เราไม่ทราบชัดเจนว่ามันจะออกมาเป็นยังไง แต่เราสร้างกรอบความคิดขึ้นมา สุดท้ายมันมักจะเซอร์ไพรส์เราเสมอ เพราะมันจะสร้างในสิ่งที่เราคิดไม่ถึง สิ่งที่เราในฐานะมนุษย์ ด้วยร่างกาย ประสาทสัมผัสและสมอง ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้

มองเห็นจุดเชื่อมโยงอะไรระหว่างสองศาสตร์นี้

โจทย์ในเชิงศิลปะของเราคือการทำให้คนสามารถแยก Perception และ Cognition ออกจากกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว Cognition คือการเห็น Pattern บางอย่าง เราจะรู้ว่า ‘สีแดง’ คือ ‘สีแดง’ ก็ต่อเมื่อเราเคยเห็นและเคยนิยามมันมาก่อนจากประสบการณ์ของเรา ส่วน Pattern สำหรับเราเกิดขึ้นได้จาก 2 อย่างคือ Sequence (การเรียบเรียงอันดับ) และ Repetition (การทำซ้ำ) ไม่ว่าจะเป็น Pattern ที่เกิดขึ้นตามเวลาและประสบการณ์ หรือ Visual Pattern ที่เรามองเห็นด้วยตาก็ตาม ทั้งสองอย่างนี้คือสิ่งที่อัลกอริทึมทำได้ดี 

EN ROUTE

คิดว่าจุดเด่นในงานศิลปะของตัวเองคืออะไร

เวลาพูดถึงงานที่เป็นศิลปะดิจิทัลส่วนใหญ่คนจะนึกถึงอะไรที่หวือหวา เราไม่ได้โฟกัสที่ความสวยงาม และไม่ได้สร้างงานที่มีเรื่องราวหรือนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ งานเราเหมือนสร้างเลนส์หรือวิธีการมองสิ่งเดิมที่เราเห็นทุกวันในมุมใหม่มากกว่า ทำให้ฉุกคิดและตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเห็นในทุกๆ วันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า

ทำไมถึงสนใจเรื่องการมองเห็นของคน

เราสนใจเรื่องนี้เพราะคิดว่าคนเรามีความเป็นจริงที่ไม่เหมือนกัน แต่หลายๆ อย่างที่ใช้ในการสื่อสารกลับโฟกัสไปที่ความเหมือนกัน เช่น ภาษาหรือเวลา สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง เป็นแค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกเดียวกันได้ 

เราเชื่อว่าถ้าคนเราสามารถทำให้ตัวเองเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เราเห็นคือ สิ่งที่คิดขึ้นมาเอง และสามารถมองสิ่งเดิมๆ โดยไม่ตีความ ก็จะทำให้ทุกๆ วันของเราได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ตลอด และทำให้สิ่งรอบตัวน่าสนใจมากขึ้น

ยกตัวอย่างโปรเจกต์ Tiny Movies ที่เกิดขึ้นจากความสงสัยล้วนๆ การมองเห็นสำหรับเราเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เราชอบคิดว่าวิธีการที่คนเรามองเห็นมันถูกจำกัดด้วยอะไรบ้าง อย่างเวลาสายตาคนเรามองมันก็เป็นองศานี้ตลอด แต่พอเราได้เริ่มใช้โดรนครั้งแรก ก็เริ่มเห็นว่ายังมีมุมอื่นที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลยด้วยซ้ำ การที่เราประกอบร่าง ประกอบข้อมูลและตีความอะไรบางอย่าง เหมือนกับวิธีการทำงานของ Animation Frame ให้เราเห็นเป็นเรื่องราวได้ เลยเลือกเป็นมุมขนาน

เพราะเป็นมุมที่เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ บนภาพพอดี ลองนึกถึงโปรแกรม 3D ถ้าเรามองจากมุมบนเราจะไม่รู้เลยว่ามันเป็นภาพ 2 หรือ 3 มิติ ยกเว้นแต่จะมีแสงหรือเงาเข้ามาเกี่ยวข้อง

Tiny Movies

เล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนนี้มีโปรเจกต์อะไรที่ทำอยู่บ้าง 

ตอนนี้ทำงานกับเพื่อนๆ กลุ่ม NUUM Collective และนักออกแบบท่าเต้นที่นิวยอร์กอยู่ ชื่อ 1920×1920 ยังอยู่ในช่วงรีเสิร์ช โดยได้รับทุนจาก National Endowment for the Arts (NEA) ของรัฐบาลกลางสหรัฐ และรางวัล Catalyst Prize จาก New York University (NYU) เป็นงานที่พยายามใช้วิธีคิดแบบอัลกอริทึมกับวิธีการออกแบบท่าเต้น โดยทำเป็นรูปแบบของ Floor Projection เราอยากดันศาสตร์ด้านการออกแบบท่าเต้นโดยสร้างสเปซที่ Dynamic คือสเปซที่เปลี่ยนได้ และ Responsive คือสเปซที่เปลี่ยนตามการเคลื่อนไหวของนักเต้น เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของคนและสเปซในรูปแบบใหม่ๆ 

อีกงานคือกำลังทำคลาส Feeling Patterns คลาสที่พัฒนามาจากงาน 1 Inch is 2 Inches ซึ่งโฟกัสเรื่องการสร้าง Pattern โดยการเขียนอัลกอริทึมที่ทำยังไงให้ Pattern เข้าถึงอารมณ์ของคนได้

ความแตกต่างระหว่างวงการศิลปะในไทยกับนิวยอร์กในสายตาคุณคืออะไร 

เราว่าตอบยากมาก เพราะเราก็ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะที่ไทยขนาดนั้น แต่ด้วยตัวเมืองนิวยอร์ก คนมาจากหลายวัฒนธรรมทำให้มีงานที่แตกต่างเยอะ คนไม่สามารถไปตัดสินงานของคนอื่นได้ ทำให้ทุกคนต้องเปิดรับฟัง วิธีการคุยกันก็ต่อยอดไอเดียได้แบบรวดเร็ว เพราะไม่ได้มีใครล็อกไอเดียใคร 

อะไรคือสิ่งที่คุณเจอในอเมริกาและอยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง

อเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่และนิวยอร์กก็เป็นเมืองที่มีคนหลากหลายมาก มีวัฒนธรรมที่แตกต่างมารวมกัน ทำให้คนส่วนใหญ่เปิดรับไอเดียและรับฟังโดยไม่ตัดสินใจอะไรก่อน ไม่มีถูกผิด ดีไม่ดี แต่เป็นการมองทุกอย่างในบริบทของมันมากกว่า เราไม่ได้มองว่างานอาร์ตจะต้องอยู่ในแกลเลอรี่ มันสามารถอยู่ได้ทุกๆ ที่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะอธิบายว่ามันเป็นยังไง แล้วก็อยากให้การตีความของคำว่าศิลปะเปิดกว้างมากขึ้น

มีอะไรแนะนำสำหรับคนที่อยากมาเรียนหรือทำงานด้านศิลปะที่นิวยอร์กไหม

เราแนะนำมากๆ ถ้าทราบว่าตัวเองกำลังค้นหาอะไรอยู่ อยากให้ตั้งคำถามว่าอะไรที่มีความหมายกับเราและสิ่งที่สนใจคืออะไร ไม่อย่างนั้นอาจจะหลงทาง เพราะที่นี่มีหลายอย่างเข้ามาตลอด แต่ไม่ว่าความสนใจของคุณจะเฉพาะทางมากแค่ไหน ก็สามารถหาคนที่เป็นพวกเดียวกันได้แน่นอน

มีเป้าหมายในเส้นทางศิลปะที่อยากไปให้ถึงไหม

พอเราได้สอนคลาสในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหลักสูตรที่เราสร้างขึ้นมาเองได้ ก็รู้สึกว่ายังมีโอกาสเยอะมากในประเทศไทย เพราะยังไม่มีใครที่ดึงสองศาสตร์นี้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คิดว่าในอนาคตยังไงก็ต้องเกิดขึ้น เพราะอัลกอริทึมอยู่รอบตัวเราตลอด และคนก็ใช้คอมพิวเตอร์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ