Notes on a Nervous Planet เราจะอยู่ในยุคสมัยแห่งความวิตกกังวลอย่างไรไม่ให้สูญเสียตัวตน

โลกใบนี้คาดหวังกับเราเสมอ

หากคุณรู้สึกว่าไม่มีเวลา รู้สึกว่าตัวเองขี้เหร่ สำเร็จไม่มากพอ หรือยังขาดอะไรไป หนังสือ Note on a Nervous Planet แด่เธอบนดาวเคราะห์ช่างกังวล จะบอกคุณว่าสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด

แมตต์ เฮก (Matt Haig) นักเขียนและนักข่าวชาวอังกฤษที่ฝากผลงานไว้บนแผงหนังสือขายดีที่หลายคนคงเคยเห็นผ่านตา ไม่ว่าจะเป็น มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน (The Midnight Library) วรรณกรรมเยาวชนที่รับรางวัลชนะเลิศงาน Goodreads Choice Awards 2020 หรือ แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive) หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะภายใต้ความสำเร็จผลงานการเขียน เขาเคยผ่านคืนวันอันแตกสลายจากความเจ็บป่วยด้านจิตใจมาแล้ว

บ่อยครั้งที่ความป่วยไข้ในจิตใจเป็นเรื่องที่ใครไม่เคยเป็นก็อาจไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าในสมองเล็กๆ ของคนเหล่านั้นทำงานอย่างไร เพราะมันไม่ได้แสดงออกเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ บางครั้งคนเหล่านั้นก็ยังคงใช้ชีวิตได้ปกติด้วยซ้ำไป แต่ไม่ใช่ว่าความเจ็บป่วยนี้จะไม่ส่งผลกับร่างกาย 

เรารู้ดีว่าการออกกำลังกายช่วยเยียวยาความผิดปกติทางจิตใจได้ ตั้งแต่โรคซึมเศร้าจนถึงโรคสมาธิสั้น ส่วนอาการเจ็บปวดทางร่างกายก็ส่งผลต่อจิตใจได้เช่นกัน เช่น ซึมเศร้าเพราะตรวจพบมะเร็ง หรือแพนิกเพราะโรคหอบหืด แมตต์อธิบายไว้อย่างนั้น 

หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการบันทึกช่วงเวลาที่เขาต้องเผชิญกับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เพื่อทำความเข้าใจว่าอาการเจ็บป่วยทางใจก็เป็นเรื่องปกติที่ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันก็พาไปค้นหาคำตอบว่าสังคมของโลกสมัยใหม่ทิ้งบาดแผลอะไรให้กับเราไว้บ้าง ไม่ใช่เพียงเพื่อกล่าวโทษ แต่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้เราอยู่ในโลกนี้อย่างเข้าใจมากขึ้น 

แมตต์เริ่มต้นพาเราไปทำความรู้จักกับภาพรวมของโลกสมัยใหม่ที่มีพร้อมทุกอย่างอยู่ตรงหน้า แม้จะช่วยอำนวยความสะดวก แต่ในขณะเดียวกันมันก็สามารถทำร้ายเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารที่กระตุ้นให้เรา ‘รู้สึก’ อยู่ตลอดเวลา ทั้งจากโซเชียลมีเดีย ข่าวสาร หรือโฆษณา ซึ่งเข้ามาอยู่ในชีวิตเราแทบทุกลมหายใจ การแพร่กระจายของข่าวสารนี้ก็อาจทำให้เราสติแตกได้จริงๆ เพราะโลกที่เชื่อมโยงกันเหมือนเส้นใยประสาทสามารถส่งต่ออารมณ์ไปยังคนอื่นๆ และลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

เขายกตัวอย่างให้เราเข้าใจว่า ทำไมเราจึงมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวบนโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย นั่นเป็นเพราะอิทธิพลของคนหมู่มากมีผลต่อความรู้สึก ไม่เว้นแม้แต่บนโลกออนไลน์ เมื่อไฟความโกรธถูกจุดจากคนหนึ่ง มันสามารถลุกลามต่อไปได้อีกหลายร้อยหรือหลายพันคน เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในที่มาของความกลัว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรควิตกกังวลที่กำลังกัดกินเขาอยู่

นอกจากการส่งต่ออารมณ์บนโลกออนไลน์แล้ว เขายังย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ทำให้เห็นว่าขณะนี้มนุษย์กำลังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่สามารถหยุดยั้ง ปัจจุบันมนุษย์สามารถผลิตได้มากขึ้น มีเทคโนโลยีที่สะดวกสบาย เช่นเดียวกับพฤติกรรมการกิน ใช้ ช้อป ที่มากขึ้นด้วย แต่ความล้นเกินบนโลกใบนี้ บวกกับการรีบเร่งประสบความสำเร็จตามบรรทัดฐานของสังคมกลับยิ่งทำให้รู้สึกว่างเปล่าท่ามกลางสิ่งของกองพะเนิน 

ความรู้สึกว่างเปล่า เป็นความกลัวเกี่ยวกับตัวเองที่ยังไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ หรือไม่ประสบความสำเร็จพอ ซึ่งส่งผลให้เราพยายามมากขึ้นในทุกๆ วัน (เราเองก็รู้สึกอยู่บ่อยๆ) เช่น เราพยายามดูแลให้ร่างกายอ่อนเยาว์ขึ้น พยายามใช้เวลาให้ productive อยู่เสมอ พยายามเสิร์ชกูเกิลว่าอาการเจ็บที่ช่องท้องด้านซ้ายเกิดจากอะไร พยายามเป็นคนที่ตื่นตัวทางสังคม ฯลฯ และอีกหลากหลายความกังวลที่ทำให้ต้องพยายามไม่รู้จบ ซึ่งบางครั้งก็อาจส่งสัญญาณความผิดปกติมาที่ร่างกาย เช่น ใจเต้นเร็ว อาการนอนไม่หลับ หรือเริ่มขัดแย้งกับคนรอบตัว

แม้จะเรียกว่าเป็นบันทึกช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับโรควิตกกังวลของผู้เขียน แต่ภายในเล่มกลับไม่ได้เป็นเรื่องราวส่วนตัวอย่างที่คิด แมตต์หยิบยกข้อมูลจากงานเขียน งานวิจัย และข่าว เพื่อทำความเข้าใจโลกใบนี้ ไปพร้อมๆ กับถ่ายทอดประสบการณ์ช่วงโรควิตกกังวลของเขาเองอย่างละเอียด จนทำให้เราเห็นภาพช่วงเวลาที่อาการแพนิกเข้าโจมตีขณะอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีอาการซับซ้อนอย่างมาก 

การพยายามทำความเข้าใจและอธิบายความคิดของคนที่มีอาการวิตกกังวลอย่างละเอียดเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนภายนอกเข้าใจโรคนี้มากขึ้น เพราะความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ คนปกติอาจไม่รับรู้ว่ามันมีอยู่เมื่อมันไม่ได้มีปริมาณมาก แต่เมื่อมันมีอาการรุนแรงมากพอก็อาจทำให้คนหนึ่งไม่กล้าใช้ชีวิตอย่างปกติได้เลย เพราะเขาไม่อาจไปงานเทศกาลดนตรีหรือโรงภาพยนตร์ที่มีคนแน่นขนัด กลัวที่จะทอดสายตาออกไปนอกบ้านยามดึกที่มีไฟส้มหม่นลอดม่านเข้ามา หรือแม้แต่ขณะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ

สุดท้ายหนังสือเล่มนี้ยังเป็นเหมือนคู่มือการใช้ชีวิตขนาดย่อที่แทรกอยู่ในท้ายเนื้อหาแต่ละหัวข้อ ทำให้เราหันกลับมาดูแลใจของตัวเองท่ามกลางโลกที่มีสิ่งเร้ามากมาย เช่น เหตุผลที่คุณควรมีความสุขที่ได้เป็นมนุษย์ วิธีเลิกกังวลกับอายุ วิธีติดตามข่าวโดยไม่สติแตก ใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 อย่างไรไม่ให้แพนิก วิธีใจดีกับตัวเองมากขึ้น หรือวิธีทำงานโดยไม่สติแตก ฯลฯ 

การอยู่ร่วมอย่างเข้าใจกันกับเทคโนโลยีและสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจนับล้านจึงอาจเป็นคำตอบของมนุษย์ในยุคสมัยแห่งความวิตกกังวลได้ เพื่อรักษาหัวใจเพียงดวงเดียวของเราในดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่ให้เราต้องบุบสลายไป หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับโรควิตกกังวล คนที่กำลังกังวลอยู่ทุกวันโดยไม่รู้สาเหตุ และใครก็ตามที่ยังต้องอยู่บนโลกใบนี้ เพื่อเตือนใจว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่นั้นเพียงพอแล้ว

(ขอบคุณภาพถ่ายจาก Bookscape)

AUTHOR