คุยกับ Nulbarich วงอินดี้ญี่ปุ่นที่ขึ้นคอนเสิร์ตทีละไม่กี่คนจนเล่นสดไม่เหมือนกันสักครั้ง

Nulbarich

Nulbarich

โชคดีที่ตอนนี้เขายอมเผยตัวกับสาธารณชนแล้ว เราเลยได้คุยกับ JQ ผู้เป็นทั้งนักร้องนำ นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ผู้ทำเพลงทั้งหมดของ Nulbarich ที่เพิ่งปล่อยเพลง A New Day ซึ่งได้หนุ่มภูมิ วิภูริศ มาร่วมฟีเจอริงในอัลบั้มล่าสุดอย่าง NEW GRAVITY ด้วย 

ไปทำความรู้จักกับวงดนตรีที่ JQ ให้คำจำกัดความว่า “วงที่มีอิสระมากเกินไป” ผ่านเพลงของพวกเขากัน

TOKYO

ก่อน JQ และเพื่อนๆ ของเขาจะรวมตัวกันตั้งวง Nulbarich ในปี 2016 JQ เป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงมามากมาย รวมไปถึงเพลง TOKYO ในอัลบั้มนี้ด้วย JQ เล่นดนตรีได้หลายชนิดตั้งแต่เด็ก ทั้งเปียโน กลอง กีตาร์ แถมยังเป็นดีเจ แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะจับไมค์ร้องเพราะไม่ชอบเสียงตัวเอง แต่ในที่สุดก็จับพลัดจับผลูมาเป็นนักร้องนำเพราะอยากทำอะไรสนุกๆ กับเพื่อนนักดนตรีแล้วดันไม่มีนักร้องนำ

Nulbarich แปลว่าอะไร

มาจากคำว่า ‘null but rich’ null เป็นภาษาโปรแกรมมิง แปลว่า 0 ไม่มีอะไร แต่ถึงจะไม่มีอะไรแต่ก็อุดมสมบูรณ์ ผมว่าความหมายมันดีนะ เพลงมันก็ไม่มีรูปร่างใช่ไหม เป็นแค่เสียงที่ปล่อยออกมาจากลำโพงแต่ทำให้เกิดความรู้สึกได้ สิ่งที่พวกเราทำอยู่ก็คล้ายๆ แบบนั้น เราไม่ได้สร้างของที่จับต้องได้ แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก ผมคิดว่าคงจะดีถ้าทำให้ผู้ฟังรู้สึกชอบเพลงได้ สิ่งนี้เป็นเหมือนธีมหลักของวง

แล้วอยู่ๆ คุณเปลี่ยนบทบาทจากโปรดิวเซอร์มาเป็นนักร้องได้ยังไง

(ยิ้มเขิน) ตอนแรกผมไม่ชอบเสียงตัวเองเลย แต่ว่าตอนทำงานโปรดิวเซอร์มันต้องลงเสียงเองตอนไกด์เพลงเลยค่อยๆ ชินทีละนิด และตอนแรงวงไม่มีนักร้องนำผมก็ต้องร้องเอง จนตอนนี้ร้องได้แล้ว แต่ยังคิดว่าไม่เก่งนะ แค่พอไม่ได้เป็นนักร้องตั้งแต่แรกมันเลยเห็นพัฒนาการชัด แต่โดยรวมคือยังสนุกไปกับการพัฒนาตัวเอง

ทำไมวงถึงมีสมาชิก 11 คน

(หัวเราะ) ตอนนี้ก็ยังมี 11 คน แต่แทบไม่เคยขึ้นเวทีพร้อมกัน 11 คนเลย เราแบ่งเป็นแก๊งย่อย เช่น กีตาร์ 3 คน เบส 2 คน เปียโน 2 คน แต่ละคนก็เล่นดนตรีคนละสไตล์ เช่น คนนี้เป็นนักเปียโนแจ๊ส อีกคนมาจากออร์แกน เวลาจัดทีมนักดนตรีขึ้นคอนเสิร์ตแต่ละครั้งก็จะได้เพลงเวอร์ชั่นแตกต่างกัน เป็นเคมีที่เข้ากันได้ดี เป็นสิ่งที่ผมสนุกทุกครั้งที่ได้ทำเพลงขึ้นโชว์

ผมว่าจุดแข็งของเราคือตรงนี้แหละ เราทำสิ่งที่วงซึ่งมีสมาชิกกำหนดชัดเจนทำไม่ได้ คือการเลือกฟอร์มทีมให้เหมาะกับโอกาสนั้นๆ ทำให้งานเพลงเราหลากหลาย เพราะเรามีนักดนตรีหลายสไตล์

ถ้าให้จำกัดความ Nulbarich จะเป็นสไตล์ไหน

พวกผมไม่ค่อยจำกัดตัวเองอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่ง เราทำสิ่งที่ชอบในตอนนั้น เป็นวงที่มีอิสระในการทำเพลงมาก อธิบายยังไงดี เราเป็นวงที่มีอิสระมากไปล่ะมั้ง (หัวเราะ)

ผมว่าเพลงฮิปฮอป โซล เพลงที่พัฒนามาจากวัฒนธรรมของคนผิวสีมันเท่ เวลาทำเพลงที่ตัวเองชอบก็อยากทำเพลงที่คิดว่าเท่ คงได้รับอิทธิพลจากเพลงแนวนี้ด้วย ฟังแล้วอาจรู้สึกได้ว่ามีกลิ่นอายของดนตรีเหล่านั้นจางๆ ไม่ถึงกับชัดว่าเพลงนี้ทำมาจากแนว R&B นะ

Nulbarich ถือว่าประสบความสำเร็จมากภายใน 2 ปี คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ไม่รู้เลย อาจเพราะวิทยุ เพราะพอวิทยุเปิดเพลงบ่อยๆ คนก็เริ่มถามว่าเพลงใคร เลยเป็นที่รู้จักขึ้นมา ตอนนั้นดีใจมากที่คนฟังเพลงพวกเราแล้วชอบเลยช่วยกันแชร์ให้ โดยที่ไม่ได้รู้จักพวกเราเลย พวกเราเองก็ไม่ได้คิดว่าจะได้ขึ้นคอนเสิร์ตที่บุโดกังใน 2 ปี

Lost Game

JQ บอกว่าปี 2020 ที่ทุกคนเหนื่อยและลำบาก คีย์เวิร์ดสำคัญของปีที่แล้วคือ ‘บาลานซ์’ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแรงดึงดูด จึงเป็นที่มาของ NEW GRAVITY ชื่ออัลบั้มใหม่ซึ่งอัดเพลงมาแน่นๆ ถึง 19 เพลง โดยแบ่งเป็น 2 แผ่น แผ่นแรกเป็นเพลงของวง ส่วนอีกแผ่นเป็นการคอลแล็บกับเพื่อนศิลปินต่างๆ

ทำไมอัลบั้มใหม่ถึงชื่อ NEW GRAVITY

ผมชอบเรื่องอวกาศอยู่แล้ว ทุกคนคงชอบแหละ และผมว่าปีที่แล้วบาลานซ์ของหลายๆ อย่างมันพังทลาย ทำให้เราต้องปรับตัวทำอะไรใหม่ๆ มันเลยกลายเป็น new balance และเป็นที่มาของ NEW GRAVITY เพราะแรงดึงดูดเป็นสิ่งที่เราควบคุมเองไม่ได้ ปี 2020 เราก็คอนโทรลอะไรไม่ได้ อัลบั้มนี้เลยเป็นเหมือนสิ่งที่เราคิดขึ้นมาระหว่างที่ติดอยู่ในห้วงแรงดึงดูดใหม่

มีตั้ง 19 เพลง สำหรับเมืองไทยถือว่าเยอะนะ

ที่ญี่ปุ่นก็ถือว่าเยอะ (หัวเราะ) แต่ผมว่ามันสะท้อนปี 2020 ได้ดีนะ

สาเหตุที่แบ่งเป็น 2 แผ่นเพราะว่าเพลงส่วนแรกเป็นเพลงที่พวกผมตั้งใจทำกันขึ้นมา ส่วนอีกแผ่นที่คอลแล็บเป็นเหมือนการเล่นสนุกกับเพื่อน ถ้าอยู่ในแผ่นเดียวกันอารมณ์จะไม่เข้ากัน

โดยทั่วไปชีวิตนักดนตรีจะมี 2 อย่าง คือการเล่นคอนเสิร์ตกับการทำอัลบั้ม แต่ปีที่แล้วเราไปเล่นสดที่ไหนไม่ได้เลย เหมือนขาดสารอาหารที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจของศิลปิน ปกติผมจะนำความสนุกจากการขึ้นเวทีและการได้พบปะแฟนเพลงมาเป็นพลังในการทำเพลงซึ่งเหนื่อยมาก พอขาดพลังส่วนนั้นไปผมเลยคิดว่าอัลบั้มนี้ทำคนเดียวไม่รอดแน่ เลยอยากคอลแล็บกับคนอื่นเพื่อรับความสดใสจากเพื่อนนักดนตรีมาเป็นพลังในการทำเพลงต่อ

Rainbow Entertainment

เลือกคนมาคอลแล็บยังไง

ขึ้นอยู่กับว่าผมชอบหรือไม่ชอบ (หัวเราะ) ผมใช้ชีวิตโดยที่จริงใจกับความรู้สึกของตัวเอง ถ้ารู้สึกฝืนมันจะทำไม่ได้ เช่น ถ้าถูกบอกว่าทำเพลงแบบนี้หน่อย ผมจะรู้สึกไม่อยากทำ จะคอลแล็บกับใครก็อยากทำงานกับคนที่ชอบ

A New Day feat. Phum Viphurit

ภูมิ วิภูริศ เป็น 1 ใน 7 ศิลปินที่เป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้มนี้ ภูมิกับ JQ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพลงนี้ถูกสร้างสรรค์ผ่านการโต้ตอบทางอีเมลโดยใช้ดนตรีเป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างการเวิร์กฟรอมโฮมของ 2 หนุ่มจาก 2 มุมโลก ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เจอกัน แม้ JQ จะจัดคอนเสิร์ต ONE MAN LIVE -IN THE NEW GRAVITY- ไปเมื่อ 13 มิถุนายนที่ผ่านมาโดยมีหนุ่มภูมิมาร่วมแจมผ่านจอ

มาคอลแล็บกับภูมิได้ยังไง

ผมเจอภูมิโดยบังเอิญในยูทูบ ตอนที่ภูมิไปร่วมคอนเสิร์ตกับค่าย 88rising ซึ่งผมเองก็ชอบเพลงสไตล์ 80s อยู่แล้ว ตอนผมทำดนตรีของเพลง A New Day เสร็จ ผมคิดว่าถ้าได้ภูมิมาร้องเพลงนี้น่าจะเท่ดี เลยลองติดต่อดูแม้จะไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย ปรากฏว่าพอส่งไปให้ลองฟัง ภูมิตอบกลับมาว่าอยากทำ ซึ่งผมดีใจนะ ปกติคนไม่รู้จักกันเขาไม่ค่อยตกลงตั้งแต่การชวนครั้งแรกหรอก ผมคิดว่าเขาคงชอบเพลงนี้จริงๆ

Nulbarich

ตอนส่งเพลงไปคุณบรีฟคอนเซปต์ว่ายังไงบ้าง

ผมไม่ได้บรีฟอะไรเลย (หัวเราะ) ให้เขาฟังแล้วเกิดแรงบันดาลใจเอง ทั้งเมโลดี้และเนื้อเพลง พอภูมิส่งเนื้อเพลงซึ่งสะท้อนความรู้สึกที่ต้องกักตัวอยู่บ้านในช่วงปี 2020 กลับมาให้ ตอนเห็นครั้งแรกผมยังคิดเลยว่าทุกคนรู้สึกเหมือนกันจริงด้วย ปีที่แล้วลำบากกันมากจริงๆ เพลงนี้คงสื่อถึงทุกคนเพราะทุกคนก็หวังให้สถานการณ์ดีขึ้น คอนเซปต์เพลงนี้เลยเกิดจากการช่วยกันขัดเกลาอย่างเป็นธรรมชาติ

การคอลแล็บออนไลน์ครั้งนี้ถือว่าราบรื่นไหม

ภูมิแอ็กทีฟมาก เสนอว่าอยากให้ออกแนว 80s อัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งผมก็เห็นด้วย ทำงานด้วยกันราบรื่นและสนุกมาก ไม่เหมือนคนเพิ่งคุยกันครั้งแรก ผมรู้สึกว่านักดนตรีคุยกันผ่านเพลงมันเข้าใจกันง่ายดี รู้สึกดีมากกับการทำเพลงนี้ ถือว่าทำงานราบรื่น มีแต่ positive positive positive ตอนภูมิบอกว่าสนุกกับการทำเพลงนี้ผมก็ดีใจ

แล้วมีความยากของการทำเพลงโดยที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันบ้างไหม

คงเป็นการที่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมต้องเขียนเนื้อเพลงที่ตัวเองไม่ได้แต่งเมโลดี้ ท้าทายนะ แต่โชคดีที่ภูมิแต่งเมโลดี้มาดี และท่อน verse แรกภูมิเขียนสิ่งที่เขารู้สึกด้วยความจริงใจ ท่อนสองผมเลยเขียนให้เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการอยู่เคียงข้างคนคนนั้น ไอเดียออกมาเองเลยทันที โดยที่ผมคิดไปถึงโลกของเด็กวัยรุ่นอเมริกาในยุค 80s ที่แอบหนีออกจากบ้านทางหน้าต่างไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน

Rainbow Entertainment

สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันข้ามประเทศคืออะไร

หลายคนอาจคิดว่าความสามารถในการสื่อสาร แต่สำหรับผม ผมคิดว่าตรงกันข้ามนะ เพราะผมเชื่อว่าถ้าทำเพลงให้ดีที่สุด ยังไงเราก็น่าจะสื่อถึงกันได้ ยิ่งผมกับภูมิสื่อสารกันไปมาด้วยเพลงเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ภาษาแม่ของเราทั้งคู่ เวลาได้ทำเพลงที่ดีมันเลยช่วยทำลายกำแพงภาษาได้ เช่น เฮ้ย เพลงนี้ดี ไม่ต้องอธิบายด้วยคำพูดเยอะ แต่เข้าใจตรงกัน ผมเลยคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการพยายามทำเพลงให้ดีที่สุด

ชื่อเพลงล่ะ มาได้ยังไง

คิดตอนสุดท้ายเลย ตอนแรกก็คิดว่าจะเอาคำจากท่อนฮุคดีไหม จะตั้งชื่อเพลงแนวบวกหรือลบดี แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็นชื่อนี้ แม้เพลงนี้อาจจะไม่ได้ positive ขนาดนั้น แต่ผมก็อยากให้ A New Day สื่อว่าพวกเราจะได้เจอวันใหม่ที่ดี การใช้คำว่าวันใหม่เป็นชื่อเพลงค่อนข้างสื่อถึงความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน

โดยรวมคือผมชอบเพลงนี้มาก เป็นเพลงที่ดีเลยล่ะ อยากร้องเพลงด้วยกันเร็วๆ ที่ไทยก็ได้ ญี่ปุ่นก็ได้

Break Free

จริงๆ แล้ว JQ ตัดสินใจย้ายไปอยู่ลอสแอนเจลิสตั้งแต่ปี 2020 เพื่อพัฒนาเพลงของวงให้เข้าสู่เฟส 2 แต่ย้ายไปไม่ทันไร โควิดเจ้ากรรมก็ระบาดไปทั่ว ทำให้ชีวิตในลอสแอนเจลิสของเขาผิดแผนไปจากที่ตั้งใจไว้มาก

เล่าเรื่องความคาดหวังในการย้ายไปตั้งมั่นในลอสแอนเจลิสให้ฟังหน่อย

ความฝันของพวกเราคืออยากทำเพลงระดับโลก ซึ่งการทำเพลงต่างประเทศนั้นยากมาก ทั้งเรื่องเพลง เรื่องวัฒนธรรม แต่การได้ลองไปสัมผัสข้างนอกและได้มองย้อนกลับมาถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้เราได้คิดว่าจะเอาวัฒนธรรมที่แตกต่างมารวมกันได้ยังไง การไปอยู่ต่างประเทศทำให้ได้คิดเรื่องพวกนี้เยอะขึ้น การขยายขอบเขตเท่ากับเราขยายโอกาสที่จะมีความสุขด้วย

Nulbarich

ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่นู่นจริงจัง คุณไปทำเพลงที่อเมริกาบ่อยอยู่เหมือนกัน การอยู่ต่างประเทศมีผลกับการทำเพลงของคุณยังไง

ผมย้ายไปเพราะว่าอยากอยู่ในแวดล้อมที่มีเพลงภาษาอังกฤษฟังง่ายๆ อยู่ญี่ปุ่นก็ฟังได้แต่มันต้องเปิดเอง ไม่ใช่ว่าเดินตามท้องถนนแล้วได้ยินเข้าหูเองเหมือนอเมริกา ผมอยากให้วัฒนธรรมเหล่านั้นซึมเข้ามาอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งจากหนังและเพลง อยู่ญี่ปุ่นก็เรียนรู้เรื่องพวกนั้นได้ แต่เป็นการสืบค้นและรับรู้สิ่งเหล่านั้นในฐานะข้อมูลมากกว่า เช่น ตอนผมอยู่มีมูฟเมนต์เกี่ยวกับ Black Lives Matter พอดี ถ้าอยู่ญี่ปุ่นคงได้เห็นผ่านข่าว แต่การอยู่ในสถานที่จริง ได้รับรู้ปัญหานั้น ได้เห็นความคิดเห็นที่แตกต่างมากมาย ความรู้สึกของผมอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่พอเห็นแบบนั้นก็พยายามคิดว่ามีทางไหนบ้างที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ปกติเวลาทำเพลงผมจะทำด้วยความตั้งใจ ไม่อยากให้มีความขัดแย้งแบบนั้นเกิดขึ้นอยู่แล้ว อัลบั้มนี้เลยเหมือนความรู้สึกนั้นมันชัดเจนขึ้น ความรู้สึกต้องการสันติภาพมันรุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาอาจจะทำเพลงด้วยความสนุก ทำแบบชิลล์ๆ แต่ประสบการณ์ในปี 2020 ของผมทำให้อัลบั้มนี้มีเรื่องของสันติภาพมาเกี่ยวข้องเยอะขึ้น เป็นอัลบั้มที่เราคิดมากขึ้นว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราควรทำอะไร เป็นปีที่ได้มองย้อนกลับมาที่ตัวเองเยอะมาก ได้ค้นหาและคุยกับตัวเองเยอะ เพราะมีเวลาว่างมากด้วย ไปไหนไม่ได้ (หัวเราะ)

Nulbarich

แล้วได้คำตอบไหม

เยอะมาก ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำได้ก็มีแต่ดนตรีนั่นแหละ จะแก้ปัญหาของตัวเองก็ต้องใช้ดนตรีเท่านั้น ต้องมุ่งทางนี้ต่อไป มีความมุ่งมั่นเพิ่มมากขึ้น

ตอนแรกปี 2020 ผมไม่มีอารมณ์ทำเพลงเลย แต่พอเราลงถึงจุดต่ำสุดก็รู้ว่ามีแต่ต้องทำเพลงเท่านั้นแหละ เข้าใจถึงความสำคัญของการทำเพลงมากขึ้น ถ้าไม่ทำเพลงก็ไม่มีคนฟังเพลง ซึ่งโอกาสที่เราจะสื่อสารกับแฟนเพลงมีแต่ต้องทำเพลงเท่านั้น พอคิดว่าถ้าไม่ทำแล้วจะไม่ได้เจอแฟนๆ อีก ความรู้สึกอยากทำเพลงมันก็ค่อยๆ กลับมา เหมือนสัมผัสได้ถึงสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในดนตรี

เห็นเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากทำเพลงที่มีประโยชน์กับโลก ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย

ผมว่าเพลงไม่ใช่ยา หลายคนอาจจะมองว่าเพลงคือเมสเซจ แต่ผมมองว่าเพลงคือคำถาม เช่น ผมฟังแล้วคิดแบบนี้นะ แล้วคุณล่ะ ผมว่าทั้งเพลงและงานศิลปะอื่นๆ เป็นสิ่งที่ตั้งคำถามกับคนรับสาร

ผมไม่ได้มีเมสเซจที่อยากสื่อสารกับคนฟังผ่านเพลง เพราะผมคิดว่าเพลงคือสิ่งที่คนฟังแล้วรู้สึกต่างกันในแต่ละโมเมนต์มากกว่า ดังนั้นสถานที่และสถานการณ์ตอนฟังจึงสำคัญมาก เพลงสมัยนี้ยาวประมาณ 3-5 นาที เพลง 3 นาทีเป็นส่วนหนึ่งใน 24 ชั่วโมงของคนหนึ่งคน สำหรับผม ดนตรีเลยเป็น BGM ในช่วงชีวิตของคนนั้นๆ ซึ่งเจ้าตัวเป็นตัวเอก ใน 3 นาทีนั้นที่เขาฟังเพลง ‘เขารู้สึกยังไง’ เลยเป็นเรื่องสำคัญกว่า ‘ผมตั้งใจสื่ออะไร’ และหลังจากนั้นเพลงจะทำหน้าที่คล้าย memory stick ที่เวลากลับมาฟังอีกครั้งคนจะนึกออกว่าเคยทำอะไร เคยรู้สึกยังไง และมันอยู่ตรงไหนของความทรงจำในชีวิต

ดังนั้นขอแค่ 3-5 นาทีในหนึ่งวันของคุณก็พอ อยากให้ลองฟังเพลงของพวกเราดู คุณอาจจะได้รู้สึกอะไรหลายๆ อย่างจากเพลงของเรา

Nulbarich

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

vvpfoto

Thai photographer based in Tokyo, Japan