‘นิดนก’ แม่ลูกหนึ่งที่เลี้ยงลูก 3 ขวบ พร้อมทำงาน 3 อย่างจากที่บ้าน

Highlights

  • นิดนก–พนิตชนก ดำเนินธรรม คือพนักงานออฟฟิศ นักเขียน และเจ้าของพ็อดแคสต์ผู้เลือกทำงานที่บ้านเพราะอยากเลี้ยงลูก
  • เคล็ดลับในการทำงานกับลูกให้เวิร์กของนิดนกคือการมีมุมทำงานของแม่และลูกอยู่ในห้องเดียวกัน ปล่อยให้ลูกเป็นผู้นำการเล่นของตัวเองบ้าง และทำงานที่ไม่เรียกร้องการติดต่อกับทีมตลอดเวลา
  • นอกจากข้อดีของการทำงานที่บ้านคือการได้อยู่กับลูก นิดนกยังมองว่าการทำงานที่บ้านช่วยให้จัดการเวลาในแต่ละวันได้ยืดหยุ่นขึ้น ทำให้มีโอกาสได้เห็นโลกที่ไม่ค่อยได้เห็นเพิ่มขึ้นด้วย

นิดนก เรารู้จัก นิดนก–พนิตชนก ดำเนินธรรม ครั้งแรกจากหนังสือเรื่อง POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย ว่าด้วยเรื่องราวโหด มัน ฮา (และซึ้ง) เบื้องหลังการจัดงานแต่งงานของเธอและแฟนหนุ่มให้ผ่านไปด้วยดี หนึ่งปีหลังจากนั้นเราพบกันอีกครั้งในหนังสือภาคต่อ TWO BE CONTINUED โปรดติดตามตอนแต่งไป ที่เธอเล่าเรื่องการปรับตัวของคู่รักข้าวใหม่ปลามันเจนฯ วายที่ไม่ราบรื่นเสมอไป

นิดนก ไม่ทันรู้ตัว ตอนนี้ ‘ณนญ’ ลูกสาวของเธอก็มีอายุเกือบ 3 ขวบแล้ว

จากพนักงานออฟฟิศในหนังสือเล่มแรก ปัจจุบันนิดนกรับบทเดิมแต่เพิ่มตำแหน่งครีเอทีฟของเพจแม่และเด็ก M.O.M มีพ็อดแคสต์ของตัวเองชื่อ The Rookie Mom แถมยังเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้านแบบฟูลไทม์ด้วย

ไม่ต้องเป็นแม่ก็เดาได้ไม่ยากว่าการเลี้ยงลูก 3 ขวบพร้อมทำงาน 3 ตำแหน่งนั้นไม่ง่าย ถึงอย่างนั้นบทสนทนาผ่านวิดีโอคอลของเรากลับทำให้รู้ว่า 3 ปีที่ผ่านมาทำให้เธอติดใจจนไม่อยากกลับไปทำงานออฟฟิศแล้ว

นิดนก

หนังสือทั้ง 2 เล่มของคุณทำให้เรารู้ว่าคุณทำงานออฟฟิศมาก่อน ทำไมถึงเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน

ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานออฟฟิศในบริษัทแห่งหนึ่งแถวสาทร พอมีลูก จากที่ตอนแรกบริษัทให้ลาได้ 3 เดือน เราขอลาเพิ่มอีก 3 เดือนแบบไม่รับเงินเดือน หลังจากนั้นก็กลับไปทำงาน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เรายังอยากเลี้ยงลูกอยู่ก็เลยเปลี่ยนสถานะเป็นการทำสัญญาจ้างแทน รับผิดชอบเรื่องกิจกรรมในบริษัท เข้าออฟฟิศเฉพาะวันที่ต้องเตรียมงาน จัดงาน หรือเคลียร์เอกสาร ส่วนอีกขาหนึ่งเราเป็นฟรีแลนซ์ประจำเพจ M.O.M ทำตำแหน่งครีเอทีฟและเขียนบ้าง ซึ่งส่งงานออนไลน์ได้อยู่แล้ว

ตอนนี้ลูกของคุณอายุใกล้ 3 ขวบแล้ว การทำงานและเลี้ยงลูกวัยนี้ไปด้วยง่ายกว่าตอนที่ลูกยังเล็กหรือเปล่า

ตอนที่ลูกยังเล็กๆ เราคิดว่าถ้าลูกโตกว่านี้เราจะต้องทำงานได้เยอะกว่านี้ ง่ายกว่านี้ แต่ตอนนี้ลูกเราใกล้จะ 3 ขวบแล้วเรากลับรู้สึกว่าตอนที่ลูกเล็กเราทำงานง่ายกว่าอีก (หัวเราะ) เพราะตั้งแต่เกิดจนถึงอายุประมาณ 2 เดือนเด็กจะมีรอบการนอน คือนอน 3 ชั่วโมงแล้วตื่น เป็นอย่างนี้ 8 เซตตลอด 1 วัน ซึ่งดีมากเพราะเราจะทำงานในช่วง 3 ชั่วโมงที่ลูกหลับนี่แหละ แต่หลังจากนั้นเวลาที่ลูกหลับจะน้อยลงเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มรู้สึกผิดว่า ‘เฮ้ย ถ้าฉันมัวแต่นั่งทำงานฉันจะไม่ได้ไปเสริมพัฒนาการให้ลูก’ ดังนั้นบางทีเราจะตอบเรื่องงานไม่ได้ทันที แต่ต้องรอให้ลูกหลับก่อน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการทำงานแบบมีลูกอยู่ด้วยเหมือนกัน

ถึงอย่างนั้นพอลูกเริ่มโตแล้วเราก็เริ่มดีลกันด้วยเหตุผลได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่โควิดระบาด เราย้ายจากคอนโดกลับมาอยู่บ้านและทำห้องใหม่ ฝั่งหนึ่งเป็นที่ทำงานของเรา อีกฝั่งหนึ่งเป็นมุมของลูก เราพบว่าการมีพื้นที่แบบนี้มันดีมากเพราะเราสามารถบอกเขาได้ว่าแม่อยู่ตรงนี้แหละ แล้วปล่อยให้เขาเล่นคนเดียว ตอนนี้เขาอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องการเราได้นานที่สุดประมาณ 15-20 นาที ซึ่งก็ถือว่าเยอะขึ้นมาก ช่วยให้เราทำงานได้มากขึ้น แต่ถามว่ามีสมาธิมากไหม ก็ไม่อยู่แล้ว (หัวเราะ)

นิดนก
นิดนก

การมีลูกอยู่ในสายตาตลอดมีข้อดีอะไรบ้างนอกจากเรื่องความปลอดภัย

เด็กในช่วงวัยนี้โดยสัญชาตญาณเขาต้องการความสนใจจากพ่อแม่อยู่แล้ว ในขณะเดียวกันเราก็ยังอยากเฝ้าดูเขาด้วย ยังอยากรู้ว่าเขาสนใจอะไร ทักษะที่เขาทำอยู่มันแอดวานซ์ไปถึงขั้นไหน เรื่องเล่าของเขาเป็นยังไง เพราะเวลาอยู่ในห้องเดียวกัน ต่อให้เขานั่งทำอะไรคนเดียวเราก็ได้ยิน บางทีเขานั่งประดิษฐ์ไปก็เล่าเรื่องไป เช่น วันนี้นะ คุณต้นไม้อย่างงั้นอย่างงี้ เราก็จะจดบันทึกไว้ เราไม่อยากพลาดเรื่องเล่าพวกนี้ 

ความท้าทายคือพอเราปล่อยให้เขาเล่นด้วยตัวเองจริงๆ เราก็ต้องปล่อยวางจริงๆ ด้วย วันแรกๆ ที่เพิ่งทำห้องเสร็จ พอลูกเริ่มทำทุกอย่างเละเทะจิตใจเราก็ร้อนรน แต่เมื่อละความเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์ได้ชีวิตเราก็จะง่ายขึ้น

เหมือนไม่ได้ฝึกแค่ลูกแต่พ่อแม่ก็ต้องฝึกเหมือนกัน

ใช่ วันก่อนเราเพิ่งสัมภาษณ์คุณครูในหัวข้อนี้แหละ เขาบอกว่าการปล่อยให้ลูกเบื่อบ้างไม่ใช่เรื่องผิด และการปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะระหว่างที่เล่นเขากำลังเรียนรู้อยู่ จินตนาการไม่ได้หายไป คือบางทีพ่อแม่สมัยนี้ก็มีความรู้สึกว่าฉันจะต้องอยู่ในทุกการเล่นของลูก ฉันจะต้องเป็นผู้นำการเล่นของเขา ซึ่งดีแล้ว แต่ลองไม่ต้องโฟกัสมากว่าเราจะต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้ของลูกตลอดเวลาจนไม่ได้ทำงาน เราจะได้ไม่เครียดทั้งเรื่องงานและลูก 

แต่ก่อนเราก็จัดกิจกรรมให้ลูกทุกวัน แต่ทุกวันนี้เราลองไม่ทำอะไร ให้ลูกเป็นผู้นำการเล่นของตัวเอง เรามีหน้าที่สนับสนุน ตอนเช้าเขาก็จะบอกว่าอยากทำอะไร ซึ่งเขาก็อยู่ได้นะ 

กิจวัตรของแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วยในแต่ละวัน เป็นยังไงบ้าง

หลังจากที่ได้คุยกับคนที่ทำงานด้านเด็ก เราได้รู้จักคำว่า sense of life ที่เป็นหนึ่งในการรับรู้ 12 ด้านที่ประกอบเป็นมนุษย์ sense of life พูดง่ายๆ ก็คือกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการที่คนเรารู้ว่าจังหวะชีวิตเป็นยังไงจะทำให้รู้สึกมั่นคง รู้ว่าวันนี้ตื่นมาแล้วต้องทำอะไรต่อ เราก็เลยพยายามจะสร้างและรักษากิจวัตรให้ลูก

ด้วยความที่ห้องที่เราอยู่มีแดดส่องตอนเช้า บรรยากาศจะสดชื่น เราเลยให้เวลาตอนเช้าเป็นเวลาคุณภาพกับลูก ถ้าจะเรียนรู้ อ่านหนังสือ ประดิษฐ์ของ ทำงานศิลปะ ก็ให้มันเกิดขึ้นตอนเช้า เราก็ทำงานเท่าที่ทำได้ ตอนบ่ายเราพยายามจะทำกิจกรรมเบิร์นให้เขา เป็นกิจกรรมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น วิ่ง เล่น กระโดด เขาจะนอนประมาณสี่โมงถึงเกือบๆ หกโมงเย็น ช่วงเวลานั้นเราจะทำกับข้าวไม่ก็ทำงาน ดังนั้นเราก็จะมีเวลาทำงานตอนเช้านิดหนึ่ง ช่วงบ่ายที่ลูกหลับ แล้วก็หลังจากลูกเข้านอนตอนกลางคืนอีกที

ฟังดูเป็นการทำงานเป็นห้วงๆ เหมือนกันนะ

ใช่ๆ และแต่ละห้วงก็ไม่ยาวด้วย เช่น ทำงานได้สักสิบนาทีลูกมาแล้ว ‘คุณแม่ดูนี่สิ’ เราก็ต้องเดินไปดู ดูเสร็จก็กลับมาทำงาน

มีวิธีการไหนที่ทำให้เมื่อโดนลูกเรียกแล้วสามารถจูนตัวเองกลับมาทำงานได้ไวๆ ไหม

(หัวเราะ) ไม่มี กลายเป็นว่าเราเลือกทำงานสั้นๆ ที่ไม่ต้องใช้ความพยายามเยอะในช่วงเวลาที่อยู่กับลูก เช่น ตอบแชตสั้นๆ หรือคิดก๊อบปี้เร็วๆ แต่อะไรที่ต้องเขียนยาวๆ เช่น บทความ จะเกิดขึ้นหลังลูกหลับหมดเลย หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องออกไปนั่งทำงานข้างนอกแล้วฝากคุณย่าดูลูกแทน

นิดนก

ทำงานที่บ้านมา 3 ปี อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดของการทำงานแบบนี้

ส่วนหนึ่งที่เราเลิกเข้าออฟฟิศประจำเพราะว่าถ้าพาลูกไปทำกิจกรรมในห้างวันเสาร์-อาทิตย์คนจะเยอะมาก เชื้อโรคก็เยอะตามไปด้วย แต่เวลาเราพาลูกไป Playgroup วันธรรมดาคนจะน้อยกว่า แล้ววันธรรมดาก็มีกิจกรรมของเด็กเยอะด้วย ซึ่งเขาจะไม่ได้ไปทำถ้าพ่อแม่ทำงาน ถ้าเราพอที่จะเลือกได้เราก็อยากมีเวลาวันธรรมดาให้ลูก

ข้อดีอีกอย่างคือเราได้เห็นเวลาในแบบที่จับต้องได้ แต่ก่อนเราจะได้เห็นโลกภายนอกในเวลาที่คนอื่นกำหนด เช่น เที่ยงถึงบ่ายโมง หรือหลังห้าโมงเย็นเป็นต้นไป แต่การทำงานที่บ้านทำให้เราอยากเห็นอะไรตอนไหนก็ได้ เช่น คอนโดเราอยู่แถวบางรักซึ่งเป็นแหล่งเด็กนักเรียน เวลาออกไปซื้อของมาทำกับข้าวตอนเย็นๆ เราจะได้ยินเด็กนักเรียนคุยกันซึ่งเราชอบเพราะเวลาทำงานจะไม่ได้ยินอะไรพวกนี้ เหมือนเรามี consumer insight ได้รู้จักมนุษย์เพิ่มขึ้นหรือได้เห็นพ่อค้าแม่ค้าข้างทาง ทำให้รู้ว่าที่ทุกคนบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีมันเป็นยังไง ดังนั้นเราคิดว่าการที่มีเวลาทำงานยืดหยุ่น จัดสรรเวลาของตัวเองได้ ทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของโลกมากขึ้น ตอนนี้ถ้าให้กลับไปทำงานออฟฟิศเราก็ขอคิดอีกทีเหมือนกัน

WFH TIP

“ลองไว้ใจให้ลูกเริ่มเล่นด้วยตัวเองสักวัน บางทีเราอาจจะเห็นว่าเราไว้ใจลูกได้มากกว่าที่คิด ส่วนเราเองก็จะได้ผ่อนคลายแล้วมานั่งทำงาน”


ขอบคุณภาพจาก พนิตชนก ดำเนินธรรม

ใช่ วันก่อนเราเพิ่งสัมภาษณ์คุณครูในหัวข้อนี้แหละ เขาบอกว่าการปล่อยให้ลูกเบื่อบ้างไม่ใช่เรื่องผิด และการปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะระหว่างที่เล่นเขากำลังเรียนรู้อยู่ จินตนาการไม่ได้หายไป คือบางทีพ่อแม่สมัยนี้ก็มีความรู้สึกว่าฉันจะต้องอยู่ในทุกการเล่นของลูก ฉันจะต้องเป็นผู้นำการเล่นของเขา ซึ่งดีแล้ว แต่ลองไม่ต้องโฟกัสมากว่าเราจะต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้ของลูกตลอดเวลาจนไม่ได้ทำงาน เราจะได้ไม่เครียดทั้งเรื่องงานและลูกแต่ก่อนเราก็จัดกิจกรรมให้ลูกทุกวัน แต่ทุกวันนี้เราลองไม่ทำอะไร ให้ลูกเป็นผู้นำการเล่นของตัวเอง เรามีหน้าที่สนับสนุน ตอนเช้าเขาก็จะบอกว่าอยากทำอะไร ซึ่งเขาก็อยู่ได้นะ
ตอนที่ลูกยังเล็กๆ เราคิดว่าถ้าลูกโตกว่านี้เราจะต้องทำงานได้เยอะกว่านี้ ง่ายกว่านี้ แต่ตอนนี้ลูกเราใกล้จะ 3 ขวบแล้วเรากลับรู้สึกว่าตอนที่ลูกเล็กเราทำงานง่ายกว่าอีก (หัวเราะ) เพราะตั้งแต่เกิดจนถึงอายุประมาณ 2 เดือนเด็กจะมีรอบการนอน คือนอน 3 ชั่วโมงแล้วตื่น เป็นอย่างนี้ 8 เซตตลอด 1 วัน ซึ่งดีมากเพราะเราจะทำงานในช่วง 3 ชั่วโมงที่ลูกหลับนี่แหละ แต่หลังจากนั้นเวลาที่ลูกหลับจะน้อยลงเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มรู้สึกผิดว่า ‘เฮ้ย ถ้าฉันมัวแต่นั่งทำงานฉันจะไม่ได้ไปเสริมพัฒนาการให้ลูก’ ดังนั้นบางทีเราจะตอบเรื่องงานไม่ได้ทันที แต่ต้องรอให้ลูกหลับก่อน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการทำงานแบบมีลูกอยู่ด้วยเหมือนกัน มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เราคิดว่านะ

a day

a day

AUTHOR