ในวันที่คนข่าวต้องทำงานอยู่บ้าน คุยกับ จอร์จ วราวิทย์ ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส

Highlights

  • ภาพผู้ประกาศข่าวรายงานข่าวที่บ้านพร้อมน้องหมาข้างกายเป็นไวรัลเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน และเขาคนนั้นคือ จอร์จ–วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนั่นเอง
  • ด้วยมาตรการ social distancing จอร์จเล่าให้ฟังว่าเขาก็เป็นอีกคนที่ต้องปรับตัว แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่บางงานเขาสามารถทำโปรดักชั่นเองที่บ้านได้ ทั้งหมดนี้เขามองว่าเป็นความท้าทาย และเทรนด์นี้น่าจะเป็นเทรนด์ใหม่หลังการผ่านไปของวิกฤต
  • จอร์จยังเน้นย้ำกับเราว่า ในวิกฤตเช่นนี้สิ่งสำคัญที่คนข่าวควรทำคือส่งต่อข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้ครอบคลุมที่สุด ผู้ชมจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลและตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่างได้จากวัตถุดิบที่มี

จอร์จ วราวิทย์ (อ่านด้วยสำเนียงและจังหวะจะโคนแบบผู้ประกาศข่าว)

“สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน ขณะนี้ท่านอยู่กับ a day และบทความเกี่ยวกับการ work from home ครับ สำหรับวันนี้ผู้ที่จะมาตอบคำถามเกี่ยวกับการทำงานที่บ้านคือผู้ประกาศข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อย่างคุณ จอร์จ วราวิทย์ ฉิมมณี ที่เพิ่งปรับมาทำงานที่บ้านเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนนี้เอง

“อธิบายให้ท่านผู้อ่านฟังคร่าวๆ ก่อนครับ ถ้ามองจากภายนอก หลายคนน่าจะคิดว่าอาชีพผู้ประกาศข่าวคงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ไม่ได้หยุดพักในวิกฤตไวรัสโควิด-19 แม้เหตุการณ์ร้ายแรงเพียงใดพวกเขายังคงต้องเข้าห้องส่งบอกเล่าข้อมูลให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริงด้วยมาตรการ social distancing พวกเขาเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำ และปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้เอง

“สำหรับรูปแบบการรายงานข่าวปกติ เบื้องหน้าเราอาจเห็นแค่ผู้ประกาศข่าว 1-2 คน แต่หลังกล้องประกอบไปด้วยทีมงานมากมายหลายชีวิต แล้วคนหน้ากล้องอย่างคุณจอร์จเขาปรับตัวยังไงในวิกฤตครั้งนี้เมื่อไร้ทีมงานหลังกล้อง แล้วจากงานที่ต้องทำนอกบ้านแทบทุกขั้นตอน เขาแก้ปัญหายังไงเมื่ออาชีพผู้ประกาศข่าวต้องทำภายใต้ชายคาที่อยู่อาศัย

“ผมพูดไปคงไม่ครบถ้วนครับ และในเมื่อเขาอยู่กับเราในวันนี้แล้ว

“ให้ จอร์จ วราวิทย์ มาเล่าให้ฟังเองดีกว่า”

จอร์จ วราวิทย์

ชีวิตประจำวันก่อนหน้าโควิด-19 ของคุณเป็นยังไงบ้าง

ปกติผมจะเข้ามาทำงานที่สถานีฯ ประมาณเที่ยงครับ เริ่มประชุมข่าวตอนบ่ายโมงเพื่อวางเนื้อหาของรายการข่าวค่ำตอน 18:50 น. หลังจากนั้นแต่ละคนจะแยกย้ายกันทำงาน สำหรับผู้ประกาศข่าวเราต้องมานั่งทำความเข้าใจและอัพเดตข่าวที่อาจเปลี่ยนแปลงไประหว่างวันเพื่อนำมาเล่าตอนเย็น 

หลังเสร็จจากข่าวค่ำ ผมมีอีกรายการชื่อ ตอบโจทย์ ที่มาหลังข่าวค่ำ เวลา 20:30 น. รายการนี้เป็นการทอล์กแบบเชิญแขกเข้ามานั่งพูดคุยที่ออฟฟิศ ซึ่งประเด็นแต่ละวันจะถูกเตรียมไว้ตั้งแต่คืนก่อนหน้าหรือเช้าวันนั้น เมื่อจบรายการผมจะได้ออกจากออฟฟิศประมาณสามถึงสี่ทุ่ม แต่พอกลับถึงบ้านก็ต้องมานั่งเตรียมประเด็นสำหรับทำงานวันพรุ่งนี้ต่อ โดยรวมคือผมหยุดไม่ได้ เพราะข่าววิ่งตลอด เราต้องคิดต้องคุยกับทีมงานตลอด

 

เป็นอาชีพที่ไม่มีวันหยุด

สำหรับผม วันหยุดคงเป็นวันอาทิตย์ เพราะวันนั้นผมจะไม่ได้ปรากฏตัวบนหน้าจอเลย แต่ความจริงผมก็ต้องเตรียมประเด็นไว้สำหรับการทำงานในวันต่อไปอยู่ดี เพียงแต่ความเข้มข้นอาจไม่เท่าวันจันทร์-เสาร์เท่านั้นเอง

จอร์จ วราวิทย์

ด้วยอาชีพคุณ คุณน่าจะเห็นสัญญาณของวิกฤตไวรัสครั้งนี้ก่อนคนอื่นอยู่บ้าง ตอนนั้นคุณคิดไหมว่ามันจะส่งผลกระทบต่อคุณและอีกหลายๆ คนต้องกักตัวอยู่บ้านกันมากขนาดนี้

ผมรู้สึกกลัวโรคนี้ก่อนระบาดในประเทศไทยด้วยซ้ำ ก่อนหน้านั้นที่โรคนี้ยังอยู่แค่ในประเทศจีน ผมอาจได้ฟังข้อมูลจากสื่อและผู้เชี่ยวชาญอยู่บ้างว่าที่จีนเป็นยังไง แต่มันมีจุดเปลี่ยนอยู่ครั้งหนึ่งคือ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณหมอธนรักษ์ (นพ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค) ในรายการ ตอบโจทย์

เวลาได้ยินข่าว ต่อให้เป็นข้อมูลที่พร้อมแค่ไหนบางทีคนก็ไม่เชื่อหรอก แต่ถ้าให้คนมานั่งเล่าให้ฟังใกล้ๆ เราจะเชื่อมากกว่า และวันนั้นผมได้ฟังเรื่องนี้จากปากคนที่รู้จริง ซึ่งมันก็ไม่ใช่ข้อมูลใหม่อะไรมาก แต่พอได้ฟังจากคนที่อยู่ใกล้ ผมรู้สึกลึกๆ เลยว่าโรคนี้มาแน่ ผมยังพูดกับเพื่อนร่วมงานเล่นๆ วันนั้นเลยว่า ‘โรคนี้มาแน่’ สุดท้ายก็มาจริงๆ

 

เรื่องนี้เริ่มกระทบกับชีวิตการทำงานของคุณตอนไหนและกระทบมากขนาดไหน

ถ้ากระทบแบบชัดๆ ผมว่าเป็นช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้เอง ตอนนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยแต่ละวันเกินร้อย ด้วยสถานการณ์ทำให้ช่องและทีมงานต้องคิดวิธีปรับตัวให้เหมาะสม และเนื่องจากไทยพีบีเอสมีพันธกิจที่ต้องตอบสนองข้อมูลข่าวสาร แทบทุกรายการของเราตอนนี้ตลอด 24 ชั่วโมงจึงเกี่ยวกับโควิด-19 มันแปลว่าเราต้องหาข้อมูลมากขึ้น แต่นั่นดันเกิดขึ้นในสถานการณ์ตอนนี้ที่เราต้องลดคนทำงาน มันสวนทางกัน ถือเป็นโจทย์ที่ยากครับ แต่เราต้องยอมรับ เราต้องทำเนื้อหาให้ได้แม้คนจะลดลง

คุณปรับวิถีชีวิตยังไงบ้าง

ยกตัวอย่างรายการ ตอบโจทย์ ก่อน ผมไม่ได้เชิญแขกมาที่ออฟฟิศประมาณหนึ่งเดือนแล้ว ผมเองเลือกวิธีการทำเทปรายการและคุยกับแขกรับเชิญผ่านทางออนไลน์จากที่บ้าน อุปกรณ์ใช้แค่โน้ตบุ๊กหนึ่งตัว กล้องหนึ่งตัว ไฟที่ยืมมาจากช่างภาพ และอย่างอื่นเล็กๆ น้อยๆ ที่หาเอาจากในบ้านมาปรับให้รายการออกมาดูสวย เพราะถึงทำเทปที่บ้านเราก็ไม่อยากให้คุณภาพตก ภาพและเสียงยังต้องดี ไม่ใช่ว่าทำยังไงก็ได้

ผมทำเทปรายการทั้งหมดนี้คนเดียว เพราะผมมองว่าการทำแบบนี้ทำให้ทีมงานไม่ต้องมาสตูดิโอ ไม่ต้องมารวมตัว มันลดความเสี่ยงไปได้เยอะ แม้ว่าทีมงานยังต้องไปทำงานที่ออฟฟิศตามปกติ แต่อย่างน้อยผมลดความเสี่ยงที่พวกเขาต้องมารวมตัวกันที่สตูดิโอได้สักครึ่งชั่วโมงก็ยังดี ดังนั้นผมถึงเลือกทำที่บ้าน ทำเสร็จก็ส่งไฟล์ผ่านกูเกิลไดรฟ์ไปให้โปรดิวเซอร์เพื่อตัดต่อจนเสร็จ สรุปแล้วทั้งรายการสามารถทำได้โดยใช้คนแค่ 2 คน อะไรเหล่านี้คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนสำหรับตัวผม

 

จากทำงานทั้งหมดที่ออฟฟิศ เปลี่ยนมาทำงานที่บ้านได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยไหม

ในความเป็นจริงควรเป็นแบบนั้น อย่างรายการ ข่าวค่ำฯ เราลดผู้ประกาศข่าวเหลือแค่คนเดียวเพื่อเป็นสัญญะให้กับคนดูเรื่อง social distancing และในเมื่อผมทำรายการ ตอบโจทย์ ที่บ้านได้ ทีแรกเราจึงวางแผนกันว่าให้ผมรายงานข่าวที่บ้านในช่วงข่าวค่ำด้วยเช่นกันเพื่อให้ผมอยู่บ้านได้ทั้งอาทิตย์ ผู้ประกาศข่าวคู่ผมอย่างพี่หญิง (พรวดี ลาทนาดี) จะรายงานที่สตูดิโอแค่คนเดียว แต่บังเอิญว่ามีช่วงที่พี่หญิงไม่สบาย ผมจึงต้องมาออฟฟิศเพื่อรายงานข่าวค่ำอยู่ แต่รายการ ตอบโจทย์ ยังคงทำเทปที่บ้านเหมือนเดิมเพื่อลดความเสี่ยงเท่าที่ทำได้

 

มองการต้องปรับเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านเป็นอุปสรรคหรือปัญหาไหม

ผมกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องตื่นเต้นและท้าทายนะ ก่อนหน้านี้ผมทำเรื่องโควิด-19 มา 2-3 เดือนติดต่อกันโดยไม่ได้เปลี่ยนประเด็น สำหรับผมมันหมดมุกเหมือนกัน เราไม่รู้จะเอาอะไร มาบอกคนดูดี แต่พอสถานการณ์บีบบังคับให้เราเปลี่ยนไปใช้ช่องทางที่ไม่คุ้นเคยมันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะ ส่วนในแง่ชีวิต ด้วยความที่ก่อนหน้านั้นผมมาทำประเด็นที่บ้านอยู่แล้ว ดังนั้นกับครั้งนี้จึงไม่ค่อยรู้สึกต่างเท่าไหร่ ไม่ได้รู้สึกว่าบ้านเปลี่ยนไปหรืออะไรขนาดนั้น อาจมีรู้สึกอยู่บ้างช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ไม่ได้ออกไปไหน ปกติวันหยุดผมมักเอาไว้เคลียร์ธุระหรือไปหาคุณพ่อคุณแม่ พอตอนนี้ไปไหนไม่ได้ก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน

จอร์จ วราวิทย์

ในโมงยามแบบนี้คุณคิดว่าหน้าที่สำคัญที่คนข่าวควรทำคืออะไร

ผมว่าทุกคนคงสัมผัสได้ว่าวิกฤตครั้งนี้มีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ความคิดเห็น และข้อมูลหลากหลายมาก เฉพาะแค่ตัวไวรัสโควิด-19 ขนาดแพทย์ด้วยกันบางท่านยังเห็นต่างกันเลย หรือคำถามที่ว่าตกลงหน้ากากอนามัยควรใส่หรือไม่ควรใส่ ดังนั้นสำหรับบางเรื่องต้องยอมรับตรงๆ ว่าตอนนี้คงไม่มีข้อสรุปได้ขนาดนั้นหรอก แต่ในฐานะคนข่าว ผมคิดว่ามันสำคัญที่เราต้องให้ข้อมูลเบื้องหลังหรือวิธีคิดให้ครอบคลุม เพราะผมเชื่อว่าถ้าเราให้มากผู้ชมจะสามารถตัดสินได้เองบนพื้นฐานของข้อมูลเหล่านี้ 

 

ให้ผู้ชมได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ

ทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะการที่เราพูดว่า ‘ข้อมูลถูกต้อง’ บางทีมันก้ำกึ่งว่าถูกต้องในที่นี้คือถูกต้องของใคร ดังนั้นเราถึงเน้นการให้ผู้ชมเข้าใจวิธีคิดมากที่สุด เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัส ถ้าผมคุยกับนักไวรัสวิทยา คำตอบจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าผมคุยกับนักระบาดวิทยา คำตอบก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครผิด แต่การที่คนดูเข้าใจทั้งสองฝ่าย ผมเชื่อว่าคนดูจะได้ประโยชน์มากที่สุด นี่เป็นสิ่งที่พยายามสื่อสารเสมอมา

จอร์จ วราวิทย์

หลังจากที่ทุกคนเริ่มเรียนรู้การทำงานที่บ้านแล้ว คุณคิดว่าผลกระทบที่ตามมาจะเป็นยังไงบ้าง

ในภาพรวมผมคิดว่าทุกคนทุกอาชีพจะกระโดดสู่ออนไลน์มากขึ้นแน่ๆ อย่างหลายธุรกิจที่ไม่เคยคิดพาตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์ สถานการณ์บีบบังคับให้พวกเขาต้องปรับตัว การรับรู้และความต้องการของคนจะเปลี่ยนไปแน่ๆ ยกตัวอย่างวงการโทรทัศน์ที่ผมอยู่ก็ได้ ก่อนหน้านี้เราอาจรู้สึกว่าภาพต้องชัด แสงต้องสวย โปรดักชั่นต้องเด่น แต่ลองดูตอนนี้สิ บางครั้งคนดูไม่ต้องการโปรดักชั่นที่ดีเลย เขาต้องการคอนเทนต์ต่างหาก ซึ่งสิ่งนี้คงกระทบกับอาชีพผู้ประกาศข่าวเช่นกัน เราก็ต้องปรับตัวกันไปเหมือนกับทุกอาชีพ มองความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องท้าทายดีกว่า


ภาพ : วราวิทย์ ฉิมมณี

AUTHOR